03 พฤษภาคม 2566

“ 30 คำสอน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บุคคลสำคัญของโลก

“ 30 คำสอน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บุคคลสำคัญ
ของโลก ซึ่งเป็น “หัวใจ” หรือเป็น “แก่น” สำคัญ ๆ ความว่า...
1. วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต (ผู้มีปัญญาและประพฤติดี) วาสนาก็เลื่อนขั้นเป็นบัณฑิต ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น

2. ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดแต่ตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรมไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน

3. แต่คนโง่ชอบเงินมากกว่าคนดีและความดี ขอแต่ได้เงินแม้ตัวจะเป็นอย่างไรไม่สนใจคิด ถึงจะชั่วช้าลามกหรือแสนโสมมเพียงไรก็ตาม ขนาดนายยมบาลเกลียดกลัวไม่อยากนับเข้าบัญชีผู้ต้องหา กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกด้วยกันให้เดือดร้อนฉิบหายก็ไม่ว่า ขอแต่ได้เงินก็เป็นที่พอใจ ส่วนจะผิดถูกประการใด ถ้าบาปมีค่อยคิดบัญชีกันเองโดยเขาไม่ยุ่งเกี่ยว

4. ได้ใจแล้ว คือได้ธรรม เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม รู้ใจตนแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน

5. ใจนี่แล คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือ ผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง

6. หาคนดีมีศีลธรรมในใจ หายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว ย่อมมีคุณมากกว่าเงินเป็นล้านๆ เพราะเงินเป็นล้านๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ เหมือนได้คนดีทำประโยชน์

7. ทาน ศีล ภาวนา เป็นรากเหง้าของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนาที่มนุษย์ต้องคอยสั่งสมให้มาอยู่ในนิสัย

8. ทานเป็นเครื่องแสดงน้ำใจ เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ศีลเป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส ภาวนาอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง

9. ผู้เป็นหัวหน้าหรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการภาวนาช่วยแก้ความยุ่งยากลำบากใจทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง

10. ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอย่างนั้น สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย

11. อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย

12. เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มี ก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษา ก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ ก็เจริญให้พอเสียจะได้ไม่เสียที ที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท นั้นละจึงจะสม กับที่ได้เกิดมาเป็นคน

13. ผู้มีปัญญาไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผู้มีปัญญาได้เห็นธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย ผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน

14. จะเอาอะไรมาเพิ่มอีก ก็ถ้าหากตายไปในวันนี้วันพรุ่งนี้ สิ่งต่างๆ ที่เคยมีและผ่านเข้ามา ตะเกียกตะกายดิ้นรนไขว่คว้าทุกอย่างก็จะเป็นเพียงแค่ สิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา

15. ไม่ควร “ยกโทษ ผู้อื่น” หรือ “เพ่งโทษผู้อื่น” ถึงแม้นผู้นั้น จะไม่ดีก็ตามที เพราะการเพ่งโทษผู้อื่น จะนำความวิบัติสู่ตนโดยไม่รู้ตัว ความเผลอสติ มักพาให้ผู้คนนั้น “ยกโทษผู้อื่น และพยายามยกคุณตนเอง” แทนที่จะ “ยกคุณผู้อื่น ยกโทษตนพิจารณา”

16. เราต้องการของดี คนดีจำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกตน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน

17. คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยาก ขาดแคลนจะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตน ย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ

18. บุคคลใดปฏิบัติแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด แก่ เจ็บ และตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีน้อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เห็นซึ่งอะไรๆ ในเบื้องต้น ท่ามกลางหรือที่สุดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งจะเข้าถึงความเป็นของไม่ควรถือเอา

19. อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลางและเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน

20. จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเหล่าๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย

21. ใครเพียร ใครอาจหาญ ใครอดทน ในการต่อสู้กับกิเลสตัวฝืนธรรมอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นจะเจอร่มเงาแห่งความสงบเย็นใจในโลกนี้ ในบัดนี้ และในดวงใจนี้ ไม่เนิ่นนานเหมือนการท่องเที่ยวที่เจือไปด้วยสุขด้วยทุกข์อยู่ทุกภพ ทุกชาติ ไม่มีวันจบสิ้น

22. ฝึกตนดีแล้ว จึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษปรากฏว่า ปาปโก สทฺโท โหติ คือ เป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ

23. ผู้มีสมบัติพอประมานในทางที่ชอบ มีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริงทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์

24. อย่าไปสนใจคิดถึงกาลสถานที่ หรือบุคคลใดๆ ว่าเป็นภัยและเป็นคุณ ให้เสียเวลาและล่าช้าไปเปล่า โดยไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งกว่าการคิดเรื่องกิเลสกับธรรม ซึ่งมีอยู่ที่ใจ

25. การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจ ของผู้มีภาวนาจะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ทำด้วยความใคร่ครวญเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นผู้มีหลักมีเหตุผล ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจ ไม่ปิดซ่อนให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง

26. ความทุกข์ ทรมาน ความอดทน ทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

27. ศาสนาทางมิจฉาทิฏฐิ ก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้น พวกเธอทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแล

28. “ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเป็นคุณค่าของผู้อื่นรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน”

29. “กิเลสแท้ ธรรมแท้อยู่ที่ใจ ส่วนเครื่องส่งเสริมและกดถ่วงกิเลสและธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไปทั้งภายในภายนอก ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้หลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งยั่วยวนกวนใจ อันจะทำให้กิเลสที่มีอยู่ภายในกำเริบลำพอง มีรูป เสียง เป็นต้น และสอนให้เที่ยวอยู่ในที่วิเวกสงัด เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่างๆ ด้วยความเพียรได้ง่ายขึ้น อันเป็นการย่นวัฏฏะภายในใจให้สั้นเข้า”

30. จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น ส่วนผู้มี่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้...

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...