โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
พระราชสังวรญาณ
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ณ โอกาสต่อไปนี้ขอเชิญท่านพุทธบริษัททั้งหลายนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ตรัสรู้เองโดยชอบ ทำสติกำหนดรู้จิตของตนเอง เอาตัวรู้กำหนดรู้ที่จิต นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิต พระธรรมก็อยู่ที่จิต พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่จิตของเรา เราไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งอื่น โดยที่สุดแม้กระแสเสียงการบรรยายธรรมหรือแสดงธรรมเราก็ไม่ต้องไปสนใจใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้มีสติกำหนดรู้จิตเพียงอย่างเดียว
เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเรา ผู้รู้คือพระพุทธเจ้าก็กำเนิดที่จิต การทรงตัวอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม สติที่สังวรระวังตั้งใจจะสำรวมจิต ก็ได้ชื่อว่ามีกิริยาแห่งความเป็นพระสงฆ์อยู่ในจิต ดังนั้นเมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราเพียงอย่างเดียว หมดปัญหาที่เราจะไปกังวลกับสิ่งอื่น ๆ เพราะธรรมชาติของจิต และกายถ้ายังมีความสัมพันธ์กันอยู่ ไม่ว่าอะไรจะผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตเขาเป็นผู้มีหน้าทีรับรู้ เขาจะรู้เองโดยอัตโนมัติ ตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นแต่เพียงเครื่องมือ เครื่องมือของจิตที่จะสื่อสารกับโลกภายนอก
ดังนั้นเมื่อเราจะปฏิบัติธรรม จึงสำคัญอยู่ที่การที่มีสติกำหนดรู้จิตของเราเพียงอย่างเดียว ปฏิปทาของครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพ่อลี ซึ่งเป็นบูรพาจารย์ที่เราเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง ท่านก็ย้ำสอนอยู่ที่อานาปานสติ อานาปานสติ คือการที่กำหนดรู้ มีกำหนดสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก ทีนี่วิธีการกำหนดรู้ลมหายใจ เราก็เพียงแค่ว่ามีสติกำหนดรู้จิตอยู่เท่านั้น เมื่อกายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ สิ่งที่จะปรากฏเด่นชัดที่สุดก็คือ “ลมหายใจ” เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ลมหายใจ เราก็จะรู้ธรรมชาติของกายธรรมชาติของกายนี้ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือลมหายใจเท่านั้น เมื่อหายใจเข้าไปแล้วไม่ออกมาเราก็ตาย ลมหายใจออกไปแล้วไม่ย้อนกลับเข้ามาเราก็ตาย นี่เรามองเห็นความจริงได้เด่นชัด ในเมื่อรู้ว่าเราจะตาย เราก็รู้มรณานุสสติ คือสติระลึกถึงความตาย ดั่งเช่นที่พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า อานนท์เธอระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้งกี่หน ท่านอานนท์ก็ทูลตอบว่า “วันละพันหน” พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสตอบว่า “อานนท์ยังประมาทอยู่” เราตถาคตระลึกถึงความตาย “ทุกลมหายใจ”
