ตอนที่ ๒
อาตมาจึงได้ถามคำถามซึ่งคิดว่าหลวงพ่อเดิมคงไม่ได้เล่าเอาไว้ว่า
“เหตุใดวัดหนองโพจึงเก่งทางด้านกระบี่กระบอง ขอรับหลวงพ่อ”
หลวงพ่อเดิมท่านหยุดนิดหนึ่ง แล้วเริ่มเล่าย้อนหลังขึ้นไปสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะล่ม เหมือนท่านอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตัวท่านเอง
หลวงพ่อเดิมท่านทอดสายตาออกไปนอกกุฏิสู่ความเวิ้งว้างของโลกภายนอก น้ำเสียงของท่านดูกร้าวและแกร่งขึ้นมา คล้ายกับจะรื้อฟื้นความทรงจำอันเจ็บปวดครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องตกอยู่ท่ามกลางทะเลเพลิงที่พม่าข้าศึกเข้าปล้นสะดม เผาผลาญอย่างไร้ความปรานี แล้วเล่าให้ฟังว่า
“คุณฟังให้ดีๆ นะ ฉันจะเล่าเรื่องแต่เบื้องหลังให้คุณฟังแล้วคิดตาม ฉันไม่ค่อยจะได้เล่าให้ใครฟัง แต่สำหรับคุณ ฉันจะเผยเรื่องราวโดยไม่ปิดบัง หลวงพ่อเฒ่าแห่งวัดหนองโพ ซึ่งเป็นสมภารองค์แรกของวัดหนองโพ คุณรู้ไหมว่าท่านเป็นใคร เอาล่ะฉันจะบอกให้
ท่านเป็นขุนศึกคู่ใจของพระยาตาก ซึ่งเดินทางจากเมืองตากเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระยาตาก เพื่อเข้ามารับตำแหน่งเจ้าพระยาวชิรปราการ ไปครองเมืองกำแพงเพชร แต่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน พระยาตากท่านจึงต้องสู้กับพม่าข้าศึกโดยตั้งค่ายที่วัดพิชัย
หลวงพ่อเดิมท่านได้เล่าให้อาตมาฟังต่อไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับว่าท่านคืออดีตนักรบแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สละชีวิตเพื่อเป็นชาติพลีในครั้งกระนั้น
ชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งค่ายเข้าต่อตีกองทัพพม่าจนแตกกระจัดกระจายไปถึง ๗ ครั้ง ๗ หน สู้อย่างกล้าหาญ คนเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับกองทัพพม่า แต่สามารถทำลายกำลังพม่าข้าศึกเป็นก่ายเป็นกอง แล้วทำไมกรุงศรีอยุธยาจึงล่ม
มันไม่ได้ล่มเพราะคนไทยไม่มีฝีมือ แต่พม่าเอาสุกี้พระนายกองมอญ ที่เคยพึ่งบารมีข้าวแดงแกงร้อนของไทย มาเป็นคนนำทางเข้าทำลายคนไทย ประการหนึ่ง
ประการที่สอง คนไทยเราแตกความสามัคคี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ค่ายบางระจันสู้จนล้มตายเป็นอันมาก เพราะสุกี้พระนายกองมอญเอาปืนใหญ่มายิงใส่ค่าย ส่งคนไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา ยังถูกคนไทยด้วยกันพูดให้ต้องน้ำตาตกว่า “น้ำหน้าอย่างชาวบ้านธรรมดานะหรือจะเอาปืนใหญ่ไปสู้พม่า ขืนเอาไปก็ถูกพม่ามันชิงเอามายิงกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นเอง”
