21 เมษายน 2563

๒๓๘ ปี สถาปนากรุงเทพมหานคร



ครั้งพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงรับอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ แล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองก่อสร้างพระมหานคร และพระบรมมหาราชวัง 

และพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  (รัชกาลที่ ๑) ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ เวลา ๖.๕๔ นาฬิกา (ในเวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที)  ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่  ที่พระราชทานนามว่า "กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา"  หรือเรียกกันต่อมาว่า "กรุงเทพมหานคร"  สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย

การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตรงตาม พระตำราที่เรียกว่า "พระราชพิธีนครฐาน" โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกบด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา ๒๙ เซนติเมตร สูง ๑๘๗ นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน ๑๐๘ นิ้ว ฝังลงในดินลึก ๗๙ นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงพระชันษาพระนคร (ดวงชะตาเมือง)

จวบจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่ โดยให้ขุดเสาหลักเมืองเดิมและจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลาเป็นแกนไม้สัก ประกบด้านนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ๖ แผ่น สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า ๕ เมตร และอัญเชิญหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ที่ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๕  ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงผูกดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่ ให้ถูกต้องตรงตามดวงพระราชสมภพ  เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลายที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น

ภายในศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร  จึงมีเสาหลักเมืองจำนวน ๒ ต้น  ซึ่งเสาหลักเมืองต้นสูงสถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  (รัชกาลที่ ๑)  และได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว  ส่วนเสาต้นที่สูงรองลงมาเป็นเสาหลักเมืองที่สถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) นั่นเอง
_____________________________
ข้อมูล : http://xn--12cm1foaqwt7ag5d0f.blogspot.com/2016/02/bangkok-city-pillar-shrine.html?m=1

ภาพ : วันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2525  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง​ เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังศาลหลักเมือง ในการพระราชพิธีสมโภชหลักเมือง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงเทพารักษ์ เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พระมหานครรัตนโกสินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...