ที่นี้เมื่อเรามาพิเคราะห์หรือพิจารณาความเป็นจริงตามพระดำรัสนี้ โดยธรรมชาติของผู้เป็นพุทธะหรือองค์พระพุทธเจ้า ย่อมมีพระสติสัมปชัญญะรู้พร้อมทั่วอยู่ทุกขณะจิต ดังนั้นคำที่ว่าระลึกถึงลมหายใจอยู่ทุกขณะจิต ก็หมายความว่าพระองค์รู้ระลึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นปกตินั่นเอง ที่นี่วันหนึ่ง ๆ คนเราหายใจวันละกี่ครั้งกี่คน เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ลมหายใจของเราเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ก็ได้ชื่อว่าเราได้ระลึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า เราระลึกถึงลมหายใจอยู่ทุกขณะจิต ทุกขณะที่มีลมหายใจ ความหมายของพระองค์เป็นอย่างนี้ สมัยที่ท่านพ่อลียังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ชื่อว่าอาตมานอกจากจะเป็นลูกศิษย์แล้วยังถือว่าเป็นหลานด้วย ท่านมีศักดิ์เป็นปู่ เวลาท่านโปรดไปเยี่ยมเมื่อไหร่ ท่านจะบอกว่ามหาพุทธกำหนดรู้จิตรู้ลมหายใจเดี๋ยวนี้ ท่านไม่เคยสอนอย่างอื่น ท่านบอกให้กำหนดรู้ลมหายใจ พอมีสติกำหนดรู้ลมหายใจสักพักหนึ่ง ท่านจะถามว่า “สบายมั๊ย” เวลาอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ทำอะไรมันก็สบายหมด เพราะมันกลัว กลัวบารมีของครูบาอาจารย์ ก็เลยต้องตอบท่านว่าสบายมาก แล้วท่านก็ย้ำว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาสำคัญอยู่ที่อานาปานสติ ทำไมถึงสำคัญอยู่ที่อานาปานสติ เรียนถามท่าน ท่านก็บอกว่า ใครจะบริกรรมภาวนาอะไรก็ตาม หรือจะพิจารณาอะไรก็ตาม เมื่อจิตสงบแล้ว ซึ่งยังไม่ใช่สมาธิเป็นแต่เพียงความสงบ จิตหยุดนิ่ง ไม่นึกถึงอะไรอยู่แล้ว ในเมื่อจิตอยู่ว่าง ๆ ลมหายใจจะปรากฏเด่นชัดที่สุด ซึ่งจิตจะวิ่งไปหาลมหายใจเอง นี่ท่านว่าอย่างนี้ สรุปความว่าใครจะภาวนาอะไรอย่างไหนก็ตาม เมื่อจิตปล่อยวางอารมณ์ที่กำหนดพิจารณาอยู่ก็ดี บริกรรมภาวนาอยู่ก็ดี จิตจะวิ่งเข้าหาลมหายใจ อันเป็นธรรมชาติของร่างกาย เมื่อจิตมาจับลมหายใจ ในช่วงนั้นจิตจะกำหนดรู้ลมหายใจเองโดยอัตโนมัติ เพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จิตจะไม่นึกว่า ลมหายใจชัด ลมหายใจยาว ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด เพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเอง เฉย อยู่ เหมือน ๆ กับเราไม่ได้ตั้งใจ
ที่นี่เมื่อจิตมากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ บางครั้งลมหายใจจะปรากฏว่าลมหายใจแรงขึ้นเหมือนกับคนเหนื่อยหอบ ท่านก็เตือนให้มีสติกำหนดรู้อยู่เฉย ๆ บางครั้งจะรู้สึกว่าลมหายใจแผ่วเบาลงไปเหมือนใจจะขาด เหมือนจะหยุดหายใจ ท่านก็เตือนให้กำหนดรู้อยู่เฉย ๆ อย่าไปตกใจอย่าไปตื่นใจกับความเป็นเช่นนั้น สติเค้าจะกำหนดรู้ของเค้าอยู่โดยเองธรรมชาติ ถ้าหากผู้สติยังไม่เข้มแข็ง มีเหตุการณ์อันนี้บังเกิดขึ้นจะเกิดเอะใจ ตกใจ แล้วสมาธิก็ถอน ก็ตั้งต้นบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาไปใหม่ จนกว่าจิตจะไปถึงความเป็นเช่นนั้นจนถึงจุดนิ่งว่าง ที่นี้จุดที่จิตไปหยุดนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ อันนี้อย่าเข้าใจว่าจิตมีสมาธิ “มันเป็นแต่เพียงความสงบเท่านั้น”
