“วิปัสสนา” จริงๆ นั้น ก็คือการพินิจพิจารณา เมื่อจิตมีความสงบเย็นแล้วจิตย่อมมีอุบายต่างๆ ในเมื่อเราพาคิดพาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ เรื่อง“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เราเคยได้อ่านจากตำรับตำราว่า “อนิจจังอยู่ที่ไหน ทุกขังอยู่ที่นั่น ทุกขังอยู่ที่ไหน อนัตตาก็อยู่ที่นั่น” เห็นแต่คนนั้นแก่ คนนี้ตาย เห็นแต่คนนั้นพลัดพราก ล้มหายตายจากกัน ตัวของเราก็คือตัวพลัดพราก ตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํอนตฺตา เหมือนกัน “โอปนยิโก” น้อมเข้ามาสู่ตัวเรา ซึ่งแก่ขึ้นมาทุกวันๆ นับแต่วันตกคลอดออกมา แก่ขึ้นเรื่อยๆ แก่ขึ้นมาโดยลำดับ แปรสภาพขึ้นมาเรื่อยๆ นี้เรียกว่า “อนิจฺจํ ”
.
ความทุกข์ก็ติดแนบมาตั้งแต่วันเกิด ขณะที่ตกคลอดออกมานั้นสลบไสล ตัวของเด็กนั้นไม่รู้ตัวเลย ความทุกข์เหลือประมาณ บางรายก็ตายไปเสียตั้งแต่อยู่ในท้อง ขณะตกคลอดออกมาตายก็มี เพราะทนทุกข์ที่สาหัสไม่ไหว เรื่องความทุกข์มันติดแนบมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งบัดนี้ เรายังจะสงสัยเรื่อง “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ที่ไหนไปอีก กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่กับเราอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วตลอดเวลา
.
อนิจจัง คือ ความแปรสภาพไปทุกขณะ แม้แต่เวลานี้ นั่งอยู่สักครู่เดียวมันก็เหนื่อยแล้วล่ะ มันแปรแล้ว ธาตุขันธ์ มันแปรเป็นอย่างอื่น เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว
.
อนัตตา เราจะถือเป็นสาระแก่นสารอะไรในธาตุในขันธ์อันนี้ มันก็เป็นแต่กองดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประชุมกันอยู่อย่างธาตุเท่านั้น เรียกว่า “ธาตุสี่” ขันธ์ก็เรียกว่า “ขันธ์ห้า” คือ รูป ได้แก่ร่างกายของเรานี้ เป็นขันธ์ หมายถึงกอง หรือหมวด เป็นหมวดๆ เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์เฉยๆ หรือความเป็นหมวด เป็นกองอันหนึ่ง สัญญา คือ ความจำได้ หมายรู้ สังขาร คือ ความคิดความปรุง วิญญาณ คือ ความรับทราบ เมื่อตาสัมผัสรูป ฯลฯ ทั้งห้านี้ ท่านเรียกว่า “ขันธ์ห้า”
.
เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้านี้ มันมีสาระอะไรอยู่ภายในตัวของมัน พอจะไปยึดไปถือว่า “สิ่งนี้เป็นเรา” นี่หมายถึงเรื่อง “วิปัสสนา” นี่คือการแยกหาความจริง แยกให้เห็นความจริงที่มีอยู่ในตัวเราเอง แต่เราโง่ ไม่สามารถที่จะมองเห็นความจริงนี้ได้ จึงเรียกว่า “อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา” พออะไรมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เกิดความสลดหดหู่ เสียอกเสียใจ กลายเป็นโรคจิตขึ้นมาภายในตนก็มีแยะ เพราะความคิดปรุงเลยเถิด
.
โรคจิต ก็คือ โรควุ่นวาย โรคความทุกข์ เดือดร้อน นั่นเอง ยังไม่ถึงกับว่า“โรคจิต” จนกระทั่งถึงกับเป็นบ้า นั่นมันหนักมากไป ถึงกับไม่มีสติ มันก็เป็นบ้า
.
เมื่อพิจารณาแยกแยะดูด้วยปัญญาอย่างนี้ เราจะเห็นอุบายของปัญญา มีความสามารถที่จะตัดกิเลสออกได้เป็นตอนๆ เป็นระยะๆ จนกระทั่งสามารถตัดขาดออกได้หมดภายในขันธ์ห้า
.
ที่ว่า อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นเรา จิตกับขันธ์ห้า เป็นอันเดียวกัน แยกกันไม่ออก เวลาปัญญาได้แยกแยะพินิจพิจารณาด้วยอำนาจของความฉลาด ที่ฝึกหัดมาจนชำนิชำนาญ สามารถแยกออกได้ นี่ทราบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็รูป สิ่งนั้นๆ ก็เป็นสิ่งนั้นๆ แต่เราไม่ใช่สิ่งนั้นๆ มันแยกกันได้โดยลำดับๆ จนกระทั่งสามารถแยกจิตออกจากอาสวะกิเลส ที่ฝังจมอยู่ในจิตนั้นออกได้ เลยไม่มีอะไรเหลือภายในจิต นั่นแลท่านเรียกว่า “พุทโธ” แท้
.
ผลของการปฏิบัติจิตตภาวนา เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ได้เป็น “พุทโธ” แท้ เช่นเดียวกับ “พุทโธ” ของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้หมายถึง “พุทโธ” ของพระพุทธเจ้าองค์นั้นแท้ แต่หมายถึง “พุทโธ” ของเรา เทียบเคียงกัน ความบริสุทธิ์นี้เสมอกันกับของพระพุทธเจ้า แต่ “พุทธวิสัย” และ “สาวกวิสัย” นี้ผิดกันไปตามอำนาจวาสนา ซึ่งนอกไปจากความบริสุทธิ์
.
ความสามารถอาจรู้ด้วยการแนะนำสั่งสอน ความเฉลียวฉลาดของพระพุทธเจ้าต้องสมภูมิพระองค์ท่าน แค่พวกสาวกก็เต็มตามภูมิของตน สำหรับความบริสุทธิ์นั้นเสมอกันท่านว่า “นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย” นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา จนถึงพระสาวกองค์สุดท้ายบรรดาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ความบริสุทธิ์เสมอกัน ไม่มียิ่งหย่อนต่างกันเลย นี่ เหมือนกันตรงนี้
.
นี้แล คือ ผลที่เกิดจากการที่ทำจิตด้วยการภาวนา ทำไปโดยลำดับ แก้กิเลสไปโดยลำดับ จนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นแลผู้ทรงความสุขอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีอันใดเหนือกว่าความสุขประเภทนี้ ท่านเรียกว่า“โลกุตรธรรมอันสูงสุด” คือ ธรรมเหนือโลก
.
เหนือโลก คือ เหนือธาตุ เหนือขันธ์ เหนือสิ่งใดทั้งหมด ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าสิ่งที่บริสุทธิ์นี้ นี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงทำก่อนใครในโลกสมัยนั้น และพาดำเนินมาก่อน จนถึงสมัยปัจจุบันถึงพวกเราชาวพุทธ ที่บำเพ็ญตามพระองค์อยู่เวลานี้
.........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
“ศาสนาทำให้คนต่างกับสัตว์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น