ฝรั่งเขียนเรื่อง ความจริง และ จุดเด่น ของ พุทธศาสนา 19 ประการที่ต่างจากศาสนาอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
๑.พระพุทธศาสนา ปฏิเสธว่า มีผู้สร้างโลก ถือว่า ความเชื่อนี้ไร้สาระ ตรงข้าม โลกนี้ประกอบขึ้นจากเหตุธาตุทั้ง4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประกอบกันขึ้นมา
๒.พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ระบบความเชื่อที่จะใช้คำว่า Religion เพราะศัพท์นี้ หมายถึง ต้องมีความเชื่อในพระเจ้าผู้สร้างโลก
๓.จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา คือ ละกิเลสได้หมดแล้ว หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือวัฏฏสงสาร ไม่ใช่ไปแค่ไปเกิดบนสวรรค์เท่านั้น
๔.พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ผู้ปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้รอด สรรพสัตว์ต้องช่วยตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสและวัฏฏสงสาร
๕.ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้า และสาวก คือ ครูผู้สอนและลูกศิษย์ ไม่ใช่ตัวแทนพระเจ้า และทาสผู้รับใช้
๖.พระพุทธเจ้า ไม่เคยให้สาวกใช้ความเชื่อโดยปราศจากปัญญามานับถือ ตรงข้าม ทรงสอนให้ใช้ปัญญา พิจารณาคำสอนก่อนจะเชื่อ และเห็นจริงด้วยตนเอง และ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องนำคำสอนไปประพฤติและปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นด้วยตนเอง ไม่มีใครช่วยทำให้หลุดพ้น จากการเวียนเกิดเวียนตายได้ นอกจากให้แค่แนะนำ ชี้ทางที่ถูกต้องให้เท่านั้น
๗.คำสอนพระพุทธเจ้า เป็นสัจธรรมประจำโลก ที่เป็น และมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบเท่านั้น พระองค์ไม่ใช่เป็นคนสร้างคำสอนขึ้นมา
๘.นรกในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่สถานที่กักขังสัตว์อย่างนิรันดร์ บุคคลทำบาปแล้ว ไปเกิดในนรก เมื่อพ้นกรรมแล้ว ก็สามารถกลับไปเกิดในภพที่ดีกว่าได้ และ สัตว์ที่ได้ไปเกิดในภพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภพเทวดา ภพมนุษย์ ภพเปรตวิสัย ภพเดรัจฉาน ก็สามารถเวียนกลับไปเกิดในนรกอีกได้ เช่นกัน
๙.พระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนแนวคิดเรื่องบาปติดตัว เหมือนที่ศาสนาเทวนิยมสอน แต่สอนเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งมีทั้งกรรมขาว กรรมดำ และกรรมไม่ขาวไม่ดำ
๑๐.พระพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์และเทวดาทุกชีวิต มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ ข้อสำคัญก็คือ ต้องใช้ความพยายามในการปฏิบัติ เพื่อชำระกิเลสให้พ้นไปจากจิตใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นมนุษยสามัญธรรมดา ที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะการประพฤติปฏิบัติมาหลายภพหลายชาติ
๑๑.กฎแห่งกรรมของทุกสรรพสัตว์ เป็นตัวอธิบายว่า เหตุใดคนถึงเกิดมาแตกต่างกัน กฎแห่งกรรมเป็นตัวอธิบายถึงภพภูมิที่สัตว์พากันไปเกิด
๑๒.พระพุทธศาสนา เน้นให้แผ่เมตตากรุณาไปยังสรรพสัตว์ ทุกภพภูมิ ทรงสอนให้ละจากการประพฤติชั่วทั้งปวง คือ อกุศลกรรมบท ๑๐ และให้ประพฤติปฏิบัติแต่ กุศลกรรมบถ ๑๐
๑๓.ธรรมะของพระพุทธเจ้า เสมือนแพ หลังจากบำเพ็ญเพียรจนดับทุกข์ได้แล้ว จะอยู่เหนือบุญและบาป ธรรมะทั้งปวงจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น
๑๔.ไม่มีสงครามศักดิ์สิทธิ์ ในทรรศนะพระพุทธศาสนา การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยเจตนา ผู้กระทำจะต้องรับกรรมทั้งสิ้น จนกว่าจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การฆ่าในนามศาสนา ยิ่งกระทำมิได้ในพระพุทธศาสนา
๑๕.พระพุทธเจ้าสอนว่า กำเนิดสังสารวัฏ ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ถ้าหากสัตว์ยังดำเนินชีวิตไปตามอำนาจกิเลส
ที่มี อวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ย่อมต้องเวียนเกิดเวียนตายต่อไป
๑๖.พระพุทธเจ้า ทรงเป็นพระสัพพัญญู ( ผู้รู้ความจริงทุกเรื่องที่ทรงอยากรู้ ) และพระพุทธเจ้า มิใช่เทพเจ้าผู้ทรงมีอำนาจล้นฟ้า ดลบันดาลสร้างธรรมชาติต่างๆ ขึ้นมา
๑๗.การฝึกสมาธิ สำคัญมากในพระพุทธศาสนา แม้ว่าศาสนาอื่นๆ ก็มีสอนให้คนมีสมาธิ แต่มีพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอน วิปัสสนา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้รู้แจ้งว่า ทุกสรรพสิ่ง เมื่อมีการเกิด ย่อมมีการดับ
๑๘.หลักคำสอนเรื่อง สุญญตา) หรือ นิพพาน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในพระพุทธศาสนา ถือเป็นคำสอนระดับสูงของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วโลกธาตุ ไม่มีสิ่งใด เที่ยงแท้ถาวร มีแต่ปัจจัย ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกัน สรรพสิ่งในโลก จึงตกอยู่ในภาวะอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เหมือนกันหมด พระพุทธศาสนาจึงไม่สุดโต่งไปตามแนวศาสนาประเภทเทวนิยม หรือ ตามแนววัตถุนิยม ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จนกว่าจะบรรลุธรรม จึงจะดับเย็น เข้าสู่นิพพาน
๑๙.วัฏจักร หรือสังสารวัฏ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ตราบใดที่สรรพสัตว์ ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็จะเวียนว่ายตายเกิด ไปตามภพภูมิต่างๆ ตามแรงเหวี่ยงของกรรม ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุธรรม ดังนั้น ทุกสรรพสัตว์ จึงต้องช่วยตนเอง เพื่อพัฒนาไตรสิกขา ให้หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ และโมหะ หรืออวิชชา เพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏให้ได้ ฯ
~ เสียดายไม่ทราบชื่อฝรั่งผู้เขียน แต่ ก็แสดงว่า มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา มากกว่าคนไทยที่อ้างว่า นับถือพระพุทธศาสนาเสียอีก ขอกราบคารวะ และ ขอชื่นชมด้วยใจจริง
*เพิ่มเติม: ขอขอบคุณท่านที่ส่งลิงค์ต้นฉบับภาษาอังกฤษจากคนเขียนมาให้ กรุณากดอ่านได้ตามนี้นะครับ
นี่ครับ ต้นฉบับ
https://blog.sivanaspirit.com/differences-buddhism-religions/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น