เจโตปริยญาณนิทเทส
๕๒. อรรถกถาเจโตปริยญาณนิทเทส
[๒๕๕] พึงทราบวินิจฉัยในเจโตปริยญาณนิทเทสดังต่อไปนี้
บทว่า โส เอวํ ปชานาติ - ภิกษุนั้นย่อมรู้อย่างนี้.
ความว่า บัดนี้ พระสารีบุตรเถระจะยกวิธีที่ควรกล่าวขึ้นแสดง.
บทมีอาทิว่า อิทํ รูปํ โสมนสฺสินฺทฺริยสมุฏฺฐิตํ - รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโสมนัสสินทรีย์เป็นวิธีอันภิกษุผู้เพ่งเป็นอาทิกรรมิกควรปฏิบัติอย่างไร? อันภิกษุผู้เพ่งประสงค์จะยังญาณนั้นให้เกิดขึ้น ควรให้ทิพจักษุญาณเกิดก่อน. เพราะเจโตปริยญาณนั้นย่อมสำเร็จด้วยสามารถแห่งทิพจักษุ. ญาณนั้นเป็นบริกรรมของทิพจักษุนั้น. เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นเจริญอาโลกกสิณเห็นสีของโลหิตอันเป็นไปอยู่ เพราะอาศัยหทัยรูปของคนอื่นด้วยทิพจักษุจึงควรแสวงหาจิต. เพราะโลหิตนั้น เมื่อกุศลโสมนัสยังเป็นไปอยู่ ย่อมมีสีแดงคล้ายสีของลูกไทรสุก. เมื่ออกุศลโสมนัสยังเป็นไปอยู่ โลหิตนั้นย่อมมีสีขุ่นมัว. เมื่อโทมนัสยังเป็นอยู่ ย่อมมีสีดำขุ่นมัวเหมือนสีลูกหว้าสุก. เมื่อกุศลอุเบกขายังเป็นไปอยู่ ย่อมมีสีใสเหมือนน้ำมันงา. เมื่ออกุศลอุเบกขายังเป็นไปอยู่ โลหิตนั้นย่อมขุ่นมัว.
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นเห็นสีโลหิตหทัยของคนอื่นว่า รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโสมนัสสินทรีย์. รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโทมนัสสินทรีย์ รูปนี้เกิดขึ้นด้วยอุเบกขินทรีย์ดังนี้ แล้วแสวงหาจิตควรทำเจโตปริยญาณให้มีกำลัง. เพราะเมื่อเจโตปริยญาณนั้นมีกำลังอย่างนี้ ภิกษุย่อมรู้จิตอันมีประเภทเป็นกามาวจรเป็นต้น แม้ทั้งหมดโดยลำดับ ก้าวไปจากจิตสู่จิต เว้นการเห็นรูป (สี) ของหทัย.
แม้ในอรรถกถา ท่านก็กล่าวไว้ว่า
ถามว่า ผู้ประสงค์จะรู้จิตของผู้อื่นในอรูปภพ
ย่อมเห็นหทัยรูปของใคร? ย่อมแลดูความวิการแห่ง
อินทรีย์ของใคร? ตอบว่า ไม่แลดูของใครๆ นี้เป็น
วิสัยของผู้มีฤทธิ์ คือ ภิกษุคำนึงถึงจิตในที่ไหนๆ
ย่อมรู้จิต ๑๖ ประเภท. ก็นี้เป็นกถาด้วยอำนาจแห่ง
การไม่ทำความยึดมั่น.
____________________________
๑- วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ หน้า ๒๔๗-๘
บทว่า ปรสตฺตานํ - แห่งสัตว์อื่น คือแห่งสัตว์ที่เหลือเว้นตน.
บทว่า ปรปุคฺคลานํ - แห่งบุคคลอื่น.
แม้บทนี้ก็มีความอย่างเดียวกับบทว่า ปรสตฺตานํ นี้ แต่ท่านกล่าวความต่างกันด้วยความไพเราะแห่งเทศนา และด้วยพยัญชนะ ด้วยสามารถเวไนยสัตว์.
บทว่า เจตสา เจโต ปริจฺจ ปชานาติ - กำหนดรู้ใจด้วยใจ คือ กำหนดรู้ใจของสัตว์เหล่านั้น ด้วยใจของตนโดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจจิตมีราคะเป็นต้น.
วา ศัพท์ ในบทมีอาทิว่า สราคํ วา เป็นสมุจจยัตถะ คือ อรรถว่ารวบรวม.
ในบทนั้น จิตสหรคตด้วยโลภะ ๘ อย่าง ชื่อว่าจิตมีราคะ.
กุศลจิตและอัพยากตจิตเป็นไปในภูมิ ๔ ที่เหลือชื่อว่าจิตปราศจากราคะ.
ส่วนจิต ๔ ดวงเหล่านี้ คือ จิตที่สหรคตด้วยโทมนัส ๒ ดวง จิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ ๒ ดวง ไม่สงเคราะห์เข้าในทุกะนี้. แต่พระเถระบางพวกสงเคราะห์จิตแม้เหล่านี้ ด้วยบทว่า วีตราค - ปราศจากราคะ.
ส่วนจิตสหรคตด้วยโทมนัส ๒ อย่าง ชื่อว่าจิตมีโทสะ. กุศลจิตและอัพยากตจิต เป็นไปในภูมิ ๔ แม้ทั้งหมด ชื่อว่าจิตปราศจากโทสะ. อกุศลจิต ๑๐ ที่เหลือไม่สงเคราะห์เข้าในทุกะนี้.