เมื่อจิตจะเป็นสมาธิมันเปลี่ยนสภาพจากความสงบ พอมันไปเกาะลมหายใจปั๊บจะรู้สึกว่าสว่างนิด ๆ ตามกำลังของจิต ที่นี่ถ้าจิตมีกำลังสมาธิมีกำลังของจิตเข้มแข็ง จิตสงบละเอียดลงไปแล้ว ความสว่างไสวจะปรากฏขึ้น ในช่วงที่จิตสว่างไหวปรากฏขึ้นนั้น ร่างกายยังปรากฏอยู่จิตจับลมหายใจเป็นอารมณ์ คือ วิตกถึงลมหายใจ อันนี้เป็นองค์แห่ง “วิตก” ที่นี่สติสัมปชัญญะอันเตรียมพร้อม รู้ตัวอยู่ในขณะนั้นเป็น “วิจารณ์” เมื่อจิตมีวิตกวิจารณ์ จิตแน่วแน่ต่ออารมณ์ที่จิตวิตกถึง ย่อมมีความดูดดื่ม ซึบซาบ แล้วก็เกิดมี “ปีติ” “ปีติเป็นอาการที่จิตดื่มรสพระสัทธรรม” เมื่อปีติบังเกิดขึ้น กายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ ผู้ใจอ่อนมีปีติอย่างแรงตัวจะสั่น ตัวจะโยก น้ำตาไหลขนหัวลุก ขนหัวพอง ท่านพ่อลีท่านเตือนให้กำหนดรู้ตัวอย่างเฉย ๆ พยายามรักษาสภาพจิตให้เป็นปกติไม่ต้องหวั่นไหวต่ออาการที่เป็นไปเช่นนั้น เมื่อจิตมีปีติก็มีความสุข เมื่อมีความสุขก็มีความเป็นหนึ่งกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ ความเป็นหนึ่งก็คือ “เอกัคตาตา”
ถ้าหากสมาธิในขั้นนี้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ หรือผู้ปฏิบัติเข้าสมาธิออก สมาธิได้อย่างคล่องตัวซึ่งเรียกว่า “วสี” ตามตำนานในการออก การเข้าสมาธิ แล้วสมาธิก็ดำรงอยู่นาน ๆ จะให้อยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ อันนี้เรียกว่าผู้ปฏิบัติได้ “ปฐมฌาน”
ปฐมฌาน มีองค์ประกอบห้า คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตาตา นักปฏิบัติที่เคยผ่านแล้วย่อมเข้าใจดี คราวนี้เมื่อจิตสงบลงไป สงบลงไป จิตนิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่นึกถึงอะไร แต่มีปีติมีความสุขสมาธิจิตก้าวขึ้นสู่ “ทุติยฌาน” มีองค์ประกอบคือปีติสุข เอกัคตา
เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปอีกขั้นหนึ่ง อาการแห่งปีติ ขนหัวลุกขนหัวพองหายไปหมดสิ้น ยังเหลือแต่สุขกับเอกัคตา ตอนนี้รู้สึกว่ากายเริ่มจาง ๆ เกือบจะหายไป แต่ยังปรากฏว่า สุขก็เป็นสุขที่ละเอียดสุขุม อันนี้สมาธิอยู่ในขั้น “ตติยฌาน” มีองค์ประกอบสองคือ สุขกับเอกัคตา
เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปละเอียดลงไปจนกระทั่งกายจางหายไป ตอนนี้กายหายหมดแล้ว ยังเหลือจิตดวงนิ่งสว่างไหวรู้ตื่นเบิกบาน ร่างกายตัวตนไม่มี จิตไม่ได้นึกอะไร จิตรู้อยู่ที่จิต สมาธิขั้นนี้ถ้าเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปณาจิต ถ้าเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่าอัปณาสมาธิ เรียกว่าโดยฌานก็เรียกว่า จตุถฌาน มีองค์ประกอบสองก็คือ เอกัคตาคือความเป็นหนึ่ง กับอุเบกขาความเป็นกลางของจิต เป็นสมาธิอยู่ในขั้นจตุถฌาน สมาธิขั้นนี้ร่างกายตัวตนหายหมดยังเหลือแต่จิตดวงสว่างไหวอยู่ แต่ยังยึดความสว่างเป็นอารมณ์จิต จิตเป็นอตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน อตฺตสรณา มีตนเป็นที่ระลึกคือระลึกอยู่ที่ตน อตฺตาทีป มีตนเป็นเกราะ ผู้ภาวนาได้ชื่อว่าสมาธิขั้น “สมถะกรรมฐาน”
คราวนี้สมาธิขั้นสมถะกรรมฐานที่ยังไม่มีกำลังเพียงพอก็ได้แต่เพียงหยุดนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เป็นฐานสร้างพลังจิต แม้ว่าความรู้ความเห็นอะไรจะยังไม่บังเกิดขึ้นในอาการที่จิตทรงอยู่ในสภาพเช่นนั้นก็ตาม แต่ก็จะได้พลังจิต คือพลังทางสมาธิทางสติ
