08 เมษายน 2563

ดีให้ดูคนอื่น เลวดูที่จิตตน

   การปฏิบัติไม่ว่าโยมจะปฏิบัติมานานเพียงใด ฉันถามว่าโยมปฏิบัติตลอดรึเปล่า..ในหนึ่งวันของโยมดูจิตอยู่ตลอดหรือเปล่า อย่าบอกว่าต้องไปถามเป็นเดือนเป็นปี ถามวันต่อวันว่าเราดูจิตอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า (ลูกศิษย์ : ไม่ได้ดูตลอดค่ะ) ถ้าเราไม่ได้ดูตลอดแล้วกรรมฐานที่เราเข้าไปฝึกไว้ เวลาที่เราปฏิบัติกับเวลาที่เราไม่ได้ปฏิบัตินั้นอะไรมันมากกว่ากัน (ลูกศิษย์ : ไม่ได้ปฏิบัติมากกว่า) 

แสดงว่ากำลังที่เราปฏิบัติมันได้น้อย ไอ้เวลาไม่ได้ปฏิบัติมันมีกำลังมากกว่ามั้ยจ๊ะ (ลูกศิษย์ : มากกว่าค่ะ) นั่นก็คือเวลาของมาร..ความขี้เกียจ อย่างนี้เรียกว่าเรานั้นยังติดอยู่ในสมมุติบัญญัติ เมื่อมันติดอยู่ในสมมุติบัญญัติ เมื่อเราจะมาเจริญความเพียรเพื่อข้ามสมมุติบัญญัติ มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก..มันเป็นการฝืน 

ดังนั้นเมื่อเราทำนั้นไม่ต่อเนื่องไม่อยู่เป็นประจำแห่งฌาน สมาธิ ปัญญาที่เราฝึกเราฝนจิตมาเพียงน้อยนิดนี้ เมื่อมันมีอารมณ์มากระทบจิต มันก็ไม่มีการที่สตินั้นจะเท่าทันได้ มันก็ต้องมีพลั้งเผลอ..นั่นก็คือศีล ที่อารมณ์แห่งโทสะ ราคะ โมหะนี้เข้ามาครอบงำจิตได้ เมื่อจิตนั้นเรายังไม่ตั้งมั่น ยังไม่หนักแน่นพอ เหมือนน้ำที่มันไม่ลึกเพียงพอ เมื่อมีอะไรมากระทบมันก็สามารถขุ่นได้ง่าย

นั้นถ้าเราไม่พยายามเพียรขุด ทำจิตนั้นให้มันตั้งมั่น มันก็จะไม่เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบได้ เมื่อเราไม่ขุดไม่พิจารณาอยู่บ่อยๆอย่างนี้ สายแม่น้ำทั้งหลายมันก็ตื้นเขิน สุดท้ายมันก็พอกพูนเข้าไปอีก..นั่นก็คืออุปกิเลส อุปกิเลสก็คือเครื่องเศร้าหมอง อารมณ์ที่ทำให้จิตเรานั้นเศร้าหมอง 

เมื่อจิตเราไปเพ่งโทษดูผู้อื่นเค้า ไปดูจริตจริยาวัตรของผู้อื่นมากๆเข้าจิตเราก็เศร้าหมอง อุปกิเลสมันก็บังเกิดขึ้น แต่ถ้าเราย้อนมาดูเพ่งโทษตัวเอง พิจารณาเตือนตัวเองได้ จนจิตเราสงบถึงความเย็นอยู่ได้อย่างนี้ อุปกิเลสแห่งความเศร้าหมองทั้งหลายก็ดับ อย่างนี้แลเรียกว่าเราได้เจริญบุญเจริญกุศล 

นั้นการไปเพ่งโทษไปพิจารณาคนอื่นว่าจะให้คนอื่นนั้นต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว..มันไม่ใช่กิจธุระอะไรของเรา กิจธุระของเราก็คือการเพ่งโทษตักเตือนตน พิจารณาตนในความชั่วของตน เพราะว่าวิบากกรรมของมนุษย์นั้นมันก็มีของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว ดังนั้นว่าความสุขความดีให้เราทำให้มากๆ 

เมื่อเราจะทำความดีครั้งใด สิ่งการใดที่ล่วงมาแล้วก็ขอให้วางไว้ อย่าได้ไปใส่ใจมัน เพราะเหตุนี้เล่าสติของเราจึงไม่เท่าทันอุปกิเลสหรือความเศร้าหมอง มันมาครอบงำจิต ดังนั้นถ้าเราฝึกอยู่ตลอดทั้งวัน โอกาสที่เรานั้นจะทำผิดนั้นก็มีน้อย อันว่าศีลนี้เราไม่สามารถรักษาได้ตลอดเวลาได้ แต่เวลาไหนเล่าที่อารมณ์นั้นเราขุ่นหมอง แสดงว่าเหตุแห่งธรรมมันก็บังเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดรู้ในอารมณ์นั้น หาใช่ว่าต้องมาเจริญกรรมฐานไม่ 

