"ครั้งเมื่อภาพปรากฏแล้ว เกิดมีอารมณ์อยากเห็นต่อไปอีก อาการอยากเห็นนี้แหละเป็นอาการฟุ้งซ่านของจิต จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส จิตมีความสกปรกเพราะกิเลส"
"โอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา"
........................................................................
มีเรื่องที่จะทำให้บ้าอีกเรื่องหนึ่งคือ "นิมิต" นิมิตคือภาพที่ปรากฏให้เห็น เพราะเมื่อกำลังสมาธิเข้าถึงระยะอุปจารสมาธินี้จิตใจเริ่มสะอาดจากกิเลสเล็กน้อยเมื่อจิตเริ่มสะอาดจากกิเลสพอสมควรตามกำลังของสมาธิที่กดกิเลสไว้ยังไม่ใช่การตัดกิเลส อารมณ์ใจเริ่มเป็นทิพย์นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่มีความเป็นทิพย์ทรงตัวพอที่จะเป็นทิพจักขุญาณได้ จิตที่สะอาดเล็กน้อยนั้นจะเริ่มเห็นภาพนิดๆ หน่อยๆ ชั่วแว้บเดียวคล้ายแสงฟ้าแลบคือผ่านไปแว้บนึงก็หายไป ถ้าต้องการให้เกิดใหม่ก็ไม่เกิดเรียกร้องอ้อนวอนเท่าไหร่ก็ไม่มาอีก ท่านนักปฏิบัติต้องเข้าใจตามนี้ว่าภาพอย่างนี้เป็นภาพที่ผ่านมาชั่วขณะ จิตไม่สามารถบังคับภาพนั้นให้กลับมาได้อีก หรือบังคับให้อยู่นานมากๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน
ภาพที่ปรากฏนี้จะทรงตัวอยู่นานหรือไม่นานอยู่ที่สมาธิของท่าน เมื่อภาพปรากฏ ถ้ากำลังใจของท่านไม่ตกใจพลัดจากสมาธิ ภาพนั้นก็ทรงตัวอยู่นานเท่าที่สมาธิทรงตัวอยู่ ถ้าเมื่อภาพปรากฏท่านตกใจสมาธิก็พลัดตกจากอารมณ์ภาพนั้นก็จะหายไป ส่วนใหญ่จะลืมความจริงไปว่าเมื่อพลาดจะปรากฏนั้นเป็นอารมณ์สงัด ไม่มีความต้องการอะไร จิตสงัดจากกิเลสนิดหน่อย จึงเห็นภาพได้
ครั้งเมื่อภาพปรากฏแล้ว เกิดมีอารมณ์อยากเห็นต่อไปอีก อาการอยากเห็นนี้แหละเป็นอาการฟุ้งซ่านของจิต จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส จิตมีความสกปรกเพราะกิเลส อย่างนี้ต้องการเห็นเท่าไหร่ก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นตามความต้องการก็เกิดความกลุ้ม ยิ่งกลุ้มความฟุ้งซ่านยิ่งเกิด เมื่อความปรารถนาไม่สมหวังในที่สุดก็เป็นโรคประสาท (บางรายบ้าไปเลย) ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เชื่อตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำไว้ว่าจงอย่ามีอารมณ์อยากหรืออย่าให้ความอยากได้เข้าครอบงำบังคับบัญชาจิต
...........
คัดลอกจากหนังสือวิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ โดย พระสุธรรมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
"ว่าด้วยการละวิปัสสนูปกิเลส"
ความเป็นผู้ฉลาดในธรรมุทธัจจะ
บทว่า นิกนฺติ อุปฺปชฺชติ นิกันติ (ความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้น คือความพอใจมีอาการสงบ สุขุมทำความอาลัยในวิปัสสนาอันประดับด้วยโอภาสเป็นต้นอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น ความพอใจใดไม่อาจแม้กำหนดลงไปว่าเป็นกิเลส ดุจในโอภาส เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น.
พระโยคาวจรคิดว่าญาณเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้ ปีติ ปัสสัทธิ อธิโมกข์ ปัคคหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ เห็นปานนี้เคยเกิดแล้ว เราเป็นผู้บรรลุมรรค เราเป็นผู้บรรลุผลแน่นอน แล้วถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งมิใช่ผลว่าเป็นผล.
เมื่อพระโยคาวจรนั้นถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค และสิ่งมิใช่ผลว่าเป็นผล วิปัสสนาวิถีย่อมหลีกออกไป.
พระโยคาวจรนั้นสละมูลกรรมฐานของตนแล้วนั่ง ยินดีความพอใจนั้นเท่านั้น.
อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวโอภาสเป็นต้นว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง เพราะไม่ใช่อกุศล ส่วนนิกันติเป็นอุปกิเลสด้วยเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองด้วย. อุปกิเลสเหล่านี้มี ๑๐ อย่างด้วยสามารถแห่งวัตถุ มี ๓๐ ด้วยสามารถแห่งการถือเอา อย่างไร. เมื่อพระโยคาวจรถือว่า โอภาสเกิดแล้วแก่เรา ย่อมเป็นการถือเอาด้วยทิฏฐิ เมื่อถือว่าโอภาสน่าพอใจหนอเกิดแล้ว ย่อมเป็นการถือเอาด้วยมานะ เมื่อยินดีโอภาส ย่อมเป็นการถือเอาด้วยตัณหา การถือเอา ๓ อย่างด้วยสามารถแห่งทิฏฐิมานะและตัณหาในโอภาสด้วยประการดังนี้. แม้ในอุปกิเลสที่เหลือก็อย่างนั้น. อุปกิเลส ๓๐ ด้วยอำนาจแห่งการถือเอาย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ทุกฺขโต มนสิกโรโต อนตฺตโต มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา.
พึงทราบความโดยนัยนี้แม้ในวาระทั้งหลาย.
ในบทนี้พึงทราบความเกิดแห่งวิปัสสนูปกิเลสแห่งวิปัสสนาหนึ่งๆ ด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนาหนึ่งๆ มิใช่อย่างเดียวเท่านั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในอนุปัสสนา ๓ ดังต่อไปนี้.
พระอานนทเถระ ครั้นแสดงอุปกิเลสทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา โดยไม่ต่างกันอย่างนี้ แล้วเมื่อจะแสดงด้วยอำนาจแห่งความต่างกันอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูปํ อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ชรามรณํ อนิจฺจโต อุปฏฺฐานํ ชรามรณะอันปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง คือความปรากฏของชราและมรณะโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
เพราะพระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ไม่เปรื่องปราชญ์ด้วยอำนาจแห่งอุปกิเลส ๓๐ ดังกล่าวแล้วในบทก่อน ย่อมหวั่นไหวในโอภาสเป็นต้น ย่อมพิจารณาโอภาสเป็นต้นอย่างหนึ่งๆ ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ฉะนั้นพระอานนทเถระเมื่อจะแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถามีอาทิว่า โอภาเสว เจว ญาเณ จ ในโอภาสและญาณดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วิกมฺปติ ย่อมกวัดแกว่ง คือ ย่อมกวัดแกว่ง หวั่นไหว ๓ อย่างด้วยอำนาจกิเลสต่างๆ ในอารมณ์มีโอภาสเป็นต้น.
บทว่า เยหิ จิตฺตํ ปเวเธติ จิตย่อมหวั่นไหว คือ จิตย่อมกวัดแกว่งหวั่นไหวด้วยปัสสิทธิและสุขโดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจกิเลสต่างๆ เพราะฉะนั้น พึงทราบความสัมพันธ์ ความว่า พระโยคาวจรย่อมกวัดแกว่งในปัสสัทธิและในสุข.
บทว่า อุเปกฺขา วชฺชนาย เจว จากความนึกถึงอุเบกขา คือ จิตย่อมกวัดแกว่ง จากความนึก คือ อุเบกขา.
อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งจากความวางเฉยในการนึกถึง.
แต่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า อุเปกฺขาวชฺชนายญฺจ ในการนึกถึงอุเบกขา.
บทว่า อุเปกฺขาย จ ความวางเฉย คือ จิตย่อมกวัดแกว่งด้วยความวางเฉยมีประการดังกล่าวแล้ว.
อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งด้วยความพอใจ.
อนึ่ง ในบทนี้ เพราะท่านชี้แจงถึงอุเบกขา ๒ อย่าง จึงกล่าวอรรถโดยประการทั้งสองในฐานะที่ท่านกล่าวแล้วว่า อุเปกฺขา อุปฺปชฺชติ อุเบกขาย่อมเกิด.
อนุปัสสนาอย่างหนึ่งๆ เพราะความปรากฏแห่งความวางเฉยด้วยการนึกถึงแห่งอนุปัสสนาหนึ่งๆ ในอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า เจริญบ่อยๆ ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ ทุกฺขํ อนตฺตา อนตฺตา.
อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เปรื่องปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนด ย่อมสอบสวนโอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดาด้วยประการดังนี้.
อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นมีความดำริอย่างนี้.
หากโอภาสพึงเป็นตัวตน พึงควรที่จะถือเอาว่าเป็นตัวตน แต่โอภาสนี้มิใช่ตัวตน ยังถือกันว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเมื่อเห็นว่า โอภาสนี้มิใช่ตัวตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ จึงถอนทิฏฐิเสียได้.
หากว่า โอภาสพึงเป็นสภาพเที่ยง พึงควรเพื่อถือเอาว่าเป็นสภาพเที่ยง แต่โอภาสนี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ยังถือกันว่าเป็นสภาพเที่ยง เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มีย่อมถอนมานะเสีย.
หากว่า โอภาสพึงเป็นความสุข พึงควรถือเอาว่า เป็นความสุข แต่โอภาสนี้เป็นความทุกข์ ยังถือเอาว่าเป็นความสุข เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นความทุกข์ เพราะเกิดขึ้นสิ้นไปและบีบคั้น ย่อมถอนความพอใจ ดุจในโอภาส.
แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
พระโยคาวจรครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นโอภาสว่า นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่กวัดแกว่ง ไม่หวั่นไหว ในโอภาสเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระอานนทเถระเมื่อแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถาว่า อิมานิ ทส ฐานานิ ฐานะ ๑๐ ประการเหล่านี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ทส ฐานานิ คือ มีโอภาสเป็นต้น.
บทว่า ปญฺญายสฺส ปริจฺจิตา ภิกษุนั้นกำหนดด้วยปัญญา คือ กำหนดถูกต้อง อบรมบ่อยๆ ด้วยปัญญา พ้นจากอุปกิเลส.
บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจกุสโล โหติ เป็นผู้ฉลาด ในความนึกถึงโอภาสเป็นต้น อันเป็นธรรมฟุ้งซ่าน คือพระโยคาวจรเป็นผู้กำหนดฐานะ ๑๐ อย่างด้วยปัญญา เป็นผู้ฉลาดด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงแห่งธรรมุทธัจจะ มีประการดังกล่าวแล้วในตอนก่อน.
บทว่า น จ สมฺโมหคจฺฉติ ย่อมไม่ถึงความหลงใหล คือไม่ถึงความหลงใหลด้วยการถอนตัณหา มานะและทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ฉลาดในธรรมุทธัจจะ.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=7564&Z=7861
"ว่าด้วยเรื่อง ทิพยจักษุญาณทัสนะ"
นิมิต วิปัสสนา
บทว่า ญาณทสฺสนปฏิลาภาย ความว่า เพื่อได้ญาณทัสนะคือทิพยจักษุ.
บทว่า ทิวา สญฺญํ อธิฏฺฐาติ ความว่า ย่อมตั้งความกำหนดหมายอย่างนี้ว่ากลางวัน ดังนี้.
บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า ทำในใจถึงอาโลกสัญญาความกำหนดหมายว่าแสงสว่างในเวลากลางวันฉันใด ย่อมทำในใจถึงอาโลกสัญญานั้น แม้ในกลางคืนก็ฉันนั้นนั่นแหละ.
แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สปฺปภาสํ ได้แก่ มีแสงสว่างคือทิพยจักษุญาณ แม้ทำจิตให้เป็นเสมือนแสงสว่างได้แล้วก็จริง ถึงกระนั้น บัณฑิตก็พึงกำหนดเนื้อความอย่างนี้. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์แสงสว่างคือทิพยจักษุญาณ.
บทว่า วิทิตา ได้แก่ ปรากฏแล้ว.
ถามว่า อย่างไร เวทนาที่รู้แล้ว ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป.
ตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดวัตถุ ย่อมกำหนดอารมณ์ เพราะภิกษุนั้นกำหนดวัตถุและอารมณ์แล้ว เวทนาที่รู้อย่างนี้ว่าเวทนาเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าตั้งอยู่ ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป. แม้ในสัญญาและวิตกก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อุทยพฺพยานุปสฺสี แปลว่า พิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อม.
บทว่า อิติ รูปํ ความว่า รูปเป็นอย่างนี้ รูปมีเท่านี้ รูปอื่นนอกนี้ไม่มี.
บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ความว่า ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้.
ส่วนบทว่า อตฺถงฺคโม ท่านหมายถึงความแตกดับ.
แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อิทญฺจ ปน เม ตํ ภิกฺขเว สนฺธาย ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำเป็นต้นว่า สงฺขาย โลกสฺมิ ใด เรากล่าวแล้ว ในปุณณกปัญหา (โสฬสปัญหา). คำนั้นเรากล่าวหมายถึงผลสมาบัตินี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขาย ได้แก่ รู้ด้วยญาณ.
บทว่า โลกสฺมิ ได้แก่ ในโลกคือหมู่สัตว์.
บทว่า ปโรปรานิ ได้แก่ ความยิ่งและหย่อน คือสูงและต่ำ.
บทว่า อิญฺชิตํ ได้แก่ ความหวั่นไหว.
บทว่า นตฺถิ กุหิญฺจิ โลเก ความว่า ความหวั่นไหวของผู้ใด ในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะในขันธ์หนึ่งก็ดี อายตนะหนึ่งก็ดี ธาตุหนึ่งก็ดี อารมณ์หนึ่งก็ดี ย่อมไม่มีในโลก.
บทว่า สนฺโต ความว่า ผู้นั้นเป็นคนสงบ เพราะสงบกิเลสที่เป็นข้าศึก.
บทว่า วิธูโม ความว่า เป็นผู้ปราศจากกิเลสดุจควัน เพราะควันคือความโกรธ.
ในพระสูตรนี้ ตรัสถึงเอกัคคตาในมรรค ในคาถาตรัสผลสมาบัติอย่างเดียวด้วยประการฉะนี้แล.
จบอรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น