ท่านขุนสรรค์ พันเรือง นายทองแสงใหญ่ นายจัน หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น นายดอกแก้ว นายแท่น มาประชุมหารือกันแล้วก็ท้อแท้ใจว่า ดูหรือเราสละเลือดเนื้อกันแทบตาย แต่ผลที่ได้รับก็คือ การดูหมิ่นฝีมือและน้ำใจ พม่ามันยิงด้วยปืนใหญ่ทุกวัน ล้มตายกันวันละหลายคน อย่ากระนั้นเลยเปิดค่ายออกไปรบกับมัน ให้รู้ดีรู้ชั่วไปให้โลกเขาร่ำลือว่า ชาวบางระจันยอมสละชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดิน
หลวงพ่อเดิมท่านเล่าไปอีกว่า
“คุณรู้ไหมว่า ครั้งนั้นชาวค่ายบางระจันควงมีดพร้า กระท้าขวานดาหน้าเข้าหาห่าปืนใหญ่ของพม่าข้าศึก เข้ารบกับพม่าด้วยความกล้าหาญ เอาชีวิตเข้าแลก ยอมตายกันหมดทั้งค่าย ให้พม่าเดินข้ามศพเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาดีกว่าให้พวกมันจับไปร้อยหวายผูกเป็นพวงเอาไปเป็นขี้ข้าที่หงสาวดี
พม่าข้ามศพชาวบ้านบางระจันเข้ามาตั้งทัพที่วัดทุ่งพระเมรุ มันจึงไม่เผาทำลาย มันล้อมกรุงเอาไว้ คนไทยมีฝีมือจะสู้พม่า แต่เจ้าบ้านผ่านเมืองสมัยนั้นกลับไม่ยอมสู้ นอนงอมืองอเท้ากะให้น้ำหลาก พม่าจะได้ยกทัพกลับ แต่คราวนี้ผิดคาด พม่ามันเตรียมตัวมาอย่างดี เอาปืนใหญ่ยิงเข้ามาทุกวัน ถูกเรือนชานชาวบ้าน ไฟไหม้วอดวายตายกันเป็นเบือ พระยาตาก สุดจะทน ลากปืนใหญ่มายิงใส่พม่า จนล้มตายเกลื่อน กำลังจะบรรจุลูกที่สอง ก็มีคนถือดาบอาญาสิทธิ์มาบอกว่า “ให้พระยาตากเข้าไปรับการพิจารณาโทษที่ศาลาลูกขุน ในฐานะฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาล ที่ห้ามยิงปืนใหญ่ก่อนจะได้รับอนุญาต เพราะนางสนมกรมพระแม่จะตกใจ”
เนื่องจากพระยาตากมีความดีความชอบในแผ่นดินมาก่อน ให้รอลงพระราชอาญา หากฝ่าฝืนยิงปืนอีกจะถูกตัดหัวทันที ในที่สุดพระยาตากได้ตัดสินใจตีหักแหวกวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปกู้ชาติ
หลวงพ่อเฒ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในขุนศึกคู่ใจ ก็ร่วมตีหักออกมาในครั้งกระนั้น ได้ช่วยพระยาตากทำศึกกับพม่าอย่างโชกโชน จนกระทั่งพระยาตากได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อเฒ่าจะให้เป็นคุณหลวง แต่หลวงพ่อเฒ่าท่านถวายบังคมลาออกจากการรับราชการ เพราะเห็นว่าได้ทำศึกมามากแล้ว ฆ่าคนมาก็มาก จะขอเข้าบวชในพระพุทธศาสนา พระยาตากก็อนุญาตให้ตามที่ขอ
หลวงพ่อเฒ่าท่านจึงเดินทางมาจังหวัดนครสวรรค์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้มาฟื้นฟูวัดหนองโพขึ้น หลังจากที่กรุงธนบุรีได้เป็นปึกแผ่นแล้ว พระยาตากยังได้ให้คนนำของมาถวายและไถ่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ แต่หลวงพ่อเฒ่าท่านไม่ได้บอกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงรู้แต่เพียงว่าท่านบวชแล้วก็ลงเรือมากับเพื่อนภิกษุด้วยกัน แล้วอพยพหลบนายภาษีมาตั้งวัดหนองโพ
