ถาม เคยได้ยินว่า เทวดาเมื่อตายแล้วก็ปรารถนาเกิดเป็นมนุษย์จริงหรือไม่
เพราะมนุษย์เราตายแล้วก็ปรารถนาจะเป็นเทวดากันทั้งนั้น
เหตุใดเทวดาจึงปรารถนาเกิดเป็นมนุษย์
ตอบ ปัญหาที่คุณถามมานี้เป็นความจริง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ไว้ในจวมานสูตร ขุ.อิติวุตตกะ ข้อ ๒๖๑-๒๖๒ ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเทวดาผู้จะจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้นนิมิต ๕ ประการย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ
ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑
ผ้าทรงย่อมเศร้าหมอง ๑
เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑
ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑
ย่อมไม่ยินดีในทิพยะอาสน์ของตน ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
ครั้นได้ไปสู่สุคติแล้ว ขอท่านจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้วขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑”
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว และอะไรเป็นส่วนการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์แล เป็นส่วนแห่งการไปสุคติของเทวดาทั้งหลาย
เทวดาครั้นเกิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้แล เป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
ก็ศรัทธาของเทวดาทั้งหลายเป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลรากเกิดแล้ว ประดิษฐานมั่นคง อันสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกพึงนำไปไม่ได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย”
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสสรุปเป็นคาถาว่า
“เมื่อใดเทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งออกไปว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด ท่านเป็นมนุษย์แล้วจงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น มีมูลเกิดแล้ว มั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปไม่ได้ตลอดชีวิต ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ กระทำกุศลด้วยกายด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดอุปธิสมบัตินั้นให้มากด้วยทาย แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรมในพรหมจรรย์
เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีความอนุเคราะห์ว่า แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ”
ทั้งหมดนี้คือข้อความในพระสูตรนี้ และจากข้อความในจวมานสูตรนี้ ท่านผู้ถามก็จะเห็นว่า เมื่อเทวดาทั้งหลายเกิดนิมิต ๕ ประการอันแสดงว่าจะต้องจุติจากเทวโลกดังนี้แล้ว เทวดาทั้งหลายอื่นๆ ย่อมอวยพรให้เขาได้เกิดในมนุษย์ ซึ่งเขาถือว่ามนุษย์ภูมิเป็นสุคติภูมิของเทวดา เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วขอให้ได้ศรัทธาในพระสัทธรรม คือขอให้ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ฟังแล้วมีศรัทธาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้น เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้นแล้ว ขอให้ดำรงมั่นคงในพระธรรมนั้น นั่นคือขอให้ได้บรรลุมรรคผล คือโสดาปัตติผล เทวดาทั้งหลายหวังจะให้เทวดาผู้จะจุตินั้นสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วกลับไปเสวยสุขอยู่ในเทวโลกอีก จึงกล่าวว่า ดูก่อนเทวดา ขอท่านจงกลับมาสู่เทพนิกายนี้บ่อยๆ คือ ขอให้สำเร็จเป็นโสดาบันแล้วกลับมาในหมู่เทพอีกนั่นเอง
ความจริงการเกิดเป็นมนุษย์นั้นมีโอกาสทำบุญทำกุศลได้ทุกอย่าง แม้การที่จะบรรลุเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก็ต้องเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้
________________________________________
ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
จวมานสูตร
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=6074&Z=6109
บทว่า ฉ ผสฺสายตนิกา นาม ความว่า นรกชื่อว่าผัสสายตนะ ๖ ไม่มี. นรกทั้งหลายที่ชื่อฉผัสสายตนิกาแต่ละชื่อไม่มี. จริงอยู่ บัญญัติว่าผัสสายตนะทางทวาร ๖ ย่อมมีในมหานรก แม้ทั้งหมด ๓๑ ขุมนั่นเอง.
แต่คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาอเวจีมหานรก.
แม้ในบทว่า สคฺคา (สวรรค์) นี้ ท่านประสงค์เอาเฉพาะบุรีดาวดึงส์เท่านั้น. แต่ชื่อว่าบัญญัติแห่งอายตนะหก แม้แต่ละอย่างในกามาวจรเทวโลกไม่มีก็หาไม่.
ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงฉผัสสายตนิกานี้ไว้ทำไม.
