09 สิงหาคม 2563

นิมิตต่างๆทั้งหลาย มักเกิดขึ้นเพราะอุปาทาน

"สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มักเกิดขึ้นเพราะอุปาทานที่ท่านคิดว่าอยากรู้อยากเห็น ระดับจิตที่สงบลงเป็นสมาธิในขั้นอุปจารสมาธินั้น ถ้าจิตมันปรุงแต่งอะไรขึ้นมาในขณะนั้นมันจะกลายเป็นตัวเป็นตนไปหมด เพราะสิ่งที่มองเห็นนั้นรู้สึกมองเห็นด้วยตาธรรมดา ตาท่านหลับอยู่แต่ท่านก็มองเห็นได้ ทำไมจึงมองเห็นได้ก็เพราะจิตท่านเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง อันนี้พึงสังวร"

นักปฏิบัติบางท่านที่ติดนิมิตจนถอนตัวไม่ขึ้น หลับตาทำสมาธิก็ตกลงในวังวนแห่งภาพต่างๆที่ปรุงแต่งขึ้นในห้วงสมาธิจริงบ้าง ปลอมบ้าง แล้วแต่สภาพของสังขารปรุงแต่งหรือญาณกำเนิด ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานจึงเตือนผู้ปฏิบัติชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัย ในเรื่องนิมิตและความสุขในสมาธิ

นักปฏิบัติธรรมบางท่านก็หลงใหลได้ปลื้มกับนิมิต หรือให้ความสำคัญกับผู้รู้เห็นนิมิตว่าเป็นผู้วิเศษเลิศเลอ ภาพในนิมิตที่ปรากฏและถูกต้องนั้นมีเพียงเล็กน้อย นอกนั้นเกิดจากสังขารปรุงแต่งเสียเป็นส่วนใหญ่ทั้งนิมิตที่ปรากฏขึ้นเองและ นิมิตที่กำหนด

จิตเมื่อเข้าสู่สมาธิอ่อนๆก็มีนิมิตจางๆแล้วค่อยๆชัดขึ้นเมื่อสมาธิสงบจน กระทั่งชัดที่สุด ทุกครั้งที่ปรากฏนิมิตต้องใช้ปัญญาอบรมจิตควบคู่กันไปด้วย ( เพราะนิมิตที่ปรากฏอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ ) แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในนิมิต เพื่อพัฒนาการจิตในระดับต่อไป ก็จะออกมาในอีกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นปิติในลักษณะต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกหลากหลายของความสงบก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ ทั้งนี้ต้องใช้ไตรลักษณ์เป็นหัวข้อธรรมใหญ่ในการพิจารณาองค์ประกอบของสมาธิ ทุกรูปแบบก็ว่าได้

เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติทั้งหลายพึงสังวรระวังเกี่ยวกับเรื่องนิมิตต่างๆ ถ้าท่านภาวนาแล้วเกิดนิมิตต่างๆขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มักเกิดขึ้นเพราะอุปาทานที่ท่านคิดว่าอยากรู้อยากเห็น ระดับจิตที่สงบลงเป็นสมาธิในขั้นอุปจารสมาธินั้น ถ้าจิตมันปรุงแต่งอะไรขึ้นมาในขณะนั้นมันจะกลายเป็นตัวเป็นตนไปหมด เพราะสิ่งที่มองเห็นนั้นรู้สึกมองเห็นด้วยตาธรรมดา ตาท่านหลับอยู่แต่ท่านก็มองเห็นได้ ทำไมจึงมองเห็นได้ก็เพราะจิตท่านเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง อันนี้พึงสังวร

ในเมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวนี้เกิดมาแล้วควรจะปฏิบัติต่อนิมิตทั้งหลายเหล่านี้อย่างไร

๑.ท่านอย่าไปเอะใจ อย่าไปตื่นในการที่ได้พบเห็น ให้ประคองจิตอยู่ในท่าทีที่สงบเป็นปกติ
๒.อย่าไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นจริง ถ้าจริงมันจะสงสัย

สมาธิอ่อนๆกระแสจิตส่งออกไปข้างนอกให้ประคองจิตให้เป็นสมาธิไว้นานๆ ภาพนิมิตนั้นจะอยู่ให้ท่านชม บางทีท่านอาจจะนึกว่าภาพนิมิตที่มองเห็นนั้นเป็นสิ่งที่สนุกเพลิดเพลิน สนุกยิ่งกว่าไปดูหนัง อันนี้แล้วแต่มันจะเป็นไปตามอำนาจกิเลสของใคร

แต่ถ้าผู้เห็นนิมิตนั้นเคยมีสมาธิดีมีปัญญาดีอาจจะจับเอานิมิตนั้นเป็น เครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติพิจารณาเป็นกรรมฐานในแง่ของวิปัสสนาเลย กำหนดหมายว่านิมิตนี้ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่เสมอ ถ้าท่านสามารถกำหนดพิจารณาได้อย่างนี้ ท่านก็จะได้ความรู้ในแง่วิปัสสนา

เรื่องนิมิตต่างๆนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยถ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ให้ทั้งคุณเป็นสิ่งที่ให้ทั้งโทษ ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดหมายเอานิมิตเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์ที่จะน้อมนึกพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานหรือสมถะกรรมฐานก็แล้วแต่ ย่อมได้ประโยชน์สำหรับผู้มีสติปัญญา สามารถรู้เท่าทันนิมิตนั้นๆ

