07 สิงหาคม 2563

ทำอย่างไรเมื่อเกิดนิมิต – พระครูเกษมธรรมทัต

การทำสมาธิ ทำฌานได้อภิญญา ตาทิพย์ หูทิพย์ นี่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด แต่ว่ามันไม่สามารถตัดกิเลสได้พระพุทธศาสนามีคุณค่า ก็อยู่ตรงที่สอนให้เข้าถึงความดับทุกข์ได้ ให้เห็นความเป็นอนัตตา

นี่คือความพิเศษสุดของวิปัสสนาถ้าบุคคลใดไม่มาปฏิบัติในแนวทางของวิปัสสนาก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่ได้ ก็ยังคงมีตัว มีตน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ ไม่จบไม่สิ้น ด้วยว่ายังตัดกิเลสไม่ได้ การมีปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริงเช่นนี้แหละ

จะทำสามารถละกิเลส ตัณหา อุปาทานได้
นี่คือแนวทางของความหลุดพ้น

......................................................................

ทำอย่างไรเมื่อเกิดนิมิต – พระครูเกษมธรรมทัต

นะมัตถุ รัตตนะนะตะยัสสะ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่อไปนี้ก็จะได้ปรารภธรรมะเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ความที่ได้ทำการสอบอารมณ์ผู้มาเข้าอบรมซึ่งบางครั้งก็ยังไม่ค่อยเข้าใจการปฏิบัติ เนื่องจากเป็นผู้ใหม่ที่มีการได้ยินได้ฟังมาก็น้อยก็เป็นธรรมดาที่ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เพื่อจะได้จับหลักของการปฏิบัติได้ถูก
การปฏิบัติธรรมนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ ในสถานที่ปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งก็มีรูปแบบที่ต่างกันไป ถ้าเราไปปฏิบัติในสถานที่ของเขาแล้วเราไม่ทำตามรูปแบบของเขา เขาก็อาจจะไม่ให้เราอยู่ปฏิบัติในที่ของเขาหรือเข้ากรรมฐานร่วมกับเขาไม่ได้ แต่ที่วัดมเหยงคณ์นี้ไม่ได้จำกัดรูปแบบของการปฏิบัติอาตมาก็สอนเรื่อง สมถะ-วิปัสสนา เรื่อง บัญญัติ-ปรมัตถ์

การทำสมถะกรรมฐานก็มีหลากหลายวิธี บางคนก็มีการบริกรรมไปต่างๆกัน แต่ที่นี่จะมองกว้าง ยอมรับได้กับการปฏิบัติของบุคคลทั่วไปซึ่งแตกต่างกันตามแต่จริตของแต่ละคน เราก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถ้าผู้ปฏิบัติทำแบบนั้นๆแล้ว ทำให้จิตใจตนเองตั้งมั่นได้ ก็ถือว่าใช้ได้ในระดับเบื้องต้นของการฝึกสมาธิ เป็นเพียงแต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วต้องพัฒนาการปฏิบัติให้มาสู่แนวทางของการวิปัสสนาให้เป็นเบื้องต้นยังทำวิปัสสนาไม่เป็น เพ่งอยู่ บริกรรมอยู่กับอารมณ์ใดก็แล้วแต่ จิตใจตั้งมั่นอยู่ได้ก็เป็นการเจริญอยู่ในแนวทางของสมถกรรมฐาน ในระดับของการทำสมาธิ ก็อย่างที่บอกแล้วว่ามีหลากหลายวิธีการก็ให้ทำไป เพียงแต่ว่าไม่ให้หลงอารมณ์ ที่ต้องสอบอารมณ์ก็เพื่อป้องกันการปฏิบัติที่ออกนอกทางแล้วหลงอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางคนหลงอารมณ์แล้วก็ปฏิบัติผิดเพี้ยน โดยเฉพาะบุคคลที่ปฏิบัติสมถะแล้วมีนิมิตเกิดขึ้น เช่น เห็นภาพนิมิต แสงสีต่างๆ