ตอบว่า ใครๆ ไม่อาจจะอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในนรกได้ เพราะได้รับแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว และไม่อาจอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในเทวโลกได้ เพราะเกิดความประมาทด้วยสามารถความยินดีในการเล่นโดยส่วนเดียว เพราะได้รับความสุขโดยส่วนเดียว.
ส่วนมนุษยโลกมีความสุขและความทุกข์ระคนกัน ในมนุษยโลกนี้เท่านั้น ย่อมมีทั้งอบายและสวรรค์ปรากฏ. นี้ชื่อว่าเป็นกรรมภูมิของมรรคพรหมจรรย์.
กรรมภูมินั้น พวกท่านได้แล้ว เพราะฉะนั้น ขันธ์ซึ่งเป็นของมนุษย์ที่พวกเธอได้กันแล้ว จัดเป็นลาภของพวกท่าน และภาวะเป็นมนุษย์ที่พวกเธอได้แล้วนี้ ก็เป็นขณะเป็นสมัยของการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ที่พวกเธอได้.
สมจริงดังคำที่พระโปราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า.
การเจริญมรรคในที่นี้ นี้ก็เป็นกรรมภูมิ ธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความสังเวชเป็นอันมาก ในที่นี้ก็เป็นฐานะอยู่
ท่านเกิดความสังเวชแล้ว ก็จงประกอบความเพียรโดย
แยบคายในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชเถิด.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํเวคา แปลว่า ความสังเวช.
จบอรรถกถาขณสูตรที่ ๒
ขณสูตร
[๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลาย
ได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย นรกชื่อว่าผัสสายตนิกะ ๖ อันเราเห็นแล้ว ในผัสสายตนิก-
*นรกนั้น สัตว์จะเห็นรูปอะไรๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อม
ไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปไม่น่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าใคร่ ย่อม
เห็นแต่รูปอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าพอใจ จะฟังเสียงอะไรๆ ด้วยหู...
จะดมกลิ่นอะไรๆ ด้วยจมูก... จะลิ้มรสอะไรๆ ด้วยลิ้น... จะถูกต้อง
โผฏฐัพพะอะไรๆ ด้วยกาย... จะรู้แจ้งธรรมารมณ์อะไรๆ ด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้ง
แต่ธรรมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมรู้
แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่
ธรรมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันน่าพอใจ
[๒๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลาย
ได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อว่า ผัสสายตนิกะ ๖ ชั้น เราได้เห็นแล้ว ในผัสสายต-
*นิกสวรรค์นั้น บุคคลจะเห็นรูปอะไรๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา
ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่า
ใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าพอใจ ฯลฯ จะรู้แจ้ง
ธรรมารมณ์อะไรๆ ด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้
แจ้งธรรมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์ที่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันน่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์
อันไม่น่าพอใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายได้ดี
แล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๒
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๓๒๕๓-๓๒๗๖ หน้าที่ ๑๔๐-๑๔๑.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=3253&Z=3276&pagebreak=0
"เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง
นี้เป็นอนุศาสนีของเรา เพื่อเธอทั้งหลาย ฯ"
ว่าด้วยเรื่อง ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม
กรรมสูตร
[๒๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมทั้งใหม่และเก่า ความดับ
แห่งกรรม และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมเก่าเป็นไฉน จักษุอันบัณฑิต
พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็น
ที่ตั้งแห่งเวทนา หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจอันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อัน
ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า ฯ
[๒๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมใหม่เป็นไฉน กรรมที่บุคคลทำด้วย
กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่ ฯ
[๒๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน นิโรธที่ถูกต้อง
วิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นี้เราเรียกว่า ความดับ
แห่งกรรม ฯ
[๒๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม
เป็นไฉน อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑
สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑
สัมมาสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความ
ดับกรรม ฯ
[๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับแห่งกรรม
และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
ด้วยประการดังนี้แล กิจใดแล อันเราผู้ศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้
อนุเคราะห์แก่สาวกทั้งหลาย พึงทำ กิจนั้นเราทำแล้วเพราะอาศัยความอนุเคราะห์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่า
ประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสนีของเราเพื่อ
เธอทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=3449&Z=3475&pagebreak=0
อริยมรรค ๘
[๓๓] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราจักแสดง จักจำแนกอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
อริยมรรคนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? คือ
สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.
[๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน? ความรู้ในทุกข์ ในทุกขสมุทัย
ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ.
[๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน? ความดำริในการออกจากกาม
ความดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ.
[๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา.
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณา-
*ติบาต อทินนาทาน จากอพรหมจรรย์ นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ.
[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการ
เลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ.
[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะ
ให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามก
ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด
บังเกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ.
[๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสติเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณา
เห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสใน
โลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึง
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
เนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย นี้
เรียกว่า สัมมาสติ.
[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติย-
*ฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก
วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย
นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี
อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ.
จบ สูตรที่ ๘
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=19&A=174&Z=210&pagebreak=0
วิภังคสูตร
อรรถกถาวิภังคสูตรที่ ๘
พึงทราบวินิจฉัยในวิภังคสูตรที่ ๘
บทว่า กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาทิฏฺฐิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ โดยปริยายนั้นแล้ว ทรงเริ่มเทศนานี้ เหมือนทรงประสงค์จะจำแนกโดยปริยายอื่นอีก.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺเข ญาณํ ความว่า ญาณอันเกิดขึ้นด้วยอาการ ๔ ด้วยสามารถการฟัง ๑ การพิจารณารอบคอบ ๑ การแทงตลอด ๑ การพิจารณา ๑.
แม้ในสมุทัยก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ส่วนในสองบทที่เหลือ (นิโรธและมรรค) ญาณ ๓ อย่างเท่านั้นย่อมควร เพราะการพิจารณาไม่มี. กัมมัฏฐานในสัจจะ ๔ นี้ พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยบทว่า ทุกฺเข ญาณํ เป็นต้นด้วยอาการอย่างนี้.
ในบทเหล่านั้น สัจจะ ๒ ข้างต้นเป็นวัฏฏะ ๒ ข้างปลายเป็นวิวัฏฏะ.
ในวัฏฏะและวิวัฏฏะเหล่านั้น ความยึดมั่นในกัมมัฏฐานของภิกษุมีในวัฏฏะ ในวิวัฏฏะความยึดมั่นไม่มี.
ก็โยคาวจรเมื่อเรียนซึ่งสัจจะ ๒ ข้างต้นในสำนักของอาจารย์ ท่องด้วยวาจาบ่อยๆ โดยสังเขปอย่างนี้ ปญฺจกฺขนฺธา ทุกฺขํ ตณฺหาสมุทโย และโดยพิสดารมีนัยเป็นอาทิว่า กตเม ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ แล้วจึงทำกรรม.
ส่วนในสัจจะ ๒ นอกนี้ เธอย่อมทำกรรมด้วยการฟังอย่างนี้ว่า นิโรธสัจจะน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มรรคสัจจะน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ. เธอเมื่อทำอย่างนี้ ย่อมแทงตลอดซึ่งสัจจะ ๔ ด้วยปฏิเวธอย่างหนึ่ง ย่อมตรัสรู้ด้วยการตรัสรู้อย่างหนึ่ง ย่อมแทงตลอดทุกข์ได้ด้วยการกำหนดรู้ซึ่งสมุทัยได้ด้วยการละ ซึ่งนิโรธได้ด้วยการทำให้แจ้ง ย่อมแทงตลอดมรรคได้ด้วยการเจริญ. ย่อมตรัสรู้ทุกข์ได้ด้วยการกำหนดรู้ ฯลฯ ย่อมตรัสรู้มรรคได้ด้วยการเจริญ.
การเรียน การไต่ถาม การฟัง การทรงไว้ การพิจารณาและการแทงตลอด ย่อมมีในสัจจะ ๒ (ทุกข์ สมุทัย) ในส่วนเบื้องต้นแห่งสัจจะ ๔ ด้วยประการอย่างนี้. การฟังและการแทงตลอดเท่านั้น ย่อมมีในสัจจะ ๒ (นิโรธ มรรค) ในกาลต่อมา ว่าโดยกิจ ปฏิเวธธรรมย่อมมีในสัจจะ ๓ (ทุกข์ สมุทัย มรรค). ในนิโรธมีปฏิเวธเป็นอารมณ์. ส่วนปฏิเวธย่อมมีแก่สัจจะ ๔ ด้วยการพิจารณา. แต่การกำหนดในเบื้องต้นย่อมไม่มี.
