09 เมษายน 2563

พระเครื่องและเครื่องรางของขลัง โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

เครื่องรางของขลัง

ปัญหาเรื่องนี้ได้นำคำตอบของหลวงพ่อ มาเพื่อความกระจ่าง ของความหมายที่อยู่ในความรู้สึกของท่านพุทธศาสนิกชนบางท่าน ที่ยังเข้าใจไม่ครบถ้วนในความหมายของคำว่า "เครื่องรางของขลัง" ซึ่งในปัจจุบันบางท่านมีความเข้าใจไปว่า พระที่ชอบแจกเครื่องรางของขลังจะทำให้คนติดในวัตถุว่าหลงใหลงมงาย 
ปัญหานี้โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา มาถามกันอยู่เสมอ ซึ่งหลวงพ่อท่านได้อธิบายว่า 
"ความมุ่งหมายในการใช้พระคล้องคอ โดยมากพวกเรามักจะเข้าใจผิดกัน ที่ท่านทำพระไว้ให้ห้อยคอ ก็หมายถึงว่า บุคคลใดที่มีใจเคารพในพระพุทธเจ้า มีใจเคารพในพระธรรม มีใจเคารพในพระอริยสงฆ์ แต่ทว่ามีกำลังใจที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ยังอ่อนอยู่ ฉะนั้นจึงได้ทำรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ดี รูปเปรียบของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดี ที่เป็นเคารพนับถือห้อยคอไว้ ถ้าหากเรานึกถึงพระท่านไม่ออกจะได้นำพระขึ้นมาดู รูปนี้เป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งความดีที่เรียกกันว่า "พระธรรมวินัย"
นี่เป็นความจริง เป็นความมุ่งหมายของผู้ทำ ต้องการอย่างนี้หมายความว่า คนที่มีพระห้อยคอ ควรจะทำใจอย่างพระหรือมิฉะนั้นคนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำตามที่พระแนะนำให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ว่าพวกเราก็กลับมาพลิกแพลงเสีย เอาพระไปตีกับชาวบ้านเขา ไปยุให้พระตีกัน 
พระที่นำมาห้อยคอนี่ พระท่านทำขึ้นมาก็ด้วยอาศัยอำนาจของพระพุทธานุภาพนะ อำนาจของพระพุทธานุภาพนี่สามารถที่จะช่วยคนที่ไม่ถึงอายุขัยให้พ้นจากอันตรายได้ 
ที่เรียกว่า "พระเครื่อง" อันนี้ใช้ได้ แต่ถ้าหากจะเรียก เครื่องรางของขลัง อันนี้ใช้ไม่ได้ พระทุกองค์ท่านทำมาไม่ใช่ของขลัง ท่านทำมาด้วยวิชาที่เรียกว่า "พุทธศาสตร์" ไม่ใช่ "ไสยศาสตร์" พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์มีค่าต่างกัน พวกของขลังนี่เป็นไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อทำลาย สำหรับพุทธศาสตร์เขาทำเพื่อการสงเคราะห์ เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภทนี้ไว้ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัยถ้าไม่ถึงอายุขัย ถ้าอันตรายของชีวิตถึงจะเกิดขึ้นก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...