#ญาติโยมทั้งหลายวันนี้เป็นวันแรกของเดือนกรกฎาคมเป็นวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๕ หลังกลางเดือนแล้วนะ อีกไม่กี่วันก็มาวันใหม่อีกแล้วนะจะมาไหวหรือไม่ไหวก็ไม่ทราบ
#ก็ขอเริ่มแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน อันดับแรกขอพูดตอนต้นก่อน เพราะว่าการเจริญพระกรรมฐานมีความสำคัญเบื้องต้น คือว่าต้องระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ
#คำว่า นิวรณ์ แปลว่า กิเลสหยาบทำให้ปัญญาให้ถอยหลัง มี ๕ อย่าง
✔️ ๑..กามฉันทะ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
✔️๒..ความพยาบาท การจองล้างจองผลาญ
✔️๓..ความง่วง
✔️๔..จิตฟุ้งซ่านเกินไป
✔️๕..สงสัยในผลของการปฏิบัติ
#เพราะฉะนั้น บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกคนในขณะที่เจริญสมาธิ หรือว่าพิจารณา วิปัสสนาญาณก็ตาม จงอย่าให้นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้เข้ามากวนใจ เวลานั้นให้จิตจับไว้เฉพาะลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้นก็รู้อยู่ แต่ว่าการที่จะบังคับนิวรณ์ในเวลาประเดี๋ยวเดียวให้มันอยู่ในขอบเขตที่เราต้องการย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เพราะว่าจิตของเราคบนิวรณ์มาหลายแสนชาติ เราเกิดแต่ละชาติก็เป็นทาสของนิวรณ์ทุกชาติ เกิดทุกชาติมีความรักทุกชาติ มีความโกรธทุกชาติ มีความง่วงทุกชาติ มีจิตฟุ้งซ่านทุกชาติ สงสัยทุกชาติจริงใหม เราเกิดกี่ชาติแล้วละ ก็ต้องตอบว่านับไม่ถ้วน เพราะว่าไม่ได้นับไช่ใหม แล้วต่อมาเราคิดว่าจะระงับให้มันหายในทันทีทันใดย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เวลที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทขณะที่รู้ลมหายใจเข้าออกก็ดี รู้คำภาวนาก็ตาม หรือพิจรณาก็ตาม ถ้าทำได้สัก ๒..๓ นาทีแล้วจิตก็เคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น คิดถึงอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก การเป็นอย่างนี้ก็อย่าไปโทษว่าจิตของเราเลวเกินไป ต้องถือว่ามันเป็นของธรรมดา เราก็เริ่มต้นใหม่
#คำว่านิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทยังปฏิบัติอยู่ใน ฌานโลกีย์ก็ดี หรือเป็นพระอริยเจ้ายังไม่ถึงพระอนาคามีก็ดี มันก็ยังไม่พ้นไปจากใจของเรา
ถ้าถึงพระอนาคามี จะทำลายได้ ๒ ข้อ คือ
✔️๑..ความรัก
✔️๒..ความโกรธ
ก็ยังเหลืออีกสาม อีก ๓ ข้อนี้จะทำลายได้ต่อเมื่อถึงพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงพระอรหันต์เพียงใดอีก ๓ ตัวยังไม่หมด พระอนาคามีหรือพระอรหัตตมรรคก็ยังมีอุทธัจจะและอวิชชา
#การทำสมาธิทำอย่างไรจึงเป็นสมาธิ
คำว่าสมาธิแปลว่าตั้งใจ เราตั้งใจอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง ขณะนั้นจิตตั้งใจเฉพาะจุดนั้นถือเป็นสมาธิ อย่างสมมุติว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งใจรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก หรือรู้คำภาวนา หรือรู้การพิจารณา ขณะใดที่รู้อยู่ รู้ลมเข้าก็ดีรู้ลมออกก็ดี ขณะนั้นชื่อว่าจิตว่างจากนิวรณ์ ฉะนั้น ถ้ายังรู้คำภาวนาอยู่ก็แปลว่าจิตว่างจากนิวรณ์ นิวรณ์กับเราก็ต้องต่อสู้กันไปอย่างนี้จนกว่าจะเข้าถึงระดับฌาน เมื่อเข้าถึงฌานแล้วมันก็ยังไม่ตายเป็นแต่เพียงว่าระงับชั่วคราว
