ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวดามีจริงหรือ
พระเจ้าข้า?
กรรณกัตถลสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศล. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวดามีจริงหรือ พระเจ้าข้า?
พระพุทธเจ้า. ดูกรมหาบพิตร ก็เพราะเหตุอะไรมหาบพิตรจึงตรัสถามอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวดามีจริงหรือ?
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเทวดามีจริง เทวดาเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสู่
โลกนี้ พระเจ้าข้า?
พ. ดูกรมหาบพิตร เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ เทวดาเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่าใด
ไม่มีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร.
[๕๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วิฑูฑภเสนาบดี ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ มาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้นจักยังเทวดา
ทั้งหลายผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มาสู่โลกนี้ ให้จุติ หรือจักขับไล่เสียจากที่นั้น.
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า วิฑูฑภเสนาบดีนี้ เป็นพระราชโอรสของ
พระเจ้าปเสนทิโกศล เราเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลอันสมควรที่โอรสกับโอรส
จะพึงสนทนากัน. ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ จึงกล่าวกะวิฑูฑภเสนาบดีว่า
ดูกรเสนาบดีถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ อาตมาจะขอย้อนถามท่านก่อน ปัญหาใดพึงพอใจ
แก่ท่านฉันใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหานั้น ฉันนั้น
ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระราชอาณาจักร
ของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้าปเสนทิโกศล
เสวยราชสมบัติเป็นอิศราธิบดี ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถยังสมณะหรือ
พราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์ หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรง
ขับไล่เสียจากที่นั้นได้มิใช่หรือ?
วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล
มีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยราชสมบัติเป็นอิศราธิบดี
ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือผู้ไม่มีบุญ
ผู้มีพรหมจรรย์ หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้.
อา. ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของ
พระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในที่ใด พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้เสวยราชสมบัติ
เป็นอิศราธิบดี ในที่นั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือผู้ไม่มีบุญ
ผู้มีพรหมจรรย์หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้หรือ?
วิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณ
เท่าใด และในที่ใด พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้เสวยราชสมบัติเป็นอิศราธิบดี ในที่นั้น
ท้าวเธอย่อมไม่ทรงสามารถจะยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์หรือ
ผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรงขับไล่จากที่นั้นได้.
อา. ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ท่าน
ได้ฟังมาแล้วหรือ?
วิ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว แม้ใน
บัดนี้ เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทรงสดับมาแล้ว.
อา. ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรง
สามารถจะยังเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ให้เคลื่อนหรือจะทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้หรือ?
วิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้แต่จะทอดพระเนตรเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์พระเจ้าปเสนทิ-
*โกศลก็ไม่ทรงสามารถ ที่ไหนเล่าจักทรงยังเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ให้เคลื่อนหรือจักทรงขับไล่
เสียจากที่นั้นได้.
อา. ดูกรเสนาบดี ฉันนั้นเหมือนกันแล เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ยังมาสู่โลกนี้ เทวดา
เหล่านั้น ก็ย่อมไม่สามารถแม้เพื่อจะเห็นเทวดาผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ได้ ที่ไหนเล่าจักให้
จุติหรือจักขับไล่เสียจากที่นั้นได้.
ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภิกษุรูปนี้ชื่ออะไร พระเจ้าข้า?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุรูปนี้ชื่ออานนท์ ขอถวายพระพร.
[๕๘๒] ป. ชื่อของท่านน่ายินดีหนอ สภาพของท่านน่ายินดีจริงหนอ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์กล่าวสภาพอันเป็นเหตุ และกล่าวสภาพอันเป็นผลพร้อมด้วยเหตุ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรหมมีจริงหรือ?
พ. ดูกรมหาบพิตร ก็เพราะเหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ก็พรหมมีจริงหรือ?
ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพรหมมีจริง พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสู่โลกนี้
พระเจ้าข้า.
พ. ดูกรมหาบพิตร พรหมใดมีทุกข์ พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ พรหมใดไม่มีทุกข์ พรหม
นั้นก็ไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร.