เมื่อผู้ปฏิบัติมีสมาธิมากขึ้นก็อาจจะเกิด นิมิต ต่างๆ ได้บางคนก็เห็นภาพสถานที่ หรือบางคนก็เห็นภาพร่างกายของตนเองหรือบางคนก็ได้ยินเสียง เหล่านี้เกิดจากจิตของตนเองที่ปรุงขึ้นมาจากสัญญาในจิต นิมิตที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นนิมิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ได้ทั้งนั้น แล้วมาปรากฏทางมโนทวาร เช่น ภาพหรือแสงสีต่างๆ ที่มาปราฏทางใจซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเหมือนกับเห็นด้วยตาของเรา
จิตที่มีสมาธิยิ่งมากก็ยิ่งเห็นภาพที่วิจิตรงดงามตามความละเอียดของจิตใจ มโนภาพถ้าเป็นพระพุทธรูปก็จะเห็นเป็นพระพุทธรูปที่สวยงาม ความงามเหล่านี้ก็มาจากจิตนี่แหละ บุคคลบางกลุ่มมุ่งเข้าฌานจิต เขาก็เพ่งนิมิตเหล่านี้ บางคนก็มีนิมิตเป็นดวงแก้ว ดวงกลมๆ เขาก็เพ่งนิมิต ประคองนิมิตเหล่านี้ไว้ นึกให้ใหญ่ – เล็ก ใกล้ – ไกลก็ได้

บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดนิมิต แต่มันเกิดขึ้นมาเองแล้วก็เกิดความกลัวในนิมิตเหล่านี้ ให้เราเข้าใจในเรื่องของนิมิตแล้วก็ไม่ต้องกลัว ถ้าเราจะไม่ต้องการไปทางสมถะคือต้องการจะตัดนิมิตเหล่านี้ออกไปเพื่อเข้ามาสู่หนทางของวิปัสสนา ก็ทำได้โดยให้ระลึกมาที่จิตผู้รู้ คือ จิตที่เป็นผู้รู้นิมิต หรือเห็นนิมิตอยู่นั่นแหละ
การมีสติระลึกรู้มาที่จิตจะทำให้นิมิตต่างๆหายไป นี่ก็เป็นทางของวิปัสสนา เพราะว่าอาการของจิตนี่เป็นสภาวปรมัตถ์ การมีสติกลับมารู้จิตนี่แหละเป็นการตัดนิมิตออกไป หรือว่ารู้อาการในจิตเวลาที่เกิดนิมิต ปกติในขณะนั้นจิตจะมีความอิ่มเอิบเรียกว่า “ปีติ” จิตเกิดความสุขเห็นแสงสว่าง มีความสงบ มีความอิ่มเอิบใจ ถ้าสติระลึกรู้มาที่ความรู้สึกในจิตนี่นิมิตก็หลุดไปได้
ปีติที่เกิดจากสมาธิเหล่านี้เป็นปรมัตถธรรม (สภาพธรรมที่มีอยู่จริง) เมื่อจิตทิ้งนิมิตมาดูความสุข ความสงบ ความอิ่มเอิบในใจ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม จิตก็จะหลุดออกจากนิมิตมาได้ ด้วยว่าจิตรับรู้สิ่งต่างๆได้ทีละหนึ่ง แต่ถ้าจิตสนใจในนิมิต ยังอยากเห็นยังอยากดู คอยสนใจ มันก็จะกลับไปเห็นนิมิตใหม่ ถ้าดูมาที่จิตนิมิตก็จะหายไปอีก แต่ถ้าดูไม่ตรงจิต นิมิตก็จะไม่หายไป