ความห่วงใย การรวบรวม การทำไว้ในใจและการพิจารณา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ผู้กำหนดอยู่ในเบื้องต้นว่า เราย่อมกำหนดรู้ทุกข์ ย่อมละสมุทัย ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ เราย่อมยังมรรคให้เกิด. ความห่วงใยเป็นต้นย่อมมีจำเดิมแต่การกำหนด. แต่ในกาลต่อมา ทุกข์ย่อมเป็นอันเธอกำหนดรู้แล้วแล ฯลฯ มรรคย่อมเป็นอันเธอทำให้เกิดแล้ว.
ในสัจจะ ๔ เหล่านั้น สัจจะ ๒ ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก. สัจจะ ๒ ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก.
จริงอยู่ ทุกขสัจจะก็ปรากฏได้ เพราะความเกิดขึ้นย่อมถึงแม้ซึ่งอันตนพึงกล่าวว่า ทุกข์หนอ ในการกระทบด้วยตอและหนามเป็นต้น. แม้สมุทัยก็ปรากฏได้ เพราะความเกิดขึ้นด้วยสามารถมีความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะเคี้ยวกินและจะบริโภคเป็นต้น. แต่ว่า โดยการแทงตลอดถึงลักษณะทุกข์และสมุทัยสัจแม้ทั้งสอง ก็เป็นธรรมลุ่มลึก. สัจจะเหล่านั้นชื่อว่าเป็นธรรมอันลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยากด้วยประการดังนี้.
ความพยายามเพื่อต้องการเห็นสัจจะทั้งสองนอกนี้ (นิโรธ มรรค) ย่อมเป็นเหมือนการเหยียดมือไปเพื่อจับภวัคคพรหม เหมือนการเหยียดเท้าไปเพื่อถูกต้องอเวจี และเหมือนการยังปลายแห่งขนหางสัตว์ซึ่งแยกแล้วโดย ๗ ส่วนให้ตกสู่ปลาย. สัจจะเหล่านั้นชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยากด้วยประการดังนี้.
บทเป็นอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยสามารถการเรียนเป็นต้น ในสัจจะ ๔ ชื่อว่าเป็นธรรมลุ่มลึก เพราะเห็นได้ยาก และชื่อว่าเป็นธรรมเห็นได้ยาก เพราะเป็นธรรมลุ่มลึก ด้วยประการดังนี้. ส่วนญาณนั้นย่อมมีอย่างนี้แลในลักษณะแห่งปฏิเวธ.
พึงทราบในบทเนกขัมมสังกัปปะเป็นอาทิ ความดำริในการออกจากกามว่า เกิดขึ้นแล้วโดยภาวะที่ออกไปจากกาม เพราะอรรถว่าเป็นข้าศึกต่อกามบ้าง เกิดขึ้นแล้วแก่ผู้พิจารณากามอยู่ดังนี้บ้างว่า เมื่อทำการกำจัดกาม ให้กามสงบก็เกิดขึ้นดังนี้บ้างว่า เมื่อสงัดจากกามก็เกิดขึ้นดังนี้บ้าง.
แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
ส่วนธรรมมีเนกขัมมสังกัปปะเป็นต้นเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่าต่างกันในส่วนเบื้องต้น เพราะความหมายในการงดเว้นจากกาม จากพยาบาทและจากวิหิงสามีสภาวะต่างกัน.
ส่วนในขณะแห่งมรรค ความดำริในกุศลอย่างเดียวเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ยังองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์อยู่ ด้วยสามารถให้สำเร็จความไม่เกิดขึ้น เพราะขาดกับบทแห่งความดำริในอกุศลอันเกิดนั้นในฐานะทั้ง ๓ เหล่านี้ นี้ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ.
ธรรมแม้มีเจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จเป็นต้น ชื่อว่าต่างกันในส่วนเบื้องต้น เพราะความหมายในการงดเว้นจากพูดเท็จเป็นต้น มีภาวะต่างกัน. ส่วนในขณะแห่งมรรค เจตนาเครื่องงดเว้นเป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ยังองค์มรรคให้บริบูรณ์อยู่ด้วยสามารถให้สำเร็จความไม่เกิดขึ้น เพราะขาดกับบทเจตนาเครื่องทุศีล อันเป็นอกุศล ซึ่งเกิดขึ้นในฐานะทั้ง ๔ เหล่านี้ นี้ชื่อว่าสัมมาวาจา.