วัดหนองโพ จึงมีการสอนวิชากระบี่กระบองและวิชาดาบ ได้สืบทอดกันมา หลวงพ่อเฒ่าท่านได้เคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า “สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คนที่จะเข้ามาเป็นนักรบชั้นแนวหน้าชั้นขุนศึกนั้น ต้องศึกษาอักขระและภาษาต่างๆ ไปจนถึงตำรับพิชัยสงคราม ต้องบวชเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกรากฐานจิตใจเสียก่อน แล้วจึงจะเรียนเพลงอาวุธกันในสำนักเรียน ก็คือวัดทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยานั่นเอง แต่ท่านไม่เคยบอกใครนะว่าท่านเป็นอดีตขุนศึกคู่พระทัยของพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะท่านไม่ต้องการรำลึกถึงอดีต ท่านวางดาบวางมีดถวายตัวเป็นพุทธบุตรแล้ว ท่านไม่ต้องการข้องแวะอีก
แต่การถ่ายทอดวิชานั้น ท่านต้องทำด้วยว่าหากไปข้างหน้าเกิดศึกสงคราม วิชาการต่อสู้จะได้ไม่สูญไป ชายไทยจะได้จับดาบจับมีดขึ้นสู้กับข้าศึกได้ ไม่ต้องเป็นขี้ข้าเขา เพราะว่าพระเจ้าตากสินมหาราช กว่าจะกู้ชาติมาได้แต่ละตารางนิ้วนั้น มันยากลำบากเหลือแสน ต้องสิ้นเปลืองชีวิตทหารเป็นก่ายกอง บางครั้งก็ต้องสละพระโลหิตของพระองค์ลงรดแผ่นดินเพื่อแลกเอกราชของชาติไทย นี่แหละคือหลวงพ่อเฒ่าแห่งวัดหนองโพ จำไว้นะคุณ ท่านคือขุนศึกคู่พระทัย หนึ่งในห้าคนของพระเจ้าตากสินมหาราช”
สำนักวัดหนองโพนั้นมิได้สร้างแค่คนดี พระดี และศิลปินเท่านั้น ยังสร้างนักกระบี่กระบองที่ดีไว้อีกด้วย อาตมาได้เห็นการสอนกระบี่กระบองที่วัดหนองโพ มีพระสอนให้เด็กรู้จักการตี การป้องปัด และการร่ายรำ จึงได้เข้าใจว่า พระในวัดสมัยโบราณท่านไม่ได้ผลาญข้าวสุกชาวบ้านเปล่าๆ ท่านตอบแทนด้วยการสั่งสอนอบรมลูกหลานของคนที่เอาข้าวปลาอาหารมาทำบุญกับท่านพร้อมกันไปด้วย
วันหนึ่ง หลวงพ่อเดิมท่านได้เอ่ยเล่าเรื่องวัดสมัยโบราณสร้างปุโรหิตาจารย์ และถ่ายทอดตำราพิชัยสงคราม ปุโรหิตาจารย์นั้น สมัยนี้ก็เทียบเท่ากับ เสนาธิการในการวางแผนการรบ ถ้าเสนาธิการรอบรู้พิชัยสงครามย่อมกำชัยชนะมาสู่ผืนปฐพีของตนได้อย่างไม่ยากนัก เพราะตำราพิชัยสงครามก็คือการหยั่งรู้กำลังศัตรูและการเดินทัพของศัตรู ท่านได้ตั้งปัญหาถามอาตมาว่า
“นี่แน่ะเธอ ตอนกลางคืนเธอเดินอยู่ในป่า เธอรู้ไหมว่าทิศไหนเป็นทิศไหนกันแน่”
“ไม่รู้ครับหลวงพ่อ กระผมไม่มีความรู้ด้านนี้เลย”
หลวงพ่อเดิมหัวเราะหึๆ อย่างอารมณ์ดี แล้วกล่าวสอนอาตมาให้ได้รู้เคล็ดลับบางประการเอาไว้ เพื่อใช้ประดับสติปัญญา และแก้ไขสถานการณ์เมื่อคับขัน ท่านว่า
