"เราชื่อว่าโชติปาละได้กล่าวกับพระสุคตเจ้าพระนามว่ากัสสปะในกาลนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราได้ประพฤติกรรมที่ทำได้ยากมาก (ทุกกรกิริยา) ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตลอด 6 ปี หลังจากนั้นจึงได้บรรลุโพธิญาณ แต่เราก็มิได้บรรลุโพธิญาณอันสูงสุดด้วยหนทางนี้"
เรื่องนี้มีรายละเอียดดังนี้ : ระยะเวลาการบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าของพระโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบารมีและกรรมที่ทำมา เช่น พระกัสสปพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร 7 วัน ก็ตรัสรู้ธรรม พระโกนาคมนพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร 6 เดือน พระกกุสันธพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร 8 เดือน ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะทรงประพฤติทุกกรกิริยาอยู่ 6 ปี เมื่อทราบว่าเป็นหาทางผิดพระองค์จึงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสมณโคดมพุทธเจ้า
สาเหตุที่พระองค์ต้องประพฤติทุกกรกิริยานั้นเป็นเพราะกรรมในอดีตซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ วันหนึ่งพระองค์เสด็จแวะออกจากทางแล้วได้ทรงแย้มพระสรวล พระอานนท์จึงทูลถามสาเหตุ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ในอดีตมีนิคมชื่อเวภฬิคะ เป็นนิคมมั่งคั่งและเจริญ มีคนอาศัยอยู่มาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะทรงอาศัยเวภฬิคนิคมนั้นอยู่ ที่ตรงนี้เป็นวัดของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ พระองค์ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่ตรงนี้
เมื่อพระอานนท์ได้ฟังอย่างนั้นท่านจึงปูผ้าสังฆาฏิ 4 ชั้น แล้วกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเถิด ที่ตรงนี้จักได้เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ทรงประทับนั่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูถวายแล้วตรัสว่า
ในเวภฬิคนิคม มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากของพระกัสสปพุทธเจ้า และมีมาณพชื่อโชติปาละเป็นสหายรักของฆฏิการะ วันหนึ่ง ฆฏิการะพูดว่า มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ โชติปาละกล่าวว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า
ฆฏิการะพูดชักชวนอย่างนี้ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จึงกล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ ถ้าอย่างนั้น เราไปอาบน้ำที่แม่น้ำกันเถิด เมื่อไปถึงแม่น้ำ ฆฏิการะกล่าวว่า เพื่อนโชติปาละ ที่นี้ไม่ไกลจากวัด มาเถิดเพื่อนเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โชติปาละกล่าวว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า
ฆฏิการะพูดชักชวนอย่างนี้อีก 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ฆฏิการะจึงจับโชติปาละที่ชายพกแล้วกล่าวว่า ที่นี้ไม่ไกลจากวัด มาเถิดเพื่อนเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า โชติปาละกล่าวว่า อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า
ฆฏิการะจึงจับโชติปาละที่ผมแล้วกล่าวว่า ที่นี้ไม่ไกลจากวัด มาเถิดเพื่อนเราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้น โชติปาลมาณพ คิดว่า "ฆฏิการะนี้เป็นช่างหม้อ มีชาติกำเนิดต่ำ แต่มาจับที่ผมของเราผู้เกิดในตระกูลสูง (พราหมณ์) เป็นสิ่งไม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เรื่องนี้เห็นจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย"
โชติปาละจึงกล่าวว่า เพื่อนฆฏิการะ การที่เพื่อนพยายามชักชวนด้วยวาจา จับที่ชายพกจนล่วงเลยถึงจับที่ผมนั้น ก็เพื่อจะชวนเราไปในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นเองหรือ ฆฏิการะกล่าวว่า เท่านั้นเองเพื่อน เพราะการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์นั้นเป็นความดี
โชติปาละกล่าวว่า เพื่อนฆฏิการะ ถ้าอย่างนั้น จงปล่อยเถิด เราจักไป ครั้งนั้น ฆฏิการะและโชติปาละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ โชติปาละได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า "จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง" หมายความว่า "โชติปาละไม่เชื่อว่าพระกัสสปพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม เพราะการตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง" แต่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดจนโชติปาละเข้าใจและเชื่อมั่นในการตรัสรู้ธรรม
พระสมณโคดมพุทธเจ้าตรัสว่า "ครั้งนั้น เราได้ฟังธรรมของพระกัสสปพุทธเจ้าแล้วบวชในสำนักของพระองค์ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระชินเจ้าได้บริบูรณ์ เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วทุกอย่าง ยังพระศาสนาของพระพิชิตมารให้งดงาม"
ข้อคิด และแหล่งอ้างอิง
1. มีข้อสังเกตว่า หู และตา ธรรมชาติให้เรามาอย่างละ 2 คือ หู 2 ข้าง ตา 2 ข้าง แต่ทำหน้าที่เดียวคือ ตา มีไว้ดูอย่างเดียว หู มีไว้ฟังอย่างเดียว ส่วนปากธรรมชาติให้เรามาแค่ 1 แต่มีหน้าที่ 2 อย่าง คือใช้พูดและใช้กิน คนโบราณจึงสอนว่า "ให้ดู และฟังมาก ๆ แต่ให้พูดน้อยๆ" เพราะจะได้พลาดน้อย หากดูและฟังน้อยแต่พูดมากจะพลาดมาก เนื่องจากวจีกรรมทำง่ายแต่มีผลมาก แม้พระโพธิสัตว์ซึ่งสร้างบารมีมามากก็พลาดบ่อยครั้งจนต้องตกนรกยาวนานทีเดียว
2. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่ม 71 หน้า 873 - 877, เล่ม 21 หน้า 1 - 13.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น