"สิ่งที่เรียกว่าจิตหรือเจตสิกนี้ พระศาสดามิใช่ให้เรียนเพื่อให้ติด ท่านให้รู้ว่าจิตหรือเจตสิกเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเท่านั้น"
อุปมาเหมือนเราตกจากยอดไม้ ก็ตุ๊บถึงดินโน่น ไม่รู้ว่ามันผ่านกิ่งไหนบ้าง จิตเมื่อถูกอารมณ์ปุ๊บขึ้นมา ถ้าชอบใจก็ถึงดีโน่น อันที่ติดต่อกันเราไม่รู้มัน ไปตามที่ปริยัติรู้นั่นเอง แต่มันก็ไปนอกปริยัติด้วย มันไม่บอกว่าตรงนี้เป็นอวิชชา ตรงนี้เป็นสังขาร ตรงนี้เป็นวิญญา ณตรงนี้เป็นนามรูป มันไม่ได้ให้ท่านมหาอ่านอย่างนั้นหรอก เหมือนกับการตกจากต้นไม้ ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริงๆ อาตมาจึงมีหลักเทียบว่า เหมือนกับการตกจากต้นไม้ เมื่อมันพลาดจากต้นไม้ไปปุ๊บ มิได้คณนาว่ามันกี่นิ้วกี่ฟุต เห็นแต่มันตูมถึงดินเจ็บแล้ว
ทางนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันเป็นขึ้นมาเห็นแต่ทุกข์โสกะปริเทวะทุกข์โน่นเลย มันเกิดมาจากไหนมันไม่ได้อ่านหรอก มันไม่มีปริยัติที่ท่านเอาสิ่งละเอียดนี่ขึ้นมาพูด แต่ก็ผ่านไปทางเส้นเดียวกัน แต่นักปริยัติเอาไม่ทัน
ฉะนั้น ท่านจึงให้ยืนตัวว่าอะไรที่เกิดขึ้นมาจากผู้รู้อันนี้ เมื่อผู้รู้รู้ตามความเป็นจริงของจิต หรือเจตสิกเหล่านี้ จิตก็ไม่ใช่เรา สิ่งเหล่านี้มีแต่ของทิ้งทั้งหมด ไม่ควรเข้าไปยึดไปหมายมั่นทั้งนั้น
เรียนรู้เรื่องจิต เพื่อปล่อยวาง
สิ่งที่เรียกว่าจิตหรือเจตสิกนี้ พระศาสดามิใช่ให้เรียนเพื่อให้ติด ท่านให้รู้ว่าจิตหรือเจตสิกเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเท่านั้น มีแต่ท่านให้ปล่อยให้วางมัน เมื่อเกิดมาก็รับรู้ไว้รับทราบไว้ ตัวจิตนี่เองมันถูกอบรมมาแล้ว ถูกให้พลิกออกจากตัวนี้ เกิดเป็นสังขารปรุงไปมันก็เลยมาปรุงแต่งเรื่อยไป ทั้งดีทั้งชั่วทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดเป็นไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พระศาสดาให้ละ แต่ต้องเรียนรู้อย่างนี้เสียก่อนจึงจะละได้ ตัวนี้เป็นตัวธรรมชาติอยู่อย่างนี้ จิตก็เป็นอย่างนี้ เจตสิกก็เป็นอย่างนี้.
กุญแจภาวนา หลวงพ่อชา สุภัทโท
"สมถะวิปัสสนาสองหน้า"
หลวงพ่อชา สุภัทโท
บางคนปัญญาน้อย นั่งสมาธิได้ง่าย สงบ สงบเร็วที่สุด ไว แต่ไม่ค่อยมีปัญญา ไม่ทันกิเลสทั้งหลาย ไม่รู้เรื่องกิเลสทั้งหลาย แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติมีสองหน้าอย่างนี้ ก็คู่กันเรื่อยไป แต่ปัญญาหรือวิปัสสนากับสมถะมันก็ทิ้งกันไม่ได้ คาบเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้
ทีนี้ถ้ามันขัดแย้งในความสงบ เมื่อมีอารมณ์มาผ่าน มีนิมิตขึ้นมาผ่านก็ไม่ได้สงสัยว่า “เคลิ้มไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?” “หลงไปหรือเปล่าเมื่อกี้นี้?” “ลืมไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?” “หลับไปหรือเปล่าเมื่อกี้นี้?” จิตขณะนี้สงสัย “หลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่ใช่” นี่มันคลุมเครือ เรียกว่า มันมั่วสุมอยู่กับอารมณ์
ไม่แจ่มใสเหมือนกันกับพระจันทร์เข้าก้อนเมฆ มองเห็นอยู่แล้ว แต่ไม่แจ่มแจ้ง มัวๆ ไม่เหมือนกับพระจันทร์ออกจากก้อนเมฆ นั้นแจ่มใสสะอาด จิตเราสงบมีสติสัมปชัญญะรอบคอบสมบูรณ์แล้ว
จึงไม่สงสัยในอาการทั้งหลายที่เกิดขึ้น จะหมดจากนิวรณ์จริงๆ รู้ว่าอันใดเกิดขึ้นมาเป็นอันใดหมดทุกอย่าง รู้แจ้ง รู้เรื่องตามเป็นจริงไม่ได้สงสัย อันนั้นเป็นดวงจิตที่ใสสะอาด สมาธิถึงขีดแล้วเป็นเช่นนั้น
ระยะหลังๆ มาก็เป็นไปในรูปอย่างนี้ทำนองนี้ เป็นเรื่องธรรมดาของมัน ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้ว ไม่ต้องไปถามว่าง่วงหรือไม่ง่วง ใช่หรือไม่ใช่ ทั้งหลายเหล่านี้ มันก็ไม่มีอะไร
ถ้ามันชัดเจน ก็เหมือนเรานั่งธรรมดาอย่างนี้เอง
นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตามาเห็น ทุกอย่างสารพัดไม่มีความสงสัย
เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า “เอ๊ะ! สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้” อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อยๆ
ทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุขใจ มีความอิ่มใจ มีความสงบ เป็นเช่นนั้น ต่อนั้นไปจิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้น มันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปด้วย วิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และเรื่องวิจารณ์มันก็จะหมด จะเหลือแต่ความอิ่มใจ อิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม
เกิดความสุขกับอารมณ์เดียว นี่มันทิ้งไป วิตกวิจารณ์มันทิ้งไป ทิ้งไปไหน? ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามา คือมันสงบ เรื่องวิตกวิจารณ์มันเป็นของหยาบไปแล้ว
มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ก็เรียกว่า ทิ้งวิตก ทิ้งวิจารณ์ ทีนี้จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้น วิจารณ์ ความพิจารณาไม่มี มีแต่ความอิ่ม มีความสุข และมีอารมณ์เดียวเสวยอยู่อย่างนั้น
ที่เขาเรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราพูดถึงแต่ความสงบ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ต่อไปนี้ก็ทิ้งวิตก วิจารณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป เหลือแต่ปีติกับสุข เอกัคคตา ต่อไปก็ทิ้งปีติ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ต่อไปก็มีเอกัคคตากับอุเบกขา มันไม่มีอะไรแล้ว
มันทิ้งไป
เรียกว่าจิตมันสงบๆๆๆ จนไปถึงอารมณ์มันน้อยที่สุด ยังเหลืออยู่แต่โน้น…..ถึงปลายมัน เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา เฉยอย่างนี้ อันนี้มันสงบแล้วมันจึงเป็น นี่เรียกว่ากำลังของจิต อาการของจิตที่ได้รับความสงบแล้ว
ถ้าเป็นอย่างนี้มันไม่ง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้าไม่ได้ นิวรณ์ทั้งห้ามันหนีหมด วิจิกิฉา ความสงสัยลังเล อิจฉา พยาบาท ฟุ้งซ่าน รำคาญหนี เหล่านี้ไม่มีแล้ว นี่มันค่อยเลื่อนไปเป็นระยะอย่างนั้น นี่อาศัยการกระทำให้มากเจริญให้มาก
......................................................
สัมมาสมาธิ
"สัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหน ก็มีความรู้อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์รู้ตลอดกาลตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์รู้ตลอดกาล นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ"
สมาธิทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง คือเป็นสมาธิในทางที่ผิด และสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง คือสมาธิในทางที่ถูกต้อง นี้ให้สังเกตให้ดี มิจฉาสมาธิคือ ความที่จิตเข้าสู่สมาธิเงียบ...หมด...ไม่รู้อะไรเลย ปราศจากความรู้ นั่งอยู่สองชั่วโมงก็ได้ กระทั่งวันก็ได้ แต่จิตไม่รู้ว่ามันไปถึงไหนมันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่อง นี่สมาธิอันนี้เป็นมิจฉาสมาธิ มันก็เหมือนมีดที่ลับให้คมดีแล้วแต่เก็บไว้เฉยๆ ไม่เอาไปใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างนั้น ความสงบอันนั้นเป็นความสงบที่หลง คือว่าไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว เห็นว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีกต่อไป จึงเป็นอันตราย เป็นข้าศึกในขั้นนั้น อันนี้เป็นอันตรายห้ามปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ
ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหน ก็มีความรู้อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์รู้ตลอดกาลตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์รู้ตลอดกาล นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่หลงไปในทางอื่นได้นี้ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้ จะต้องรู้แต่ต้นจนปลายทีเดียว จึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตให้มาก สมาธิชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายเมื่อเราเจริญสมาธิที่ถูกต้องแล้ว อาจจะสงสัยว่ามันจะได้ผลที่ตรงไหน มันจะเกิดปัญญาที่ตรงไหน เพราะท่านตรัสว่าสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญาวิปัสสนา สมาธิที่ถูกต้องเมื่อเจริญแล้ว มันจะมีกำลังให้เกิดปัญญาทุกขณะ ในเมื่อตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี จมูกดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี กายถูกต้องโผฏฐัพพะก็ดี ธรรมาภรณ์เกิดกับจิตก็ดี อิริยาบถยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี จิตก็จะไม่เป็นไปตามอารมณ์ แต่จะเป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริงของธรรมะ ฉะนั้นการปฏิบัตินี้เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่เลือกสถานที่ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ตาม จิตมันเกิดปัญญาแล้ว เมื่อมีสุขเกิดขึ้นมาก็รู้เท่า เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้เท่า สุขก็สักแต่ว่าสุข ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์เท่านั้น แล้วก็ปล่อยทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
เมื่อสมาธิถูกต้องแล้ว มันทำจิตให้เกิดปัญญา อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา มันก็เกิดความรู้ตามความเป็นจริง
หลวงพ่อชา สุภัทโท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น