นิมิตเป็นของหลอกลวง
เมื่อลงนั่งสมาธิ ถ้าเกิดนิมิตต่างๆ เช่นเห็นนางฟ้าเป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนั้นให้เราดูเสียก่อนว่าจิตเป็นอย่างไร อย่าทิ้งหลักนี้ จิตต้องสงบจึงเป็นอย่างนั้น นิมิตที่เกิดขึ้นอย่าอยากให้มันเกิด อย่าไม่อยากให้มันเกิด มันมาก็พิจารณาพิจารณาแล้วอย่าหลง ให้นึกว่ามันไม่ใช่ของเรานี่ก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเช่นกัน ถึงมันจะเป็นอยู่ก็อย่าเอาใจใส่มัน เมื่อมันยังไม่หายตั้งจิตใหม่กำหนดลมหายใจมากๆ สูดลมเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ อย่างน้อย ๓ ครั้งก็ตัดได้ตั้งกำหนดใหม่เรื่อยไป
สิ่งเหล่านี้อย่าว่าเป็นของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงนิมิต คือของหลอกลวงให้เราชอบให้เรารักให้เรากลัว นิมิตเป็นของหลอกลวง ใจเรามันไม่แน่นอน ถ้าเห็นแล้วอย่าไปหมายมันไม่ใช่ของเรา อย่าวิ่งตามนิมิต เห็นนิมิตให้ย้อนดูจิตเลยอย่าทิ้งหลักเดิม ถ้าทิ้งตรงนี้ไปวิ่งตามมันอาจพูดลืมตัวเองเป็นบ้าไปได้ไม่กลับมา พูดกับเราเพราะหนีจากคอกแล้วให้เชื่อตัวเองแน่นอน เห็นอะไรมาก็ตามถ้านิมิตเกิดขึ้นมาดูจิตตัวเองจิตต้องสงบมันจึงเป็น
ถ้าเป็นมาให้เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่ของเรา นิมิตนี้ให้ประโยชน์แก่คนมีปัญญา ให้โทษแก่คนไม่มีปัญญา ทำความเพียรไปจนเราไม่ตื่นเต้นในนิมิต มันอยากเกิดก็เกิด ไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่กลัวมันเชื่อใจได้อย่างนี้ไม่เป็นไร ทีแรกเราตื่นของน่าดูมันก็อยากดู ความดีใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้ก็หลงไม่อยากให้มันดีมันก็ดี ไม่รู้จะทำอย่างไรปฏิบัติไม่ถูกก็เป็นทุกข์ มันอยากดีใจก็ช่างมันให้เรารู้ความดีใจนั่นเองว่าความดีใจนี้ก็ผิดไม่แน่นอน เช่นกันแก้มันอย่างนี้อย่าไปแก้ว่า “ไม่อยากให้มันดีใจทำไมจึงดีใจ” นี่ผิดอยู่นะผิดอยู่กับของเหล่านี้ ผิดอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้ผิดอยู่ไกลหรอก อย่ากลัวนิมิตไม่ต้องกลัว เรื่องภาวนานี้พอพูดให้ฟังได้เพราะเคยทำมา ไม่รู้ว่าจะถูกหรือไม่นะให้เอาไปพิจารณาเอาเองเอ้าพอสมควรละนะ
ทำจิตให้สงบก่อน แล้วจึงพิจารณาอารมณ์
ให้ใจสงบไปอย่างนี้เสียก่อน นั่งอยู่ที่ไหนก็ตามนั่งเก้าอี้นั่งรถนั่งเรือก็ตาม ถ้ากำหนดเมื่อใดให้มันเข้าเลย ขึ้นรถไฟพอนั่งลงให้มันเข้าเลยอยู่ที่ไหนนั่งได้ทั้งนั้น ถ้าขนาดนี้รู้จักแล้วรู้จักทางบ้างแล้วจึงมาพิจารณาอารมณ์ ใช้จิตที่สงบนั่นพิจารณาอารมณ์ รูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะบ้างธรรมารมณ์บ้างที่เกิดขึ้น