จริงๆแล้วนิมิตก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในด้านการทำสมาธิ ถ้าผู้ปฏิบัติเพ่งนิมิตต่อ จิตก็จะมีสมาธิมาก แต่ว่ามันก็มีส่วนที่จะแทรกได้อีก คือเมื่อจิตเห็นภาพ เห็นแสงต่างๆ โอกาสที่จะเกิดนิมิตอื่นๆ แทรกก็จะมีได้ พอเห็นอย่างอื่นจิตก็ตามไปดูอีก ตามไปตามมาเห็นเป็นเรื่องอะไรต่างๆ แล้วผู้ปฏิบัติก็จะหลงเอาเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ถ้าเกิดหลงไปสำคัญมั่นหมายก็จะถูกนิมิตหลอกเอาได้ ผู้ปฏิบัติที่หลงอารมณ์จะเข้าทางวิปัสสนาไม่ถูก วิธีที่ดีก็คือควรจะละนิมิตที่เกิดขึ้นเสียตั้งแต่ต้น พอเห็นนิมิตก็ไม่เอาไม่สนใจ สนใจมาที่จิตมันก็จะหลุดไป บุคคลที่เคยสนใจแต่นิมิต เห็นนิมิตมานานก็อาจจะหลุดได้ยากกว่า เพราะจิตมันคุ้นเคย นอกจากต้องคอยฝึกให้จิตมารู้จิตก็จะหลุดออกมาได้ นี่คือสิ่งที่ควรระมัดระวังสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ไม่ให้ไปสนใจนิมิตจะดีกว่า ทั้งๆที่นิมิตนั้นบางทีก็มีความสุข ความสงบ แต่เกรงว่าผู้ปฏิบัติจะรักษาใจตนเองไม่ได้

จริงๆแล้วถ้านิมิตเป็นดวงแก้ว ดวงไฟกลมๆ ก็ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ถ้านิมิตเป็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ เกรงว่าจะเสี่ยงเพราว่ามีโอกาสที่จะหลงได้มาก จึงขอแนะนำให้ตัดนิมิตออกไปแล้วมาทางของวิปัสสนา เพื่อมุ่งสู่ความบริสุทธิ์ของจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่ประเสริฐกว่า
วิปัสสนานี่เป็นเรื่องปัญญา เป็นเรื่องที่มุ่งสละละกิเลสให้จิตสะอาดบริสุทธิ์ อันเป็นทางสู่ความดับทุกข์ ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายหรือต้องทุกช้ำๆ กับการเกิด จะไม่ดีกว่าหรือ ใจที่หมดทุกข์นี่คงจะไม่มีอะไรที่ดีกว่าแล้วเพราะปัญหาทั้งหลายก็รวมอยู่ในเรื่องของทุกข์นี่แหละ

แม้ว่าเราจะมีจิตสงบขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถที่จะตัดกิเลสได้ ฉะนั้น การหลุดจากนิมิตนี่ดีที่สุด แต่สำคัญว่าดูจิตไม่เป็นกำหนดจิตไม่ถูกจึงเป็นปัญหาที่ทำให้ตัดนิมิตไม่ได้ ก็ขอแนะนำว่าให้เอาบัญญัติ หรือคำบริกรรมสอนใจตนเองไปก่อน ให้ว่าในใจว่า “รู้ใจหนอๆๆ” ถ้ายังหาใจไม่เจอก็พูดในใจไปก่อน ว่าบ่อยๆเข้าจิตก็อาจหาจิตได้เจอ… รู้ที่รู้ หรือ รู้ที่ใจ นี่แหละ จนกว่านิมิตจะหายไปฉะนั้น การฝึกปฏิบัติก็ต้องฝึกรู้มาที่จิตด้วย คือเมื่อฝึกรู้ที่กายแล้วก้ให้ฝึกรู้มาที่จิตใจด้วย การเข้าสู่แนวทางของวิปัสสนาก็โดยการรู้ที่สภาวปรมัตถ์หรือความรู้สึกของกาย ของใจ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเพื่อที่จะได้ตรงทางของวิปัสสนา