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิมาแล้ว พอรู้สึกว่ามีร่างกาย ถ้าจิตดวงนี้จะไม่เดินวิปัสสนาก็จะถอยพรวด ๆ ๆ ออกมา มาจนกระทั่งถึงความปกติธรรมดา เหมือนกับที่ยังไม่ได้ภาวนา แต่ถ้าจิตบางดวงมีอุปนิสัยเบาบาง จะก้าวขึ้นถึงภูมิวิปัสสนา พอถอนออกพอรู้สึกว่ามีกายเท่านั้นจิตดวงนี้ก็จะเกิดความรู้ความคิดผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาอย่างกับน้ำพุ โดยอัตโนมัติ ในตอนนี้นักปฏิบัติบางท่าน อาจจะเข้าใจผิดว่าจิตฟุ้งซ่าน แต่ความจริงไม่ใช่จิตฟุ้งซ่าน จิตจะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเองโดยเราไม่ได้ตั้งใจ ถ้าจิตถอนออกจากสมาธิออกมาแล้วเกิดความคิดฟุ้ง ๆ ๆ ขึ้นมา สติสัมปชัญญะก็รู้พร้อมอยู่ที่ตรงที่จิตเกิดความคิด คิดแล้วก็ปล่อยวาง คิดแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ได้วิ่งตามเรื่องราวสิ่งที่จิตคิด กำหนดรู้เพียงจุดที่เกิดความคิดเท่านั้น อันนี้เรียกว่าสมาธิวิปัสสนา จิตที่มันคิดไปนั้นมันคิดเรื่องอะไร สารพัดจิปาถะที่จิตมันจะปรุงแต่งขึ้นมา มันจะเหมือนกับเราผูกลิงไว้บนต้นไม้ มันจะกระโดดไปกิ่งโน้น กระโดดไปกิ่งนี้ บางทีมันก็แยกเขี้ยวยิงฟัน มันจะมีลักษณะอย่างนั้น มันไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว เพราะความคิดอันนี้จิตมันปรุงแต่งขึ้นมา ที่นี่ถ้าจิตมันปรุงแต่งขึ้น
ถ้าสติสัมปชัญญะมันรู้พร้อม มันก็สักแต่ว่าคิด คิดแล้วปล่อยวาง คิดแล้วปล่อยวาง ไม่ได้ยึดอะไรไว้เป็นปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง ที่นี่ถ้าจิตของท่านผู้ใดเป็นเช่นนี้ ถ้าหากไม่เผลอไปคิดว่าจิตฟุ้งซ่านปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติของมัน มันอยากคิดอยากให้มันคิดไป แต่ว่าเรามีสติกำหนดตามรู้ ๆ ๆ เรื่อยไป เอาความคิดนั้นแหละเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ ตอนนี้สมาธิมันเป็นเองโดยตามธรรมชาติ ปัญญาก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เรากำหนดไหมเอาความดีจากความเป็นเช่นนี้ของจิต ด้วยความมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว เมื่อจิตไปสุดช่วงมันแล้ว บางทีจะหยุดนิ่งปั๊บลงไป บางทีก็รู้สึกแจ่ม ๆ อยู่ในจิต บางทีก็รู้สึกสงบลงไปถึงขั้นจตุถฌาน ไปยับยั้งอยู่ในจตุถฌานพอสมควร แล้วก็ไหวตัวออกมาจากสมาธิขั้นนี้ พอมาถึงจุดที่มีร่างกายเกิดวิตกวิจารณ์ขึ้นมา แล้วก็จะอธิบายเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ตัวเองฟังช๊อต ๆ บางทีเขาอาจจะบอกว่า ความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิตให้เกิดพลังงาน ความคิดและการผ่อนคลายความตึงเครียด ความคิดนี่แหละมายั่วยุให้เราเกิดอารมณ์ความยินดียินร้าย แล้วจิตจะสามารถกำหนดไหมความคิดยินยินร้ายว่า ความยินดีคือกามตัณหา ความยินร้ายคือวิภาวตัณหา ความยึดคือภาวตัณหา ในเมื่อจิตมีกามตัณหา วิภาวตัณหา ภาวตัณหา อยู่พร้อม ความยินดียินร้ายมันก็บังเกิดขึ้น สุขทุกข์ก็บังเกิดขึ้นสลับกันไป
เมื่อผู้มีสติสัมปชัญญะ มีพลังทางสมาธิทางสติปัญญาจิตก็สามารถกำหนดหมายรู้เกิดขึ้นดังไปอยู่ภายในจิต ว่านี่คือทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วจิตก็จะกำหนดดูรู้อยู่ที่จิต สิ่งเกิดดับ ๆ ๆ อยู่กับจิต แล้วในที่สุดจะรู้ว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรอื่น ทุกข์ไม่มีอะไรดับ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดับไป ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม นี่ทางหนึ่งที่จิตของนักปฏิบัติจะเป็นไป..
