ท่านพระอาจารย์ท่านเล่าว่า เป็นแก้วหน่อเนื้อพุทธางกูร ประจำภัทรกัปป์ เหลืออยู่ 2 ลูก มียักษ์รักษา พระอินทร์ไปขอแก้วดวงใหญ่ ซึ่งสุกใสกว่าจากยักษ์ตนนั้น แต่ยักษ์ไม่ให้ บอกว่าไม่ใช่ของเจ้า จึงให้แก้วดวงเล็กมา พระอินทร์นำมาหล่อเป็นผลสำเร็จ แต่ยังมีแก้วเหลือค้างอยู่ที่เรียกว่าแก้วก้นเตา เผาอย่างไรก็ไม่ละลาย พระจุลนาคเถระจึงอธิษฐานบรรจุไว้ใต้ฐาน ปรากฏว่าเป็นกระปุกระปะ ไม่เรียบ
หล่อเสร็จมีการสมโภช ท่านจุลนาคเถระ ได้อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน 5 แห่ง คือระหว่างพระขนง 1 แห่ง พระอังสาทั้งสอง 2 แห่ง พระเมาลี 1 แห่ง และพระนาภี 1 แห่ง ท่านฯ ว่าอย่างนี้
การเสด็จไปสู่สถานที่ต่างๆ ของพระแก้วมรกตนั้นมีปัจจัย 3 อย่าง คือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา เกิดกลียุคในประเทศนั้น และด้วยความรัก
ท่านพระอาจารย์เล่าต่อว่า ได้มีการอัญเชิญจากกรุงลังกาสู่นครศรีธรรมราชโดยทางเรือ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา นำโดยเถรเจ้าป่า (คำว่า เถรเจ้าป่า หมายความถึง พระกัมมัฏฐานที่ชอบออกปฏิบัติภาวนาอยู่ตามป่าเขา) อยู่นครศรีธรรมราชก็ไม่ได้กำหนดว่านานเท่าไร ต่อจากนั้นจึงอัญเชิญไปสู่นครวัด นครธม ประเทศเขมร เพื่อเผยแผ่พระศาสนา นำโดยเถรเจ้าป่าอีกนั่นแหละ
จากนครวัด นครธม สู่กรุงจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต (ประเทศลาว) ปัจจุบันคือเวียงจันทน์ สาเหตุเกิดกลียุคแย่งราชสมบัติ เถรเจ้าป่าท่านเห็นว่าพระแก้วจะไม่ปลอดภัย จึงได้เอาผ้าห่อแล้วบรรจุลงในบาตร (คงจะเป็นบาตรขนาดใหญ่) เพื่ออำพรางผู้ทุศีลไม่ให้แย่งชิงไป เถรเจ้าป่าองค์นั้นไปอยู่ที่เวียงจันทน์ก็ไม่มีกำหนดปีเหมือนกัน
จากนครเวียงจันทน์ก็ได้เสด็จสู่นครลำปาง และนครเชียงใหม่ ด้วยสาเหตุแห่งความรัก เนื่องจากเจ้าผู้ครองเวียงจันทน์ได้บุตรเขยเป็นชาวเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะนำบุตรีสู่เชียงใหม่ บิดาให้พรบุตรีว่าอยากได้อะไรก็จะให้ บุตรีจึงขอพระแก้วมรกตไปด้วย ด้วยความรักของบิดาก็จำยอมยกให้
พอไปถึงลำปาง ช้างที่นั่งไปไม่ยอมไปเอาดื้อๆ จะขับไสอย่างไรช้างก็ไม่ไป ตกลงกันว่าองค์พระแก้วมีพระประสงค์จะประทับที่ลำปางแน่ พระแก้วก็เลยประดิษฐานที่ลำปางก่อน นานพอสมควรจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็ไม่ได้บอกว่ากี่ปี ต่อมาบุตรเขยก็เสียชีวิตลง บุตรีเจ้าผู้ครองนครก็กลับสู่เวียงจันทน์ และนำพระแก้วมรกตกลับมาด้วย จึงประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์อีกเป็นครั้งที่สอง
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ไทยคือลาว ลาวคือไทย เป็นชาติเดียวกัน แต่ครั้งอยู่ราชคฤห์ แต่หนีตายมาคนละสาย มาบรรจบกันที่แม่น้ำใหญ่ๆ 4 สาย คือ แม่น้ำโขง เจ้าพระยา สาละวิน และแม่น้ำตาปี