ตามปกติแล้วจิตมักจะไปในแนวทางของสมถะ คือไปในเรื่องของบัญญัติหรือสมมติ ดังนั้นก็ขอให้เราฝึกฝนการปฏิบัติให้เข้ามารู้ปรมัตถ์ (ความรู้สึก) ทั้งๆที่สภาวปรมัตถ์ก็มีอยู่แล้วตลอดเวลา พูดง่ายๆ โดยย่อก็คือ กายไหว ใจรู้ ฝึกดูทั้งรู้ทั้งไหว ให้ฝึกมีสติรู้ที่กายที่ใจ ไม่ส่งจิตออกไปนอกกายนอกใจ ด้วยการไม่กด ไม่ข่ม ไม่เพ่งเล็งจดจ้องทะยานอยากด้วยตัณหา คือวางใจให้รู้สึกแต่ว่ารู้ ไม่ว่าอะไร ไม่เอาอะไร ปล่อยวาง วางเฉย ไม่ยินดียินร้ายอีกอย่างที่ควรทำความเข้าใจคือ การปฏิบัติในแนวทางของวิปัสสนาหรือการเจริญสตินี่เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่จำเพาะจะต้องเวลานั่งสมาธิหรือเดินจงกลม ไม่ต้องคอยว่าเมื่อนั่น เมื่อนี่ และไม่ต้องคอยว่าเมื่อไหร่จึงจะสงบ ไม่สงบเราก็ปฏิบัติได้ สติที่ระลึกรู้ความไม่สงบนี่แหละ ด้วยการฝึกดูไปปล่อยวางไป ฝึกดูฝึกปล่อยวางไปเรื่อยๆ จิตก็สงบขึ้นได้เองโดยที่เราไม่ต้องนั่งหลับตาหรือเดินจงกลมในรูปแบบ

นี่ให้เราเข้าใจแนวทางการปฏิบัติ เมื่อเราฝึกปฏิบัติไปมากๆเข้า เราก็จะเห็นความเกิดขึ้นความดับไปของสภาวธรรมต่างๆ ที่มีอยู่มากมายตลอดเวลา เห็นความหมดไป ดับไปของสภาวะ เห็นว่าสภาวะต่างๆ ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
ที่สุดแล้วต้องการให้ผู้ปฏิบัติเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา สักแต่ว่าเป็นเพียงธรรมชาติ นี่แหละหนทางของพุทธศาสนาคือวิปัสสนา แต่ถ้าเราติดอยู่แค่ทำสมาธิเพื่อความสงบ

ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เขาก็ทำกันได้อยู่แล้ว การทำสมาธิ ทำฌานได้อภิญญา ตาทิพย์ หูทิพย์ นี่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด แต่ว่ามันไม่สามารถตัดกิเลสได้พระพุทธศาสนามีคุณค่า ก็อยู่ตรงที่สอนให้เข้าถึงความดับทุกข์ได้ ให้เห็นความเป็นอนัตตา นี่คือความพิเศษสุดของวิปัสสนาถ้าบุคคลใดไม่มาปฏิบัติในแนวทางของวิปัสสนาก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่ได้ ก็ยังคงมีตัว มีตน ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ ไม่จบไม่สิ้น ด้วยว่ายังตัดกิเลสไม่ได้ การมีปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริงเช่นนี้แหละ จะทำสามารถละกิเลส ตัณหา อุปาทานได้ นี่คือแนวทางของความหลุดพ้น
เท่าที่แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอความผาสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ.