และอีกทางที่สอง เมื่อจิตสงบละเอียดลงไป ละเอียดลงไป สมาธิจิตเกิดความสว่างไหว แต่ร่างกายยังปรากฏอยู่ จิตยังเสวยปีติสุขซึ่งเกิดจากสมาธิ ในช่วงนี้ถ้าจิตส่งกระแสออกไปนอกจะเกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ขึ้นมา บางทีเป็นภาพคน ภาพสัตว์ ภาพเทวดา อินพรหม ยมยักษ์ บางทีเห็นครูบาอาจารย์มาหา มาเทศให้ฟัง บางที้เห็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เสด็จมาโปรด แล้วก็มาเทศน์ให้ฟัง ทีนี้เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมาอย่างนี้ ท่านพ่อลีสอนว่าอย่างไร ท่านว่าอย่าไปแปลกใจ อย่าไปตกใจ อย่าไปเอะใจ อย่าไปยึดในนิมิตนั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่ามีอะไรมาปรากฏตัวให้เรานึกเราเห็น ถ้ายังกำหนดจิตได้อยู่ ท่านก็ให้กำหนดรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ คือ “จิตของเราปรุงแต่งขึ้นเท่านั้น” ไม่ใช่อื่นไกล มันเป็นมโนภาพซึ่งเกิดขึ้นกับจิตของเราเอง จิตของเราเป็นผู้ปรุงผู้แต่งขึ้นมา ทางแก้ก็คือก็คือมีสติกำหนดรู้จิตนี้เฉยอยู่เท่านั้น ถ้าหากนิมิตที่มองเห็นในสมาธิเป็นภาพนิ่ง แน่วแน่ ไม่ไหวติง หรือบางทีออกจากสมาธิมาแล้วลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น อันนี้ท่านเรียกว่า อุคหนิมิต คือนิมิตติดตาหรือจิตกำหนดดูภาพนิ่ง ทีนี้เมื่อจิตมีพลังแก่กล้ามากขึ้น จิตสามารถปรุงแต่งนิมิตนั้นให้มีการเปลี่ยนแปลงยักย้าย บางทีนิมิตนั้นล้มตายลงไป ขึ้นอึด เน่าเปื่อย พุพัง แล้วก็สลายตัวไปต่อหน้าต่อตา หรือบางทีก็ปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมาว่าร่างกายที่แตกสลายแล้วแยกออกไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ หรือบางทีเกิดไฟลุกไหม้ร่างที่นอนตายอยู่นั้น เป็นเถ้าเป็นถ่านเป็นกลบไปหมด หรือบางทีนิมิตนั้นเกิดขึ้นแล้วก็หายไป เกิดขึ้นมาใหม่ มีอันเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่ตลอดเวลา อันนี้ท่านเรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต”
เมื่อจิตกำหนดหมายรู้ความเปลี่ยนแปลงแห่งนิมิตนั้น แสดงว่าจิตของผู้ปฏิบัติกำลังจะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา จิตถอดออกจากสมาธิมาแล้วเกิดความคิดบริสุทธิ์นั่นเป็นจุดเริ่มของวิปัสสนา ที่นี่จิตสงบเป็นสมาธิแล้วได้ “อุคหนิมิตเป็นสมถะกรรมฐาน” ถ้าได้ปฏิภาคนิมิต จิตกำลังเริ่มจะก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น จิตเค้าจะปฏิวัติตัวไปเองโดยอัตโนมัติ ถ้าสิ่งใดที่เราตั้งใจปรุงแต่งจะให้เป็นไปอย่างนั้น ๆ ๆ ๆ อาศัยความคิดให้แน่วแน่ มันก็เกิดเป็นนิมิตอันนั้นเรียกว่า “นิมิตที่เราปรุงแต่ง” แต่ว่าหากจิตสงบแล้วมันเกิดนิมิตขึ้นมาเอง เราเรียกว่า “นิมิตมันเป็นเอง”
อันนี้ลักษณะที่จิตพุ่งกระแสออกไปข้างนอกจะเป็นอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้นในบางครั้ง เมื่อจิตมุ่งกระแสออกไปข้างนอกที่ติดอกติดใจ เช่นเห็นครูบาอาจารย์ หรือเทวดาอินพรหมยมยักษ์ เลยติดใจในภาพนิมิตนั้นก็เดินตามเค้าไป แต่ปรากฏเหมือนกับว่าเรามีร่าง ๆ หนึ่งเดินตามเค้าไป เค้าจะพาเราไปเที่ยวนรก เค้าจะพาเราไปเที่ยวสวรรค์ หรือบางทีเค้าจะพาเราไปดูเมืองนิพพานซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เป็นมโนภาพขึ้นมาทั้งนั้น ๆ ที่นี้ตอนนี้เมื่อจิตเป็นไปอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติไม่มีทางที่จะไปบังคับไม่มีทางที่จะไปตกแต่งจิตให้เป็นอย่างไร นอกจากจิตของเราจะปรุงแต่งไปเองตามอัตโนมัติ ในเมื่อไปสุดช่วงของมันแล้วมันก็จะย้อนกลับมาเอง อันนี้ธรรมชาติของสมาธิที่มันเป็นไปถ้าหากระแสจิตส่งออกไปนอกมันจะเป็นอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้นในบางครั้งมันอาจจะไปรู้เรื่องลับ ๆ ลี้ ๆ อันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา เช่น ไปรู้วาระจิตของคนอื่น ไปรู้ความประพฤติของคนอื่น หรือไปรู้ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นผลพลอยได้อันเกิดจากการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ อันนี้เป็นทางหนึ่งที่จิตจะเป็นไป...