#ทีนี้การเจริญสมาธิของบรรดาท่านพุทธบริษัทก็ขอย้อนต้นนะ ถ้าคนเก่าทีี่รู้แล้วก็ขออภัยด้วยอาจจะลืมก็ได้ การเจริญสมาธินี้มี ๓ ขั้น
🚩🚩 ขณิกสมาธิ
ขั้นที่ ๑..เรียกว่าขณิกสมาธิ นั่นก็หมายความว่าทรงอารมณ์ได้ชั่วคราวประเดี๋ยวเดียวอย่างนึกถึงลมหายใจเข้า นึกถึงลมหายใจออก นึกถึงคำภาวนาหรือพิจรนาได้ประเดี๋ยวเดียวจิตก็เริ่มฟุ้งซ่าน แล้วเริ่มต้นใหม่ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านใหม่ แล้วเราก็เริ่มต้นใหม่ สลับกันไปอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ การที่จะเจริญถึงขณิกสมาธิก็ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทจงอย่าคิว่าเราไม่ได้อะไรเลย ได้แน่ ขณิกสมาธินี่เป็นเทวดาก็ได้ เป็นภุมเทวดาก็ได้ เป็นรุกเทวดาก็ได้ สามารถไปสวรรค์ได้
🚩🚩อุปจารสมาธิ
ต่อมาในขั้นที่ ๒..อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินี่จิตเข้าถึงปีติคือสุขทั้ง ๒ ประการ จัดว่าเป็นสมาธิท่ามกลางระหว่างฌานกับจิตปกติ
แต่ว่าในเมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ จิตจะเริ่มเป็นทิพย์ เพราะจิตว่างจากกิเลสเล็กน้อย
🚩🚩อาการของปีติมี ๕ อย่าง คือ
✔️๑..ขนพองสยองเกล้า พอภาวนาไปก็ตามขนลุกซู่ซ่าๆ ตามตัว บังคับให้หยุดมันก็ไม่หยุด อย่างนี้เป็นอาการเบื้องต้นของปีติข้อที่ ๑...
✔️๒..น้ำตาไหล ปฏิบัติไปๆน้ำตาเริ่มไหล ไม่ไช่ร้องไห้ ไม่ได้เสียใจ มันจะไหลเอง หรือถ้ามีอาการสูงขึ้นบางทีเขาพูดอะไรชอบใจน้ำตาก็ไหล อย่างนี้เป็นอาการของปีติที่ ๒..
✔️๓..ตัวโยกไปโยกมา โยกมาโยกไป โยกข้างหน้าโยกข้างหลัง มันโยกแต่ว่าจิตใจสบาย จิตใจเอิบอิ่ม อย่างนี้เป็นอาการของปีติที่ ๓...
✔️๔..จะมีอาการคล้ายเต้นเหมือนปลุกพระ หรือตัวลอยไปบนอากาศ
✔️๕..มีอาการซาบซ่าน หมายความว่า ตัวรู้สึกซู่ซ่าในตัวเหมือนกับลมออกจากตัวอย่างแรง ในที่สุดจะรู้สึกว่าไม่มีร่างกาย จะรู้สึกว่าหน้าตาใหญ่โตขึ้นมาก จิตใจสบายมาก อันนี้เป็นปีติที่ ๕..
#ฉะนั้น.. อาการของปีติทั้งหมดขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทต้องรู้ต้องมีความเข้าใจ ขณะที่มันเกิดขึ้นเราอย่าไปยุ่งกับมัน จะขนลุกหรือน้ำตาไหลหรือร่างกายโยกโคลงอย่างไรก็ตามใจเถิด ปล่อยมัน เวลานั้นจิตใจจะสบายใจมาก แต่ว่าถ้าจิตของเราผ่านเลยไปแล้วอาการอย่างนี้มันก็จะหายไป ในขณะที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิในตอนนี้จิตเริ่มเป็นทิพย์เล็กน้อย บางคนหรือหลายคนจะมีการเห็นภาพ เห็นภาพแป๊บเดียวภาพก็หายไป ความจริงภาพไม่ได้หาย เมื่อเห็นภาพปั๊บจิตตกใจ จิตเคลื่อนจากสมาธิ จิตมืด ภาพไม่ได้หายแต่ว่าจิตมันมืดมองไม่เห็น ก็จงอย่าสนใจในภาพเกินไป มันจะเกิดก็เกิดไม่เกิดก็แล้วไป ถ้ามันเกิดจับภาพไว้ก็ดี ถ้ามันหายไปก็อย่าสนใจ หลังจากนั้นสมาธิขั้นที่ ๓ เรียกกันว่า อัปปนาสมาธิ หมายถึง ฌานสมาบัติ คำว่าฌานคือรูปฌาน มี ๔ ขั้น คือ ฌานที่๑ ฌานที่๒ ฌานที่๓ ฌานที่๔...