[๕๘๓] ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความเป็นสัพพัญญู
พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ความเป็นสัพพัญญูแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นย่อมชอบใจ
และควรแก่หม่อมฉัน และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงคนที่จัดเป็นวรรณะ ๔
จำพวกที่บริสุทธิ์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์คนที่จัดเป็นวรรณะ ๔ จำพวกที่บริสุทธิ์แล้ว
และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นย่อมชอบใจและควรแก่หม่อมฉัน และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อ
ที่ทรงพยากรณ์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเทวดาที่ยิ่ง
พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์เทวดาที่ยิ่งแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ย่อมชอบใจและควร
แก่หม่อมฉัน และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงพรหมที่ยิ่ง พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงพยากรณ์พรหมที่ยิ่งแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ย่อมชอบใจและควรแก่หม่อมฉัน
และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงข้อใดๆ
พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นๆ ย่อมชอบใจและควร
แก่หม่อมฉัน และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลลาไป ณ บัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ขอถวายพระพร.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๘๙๖๒ - ๙๑๙๔. หน้าที่ ๓๙๑ - ๔๐๐.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8962&Z=9194&bgc=aliceblue&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=571&bgc=aliceblue
ขณสูตร
[๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลาย
ได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย นรกชื่อว่าผัสสายตนิกะ ๖ อันเราเห็นแล้ว ในผัสสายตนิก-
*นรกนั้น สัตว์จะเห็นรูปอะไรๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อม
ไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปไม่น่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าใคร่ ย่อม
เห็นแต่รูปอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าพอใจ จะฟังเสียงอะไรๆ ด้วยหู...
จะดมกลิ่นอะไรๆ ด้วยจมูก... จะลิ้มรสอะไรๆ ด้วยลิ้น... จะถูกต้อง
โผฏฐัพพะอะไรๆ ด้วยกาย... จะรู้แจ้งธรรมารมณ์อะไรๆ ด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้ง
แต่ธรรมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมรู้
แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่
ธรรมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าพอใจ
[๒๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลาย
ได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อว่า ผัสสายตนิกะ ๖ ชั้น เราได้เห็นแล้ว ในผัสสายต-
*นิกสวรรค์นั้น บุคคลจะเห็นรูปอะไรๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา
ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่า
ใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าพอใจ ฯลฯ จะรู้แจ้ง
ธรรมารมณ์อะไรๆ ด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้
แจ้งธรรมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์ที่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันน่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์
อันไม่น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายได้ดี
แล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๒
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๓๒๕๓-๓๒๗๖ หน้าที่ ๑๔๐-๑๔๑.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=3253&Z=3276&pagebreak=0
อรรถกถาขณสูตรที่ ๒
ในขณสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ฉ ผสฺสายตนิกา นาม ความว่า นรกชื่อว่าผัสสายตนะ ๖ ไม่มี. นรกทั้งหลายที่ชื่อฉผัสสายตนิกาแต่ละชื่อไม่มี. จริงอยู่ บัญญัติว่าผัสสายตนะทางทวาร ๖ ย่อมมีในมหานรก แม้ทั้งหมด ๓๑ ขุมนั่นเอง.
แต่คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาอเวจีมหานรก.
แม้ในบทว่า สคฺคา (สวรรค์) นี้ ท่านประสงค์เอาเฉพาะบุรีดาวดึงส์เท่านั้น. แต่ชื่อว่าบัญญัติแห่งอายตนะหก แม้แต่ละอย่างในกามาวจรเทวโลกไม่มีก็หาไม่.
ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงฉผัสสายตนิกานี้ไว้ทำไม.
ตอบว่า ใครๆ ไม่อาจจะอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในนรกได้ เพราะได้รับแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว และไม่อาจอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในเทวโลกได้ เพราะเกิดความประมาทด้วยสามารถความยินดีในการเล่นโดยส่วนเดียว เพราะได้รับความสุขโดยส่วนเดียว.
ส่วนมนุษยโลกมีความสุขและความทุกข์ระคนกัน ในมนุษยโลกนี้เท่านั้น ย่อมมีทั้งอบายและสวรรค์ปรากฏ. นี้ชื่อว่าเป็นกรรมภูมิของมรรคพรหมจรรย์.
กรรมภูมินั้น พวกท่านได้แล้ว เพราะฉะนั้น ขันธ์ซึ่งเป็นของมนุษย์ที่พวกเธอได้กันแล้ว จัดเป็นลาภของพวกท่าน และภาวะเป็นมนุษย์ที่พวกเธอได้แล้วนี้ ก็เป็นขณะเป็นสมัยของการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ที่พวกเธอได้.
สมจริงดังคำที่พระโปราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า.
การเจริญมรรคในที่นี้ นี้ก็เป็นกรรมภูมิ ธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความสังเวชเป็นอันมาก ในที่นี้ก็เป็นฐานะอยู่
ท่านเกิดความสังเวชแล้ว ก็จงประกอบความเพียรโดย
แยบคายในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํเวคา แปลว่า ความสังเวช.
จบอรรถกถาขณสูตรที่ ๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น