“เมื่อจะหาทิศทางนั้น ถ้ามองไม่เห็นทิศ ให้ดูดาวเหนือ ถ้าดูดาวเหนือไม่เป็นก็ต้องใช้อย่างอื่นแทน นี่แน่ะเธอ ถ้าเธอเดินผ่านหน้าวัด เธอจะรู้ได้ทันทีว่าทิศไหนเป็นทิศไหน ถ้าไม่มีโบสถ์แล้วดูดาวไม่เป็นก็ต้องดูต้นไม้”
“ดูต้นไม้ ต้นไม้ก็เหมือนๆ กันนี่ครับ และมันก็ยืนต้นของมันอยู่เฉยๆ จะไปบอกทิศทางได้อย่างไรกันครับ”
“ฟังไว้นะเธอ เธอต้องรู้จักต้นไม้ว่า ต้นไม้แบบนี้ขึ้นอยู่ในทิศเหนือ หรือมีกิ่งก้านเอนไปทางทิศเหนือ หรือต้นไม้อย่างนี้ชอบขึ้นหรือเอนไปทางทิศใต้ เป็นต้น”
“เข้าใจแล้วครับ แล้วไม่มีต้นไม้ ผมจะทำอย่างไรดีเล่าครับ”
“ไม่ยากเลยนี่เธอ เรียนสมาธิ เรียนกสิณแล้ว ก็ง่ายแล้ว นอนคว่ำลงไปกางแขนทั้งสองข้างออก เจริญสมาธิจนแน่นิ่ง อธิษฐานจิตจะเกิดพลังความร้อนแผ่กระจายจากทรวงอกไปยังแขนข้างใดข้างหนึ่ง ข้างไหนร้อนนั่นแหละแขนชี้ไปทางทิศเหนือ”
หลังจากนั้นหลวงพ่อเดิมได้สอนวิชาเมฆฉายให้แก่อาตมา ท่านกล่าวเล่าว่า
“แม่ทัพสมัยก่อนโน้นเวลาจะออกรบทัพจับศึก นอกจากจะเตรียมอาวุธไว้ป้องกันตัวและคาถาอาคมแล้ว ยังทำเมฆฉายด้วยการยกร่างของตนเองขึ้นไปบนก้อนเมฆ ทำนิมิต จะมองเห็นเลยว่าไปคราวนี้เป็นอย่างไร ถ้าไปดีมีชัยก็จะติดต่อกันทั้งร่าง ถ้าลางร้าย ตัวนิมิตบนก้อนเมฆจะคอขาด แขนขาด ต่อกันไม่ติด ก็รู้ล่ะว่าออกไปแล้วจะตาย ก็จะสั่งเสียและฝากฝังลูกเต้าไว้กับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วตัวเองก็ออกไปตายอย่างชายชาติทหาร นี่แหละพิชัยสงครามล่ะเธอ”
อาตมายังทันเขาโกนจุกกันข้างวัดหนองโพ หลวงพ่อเดิมท่านเห็นว่าอาตมาเป็นพระบวชใหม่จึงถามว่า
“สวดได้ไหมล่ะ จะได้ไปสวดมนต์ด้วยกัน”
อาตมาก็ตอบว่า “ได้ขอรับ กระผมสวดได้ ท่านก็ให้ไปด้วย พอพระสวดเสร็จ เขาก็ให้ปี่พาทย์ของวัดนั่นแหละบรรเลงเพลงแบบการต่อสู้ แล้วก็มีเด็กวัดหนองโพอีกนั่นแหละแต่งตัวทะมัดทะแมง มารำกระบี่กระบองตีกันอย่างคล่องแคล่วว่องไว ค่าบูชาครูหกบาทใส่พานพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เงินหกบาทที่ได้หลวงพ่อก็แบ่งให้เด็กๆ ตามแต่คนไหนบ้านมีฐานะดีก็เอาไปน้อยหน่อย คนที่พ่อแม่ยากจนหรือเป็นกำพร้าก็ได้มาก เอาไว้เรียนหนังสือให้เป็นเจ้าคนนายคนต่อไป
ลิเกวัดหนองโพก็มีการสอน อาตมากล้าพูดได้ว่าวัดหนองโพมีลิเก หลวงพ่อเดิมท่านเอามาหัดให้มีอาชีพกัน เมื่อมีวงปี่พาทย์ก็ต้องมีลิเก ที่วัดเทวราช จังหวัดอ่างทอง ก็มีเหมือนกัน ตอนที่อาตมาเล็กๆ ยังจำได้คนที่สอนกลอนลิเก ไม่ใช่ครูลิเกแต่เป็นสมภารวัดเทวราช ท่านเก่งเทศน์มหาชาติ เจ้าบทเจ้ากลอน ท่านก็สอนกลอนลิเกให้
ครูโรงเรียนก็จัดเด็กที่ยากจนเอามาหัดเล่นลิเก ไม่ต้องเล่นเรื่องอะไรหรอก มหาชาติตั้งแต่ทศพรไปจนจบ คนดูติดกันเกรียวกราว พอเอ่ยถึงลิเกเทวราชแล้วทุกคนร้อง อ๋อ ! ต้องรีบไปรอหน้าโรงแต่หัววัน