แต่ถ้าผู้หลงว่าเป็นจริงเป็นจัง จิตอาจจะไปติดนิมิตนั้นๆชอบอกชอบใจในนิมิตนั้นๆ บางทีก็จะไปเที่ยวกับนิมิตนั้น ฝากเอาไว้ให้นักปฏิบัติได้โปรดพิจารณาเอาเอง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นทางผ่านของผู้บำเพ็ญจิต แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดจากการพิจารณากรรมฐาน โดยยกเอากายของเราเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ จะน้อมนึกไปในแง่ไม่สวยงามก็ตาม จะน้อมนึกไปว่ากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ตาม

ในเมื่อจิตสงบลงแล้ว ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานหรือในธาตุกรรมฐาน จนมองเห็นอสุภกรรมฐานว่าร่างกายนี้เป็นของสกปรก เป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย น่าเกลียดผุพังสลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือ ยังเหลือแต่สภาพจิตที่ยังสงบนิ่ง ใส บริสุทธิ์ สะอาด สิ่งที่รู้เห็นทั้งหลายหายหมดไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ

แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากความเป็นสภาพเช่นนั้นแล้ว มาสู่ปกติธรรมดาร่างกายที่มองเห็นว่าสาบสูญหายไปนั้นก็ยังปรากฏอยู่ จะปรากฏว่าสูญหายไปหรือปฏิกูลเฉพาะในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่รู้เห็นอันนี้เป็นเพียงนิมิต ซึ่งหลักของการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน เมื่อจิตเพ่งจดจ่ออยู่ในสิ่งที่รู้แน่วแน่ นิมิตย่อมเกิดขึ้น

อันดับแรกเรียกว่า “อุคคหนิมิต” ในอันดับต่อไปเรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต” อุคคหนิมิตจิตจดจ่อรู้ในสิ่งๆเดียวอย่างแน่วแน่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นิมิตนั้นก็อยู่ในสภาพปกติ จิตก็อยู่ในสภาพปกติ แต่รู้เห็นกันอย่างติดหูติดตา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น อันนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต”

ทีนี้ถ้าหากว่าจิตสามารถปฏิวัติความเปลี่ยนแปลงของนิมิต ให้มีอันเป็นไปต่างๆขยายให้ใหญ่โตขึ้นหรือย่อให้เล็กลง หรือถึงขนาดสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ จิตก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิของ “ปฏิภาคนิมิต”

ถ้าหากว่านิมิตมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่อย่างนั้น ถ้าจิตสำคัญมั่นหมายในการเปลี่ยนแปลงของนิมิต โดยกำหนดอนิจจสัญญา คือความจำหมายว่าไม่เที่ยง เข้ามาแทรกความรู้เห็นในขณะนั้นโดยอัตโนมัติ จิตของท่านจะกลายเป็นการเดินภูมิวิปัสสนากรรมฐาน และนิมิตที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น

ในขั้นนี้เรื่องราวหรือนิมิตอะไรที่พึงเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัติอยู่ก็ ตาม ให้สังวรระวังรักษาความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ว่า สิ่งนี้คือจิตของเราปรุงแต่งขึ้นในขณะที่จิตของเรามีสมาธิ เอาความรู้สึกอันนี้มาสกัดกั้นเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้จิตของเราหลงหรือรู้ผิด นี่คือหลักการปฏิบัติที่เราพึงสังวรระวัง

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย

"ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาไม่ฉลาด เมื่อโอภาสนั้นเกิดคิดว่า โอภาสเห็นปานนี้ ยังไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้เลยหนอ เราเป็นผู้บรรลุมรรค บรรลุผลแน่แท้แล้ว จึงถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคนั่นแหละว่าเป็นมรรค สิ่งที่ไม่ใช่ผลนั่นแหละว่าเป็นผล."

"อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เปรื่องปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนด ย่อมสอบสวนโอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดาด้วยประการดังนี้. 

               อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นมีความดำริอย่างนี้. 
               หากโอภาสพึงเป็นตัวตน พึงควรที่จะถือเอาว่าเป็นตัวตน แต่โอภาสนี้มิใช่ตัวตน ยังถือกันว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเมื่อเห็นว่า โอภาสนี้มิใช่ตัวตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ จึงถอนทิฏฐิเสียได้. 
               หากว่า โอภาสพึงเป็นสภาพเที่ยง พึงควรเพื่อถือเอาว่าเป็นสภาพเที่ยง แต่โอภาสนี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ยังถือกันว่าเป็นสภาพเที่ยง เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มีย่อมถอนมานะเสีย. 

               หากว่า โอภาสพึงเป็นความสุข พึงควรถือเอาว่า เป็นความสุข แต่โอภาสนี้เป็นความทุกข์ ยังถือเอาว่าเป็นความสุข เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นความทุกข์ เพราะเกิดขึ้นสิ้นไปและบีบคั้น ย่อมถอนความพอใจ ดุจในโอภาส."

               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น. 

              อรรถกถาธรรมุทธัจจวารนิเทศ       
    ......................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...