01 สิงหาคม 2563

"พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้"

"พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้"

สมาธิสูตรที่ ๓
             [๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก๔ จำพวกเป็นไฉน คือ 

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจ
ในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมจำพวก ๑ 

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายในจำพวก ๑ 

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีปรกติได้ความ
สงบใจในภายใน ทั้งไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมจำพวก ๑ 

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมจำพวก ๑ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้มีปรกติ
ได้ความสงบใจในภายใน แต่ไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรมพึงเข้าไปหาบุคคลผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม แล้วถามอย่างนี้ว่า พึงเห็นสังขารอย่างไรหนอ พึงพิจารณาสังขารอย่างไร พึงเห็นแจ้งสังขารได้อย่างไร ผู้ถูกถามนั้นย่อมตอบเขาตามความเห็น ความรู้ว่า พึงเห็นสังขารได้อย่างนี้แล พึงพิจารณาสังขารอย่างนี้ พึงเห็นแจ้งสังขารอย่างนี้

สมัยต่อมา เขาเป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม แต่ไม่ได้ความสงบใจในภายใน พึงเข้าไปหาบุคคลผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน แล้วถามอย่างนี้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างไร พึงน้อมจิตไปอย่างไร พึงทำจิตให้มีอารมณ์เดียวเกิดขึ้นได้อย่างไร พึงชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไร ผู้ถูกถามนั้นย่อมตอบเขาตามความเห็น ความรู้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้ พึงน้อมจิตไปอย่างนี้ พึงทำจิตให้มีอารมณ์เดียวเกิดขึ้นอย่างนี้ พึงชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างนี้ 

สมัยต่อมาเขาเป็นผู้มีปรกติได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม ทั้งได้ความสงบใจในภายใน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ไม่มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งไม่ได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม พึงเข้าไปหาบุคคลผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม แล้วถามอย่างนี้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างไรหนอ พึงน้อมจิตไปอย่างไร พึงทำจิตให้มีอารมณ์เดียวเกิดขึ้นอย่างไร พึงชักจูงจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างไรพึงเห็นสังขารนั้นได้อย่างไร พึงพิจารณาสังขารอย่างไร พึงเห็นแจ้งสังขารอย่างไร ผู้ถูกถามนั้นย่อมตอบเขาตามความเห็น ความรู้อย่างนี้ว่า พึงตั้งจิตไว้อย่างนี้ ฯลฯพึงเห็นแจ้งสังขารอย่างนี้ 

สมัยต่อมา เขาเป็นผู้มีปรกติได้ความสงบใจในภายในทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้มีปกติได้ความสงบใจในภายใน ทั้งได้อธิปัญญาและความเห็นแจ้งในธรรม พึงตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแหละ แล้วกระทำความเพียรให้ยิ่ง เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๔

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๒๕๖๖-๒๖๐๑ หน้าที่ ๑๑๐-๑๑๒.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=2566&Z=2601&pagebreak=0

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...