เมื่อรู้เหตุแล้วก็กำหนดรู้ เมื่อตัวรู้มันบังเกิดนั่นแล ก็เอาปัญญาไปพิจารณาอารมณ์นั้น ก็เหมือนจิตที่ไม่มีกายสังขารแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ ก็เอาอารมณ์ของจิตนั่นแล พิจารณาอารมณ์นั้นของจิตนั้น ให้จิตนั้นเข้าถึงความสงบระงับ จนสมาธิมันบังเกิด ปัญญามันบังเกิด ญาณมันบังเกิด มันก็จะพิจารณาดับละอารมณ์นั้นได้

ดังนั้นอุปกิเลสทั้งหลายคือความเศร้าหมอง ลองไปพิจารณาดูซิว่าอุปกิเลส ๑๖ อย่างมันเป็นอย่างไร นั้นการที่เราไปเพ่งโทษคนอื่นมันหามีประโยชน์อย่างใดเลย จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เราควรหันมาเพ่งโทษในตัวของเราเองดีกว่า อย่าไปเพ่งโทษหรือพิจารณาว่าเราดีกว่าใคร ใครดีกว่าเรา สิ่งเหล่านี้เรียกว่ามันทำให้จิตของเรานั้นเศร้าหมองทั้งนั้น
 
ดังนั้นใครจะเป็นอย่างไร จะชั่วจะดีหรืออย่างไรแล้ว มันเป็นเรื่องวิบากกรรมของเค้า การที่เราเอาจิตนั้นไปเกี่ยวข้องไปผูกพันด้วยแล้ว เท่ากับว่าเรานั้นไปรับกรรมเค้ามา ดังนั้นกรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถจะจบลงกันได้ มันก็จะเกิดเวรเกิดพยาบาท จากเป็นมิตรก็จะกลายเป็นศัตรูอย่างนี้

ดังนั้นแล้วถ้าเราไม่คิดเพ่งโทษใครเลย..เราก็จะไม่มีศัตรูเลย แต่เมื่อใดเราไปเพ่งโทษคิดเอาชนะผู้ใด นี่แลเรียกว่าเรานั้นมีศัตรูแล้ว แต่ศัตรูที่แท้จริงก็หาใช่ว่าบุคคลที่เรานั้นจะไปอาฆาตพยาบาทไม่ แต่ศัตรูที่แท้จริงก็คือตัวของเราเอง ที่เรานั้นไม่สามารถเอาชนะอารมณ์แห่งความไม่พอใจแห่งโทสะได้ มันนำมาสู่การพยาบาทของจิต อย่างนี้แลเค้าเรียกว่า"เครื่องเศร้าหมอง"

เมื่อจิตเราเศร้าหมองเสียแล้ว การจะทำคุณงามความดีให้เกิดขึ้นกับจิตนั้นมันก็ทำได้ยาก อารมณ์เหล่านี้เมื่อมันเกิดขึ้นกับใคร เท่ากับว่าบุคคลผู้นั้นเลี้ยงอสรพิษไว้ บ้านเรือนนั้นรกสกปรก นั่นเรียกว่าจิตนั้นมันเศร้าหมอง ดังนั้นขอให้ทำความสะอาดจิตให้ดี เมื่อเราจะภาวนา เมื่อเราจะเจริญสมาธิ เราเห็นจิตแล้ว..อารมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ยังมีอกุศลจิต เป็นมูลเหตุให้จิตเรานั้นเกิดอุปกิเลสของความเศร้าหมองจิตเสียแล้วนั้น ขอให้เราตั้งจิตเสียใหม่
 
ความตั้งใจใหม่นี้ไม่ได้ไปบอกให้คนอื่นเค้าตั้งใจใหม่ให้แก้ตัว แต่เราต่างหากที่ควรตั้งใจ ควรบอกคอยเตือนตัวเองสอนตัวเองว่าเราอย่าไปคิดอย่าไปตำหนิผู้อื่นเค้าเลย เพราะว่ากรรมของคนอื่นเค้าก็เป็นแบบนั้น ถ้าเค้ามีสติกำลังพอเค้าคงควบคุมกรรมเค้าได้ เฉกเช่นเดียวกับเรา..ก็ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เช่นเดียวกัน 

แสดงว่าทุกคนนั้นก็มีโมหะ มีโทสะ มีราคะไม่ต่างกัน ต่างกันตรงที่ว่าเมื่อโทสะ เมื่อโมหะ เมื่อราคะเกิดแล้ว เราจะเท่าทันมันมากน้อยแค่ไหนต่างหาก..นี่แลเรียกว่า"อริยชน" 

ที่มา
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...