🚩🚩ฌานที่๑..
#เมื่อจิตเข้าถึงฌานที่๑..จิตจะเป็นสุขมีความเอิบอิ่มมาก จิตจะมีการทรงตัว แต่ถ้าได้ใหม่ๆจะทรงตัวได้ไม่นานประเดี๋ยวจิตก็เคลื่อนแล้ว อาการที่จะสังเกตว่าจิตเราถึงฌานที่ ๑..หรือยังก็สังเกตที่หู ถ้าหูเราได้ยินเสียงทุกอย่าง เสียงคนพูด เสียงร้องเพลง เสียงวิทยุ เสียงโทรทัศน์ เสียงทุกอย่างได้ยินชัดเจนหมดแต่ว่าจิตไม่รำคาญในเสียง อย่างนี้ท่านเรียกว่าจิตเข้าถึงปฐมฌาน คือฌานที่ ๑...
#แต่การที่จะเข้าถึงฌานที่ ๑..ก็แสดงว่าขณะที่จิตของเราทรงตัวอยู่ได้ยินเสียงแล้วไม่รำคาญ นี่แสดงว่าเราเริ่มชนะนิวรณ์ ๕ ประการชั่วคราว ในช่วงนั้นนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการจะไม่รบกวนใจ มันรบกวนไม่ได้เพราะจิตไม่ยอมรับทราบ แต่ว่าจะทรงไม่นานถ้าจะให้จิตทรงตัวนานๆ ต้องเริ่มฝึกอานาปานุสสติ คือ รู้ลมหายใจเข้าออก พยายามบังคับกำลังใจให้รู้ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออกให้นานที่สุด ใหม่ๆก็ไม่นานนักประเดี๋ยวมันก็เคลื่อน ถ้าฝึกบ่อยๆจะมีอาการเคยชิน มันอาจจะทรงได้สักเวลา ๕ นาทีบ้าง ๑๐ บาท ๒๐ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง สุดแล้วแต่การฝึก
#ที่นี้พอเข้าถึงฌานที่ ๒..จะมีความรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง ลมหายใจมีปกติแต่ว่ารู้สึกว่าเบา แสดงว่าจิตกับประสาทเริ่มแยกตัวกันตั้งแต่ฌานที่๑..มา จิตกับประสาทเริ่มแยกตัวกันแต่แยกน้อย พอฌานที่ ๒.. แยกออกมาไกลหน่อยนึง ร่างกายหายใจตามปกติแต่ว่าจิตจะมีความรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง เอาอย่างนี้แล้วกันนะ
#ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
✔️๑..วิตก..หมายถึงว่าการนึกว่าเราจะภาวนา นึกว่าจะรู้ลมหายใจเข้าออก
✔️๒..วิจาร..รู้อยู่ว่าการภาวนาถูกใหม ลมหายใจเข้าออกถูกต้องใหม
✔️๓..ปีติ..ความอิ่มใจ
✔️๔..สุข..มีความสุขใจ
✔️๕..เอกัคคตา...จิตทรงอารมณ์เป็นหนึ่ง
🚩🚩ฌานที่ ๒...
#พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๒.. ตัดอารมณ์ ๒ อย่าง
คือ.. วิตกกับวิจาร ตอนนี้ในขณะทีีบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทดำรงฌานที่ ๑ จิตจะเริ่มละเอียดลงและจะเป็นสมาธิมากขึ้นจนกระทั่งมีความรู้สึกน้อยลงไปทุกที ลมหายใจยังรู้นะ แต่จะตัดคำภาวนา คือวิตกกับวิจารทิ้งไป จะเหลือแค่ ๓ อย่าง คือ ปีติ สุข เอกัคคตา มีการตัดวิตกกับวิจารทิ้งไป นี่หลายคนทีีปฏิบัติกันมาและอาตมาเองก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน
เมื่อวิตกกับวิจารหายไปสักครู่นึง จิตก็ถอยหลัง มาหาฌานที่ ๑.. เมื่อรู้สึกขึ้นมาคิดว่าเราหลับเพราะไม่ได้ภาวนา แต่ความจริงเวลานั้นสมาธิมันตัดเอง จิตจะมีความสุขยิ่งขึ้น
🚩🚩ฌานที่ ๓..
#พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๓.. จิตจะตัดตัวปีติคือความอิ่มใจออกไป เหลือแต่ สุข กับ เอกัคคตา ๒ อย่าง ตอนนี้เมื่อจิตเข้าถึงฌานที่ ๓..ทุกท่านจะมีความรู้สึกว่าลมหายใจมันน้อยเต็มที เบามาก หูได้ยินเสียงภายนอกไม่ชัดเจนนัก ยังรู้เรื่องแต่ว่าเสียงดังกลายเป็นเสียงเบา จะมีอาการเครียดคล้ายๆใครเขามัดเราตัวตึงเป๋ง มีอาการเครียด ร่างกายทรงแบบไหนจะทรงแบบนั้นจะไม่มีอาการเคลื่อนไหว จิตจะมีความสุขมาก อันนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓...
🚩🚩ฌานที่ ๔..
#พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๔..จะตัดสุขออกไป เหลือแต่ เอกัคคตากับอุเบกขา เข้ามา คำว่าเอกัคคตาหมายความว่าอารมณ์เป็นหนึ่ง จิตจะทรงตัวเฉพาะ แล้วเพิ่มอุเบกขาคือความวางเฉยเข้ามา ตอนนี้ถ้าเราจะสังเกตุว่าจิตเข้าถึงฌานที่ ๔..หรือยังก็จะไม่รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกมีในเรา ตอนนี้จิตกับประสาทตัดกันเด็ดขาด จิตแยกจากประสาทไม่ยอมรู้สึกทางร่างกาย เอกัคคตามีอารมณ์เฉย ฉะนั้น..เวลาจิตเข้าถึงฌานที่ ๔..หูไม่ได้ยินเสียง แม้แต่เสียงดังขนาดไหนก็ตามจะไม่ได้ยินเลย อย่างที่เขาเปิดเครื่องขยายเสียงดังๆมาตั้งใกล้ๆหู อย่างนี้จะไม่ได้ยินเสียงเลย อันนี้เป็นฌานที่ ๔..
#ส่วนที่พูดมานี้ก็คือพูดเพื่อให้ทราบ ก็มีหลายท่านเหมือนกันที่มีความสงสัย บางทีขนลุกขนพองสยองเกล้าบ้าง น้ำตาไหลบ้าง ร่างกายโยกโคลงบ้าง เป็นต้น ก็สงสัยว่ามันเป็นอะไร อย่างนี้ต้องศึกษาและต้องรู้ไว้ว่าการเจริญสมาธิร่างกายจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของมัน เราไม่ต้องสนใจ สนใจอย่างเดียวคือจิตเป็นสุข มันจะถึงฌานที่ ๑..๒.. ๓.. ๔.. หรือไม่ก็ตามใจมันเถิด อย่าสนใจ สนใจอย่างเดียวคือจิตเป็นสุข ไม่สนใจนิวรณ์ ๕..นี่ใช้ได้ นี่เป็นการเริ่มต้นของบรรดาท่านพุทธบริษัทในตอนแรก
🖊️📖พิมพ์จากหนังสือคำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง ๖๔
หน้าทีี ๑๐๑ ถึงหน้าทีี ๑๐๖
🙏🙏พระธรรมคำสอน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
(พระมหาวีระ ถาวโร ป.ธ.๔)
วัดจันทราราม(ท่าซุง) อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
🖊️พิมพ์โดย นภา อิน🙏🙏
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น