ถ้าท่านผู้ใดมีประสบการณ์ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ปล่อยให้จิตมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน มันไปสุดช่วงของมันแล้วมันจะย้อนกลับมาเอง จิตมันไปดูข้างนอก มันไปสำรวจโลก เพื่อมันจะได้รู้ว่า “โลกะวิทู” นั้นคืออะไร นี่เป็นสองทางแล้วที่จิตจะเป็นไป และอีกทางหนึ่ง เมื่อจิตมาจับลมหายใจ.
ในเมื่อจิตมาจับลมหายใจ เมื่อจิตสงบ สว่าง จะมองเห็นลมภายใจเป็นท่อยาว วิ่งออก วิ่งเข้า แล้วจิตก็จะไปยึดอยู่ที่ท่อลมวิ่งออกวิ่งเข้า สว่างไหวเหมือนหลอดนีออน บางทีเป็นท่อยาว บางทีก็เดินตั้งแต่จมูกจนถึงเหนือสะดือสองนิ้ว บางทีก็มองเห็นแต่ข้างใน เห็นแต่อยู่ภายในกาย บางทีก็มองเห็นพุ่งออกมาข้างนอกด้วย ซึ่งก็แล้วแต่จิตจะปรุงแต่งขึ้นมา อันนี้เป็นประสบการณ์ ทีนี้ถ้าหากจิตไม่เป็นอย่างนั้น พอวิ่งออกวิ่งเข้าตามลมซึ่งเข้าออก ๆ เมื่อจิตสงบนิ่งเข้าไปมันจะไปนิ่งสว่างอยู่ในท่ามกลางของร่างกาย เรียกว่า “ดวงสว่างอยู่กลางกายนั่นเอง” ที่นี้นอกจากสงบนิ่งเป็นดวงสว่างอยู่ท่ามกลางของร่างกายแล้ว ยังสามารถพุ่งกระแสความสว่างออกมารอบตัว ในขณะนั้นจิตจะมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ อยู่ภายในกายทั่วหมดในขณะจิตเดียว ตั้งแต่ผมขนเล็บฟันหนัง เนื้อเอ็นกระดูกจนกระทั่งถึงมตฺตเก มตฺตลุงคฺง มันสมองเป็นที่สุด จะรู้เห็นในขณะจิตเดียว
ทีนี้เมื่อจิตไปกำหนดรู้เห็นอยู่ภายใน ภายในกายรู้เห็น เห็นอวัยวะครบถ้วนอาการสามสิบสอง จิตเริ่มละเอียด ๆ ๆ ลงไปทีละน้อย ๆ แล้วในที่สุดเข้าไปสู่อัปนาสมาธิถึงฌานที่สี่ ร่างกายตัวตนหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวนิ่งสว่างไหวอยู่ ที่นี่เมื่อจิตผ่านความเป็นอย่างนี้ แล้วไปสู่จุดซึ่งเรียกว่า จตุถฌาน จิตอาจจะมาลอยเด่นอยู่เหนือร่างกาย แล้วจะมองเห็นร่างกายขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง สลายตัวไปทีละอย่าง ๆ ๆ ในที่สุดเหลือแต่โครงกระดูก โครงกระดูกก็จะทรุดหวบลงไปแหลกละเอียด หายสาบสูญไปกับผืนแผ่นดิน แล้วก็เหลือเพียงจิตสว่างไหวอยู่เพียงดวงเดียว บางทีอาจจะเป็นย้อนกลับไปกลับมาหลายครั้งหลายหน อันนี้ก็พึงเข้าใจว่าจิตเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมา ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อให้เรารู้ว่าจริงว่า “ร่างกายของเราจะเป็นไปเช่นนั้น” ที่นี้บางทีอาจจะมองเห็นร่างกายแยกกันเป็นกอง ๆ กองดิน กองน้ำ กองลม กองไฟ