แต่พระเถระบางพวกสงเคราะห์อกุศลจิตแม้เหล่านั้นด้วยบทว่า วีตโทสํ - ปราศจากโทสะ.
แต่ในบทนี้ว่า สโมหํ วีตโมหํ - จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ.
สองบทนี้สหรคตด้วยวิจิกิจฉาและอุทธัจจะ ด้วยสามารถเป็นเอกเหตุกะของโมหะ ชื่อว่าจิตมีโมหะ. อกุศลจิตแม้ ๑๒ อย่าง พึงทราบว่า ชื่อว่าจิตมีโมหะ เพราะโมหะเกิดในอกุศลทั้งหมด. กุศลและอัพยากฤตที่เหลือเป็นจิตปราศจากโมหะ.
ส่วนจิตที่เนื่องด้วยถีนมิทธะเป็นจิตหดหู่ จิตที่เนื่องด้วยอุทธัจจะเป็นจิตฟุ้งซ่าน.
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เป็นจิตมหรคต. จิตเป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมดเป็นจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า. โลกุตรจิตเป็นจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า.
จิตที่ถึงอุปจาระและจิตถึงอัปปนา เป็นจิตมีสมาธิ. จิตที่ไม่ถึงทั้งสองอย่างนั้นเป็นจิตไม่มีสมาธิ.
จิตที่ถึงตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติและนิสสรณวิมุตติ เป็นจิตพ้นแล้ว.
จิตที่ไม่ถึงวิมุตติ ๕ นี้ พึงทราบว่าเป็นจิตยังไม่พ้นแล้ว.
ภิกษุผู้ได้เจโตปริยญาณ ย่อมรู้จิตแม้มีประเภท ๑๖ อย่าง.
ปุถุชนทั้งหลายย่อมไม่รู้มรรคจิตและผลจิตของพระอริยะทั้งหลาย. แม้พระอริยะชั้นต่ำๆ ก็ไม่รู้มรรคจิตและผลจิตของพระอริยะชั้นสูงๆ แต่พระอริยะชั้นสูงๆ ย่อมรู้จิตของพระอริยะชั้นต่ำๆ ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถาเจโตปริยญาณนิทเทส
"ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมไม่มีในโลก"
แท้จริง บุคคลผู้กระทำความชั่ว ย่อมรู้ด้วยตนเอง ก่อนคนอื่นทั้งหมด, ต่อจากนั้น อารักขเทพดาทั้งหลาย สมณพราหมณ์และเทพเจ้าเหล่าอื่น ผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ (ความชั่ว) ของเธอ, บัดนี้ เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด.
[ภิกษุผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์กรรมฐานย่อมไม่เจริญ]
จริงอยู่ ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นของได้ด้วยยาก, การบรรพชาและการอุปสมบทเป็นของได้ด้วยยากยิ่งกว่านั้น. แต่พระวินัยธรควรพูดอย่างนี้ว่า เธอจงปัดกวาดโอกาสที่เงียบสงัด แล้วนั่งพักกลางวัน ชำระศีลให้บริสุทธิ์ จงมนสิการอาการ ๓๒ ดูก่อน.
ถ้าศีลของภิกษุนั้นไม่ด่างพร้อยไซร้ กรรมฐานย่อมสืบต่อ, สังขารทั้งหลาย ก็เป็นของปรากฏชัดขึ้น, จิตก็เป็นเอกัคคตา ดุจได้บรรลุอุปจาระและอัปปนาสมาธิ ฉะนั้น, ถึงวันจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม เธอก็ไม่ทราบ. ในเวลาวันล่วงเลยไป เธอมาสู่ที่อุปัฏฐากแล้ว ควรพูดอย่างนี้ว่า ความเป็นไปแห่งจิตของเธอเป็นเช่นไร? ก็เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดกะเธอว่า ขึ้นชื่อว่าบรรพชา มีความบริสุทธิ์แห่งจิตเป็นประโยชน์, เธออย่าประมาท บำเพ็ญสมณธรรมเถิด.
ส่วนภิกษุใดมีศีลขาด กรรมฐานของภิกษุนั้นย่อมไม่สืบต่อ, จิตย่อมปั่นป่วน คือถูกไฟคือความเดือดร้อนแผดเผาอยู่ ดุจถูกทิ่มแทงด้วยปฏัก ฉะนั้น, ภิกษุนั้นย่อมลุกขึ้นในขณะนั้นทีเดียว เหมือนนั่งอยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉะนั้น.
เธอมาแล้วถามว่า ความเป็นไปแห่งจิตของท่านเป็นอย่างไร?
เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดว่า
ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมไม่มีในโลก๑-
แท้จริง บุคคลผู้กระทำความชั่ว ย่อมรู้ด้วยตนเอง ก่อนคนอื่นทั้งหมด, ต่อจากนั้น อารักขเทพดาทั้งหลาย สมณพราหมณ์และเทพเจ้าเหล่าอื่น ผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ (ความชั่ว) ของเธอ, บัดนี้ เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๑๘/หน้า ๑๓๑. ชาตกัฏฐกถา. ๔/๒๔๘.
กถาว่าด้วยวินัย ๔ อย่าง และ
กถาว่าด้วยลักษณะเป็นต้นของพระวินัยธร จบ.
-----------------------------------------------------
.. อรรถกถา ปฐมปาราชิกสิกขาบท อนุบัญญัติที่ ๒ เรื่องภิกษุวัชชีบุตร จบ.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=751&Z=781
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น