อารมณ์ของใจนั้นมี 2 ประการ คือ บางครั้งอยากสงบและบางครั้งอยากคิด พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ถึง 2 แบบ สุดแล้วแต่อารมณ์ใจในเวลานั้นต้องการอะไร ถ้าอารมณ์ใจเราอยากคิด แล้วเราบังคับให้ภาวนา ก็ไม่นิ่งอยู่ได้ ถ้าบังคับก็จะเกิดอารมณ์กลุ้ม ต้องปล่อยให้คิด แต่ก็ต้องคิดในขอบเขต ถ้าอารมณ์ซ่านจริงๆเอาไม่อยู่ ก็ต้องเลิกไปเสียก่อนอย่าฝืน ที่เขาพูดกันว่าทำกรรมฐานบ้า ก็เพราะบังคับใจมากเกินไป มีอารมณ์กลุ้ม โรคประสาทก็เกิด ในที่สุดก็บ้า จึงไม่ควรหักโหมใจ ใช้เวลาพิจารณาไม่ต้องนาน เอาแค่พอจิตสบาย เมื่อจิตเริ่มไม่สบายก็เลิก เท่านี้ดีมากแล้ว ทำเสมอๆไม่ช้าก็ถึงจุดหมายปลายทาง
การภาวนา
เมื่อใช้อารมณ์คิดไม่ถูกใจก็ภาวนา การภาวนามีผล คือ ขณะเมื่อภาวนาอยู่จิตก็ว่างจากกิเลส ทั้งนี้เพราะการทำกรรมฐาน พระพุทธเจ้าต้องการให้จิตว่างจากกิเลส ว่างไม่มาก ว่างสักประเดี๋ยวเดียว ก็ดีกว่าการที่จิตเป็นทาสของกิเลสตลอดเวลา ให้จิตใจมีเวลาเป็นตัวของตัวเองบ้าง ดีกว่าทาสที่ถูกบังคับให้ทำงานตามคำสั่งเจ้านาย ไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง เมื่อว่างนิดๆหน่อยๆ ไม่ช้าก็มีอารมณ์ชิน จนจิตว่างนานเข้าเป็นลำดับ ในที่สุดก็ว่างตลอดเวลาที่เราต้องการ เมื่อถึงระยะนั้นท่านเรียกผู้มีอาการอย่างนั้นว่า ผู้ทรงฌาน คือ ใช้จิตให้มีอารมณ์ว่างจากกิเลสได้ตามต้องการของเวลา และได้ทุกขณะที่เราต้องการใช้ เมื่อถึงขั้นนี้จะฝึกวิชชาสามหรืออภิญญาก็ได้ไม่ยาก และใช้งานได้ดีมาก แต่ทว่าหนังสือเล่มนี้ พูดเฉพาะหลักสูตรของสุกขวิปัสสโกเฉพาะอย่าง ไม่ครบทุกอย่าง เพื่อให้เหมาะสมแก่ท่านที่มีเวลาน้อย จึงของดเรื่อง วิชชาสามหรืออภิญญา
วิธีภาวนา
ภาวนา แปลว่า เจริญ คือ ทำให้จิตใจเจริญจากความเป็นทาสมาเป็นอิสระ คำภาวนานี้ในหนังสือนี้ไม่แนะนำมาก เพราะทำเฉพาะกิจ คือ หักล้างสังโยชน์ 3ประการ เทานั้น ฉะนั้นการภาวนาในขั้นนี้ ก็ให้อยู่ในขอบเขต เพราะพูดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ให้ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม หรือ สังโฆ อย่างใดอย่างหนึ่งตามต้องการ แต่ขณะภาวนาจะต้องระวังใจให้อยู่ในขอบเขตจริงๆ เมื่อตั้งใจว่าจะภาวนาพุทโธ ก็ต้องให้อยู่แค่พุทโธ อย่าให้เลยไปถึงธัมโมหรือสังโฆ ถ้าเผลอเลยไปอย่างนั้นเป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน เป็นเหยื่อของกิเลส ถ้าบังคับไม่ไหว ให้พักเสียก่อน เอาแค่พอคุมได้ อย่าหักหาญเกินไปจะไร้ผล
เมื่อทำสมาธิ ท่านให้ภาวนาควบคู่กับลมหายใจ คือ หายใจเข้านึกตามว่า พุท หายใจออกนึกตามว่า โธ ทำอย่างนี้อารมณ์จะทรงตัวง่าย แต่ทว่าเมื่อฝึกใหม่ๆ อย่าใช้เวลามากเกินควร ถ้าจิตเริ่มฟุ้งซ่านคุมไม่อยู่ ให้พักเสียก่อน เมื่ออารมณ์สบายจึงทำใหม่