ธรรมแม้มีเจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าต่างกันในส่วนเบื้องต้น เพราะความหมายในการงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นมีภาวะต่างกัน. ส่วนในขณะแห่งมรรค เจตนาเครื่องงดเว้นอันเป็นกุศลอย่างเดียวย่อมเกิดขึ้น ยังองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์อยู่ ด้วยสามารถให้สำเร็จความไม่เกิดขึ้น เพราะขาดกับบทโดยไม่ทำเจตนาเครื่องทุศีลอันเป็นอกุศลซึ่งเกิดขึ้น ในฐานะทั้ง ๓ เหล่านี้ นี้ชื่อว่าสัมมากัมมันตะ.
บทว่า มิจฺฉาอาชีวํ ได้แก่ ทุจริตทางกายและทางวาจาอันตนให้เป็นไปแล้ว เพื่อต้องการของควรเคี้ยวและของควรบริโภคเป็นต้น.
บทว่า ปหาย คือ เว้น. บทว่า สมฺมาอาชีเวน ได้แก่ ด้วยการเลี้ยงชีพอันพระพุทธเจ้าสรรเสริญแล้ว.
บทว่า ชีวิตํ กปฺเปติ ความว่า ย่อมยังความเป็นไปแห่งชีวิตให้เป็นไป.
แม้สัมมาอาชีวะ ชื่อว่าต่างกันในเบื้องต้น เพราะความหมายในการงดเว้นจากการหลอกลวงเป็นต้นมีภาวะต่างกัน. ส่วนในขณะแห่งมรรค เจตนาเครื่องงดเว้นเป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ยังองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์อยู่ด้วยสามารถให้สำเร็จความไม่เกิดขึ้น เพราะขาดกับบทเจตนาเครื่องทุศีลอันเป็นมิจฉาชีพ ซึ่งเกิดขึ้นในฐานะทั้ง ๗ เหล่านี้แล นี้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ.
บทว่า อนุปฺปนฺนานํ ความว่า เห็นอารมณ์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ในเรือนแห่งหนึ่ง ย่อมยังฉันทะให้เกิด เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเป็นบาปซึ่งยังไม่เกิดขึ้นแก่ตน หรือว่าเห็นอารมณ์ทั้งหลาย ที่กำลังเกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ย่อมยังฉันทะให้เกิด เพื่อความไม่เกิดขึ้น แห่งอกุศลธรรมอันเป็นบาป ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น อย่างนี้ว่า โอหนอ ธรรมอันเป็นบาปเห็นปานนี้ไม่พึงเกิดขึ้นแก่เรา ดังนี้.
บทว่า ฉนฺทํ ความว่า ย่อมยังวิริยฉันทะเป็นเหตุให้สำเร็จแห่งการปฏิบัติมิให้อกุศลธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น.
บทว่า วายมติ ได้แก่ ย่อมทำความพยายาม.
บทว่า วิริยํ อารภติ ได้แก่ ย่อมยังความเพียรให้เป็นไป.
บทว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ความว่า ย่อมทำจิตอันความเพียรประคองไว้แล้ว.
บทว่า ปทหติ ความว่า ย่อมยังความเพียรให้เป็นไปว่า หนัง เอ็นและกระดูกจงเหือดไปก็ตามเถิด.
บทว่า อุปฺปนฺนานํ ความว่า เคยเกิดขึ้นแล้วแก่ตนด้วยสามารถความฟุ้งซ่าน ย่อมยังฉันทะให้เกิด เพื่อละอกุศลธรรมเหล่านั้นด้วยคิดว่า บัดนี้ เราจักไม่ให้อกุศลธรรมทั้งหลายเช่นนั้นเกิดขึ้น.
บทว่า อนุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ความว่า กุศลธรรมมีปฐมฌานเป็นต้นที่ยังไม่ได้.
บทว่า อุปฺปนฺนานํ ได้แก่ กุศลธรรมเหล่านั้นนั่นแลที่ตนได้แล้ว.
บทว่า ฐิติยา ความว่า เพื่อความตั้งมั่นด้วยสามารถความเกิดขึ้นติดกันบ่อยๆ.
บทว่า อสมฺโมสาย ได้แก่ เพื่อความไม่สูญหาย.
บทว่า ภิยฺโย ภาวาย ได้แก่ เพื่อสูงขึ้นไป.
บทว่า เวปุลฺลาย ได้แก่ เพื่อความไพบูลย์.
บทว่า ปาริปูริยา ได้แก่ เพื่อให้ภาวนาบริบูรณ์.
