สมาธิสูตรที่ ๓
[๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจ
ในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมจำพวก ๑ บุคคล
บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม แต่ไม่ได้
ความสงบใจในภายในจำพวก ๑ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีปรกติได้ความ
สงบใจในภายใน ทั้งไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมจำพวก ๑ บุคคล
บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและ
ความเห็นแจ้งในธรรมจำพวก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้
มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม
พึงเข้าไปหาบุคคลผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม แล้วถาม
อย่างนี้ว่า พึงเห็นสังขารอย่างไรหนอ พึงพิจารณาสังขารอย่างไร พึงเห็นแจ้ง
สังขารได้อย่างไร ผู้ถูกถามนั้นย่อมตอบเขาตามความเห็น ความรู้ว่า พึงเห็น
สังขารได้อย่างนี้แล พึงพิจารณาสังขารอย่างนี้ พึงเห็นแจ้งสังขารอย่างนี้ สมัย
ต่อมา เขาเป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความ
เห็นแจ้งในธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็น
แจ้งในธรรม แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน พึงเข้าไปหาบุคคลผู้มีปรกติได้
ความสงบใจในภายใน แล้วถามอย่างนี้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างไร พึงน้อมจิตไป
อย่างไร พึงทำจิตให้มีอารมณ์เดียวเกิดขึ้นได้อย่างไร พึงชักจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้อย่างไร ผู้ถูกถามนั้นย่อมตอบเขาตามความเห็น ความรู้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้
พึงน้อมจิตไปอย่างนี้ พึงทำจิตให้มีอารมณ์เดียวเกิดขึ้นอย่างนี้ พึงชักจูงจิตให้
เป็นสมาธิได้อย่างนี้ สมัยต่อมาเขาเป็นผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้ง
ในธรรม ทั้งได้ความสงบใจในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ไม่มีปรกติ
ได้ความสงบใจในภายใน ทั้งไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม พึงเข้าไป
หาบุคคลผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้ง
ในธรรม แล้วถามอย่างนี้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างไรหนอ พึงน้อมจิตไปอย่างไร
พึงทำจิตให้มีอารมณ์เดียวเกิดขึ้นอย่างไร พึงชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไร
พึงเห็นสังขารนั้นได้อย่างไร พึงพิจารณาสังขารอย่างไร พึงเห็นแจ้งสังขารอย่างไร
ผู้ถูกถามนั้นย่อมตอบเขาตามความเห็น ความรู้อย่างนี้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้ ฯลฯ
พึงเห็นแจ้งสังขารอย่างนี้ สมัยต่อมา เขาเป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน
ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้มีปกติ
ได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม พึงตั้งอยู่ใน
กุศลธรรมเหล่านั้นแหละ แล้วกระทำความเพียรให้ยิ่ง เพื่อความสิ้นไปแห่ง
อาสวะทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ใน
โลกนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๔
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๒๕๖๖-๒๖๐๑ หน้าที่ ๑๑๐-๑๑๒.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=2566&Z=2601&pagebreak=0
ในบทว่า เอวํ โข อาวุโส สงฺขารา ทฏฺฐพฺพา เป็นต้น พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า
ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมดาว่าสังขารทั้งหลาย พึงพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง พึงกำหนดโดยความไม่เที่ยง พึงเห็นแจ้งโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตาก็อย่างนั้นดังนี้.
แม้ในบทว่า เอวํ โข อาวุโส จิตฺตํ สณฺฐเปตพฺพํ เป็นต้นพึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า
ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย จิตจะพึงดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจปฐมฌาน พึงน้อมใจไปด้วยอำนาจปฐมฌาน พึงทำอารมณ์ให้เป็นหนึ่งด้วยอำนาจปฐมฌาน พึงให้เป็นสมาธิด้วยปฐมฌาน จิตจะพึงดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจทุติยฌานเป็นต้น ก็อย่างนั้นดังนี้.
ในพระสูตร ๓ สูตรเหล่านี้ ตรัสสมถะและวิปัสสนาเป็นโลกิยะและโลกุตระอย่างเดียว.
จบอรรถกถาตติยสมาธิสูตรที่ ๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น