ลืมตาภาวนา เมื่อหลับตาบางทีอารมณ์จะฟุ้งมากไป ให้ลืมตาได้ ทางที่ดีอยู่หน้าพระพุทธรูปจะดีมาก ลืมตาดูพระพุทธรูป จะดูตอนไหน หรือดูทีเดียวหมดองค์ก็ได้ ขณะที่ดู ใจอยู่ที่พระ ก็ถือว่าเป็นสมาธิที่ถูกต้อง เพราะ สมาธิ แปลว่า ตั้งใจ เมื่อตั้งใจจดจ่ออยู่ที่พระพุทธรูป จิตก็ว่างจากกิเลส อารมณ์ก็มีความสุข ถ้าจิตเริ่มคลายสุขเป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน จงรีบหยุดเสียก่อน ขืนฝืนทำไปโรคประสาทหรือโรคบ้าจะมาเยือน
ที่สุดของสมาธิในพุทธานุสสติ
ถ้าจะถามว่า ถ้าทำให้จบถึงที่สุดของอารมณ์ในพุทธานุสสนติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ทำถึงไหนถึงชื่อว่าจบสมาธิจุดนี้
ขอตอบว่า ถ้าอารมณ์เท่าท่าน สุปปพุทธกุฏฐิ เป็นชื่อว่าจบในอารณ์อนุสสติส่วนนี้ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ท่านมีอารมณ์อย่างนี้
เมื่อฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านมั่นใจในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์ ท่านจะไปกราบทูลในพระพุทธเจ้าทรงทราบเมื่อเดินทางออกจากบ้าน พระอินทร์ต้องการพิสูจน์ใจท่าน พระอินทร์ลอยมาขวางหน้า ถามว่า “เธอจะไปไหน” ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ก็ตอบว่า “จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปกราบทูลให้ทรงทราบว่า ข้าพเจ้ามีความมั่นคงในท่าน” พระอินทร์ก็พูดว่า “สุปปพุทธะ เธอเป็นโรคเรื้อนและยากจน เป็นคนขอทาน เธอจะพูดตามฉันสัก 3 คำ ได้ไหม พูดเล่นๆ ไม่ตั้งใจก็ได้ ถ้าพูดตามฉันสั่งได้ ฉันจะบันดาลให้เธอหายจากโรคเรื้อนเป็นคนสวย และจะบันดาลให้ทรัพย์ไหลลงมาจากอากาศ เธอจะเป็นมหาเศรษฐีได้
ท่านสุปปพุทธะถามว่า “ให้พูดอย่างไร” พระอินทร์ท่านก็บอกว่า “พูดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ พูดอย่างนี้ ไม่ตั้งใจก็ได้ พูดจบฉันจะให้ทุกอย่างตามสัญญา”
ท่านสุปปพุทธะไม่ยอมพูดตาม แถมประณามพระอินทร์เสียใหญ่เลย เป็นอันว่าเมื่อท่านภาวนาหรือพิจารณาในอนุสสติทั้ง 3 นี้ ถ้ามีความมั่นคงอย่างท่านสุปปพุทธกุฏฐิได้ ก็ถือว่าท่านจบตอนอนุสสติส่วนนี้ ตัดสังโยชน์ข้อที่ 2 ได้สบาย อบายภูมิ 4 ห่างจากท่านไปหลายแสนโยชน์ แต่ระวังนะ เพียงห่างออกไปยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ เผลเมื่อไหร่ อาจจะย่องเข้ามาถึงตัวอีกก็ได้ ต้องหาทางสังหารสังโยชน์ 3 ประการ ให้พินาศไป เราจะได้นอนสบาย หมดพิษหมดภัยจากอบายภูมิ 4
คัดลอกจากหนังสือ หนีนรก โดย...พระราชพรหมยาน หน้า 27-31
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น