ต่อมาเหตุการณ์บ้านเมืองในลาวเปลี่ยนแปลง เกิดกลียุค ราชวงศ์และราชบุตรเป็นศัตรูกัน ราชบุตรมักถูกรังแกใส่ความ ทนไม่ไหวจึงอพยพครอบครัวข้ามโขงมาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง (ปัจจุบัน คือ จังหวัดหนองบัวลำภู) ราษฎรก็ทยอยติดตามมา โดยมีพระตา น้องชายราชบุตรเป็นหัวหน้า ราชวงศ์ยังยกกองทัพมารังแกข่มเหงอีก
ฝ่ายพระตาและพระวอก็ได้ถอยร่นลงมาสู่ดอนมดแดง คืออุบลราชธานีในปัจจุบันอย่างทุลักทุเล บังเอิญกองทัพทางเวียงจันทน์เสบียงขาดแคลนลง จึงต้องยกทัพกลับ หลังจากนั้นก็ได้ยกทัพมาตีอีกครั้งที่สอง ชาวดอนมดแดงได้ต่อสู้ถวายหัวเต็มกำลังความสามารถ
พระตาสวรรคตในสนามรบอย่างสมพระเกียรติ พระวอเห็นท่าไม่ได้การ ได้ให้ม้าเร็วนำสาส์นขอกองกำลังจากบางกอกไปช่วย สมัยนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ จึงส่งกองทัพม้าเป็นทัพหน้าเดินทางไปก่อน กองทัพหลวงนำโดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพยกตามไป ชาวดอนมดแดงก็มีกำลังใจสู้ถวายหัว พอกองทัพหลวงยกมาถึง กองทัพทางเวียงจันทน์จึงแตกพ่ายกลับไป
ทั้งทัพม้าศึกและทัพหลวงแห่งบางกอก พร้อมกองอาสาสมัครแห่งดอนมดแดง ก็ติดตามไล่ตีไม่ลดละ จนถึงฝั่งโขง และข้ามโขงเข้ายึดนครเวียงจันทน์ได้ทั้งหมด
หลังจากชนะศึกแล้ว ชาวลาวได้ยินยอมพร้อมใจมอบพระแก้วมรกตและพระบาง ให้มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ นี่คือสาเหตุที่พระแก้วมรกตมาประดิษฐานในประเทศไทย
ปีนั้นบางกอกเกิดฝนแล้ง โหรหลวงทำนายว่า เพราะพระแก้วและพระบางมาอยู่รวมกันเป็นเหตุ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงส่งสาส์นแจ้งไปยังเจ้ามหาชีวิตลาว พระองค์ทรงยินดีรับคืน แต่ให้ส่งไปนครหลวงคือ กรุงศรีสัตตนาคนหุต ไทยได้ทำการสักการะจัดส่งอย่างสมพระเกียรติ ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าอย่างนี้ ตั้งแต่วันพระบางไปถึงกรุงศรีสัตตนคนหุต ก็เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงพระบางมาจนบัดนี้
ท่านฯ ยังเล่าต่อไปว่า เดิมไม่ได้เรียกเมือง “หลวงพระบาง” เรียก “หลวงพระบ้าง” เพราะว่าทองที่หล่อนั้นเป็นทองหลายชนิด ผู้มีศรัทธาไปร่วมพิธีเททองหล่อนั้น มีทั้งสร้อยทองคำ ตุ้มหูทองคำ กำไลทองคำ เงิน ทองแดง นาถ ทองสัมฤทธิ์ เอาออกมาใส่ลงในเบ้าหล่อ โดยทุกคนก็กล่าวว่า ฉันบ้าง ข้าบ้าง กูบ้าง ข้าน้อยบ้าง เมื่อเป็นพระออกมาก็คงจะมีชื่ออย่างอื่น ชื่ออะไรท่านมิได้กล่าวๆ แต่คนนั้นก็ว่าพระบ้าง คนนี้ก็พระบ้าง ลักษณะชายจีวรบางแผ่ออกทั้งสองข้าง เป็นแผ่นบางๆ คนภายหลังมาเห็น เลยกลายจากบ้าง มาเป็นบาง จากพระบ้างมาเป็นพระบางไป
พระขนง คือ คิ้ว
พระอังสา คือ บ่า
พระเมาลี คือ มวยผม
พระนาภี คือ ท้อง
ตัดตอนส่วนหนึ่งจากธรรมบทที่มา ; หนังสือ “รำลึกวันวาน”
โดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น