พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
เป็นพระพุทธรูป ที่สร้างในปี พ.ศ.1815 พ่อขุนบานเมือง พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์พระร่วง(พ.ศ.1815-1822 ทรงสร้างในช่วงฉลองขึ้นครองปกครองอาณาจักรสุโขทัย
---------------------------------------------
เป็นพระพุทธรูป หล่อขึ้นในยุคก่อน พุทธศตวรรษ๒๕ หล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ให้อัญเชิญมายังกรุงเทพ ฯ ได้ทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วให้ประทับท่าสมโภช ๗ วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระในรัชสมัยของพระองค์ ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้ ตัววิหารลงมือสร้างในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภาค ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า...
"..ให้เชิญพระพุทธรูปล้ำ วิไล ลักษณ์นา
ศรีสากยมุนีไข ชื่อพร้อง
แต่เมืองสุโขทัย ล่องลุ กรุงแฮ
สมโภชสามวันก้อง น่านน้ำเฉนียนวัง"
การอัญเชิญพระศรีศากยมุนีลงมาจากเมืองสุโขทัยมายังกรุงเทพฯนั้น ใช้การชะลอด้วยแพล่องมาตามลำน้ำเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑ เมื่อมาถึงโปรดให้ทอดทุ่นอยู่กลางน้ำ หน้าตำหนักแพบริเวณท่าช้างปัจจุบัน พร้อมทั้งโปรดให้มีพิธีสงฆ์และงานสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นอัญเชิญขึ้นบก แต่ไม่สามารถผ่านประตูเมืองได้ ถึงกับต้องรื้อกำแพงพระนครลง เมื่อพระพุทธรูปผ่านได้แล้ว จึงได้ก่อกำแพงขึ้นใหม่ สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่าท่าพระ
จากท่าพระโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปด้วยขบวนแห่ยิ่งใหญ่ สองข้างทางผ่านชาวบ้านซึ่งแต่งโต๊ะหมู่บูชากันเกือบทุกบ้าน รัชกาลที่ ๑ ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามกระบวนแห่มาด้วย เพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวราราม วัดที่โปรดให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณกึ่งกลางพระนคร และมีพระราชประสงค์จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนครและได้พระราชทานนามไว้ว่า วัดมหาสุทธาวาส
เมื่ออัญเชิญพระศรีศากยมุนีมาถึงวัดแล้ว ก็ยังมิได้อัญเชิญขึ้นที่บริเวณพระวิหาร เนื่องจากการก่อสร้างยังมิแล้วเสร็จ เมื่อจะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่นั่น กรมหลวงนรินทรเทวีทรงเล่าไว้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำว่าเวลานั้นรัชกาลที่ ๑ ทรงพระประชวรมากแล้ว แต่เสด็จมาในพิธีด้วย เมื่อทอดพระเนตรเห็นการเชิญพระขึ้นที่ทันพระราชประสงค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า“สิ้นธุระแล้ว” จากนั้นไม่นานก็เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๕๒
เรื่องที่เชิญพระพุทธรูปพระองค์นี้ลงมาปรากฏอยู่ในหนังสือ ความทรงจําฯ ซึ่งทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า
“พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุงฯ ประทับท่าสมโภช ๗ วัน ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ยกทรเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง หน้าบ้าน ร้านตลาดจนถึงที่ ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา เสด็จพระราชดําเนินตามขบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับพระองค์ไว้***ยกพระขึ้นที่แล้วเสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เป็นที่สุด เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้น”
ในรัชกาลที่ ๑ เพียงได้เชิญพระขึ้นตั้งที่ไว้ ยังมิได้สร้างพระวิหารๆ ลงมือสร้างในรัชกาลที่ ๒ แต่จะสร้างได้เพียงใดหาปรากฎชัดไม่ ปรากฏแต่ว่าบานประตูพระวิหารซึ่งจําหลักลายอันวิจิตรนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดําริ และได้เริ่มจำหลักด้วยฝีพระหัตถ์ มีปรากฏชัดในหนังสือความทรงจําฯ เขียนไว้ว่า
“แล้วทรงพระดําริ ให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ยกเข้าไป ทรงพระราชศรัทธาลงลายพระหัตถ์สลักภาพกับกรมหมื่นวิจิตรภักดี” (คัดความจาก ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
วัดสุทัศนเทพวรารามมาสร้างสําเร็จแล้วบริบูรณ์ในรัชกาลที่ ๓ ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระพุทธรูปมีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และ ปางประทานเทศนาในสวรรค์ เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก เข้าใจว่าจะมีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก ตรงใต้ฐานที่ผ้าทิพย์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น