จากหนังสือ “บนวิถีแห่งธรรม”
เรื่อง “ทำอย่างไรเมื่อเกิดนิมิต”
โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

"การหาจิตให้เจอ"
โดยพระครูเกษมธรรมทัต
(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)

วิปัสสนา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงการเจริญสติ จึงต้องระลึกให้ตรงกับสภาวธรรมชาติ(จิต - เจตสิก - รูป = ปรมัตถธรรม) ที่เป็นจริง ให้บ่อยๆ เนืองๆ

ถ้าไม่ระลึกตรงต่อปรมัตถ์ ก็จะไปสู่บัญญัติ ไปรู้ที่บัญญัติอารมณ์อันเป็นสมมุติ เป็นของปลอม ไม่มีสภาวะ ไม่มีสภาพความเป็นจริงโดยแท้ไม่มีเกิดดับ
ไม่เป็นไตรลักษณ์

เห็นของจริงตามความเป็นจริง ทิ้งสมมุติ เพิกบัญญัติอยู่กับปรมัตถ์ล้วนๆ ให้มากๆ รู้จักปรับ รู้จักปล่อย รู้จักวางไม่ยึด ไม่ติด ไม่เอาอะไรทั้งหมด

ต้องเข้าใจว่า ปรมัตถ์ ไม่ใช่รูปร่าง ท่าทาง ทรวดทรง สัณฐานความหมาย ชื่อ ภาษา - ชื่อหรือภาษาที่จิตคิด นึกถึง จดจำเป็นภาษา-คำ-ประโยค เกิดเป็นอารมณ์ของจิตอันเป็นการอยู่กับ 'บัญญัติอารมณ์'

วิตก-ตรึก / วิจาร-นึก / สัญญา-จำ เคล้าไปในอารมณ์ ปรุงแต่งจิตให้แล่นไปสู่อารมณ์ที่เป็นสมมุติ ปรุงๆ จิตก็มีอารมณ์เป็นเรื่องเป็นราวเป็นสมมุติขึ้นมา (แต่ตัวความตรึก นึก ระลึกรู้ เองนั้นเป็นปรมัตถ์)

ถ้ามาระลึกรู้ที่ปรมัตถ์ เรื่องก็จะขาดลง ภาษา หลุดจากเรื่อง ชื่อความหมาย เรื่องขาดลง คำพูดหาย ภาษา ชื่อภาษา รูปร่าง มโนภาพหายไป ก็คือ เรื่องขาดลง เหมือนฉายหนัง เอาแสงผ่านฟิล์มภาพบนจอเปรียบเสมือนอารมณ์ เป็น สมมุติบัญญัติฟิล์มและแสงเป็นปรมัตถ์ เมื่อฟิล์มขาด ภาพบนจอก็หายไป

ถ้าสติมารู้ความคิด ก็คือ กลับมาสู่ปัจจุบันเรื่องอดีตและอนาคตก็จะหายไปการที่สติอยู่กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์จิตก็จะมีความสบาย เบา ผ่องใส เพราะกิเลสถูกขัดเกลาออกไปจิตใจจะปกติขึ้น แต่ถ้าเผลอไปสู่เรื่องอดีต อนาคตก็จะเกิดความยินดียินร้าย โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน ทุกข์ ฯลฯเพราะว่าขาด สติ ดูแลรักษา จิต

ดังนี้ ปัญญาก็จะเกิด

ทางกายก็เช่นกัน สติจะรู้อยู่แค่ที่กาย ไม่ขยายไปสู่รูปร่าง ทรวดทรงสัณฐาน มโนภาพ ของกาย - รู้แค่ความรู้สึก ความไหว ความสั่นสะเทือนความสบาย ความไม่สบาย (ถ้านึกท่าทาง ก็จะไปนึกตีความหมายขยายออกเป็นสมมุติ) เพราะฉะนั้น รู้กาย ก็คือ รู้แค่ความรู้สึกเท่านั้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง กระเพื่อม ล้วนมากระทบ แล้วก็ดับไปเวทนาก็เกิดดับ จิต (ตัวรู้) ก็เกิดดับ

จะต้องระลึกรู้สัมผัสสัมพันธ์ทั้งทางกายและใจ รู้ความไหวทางกายรู้ความไหวทางจิต รู้สัมพันธ์กันไปทั้งส่วนที่เป็นรูปและนามเข้าสู่ความเป็นปกติ ไร้จากการบังคับแม้แต่จิตส่งออกนอกก็ไม่ต้องดึงกลับ (เพราะถ้าดึงกลับก็คือยังไม่ปกติยังบังคับบัญชาอยู่) สติรู้ความคิด เดี๋ยวก็กลับมาเอง