ทีนี้เมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้วก็รู้สึกว่ามีกาย ถ้าสมาธิจิตที่กายหายไปแล้วนี่ พอจิตย้อนกลับมาหากาย ตอนนี้นักปฏิบัติต้องประคองสติให้ดี และเมื่อจิตมาสัมพันธ์กับกายเราจะรู้สึกซู่ซ่าทั่วร่างกาย เหมือนกับฉีดยาแคลเซียมเข้าเส้นอย่างแรง จะวิ่งซู่ไปทั่วกายตั้งแต่หัวสู่เท้า ตอนนี้นักปฏิบัติผู้มีสติสัมปชัญญะจะไม่ตื่นตกใจ จิตจะมีสติกำหนดรู้ความเป็นไปจนกระทั่งมีความรู้สึกเป็นปกติ พอมีความเป็นปกติ สมาธิยังอ่อน ๆ จิตก็ยังบอกกับตัวเองว่านี่แหละคือการตาย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เน่าเปื่อย ผุพัง ทุกสิ่งทุกอย่างสลายตัวไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน จิตมันจะว่าอย่างนี้ ในขณะที่มันรู้เห็นนิ่งอยู่เฉย ๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เห็นร่างกายตายมันก็เฉย เห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพังมันก็เฉย แต่มันรู้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถบันทึกข้อมูลไว้หมดทุกอย่าง “อันนี้เรียกว่าความรู้เห็นในขั้นสัจจธรรม” สัจจธรรมย่อยไม่มีภาษาสมมติบัญญัติ และก็เป็นความรู้ความเห็นในสมาธิสมถะเสียด้วยนะ พออย่างนั้นนักปฏิบัติที่ยังภาวหน้าไม่ถึงขั้น อย่าไปด่วนปฏิเสธว่าสมาธิขั้นสมถะไม่เกิดภูมิความรู้ จิตของคนเราแม้ไม่มีร่างกายตัวตนสามารถรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้แต่พูดไม่เป็น รู้เห็นเหมือนกับคนใบ้ รู้เห็นนิ่ง ๆ เฉย ๆ แต่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้พร้อมหมด ทำไมจึงไม่พูด ทำไมจึงไม่คิด ในขณะนั้นร่างกายไม่มี จึงไม่มีเครื่องมือ จึงคิดไม่เป็น พูดไม่เป็น สงสัยหรือเปล่า ถ้าสงสัยปฏิบัติไปให้ถึงขั้นนี้แล้วจะหายสงสัย อย่ามัวแต่ไปเถียงว่าสมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ ไม่เกิดภูมิความรู้ ขอประทานโทษ ไม่ตำหนิยกโทษ แท้ที่จริงตัวภาวนาไม่ถึงขั้น ไปอ่านกันเพียงแต่ตำรับตำราเท่านั้น ถ้าหากนักปฏิบัติภาวนาชาวพุทธเนี่ย ยังเห็นว่าสมาธิขั้นสมถะยังไม่เกิดความรู้อยู่ตราบใด พุทธบริษัทก็จะพากันโง่จนกระทั่งศาสนาสาบสูญออกไปจากโลก ไม่ใช่ด่านะ ให้พยายามไปพิจารณาดูให้ดี สมาธิตามความเข้าใจของนักปฏิบัติในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้ เช่นอย่างมาภาวนาพุทธโธ ๆ ๆ ๆ แล้วก็ข่มจิตลงไป น้อมจิตลงไป ๆ อาศัยการฝึกให้คล่องตัวจนชำนิชำนาญ ในเมื่อมันเกิดความคล่องตัวเราจะสะกดจิตตัวเองให้หยุดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความหยุดนิ่งของจิตตามที่เราตั้งใจจะให้หยุดนิ่ง มันไม่ใช่สมาธินะ พระเดชพระคุณ มันเป็นแต่เพียงความสงบเท่านั้น สมาธิจริง ๆ เมื่อจิตหยุดนิ่งมันจะเปลี่ยนสภาวะ นิ่งปั๊บ เป็นนิ่ง สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน ถ้าหากว่ากายเกิดในขณะนั้น มีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตา พร้อม นิวรณ์ห้าทั้งหลายมันจะสงบระงับไปหมด