สัมมาวายามะ แม้นี้ชื่อว่าต่างกันในส่วนเบื้องต้น เพราะอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด คิดมิให้เกิดเป็นต้น มีภาวะต่างกัน. ส่วนในขณะแห่งมรรคความเพียร เป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ยังองค์มรรคให้บริบูรณ์อยู่ด้วยสามารถให้สำเร็จกิจในฐานะ ๔ เหล่านี้แล นี้ชื่อว่าสัมมาวายามะ.
แม้สัมมาสติ ชื่อว่าต่างกันในส่วนเบื้องต้น เพราะความต่างกันแห่งจิตกำหนดกายเป็นต้น. ส่วนในขณะแห่งมรรค สติอย่างเดียวย่อมเกิดขึ้น ยังองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์อยู่ด้วยสามารถให้สำเร็จกิจในฐานะ ๔ เหล่านี้ นี้ชื่อว่าสัมมาสติ.
พึงทราบในฌานเป็นต้น ในส่วนเบื้องต้น สัมมาสมาธิต่างกันด้วยสามารถสมาบัติ ในขณะแห่งมรรคด้วยสามารถมรรคที่ต่างกัน.
จริงอยู่ ปฐมมรรคของฌานอย่างหนึ่งย่อมมีปฐมฌาน แม้ทุติยมรรคเป็นต้นมีปฐมฌานหรือมีฌานอย่างใดอย่างหนึ่งในทุติยฌานเป็นต้น ปฐมมรรคของฌานอย่างหนึ่งย่อมมีฌานอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งทุติยฌานเป็นต้น. แม้ทุติยมรรคเป็นต้นมีฌานอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งทุติยฌานเป็นต้นหรือมีปฐมฌาน. มรรคแม้ ๔ จะเหมือนกัน ไม่เหมือนกันหรือเหมือนกันบางอย่าง ย่อมมีด้วยสามารถแห่งฌานอย่างนี้แล.
ส่วนความต่างกันแห่งมรรคนี้ ย่อมมีด้วยการกำหนดฌานที่เป็นบาท.
จริงอยู่ มรรคที่เกิดขึ้นแก่ผู้ได้ปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเห็นแจ้งอยู่ ย่อมมีปฐมฌานด้วยการกำหนดฌานที่เป็นบาท. ส่วนในฌานนี้ย่อมมีองค์แห่งมรรคโพชฌงค์และฌานบริบูรณ์แล้วแล.
มรรคที่เกิดขึ้นแก่ผู้ออกจากทุติยฌานแล้วเห็นแจ้งอยู่ ย่อมมีทุติยฌาน. ส่วนในฌานนี้ องค์มรรคมี ๗. มรรคที่เกิดขึ้นแก่ผู้ออกจากตติยฌานเห็นแจ้งอยู่ ย่อมมีตติยฌานก็ในฌานนี้มีองค์มรรค ๗ โพชฌงค์มี ๖. ตั้งแต่จตุตถฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะก็มีนัยนี้.
จตุกกฌานและปัญจมกฌานในอรูปฌานย่อมเกิดขึ้น และฌานนั้น ท่านกล่าวว่า เป็นโลกุตระหาเป็นโลกิยะไม่ ดังนี้.
แม้ในบทว่า กถํ นี้ในบทนั้น มรรคนั้นเกิดขึ้นแล้วในอรูปฌาน เพราะออกจากปฐมฌานเป็นต้นได้โสดาปัตติมรรคเจริญอรูปสมาบัติ. มรรค ๓ แม้มีฌานนั้น ย่อมเกิดขึ้นในอรูปฌานนั้นของฌานนั้น.
ฌานที่เป็นบาท ย่อมกำหนดอย่างนี้แล.
ส่วนพระเถระบางพวกย่อมกล่าวว่า ขันธ์เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาย่อมกำหนด. บางพวกกล่าวว่า อัธยาศัยของบุคคลย่อมกำหนด. บางพวกย่อมกล่าวว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนาย่อมกำหนด.
การวินิจฉัยในวาทะของพระเถระเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยอันกล่าวไว้แล้วในอธิการว่าด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนา ในวิสุทธิมรรค.
บทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาสมาธิ ดังนี้ นี้เป็นโลกิยะในส่วนเบื้องต้น ในส่วนเบื้องปลายเป็นโลกุตระ ท่านเรียกว่า สมาธิ.
จบอรรถกถาวิภังคสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------
สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
*เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ. ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง. ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็น
จริงอย่างไร. ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความ
เกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและความดับแห่ง
วิญญาณ.
[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป อะไรเป็นความเกิดแห่ง
เวทนา อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร อะไรเป็นความเกิดแห่ง
วิญญาณ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่.
ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ ซึ่งอะไร. ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง
ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความยินดีก็เกิดขึ้น ความยินดีในรูป
นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส. ความ
เกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ
ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง
ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ ความยินดีย่อมเกิดขึ้น
ความยินดีในวิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาส. ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย นี่เป็นความเกิดแห่งรูป นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา นี่เป็น
ความเกิดแห่งสังขาร นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ.
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา
อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่.
ก็ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งอะไร. ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อม
ไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป ความ
ยินดีในรูปย่อมดับไป เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ภิกษุย่อมไม่
เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำ ซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ...
ซึ่งวิญญาณ เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งเวทนา ... ซึ่งสัญญา ... ซึ่งสังขาร ...
ซึ่งวิญญาณ ความยินดีในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณ ย่อมดับไป เพราะความ
ยินดีของภิกษุนั้นดับไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกอง
ทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความดับแห่งรูป นี้เป็นความดับ
แห่งเวทนา นี้เป็นความดับแห่งสัญญา นี้เป็นความดับแห่งสังขาร นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ.
จบ สูตรที่ ๕.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๙๓-๓๓๑ หน้าที่ ๑๓-๑๔.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=293&Z=331&pagebreak=0
ไตรวัฏฏ์ วัฏฏะ ๓, วงวน ๓ หรือวงจร ๓ ส่วนของปฏิจจสมุปบาท หมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก
(เรียกเต็มว่า
๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ
๓. วิปากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส)
คือ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ได้รับวิบากคือผลของกรรมนั้น อันเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสแล้วทำกรรมหมุนเวียนต่อไปอีก
เช่น เกิดกิเลสอยากได้ของเขา จึงทำกรรมด้วยการไปลักของเขามา ประสบวิบากคือได้ของนั้นมาเสพเสวยเกิดสุขเวทนา ทำให้มีกิเลสเหิมใจอยากได้รุนแรงและมากยิ่งขึ้นจึงยิ่งทำกรรมมากขึ้น
หรือในทางตรงข้ามถูกขัดขวาง ได้รับทุกขเวทนาเป็นวิบาก ทำให้เกิดกิเลส คือโทสะแค้นเคือง แล้วพยายามทำกรรมคือประทุษร้ายเขา เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด;
ไตรวัฏ ก็เขียน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ไตรวัฏฏ์
เทวดาไหว้ใคร
ภิกษุทั้งหลาย !
ครั้งนั้นแล ได้ทราบว่าท้าวสักกะจอมเทพ
ขณะเสด็จลงจากเวชยันตปราสาท
ทรงประนมอัญชลี นมัสการทิศเป็นอันมาก
ภิกษุทั้งหลาย !
ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตร
ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพ ด้วยคาถาว่า
พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา
กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้งสี่
และทวยเทพชาวไตรทศผู้มียศ ย่อมนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่ท้าวสักกะ !
เมื่อเป็นเช่นนั้น
พระองค์ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด
ท่านผู้ควรบูชาคนนั้นชื่อไรเล่า ขอเดชะ
…
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา
กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้งสี่
และทวยเทพชาวไตรทศผู้มียศ นอบน้อมท่านผู้ใด
ซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
มีจิตตั้งมั่นตลอดกาลนาน
ผู้บวชแล้วโดยชอบ
มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า
คฤหัสถ์เหล่าใดเป็นผู้ทำบุญ มีศีล
เป็นอุบาสกเลี้ยงดูภรรยาโดยชอบธรรม
มาตลี !
เรานอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น
มาตลีสังคาหกเทพบุตรกล่าวว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะ !
ได้ยินว่า พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด
บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลกเทียว
ข้าแต่ท้าววาสวะ
พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด
ถึงข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้น
…
ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช
ผู้เป็นประมุขของเทวดาทั้งหลาย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว
ทรงน้อมนมัสการทิศเป็นอันมาก แล้วเสด็จขึ้นรถ
( บาลี – สคาถ. สํ. ๑๕/๓๔๓-๓๔๔/๙๒๘-๙๓๒ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น