สติเองก็ดับ ระลึกรู้แล้วก็จบ ดับ เพราะฉะนั้น สติต้องเกิดบ่อยๆ เนืองๆเมื่อฝึกมากๆ ขึ้น จะไม่มีการจัดแจง ไม่มีกฎระเบียบว่าจะต้องเอาอะไรไปตรงไหนก่อน แล้วแต่อะไรจะเกิดก็รู้ตรงนั้น เมื่อนั้นพร้อมที่จะรู้เสมอ

จิต มีลักษณะอย่างไรจิต คือ สภาพรู้ รู้อารมณ์นั้น อารมณ์นี้ สภาพดู...สภาพดู นี้เอง ที่จะต้องเข้าไปรู้ตัวของตัวเองจิตที่ปรุงแต่ง คิดนึก ก็รู้ (จิตที่มีเจตสิกปรุงแต่ง)อีกระดับที่รู้ได้ยาก คือ จิตของผุ้ที่ปฏิบัติ มีสติ สัมปชัญญะสงบสำรวม นิ่งอยู่ ไม่คิดอะไร แม้จิตเช่นนี้ ไม่ปรุงแต่งแต่ก็เป็นกระแสของสภาพรู้อยู่ เป็นสภาพรู้อยู่ต้องเข้าไประลึกรู้จักจิตในสภาพนี้ ขณะที่ทรงตัวอยู่ นิ่ง หยุดไม่คิดอะไร เฉยๆ นิ่งๆ แต่ก็เป็นสภาพที่เกิดดับสภาพรู้เกิดดับอยู่เรื่อย ก็จะเห็นตัวเองดับ

เมื่อจิตเข้าไปดูจิต เห็นจิตดับไปอย่างรวดเร็ว และก็ดับไปพร้อมๆ กันจิตเช่นนี้ต้องทวนกระแส หัดดูใกล้ๆ กระชั้น กระชับเข้ามาอย่าขยายออกไปข้างนอก

จิตจะรู้จิตได้ คือ ต้องทำให้มันหยุดอยู่ ไม่แล่นไป ไม่ค้นหาไม่ขวนขวายใดๆ อยู่กับที่ นิ่งๆ เฉยๆ จิตจะทวนเข้ามารู้ตัวเองดูสภาพรู้ (ตัวดู = ตัวรู้ = สภาพรู้ = ผู้รู้ = รู้อารมณ์อยู่)ถึงจิตจะอยู่นิ่ง ก็ยังรู้อยู่ ยิ่งจะไม่ดูก็จะยิ่งรู้ยิ่งจะดูก็จะไม่เห็น ยิ่งทำ ยิ่งค้นหา ก็ยิ่งไม่เห็นแต่ถ้าหยุดดู ก็จะรู้ขึ้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติมากๆ ขึ้น คือ หยุดดู หยุดค้นหาจิตจะรู้ตัวเอง เห็นอาการในตัวเอง เห็นความจริงของตัวเองดูผู้รู้ ดูความรู้สึก

ถ้าดูจิตไม่เป็น การปฏิบัติจะไม่ก้าวไปไหนอย่างดีก็มาติดที่ความว่าง กายนิ่ง เพราะเมื่อมีสมาธิ กายจะไม่ค่อยรู้สึกก็จะว่าง ไม่มีอะไรให้ดู ก็จะว่าง เป็นสมถะแต่ถ้าดูจิตเป็น ก็จะเห็นสภาพเกิดดับอยู่เรื่อยๆวิปัสสนาจะไม่ว่างเปล่า มีรูปนามป้อนให้เห็นเกิดดับอยู่ตลอดสติต้องอยู่กับรูปนามตลอดไป

ที่มา : http://www.larndham.org/

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...