หลวงพ่อเดิมท่านไม่แต่เพียงให้มีการสอนลิเกที่วัดหนองโพเท่านั้น เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว หลวงพ่อเดิมก็สอนให้หมด รักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ไม่ให้สูญหาย หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระนักอนุรักษ์ของโบราณโดยสายเลือดทีเดียว พระสมัยก่อนนั้นท่านเก่งทุกด้านนะ ไม่ใช่แค่นั่งเทศนาอย่างเดียว ท่านรอบรู้ไปเสียทุกอย่าง เรียกว่า พระสมัยนั้นเป็นพระที่เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม
อาตมาอยู่วัดหนองโพนานวันเข้า เรื่องจะสึกก็ยังคิดอยู่ พอเห็นว่าสมควรแก่เวลาก็คลานเข้าไปหาหลวงพ่อเดิม แล้วก็กราบเรียนท่านว่า
“หลวงพ่อขอรับ กระผมจะสึกละขอรับ อยากเป็นฆราวาสเต็มแก่”
หลวงพ่อเดิมท่านหันมาจ้องดูแล้วก็ทำเหมือนครั้งแรกที่เคยเจอท่านกระแอม
“แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม หยุดไว้ก่อน คุณอย่าเพิ่งจะมาสึก ตอนนี้ไม่ถึงเวลา”
อาตมาก็ไม่กล้าจะพูดเรื่องสึกต่อไป แต่ก็คิดอุบายมาได้ว่าก็ไหนๆ จะสึกแล้ว ไม่วันใดวันหนึ่งทำไมไม่ขอคาถามหานิยม สีผึ้ง สึกไปแล้วจะได้จีบผู้หญิงได้ง่ายๆ มีภรรยาสวยๆ เลยกราบเรียนท่านไปว่า
“ไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไรขอรับ กระผมขอคาถามหานิยมอย่างเด็ดขาดสักบท ที่สีปากด้วยสีผึ้ง แล้วผู้หญิงเดินตามต้อยๆ กระผมอยากได้มานานแล้ว”
อาตมารบเร้าเรื่องคาถามหาเมตตาจากหลวงพ่อเดิม ท่านก็สอนเป็นปรัชญาเรื่อยไป อาตมาก็อยากจะสึกแต่ไม่กล้าจะรบเร้าท่านมาก ท่านคอยห้ามเอาไว้ในที ส่วนใหญ่จะว่าไม่ได้ฤกษ์สึก ในที่สุดอาตมาก็รบเร้าเอาจนหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อน หลวงพ่อเดิมท่านก็หัวเราะหึๆ แล้วก็ยิ้มอย่างเมตตา ก่อนจะสั่งให้หากระดาษดินสอมาให้ท่าน ท่านให้คาถาสารพัด จดกันไม่หวาดไม่ไหว จดแล้วท่านบอกให้ไปท่องให้ได้ โอ้โห คาถามากมายจนอาตมาไม่ต้องมาขอคาถาเพิ่ม มัวแต่ท่องคาถา เรื่องสึกก็เลยลืมไป เห็นไหมล่ะหลวงพ่อเดิมท่านทันคนขนาดไหน ท่านดัดหลังแก้ลำอาตมาจนเซ่อไปเลยทีเดียว
คาถาบทหนึ่งซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อนให้ถาคาไว้ ซึ่งเป็นคาถาที่ศิษย์หลวงพ่อเดิมใช้กันทุกคน คือ
นะ เมตตา
โม กรุณา
พุท ปรานี
ธา ยินดี
ยะ เอ็นดู
มะ คือตัวกู
อะ คือคนทั้งหลาย
อุ เมตตาแก่กูสวาหะ
นะ โม พุทธายะ
อาตมาสุดแสนดีใจว่าได้คาถาเมตตาเอามาท่องจนขึ้นใจ คราวนี้ได้การล่ะ สึกเมื่อใดจะได้เอาไปใช้ให้สมกับที่รอ แต่จนแล้วจนรอด หลวงพ่อเดิมก็ไม่สึกให้เสียทีหนึ่ง คอยว่าเมื่อใดเหลวงพ่อจะเมตตาสึกให้ ก็ไม่มีวี่แวว
(มีต่อ ๓)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น