อันนี้มันจึงจะเรียกว่าสมาธิที่มันเป็นเองโดยธรรมชาติของสมาธิ เมื่อสมาธิธรรมชาติมันเกิดขึ้นแล้ว นักปฏิบัติไม่สามารถที่จะน้อมจิตน้อมใจไปไหนได้หรอก นอกจากจิตจะปฏิวัติตัวไปเองโดยพลังของศีล สมาธิ ปัญญาที่ประชุมพร้อมแล้ว ซึ่งเราสวดสติปัฏฐานสี่เมื่อสักครู่นี้ว่า เอกายโน มคฺโค สมฺมทกฺขาโต สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เมื่อศีล สมาธิ ประชุมพร้อมลงเป็นหนึ่ง ศีลก็เป็นอธิศีล สมาก็เป็นอธิศีล ปัญญาก็เป็นอธิปัญญา ในเมื่อศีลสมาธิเป็นอธิผู้ยิ่งใหญ่ ก็สามารถปฏิวัติภูมิจิตภูมิธรรมไปตามขั้นตอน ซึ่งสุดแท้แต่พลังนั้นจะเป็นไปให้เป็นไปอย่างไร ผู้ปฏิบัติไม่มีสัญญาเจตนาที่จะน้อมจิตไปอย่างไร จิตจะออกนอกไปเรื่องจิต จิตจะเข้าในเป็นเรื่องของจิต จิตจะมากำหนดรู้อยู่ที่จิต เป็นเรื่องของจิต ซึ่งเขาจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
ในขณะที่จิตเป็นไปโดยเช่นนั้น จะไปรู้ไปเห็นอะไรก็เพียงว่าเฉย ๆ นิ่ง ๆ อยู่นั้นแหละ เช่นอยากจะรู้อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา รู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ก็เพียงสักแต่ว่ารู้อยู่เฉย ๆ คำว่าอนิจจํ ก็ไม่มี ทุกขํ ก็ไม่มี อนตฺตา ก็ไม่มี ถ้าไปยืนมีแล้วสมาธิมันจะถอน เราอาจจะพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา ไม่เที่ยง เป็นอนตฺตา เราว่าได้ตั้งแต่จิตยังไม่สงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธินี้มันจะเกิดแต่สิ่งที่เกิดดับ ๆ ๆ อยู่เท่านั้น แล้วคำพูดที่ว่าอะไรมันจะไม่มี มันจะมีต่อเมื่อจิตถอนจากสมาธิมาแล้วมันจึงจะพูดเป็น เพราะมันมีกายเป็นเครื่องมือแล้ว อันนี้ทางเป็นไปของจิตทางหนึ่ง....
เพราะฉะนั้นในเมื่อสรุปรวมลงไปแล้วว่า เราจะบริกรรมภาวนาก็ตาม จะพิจารณาอะไรก็ตาม การบริกรรมภาวนา เรียกว่าการปฏิบัติตามแบบของสมถะ การพิจารณา เรียกว่าการปฏิบัติตามแบบของวิปัสสนา ทั้งสองอย่างนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้จิตสงบเป็นสมาธิ เพื่อได้เกิดสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง และทั้งสองอย่างนี้ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้วเนี่ย ภาษาคำพูดอะไรต่าง ๆ มันจะไม่มี ผู้ปฏิบัติแบบสมถะก็ดี ผู้ปฏิบัติแบบวิปัสสนาก็ดี ในเมื่อจิตปล่อยวางอารมณ์แล้วมันจะไปนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ ที่นี่จุดที่มันนิ่งว่างเนี่ย ทางหนึ่งวิ่งกระแสออกนอกเกิดภาพนิมิตดังที่กล่าว อีกทางหนึ่งมันวิ่งตามลมเข้ามาข้างในจะมารู้เห็นอวัยวะในร่างกาย ซึ่งเรียกว่ารู้อาการสามสิบสอง มันจะไปจนกระทั่งถึงจตุถฌาน......
ที่นี้อีกทางหนึ่งมันไม่เป็นไหนละ จิตรู้อยู่ที่จิตอยู่เพียงอย่างเดียว ไม่เข้านอก ไม่ออกใน แล้วจะว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ว่าจิตรู้จิตอย่างเดียว ถ้ากายยังมีอยู่มันก็จะเห็นอารมณ์ที่เกิดดับ ๆ ๆ อยู่อย่างละเอียด นี่ทางไปของจิตมันมีอยู่สามทางเท่านี้...
อันนี้ขอฝากนักปฏิบัติทั้งหลายเอาไว้พิจารณา
ข้อมูลจาก www.thaniyo.brinkster.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น