ให้มาพิจารณาชอบหรือไม่ชอบต่างๆ นานา ให้เป็นผู้รับทราบไว้อย่าเข้าไปหมายในอารมณ์นั้น ถ้าดีก็ให้รู้ว่าดี ถ้าไม่ดีก็ให้รู้ว่าไม่ดี อันนี้เป็นของสมมติบัญญัติ ถ้าจะดีจะชั่วก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอนไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อ่านคาถานี้ไว้ด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อยๆ ไปปัญญาจะเกิดเองอารมณ์นั้นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทิ้งใส่สามขุมนี้นี้เป็นแก่นของวิปัสสนา ทิ้งใส่อนิจจังทุกขังอนัตตา ดีชั่วร้ายอะไรก็ทิ้งมันใส่นี่ ไม่นานเราก็จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาในอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดปัญญาอ่อนๆ ขึ้นมา นั่นแหละเรื่องภาวนาให้พยายามทำเรื่อยๆ ศีลห้านี้ถือมาหลายปีแล้วมิใช่หรือ เริ่มภาวนาเสียให้รู้ความจริงเพื่อละเพื่อถอนเพื่อความสงบ
นักปฏิบัติต้องรักษาวินัย และเชื่อฟังอาจารย์
พูดถึงการสนทนาแล้วอาตมาสนทนาไม่ค่อยเป็น มันพูดยากอยู่ถ้าใครอยากรู้จักต้องอยู่ด้วยกันอยู่ไปนานๆ ก็รู้จักหรอก อาตมาเคยไปเที่ยวธุดงค์เหมือนกัน อาตมาไม่เทศน์ไปฟังครูบาอาจารย์รูปนั้นรูปนี้เทศน์ มิใช่ว่าไปเทศน์ให้ท่านฟัง ท่านพูดอะไรก็ฟังฟังเอา พระเล็กพระน้อยเทศน์ก็ฟัง เราจะฟังก็ฟังไม่ค่อยสนทนาไม่รู้จะสนทนาอะไร ที่จะเอาก็เอาตรงที่ละที่วางนั่นเอง ทำเพื่อมาละมาวางไม่ต้องไปเรียนให้มาก แก่ไปทุกวันๆ วันหนึ่งๆ ไปตะปบแต่แสงอยู่นั่นไม่ถูกตัวสักที การปฏิบัติธรรมแม้จะมีหลายแบบอาตมาไม่ติถ้ารู้จักตามความหมาย ไม่ใช่ว่าจะผิดแต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วไม่ค่อยรักษาวินัยอาตมาว่าจะไปไม่รอด เพราะมันข้ามมรรค ข้ามศีล สมาธิ ปัญญา บางท่านพูดว่าอย่าไปติดสมถะ อย่าไปเอาสมถะ ผ่านไปวิปัสสนาเลย อาตมาเห็นว่าถ้าผ่านไปเอาวิปัสสนาเลยมันจะไปไม่รอด
วิธีปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น
ท่านอาจารย์ทองรัต ท่านเจ้าคุณอุบาลี นี่หลักนี้ อย่าทิ้ง แน่นอนจริงๆ ถ้าทำตามท่าน ถ้าปฏิบัติตามท่านเห็นตัวเองจริงๆ ท่านอาจารย์เหล่านี้เรื่องศีลท่านพยายามรักษาให้แน่นอน ท่านไม่ให้ข้ามการเคารพครูบาอาจารย์ การเคารพข้อวัตรปฏิบัตินั้น ถ้าครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ ถ้าท่านว่าผิดให้หยุดก็หยุด ชื่อว่าทำเอาจริงๆจังๆ ให้เห็นให้เป็นขึ้นในใจ ท่านอาจารย์บอกอย่างนี้ ดังนั้นพวกลูกศิษย์ทั้งหลายจึงมีความเคารพยำเกรงในครูบาอาจารย์มาก เพราะเห็นตามรอยของท่าน
หลวงพ่อชา สุภัทโท (กุญแจภานา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น