23 สิงหาคม 2563

ปัญหาเครื่องรางของขลังและพระบรมสารีริกธาตุ#โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง


“ความมุ่งหมายในการใช้พระคล้องคอ โดยมากพวกเรามักจะเข้าใจผิดกัน ที่พระท่านทพระไว้ให้คล้องคอ ก็หมายถึงว่า บุคคลใดที่มีใจเคารพในพระพุทธเจ้า มีใจเคารพในพระธรรม มีใจเคารพในพระอริยสงฆ์ แต่ทว่ามีกำลังใจที่เข้าถึงพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ ยังอ่อนอยู่

ฉะนั้นจึงได้ทำรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ดี รูปเปรียบของพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ดี ที่เป็นที่เคารพนบถือห้อยคอไว้ ถ้าหากว่าเรานึกถึงพระท่านไม่ออก จะได้นำพระขึ้นมาดู รูปนี้เป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแนะนำให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามระบอบแห่งความดีที่เรียกกันว่า “พระธรรมวินัย”

นี่เป็นความจริง เป็นความมุ่งหมายของผู้ทำ ต้องการอย่างนี้ หมายความว่า คนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำใจอย่างพระ หรือมิฉะนั้นคนที่มีพระห้อยคอ ก็ควรจะทำตามที่พระแนะนำ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ว่าพวกเราก็กลับมาพลิกแพลงเสีย เอาพระไปตีกับชาวบ้านเขา ไปยุให้พระตีกัน

พระที่นำมาห้อยคอนี่ พระท่านทำขึ้นมา ก็ด้วยอาศัยอำนาจของพระพุทธานุภาพนะ อำนาจของพระพุทธานุภาพนี่ สามารถที่จะช่วยคนที่ไม่ถึงอายุขัย ให้พ้นจากอันตรายได้

ที่เรียกว่า “พระเครื่อง” อันนี้ใช้ได้ แต่ถ้าหากจะเรียก “เครื่องรางของขลัง” อันนี้ใช้ไม่ได้ พระทุกองค์ท่านทำมาไม่ใช่ของขลัง ท่านทำมาด้วยวิชาที่เขาเรียกว่า “พุทธศาสตร์” ไม่ใช่ “ไสยศาสตร์”

พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์มีค่าต่างกัน

พวก ของขลัง นี่เป็น ไสยศาสตร์ เขาทำมาเพื่อทำลาย
สำหรับ พุทธศาสตร์ เขาทำมาเพื่อการสงเคราะห์ เพื่อให้บุคคลที่มีพระประเภทนี้ไว้ ถ้ามีจิตใจเคารพในคุณพระรัตนตรัย ถ้าไม่ถึงอายุขัย ถ้าอันตรายของชีวิตถึงจะเกิดขึ้น ก็สามารถปลอดภัยจากอันตรายนั้นได้”

(ต่อไปนี้เป็นคำตอบปัญหาของหลวงพ่อในเรื่องนี้)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อคะ อ่านประวัติหลวงพ่อปานแล้วมีความรู้สึกว่า ถ้าเรามีวัตถุมงคลที่มีพลังสูง เช่น ยันต์เกราะเพชร ก็ดีนะคะ ตอนที่ลาวปล่อยของมาแล้ว ของอื่นแตกหมด แต่ยันต์เกราะเพชรนี้อยู่ ไม่เป็นไร ทำให้นึกอยากได้ของที่แจ๋วๆ อย่างนั้นค่ะ”

หลวงพ่อ :- “จะเอาเพชรสีอะไรล่ะ สีน้ำมันก๊าด? จะไปยากอะไร

ยันต์เกราะเพชร บทเสกกับบทเขียนก็มี พระพุทธคุณ คือ อิติปิ โส บทต้น แล้วก็ทุกวันต้องบูชาด้วย อิติปิ โส ๑ จบ

มีพระองค์ไหนก็เหมือนกัน หรือมีพระคล้องคอ เวลาสวด อิติปิ โส ก็นึกถึง บารมีของพระพุทธเจ้า ห้องที่สองนึกถึง บารมีพระธรรม ห้องที่สามนึกถึง บารมีพระอรหันต์ทั้งหลาย

พวกบูชายันต์เกราะเพชร ก็ต้องใช้บทนี้เป็นประจำ ถ้าไม่ใช้ประจำ ฉันก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มครองได้นะ”

ผู้ถาม :- “ก็แสดงว่ายังมีวัตถุมงคลที่มีพลังสูงจริง”

หลวงพ่อ :- “มันอยู่ที่เราด้วย ทำมาให้ดีแล้ว เราดีเท่าของหรือเปล่า ถ้าเรามีความเข้มแข็ง แล้วเราก็ดีเท่าของ อย่างเขาเอารถยนต์มาให้เรา เราใช้ไม่เป็น รถยนต์ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยใช่ไหม…เขาให้มาแล้ว เราก็ใช้ให้ถูกทางด้วย ก่อนที่จะใช้ก็ต้องหาน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเผาอะไรพวกนี้ใช่ไหม…

ก็เหมือนกัน เมื่อได้พระมาแล้ว นึกน้อมความดีของพระ นึกถึงความดีของพระ ไม่มีอะไรมาก อิติปิ โส บทเดียวพอ ทุกๆ วัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมานึกถึงบารมี นึกถึงพระที่เรามีอยู่”

ผู้ถาม :- “บางคนห้อยพระราคาเป็นแสนก็ตาย”

หลวงพ่อ :- “ถ้าถึงวาระก็ต้องตาย ความจริงที่ให้มีพระคล้องคอ ท่านมีความหมาย ให้ทำใจเป็นพระ ว่าเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนในหลักใหญ่ ๓ ประการ

๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าทำความชั่วทุกอย่าง
๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา จะสร้างแต่ความดี
๓. สะจิตตะปริโยทะปะนัง จงทำจิตให้ผ่องใสจากกิเลส

แล้วก็ลงท้ายว่า
เอตัง พุทธานะสาสะนัง เราขอยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ สอนอย่างนี้เหมือนกันหมด

นี่ท่านต้องการทำจิตให้เป็นพระ ไม่ใช่เอาพระไปตีกับชาวบ้าน บางทีพาพระไปขโมยเขาเสียอีก พระขโมยของตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป ศีลขาดหมดแล้ว พาพระไปกินเหล้าเป็นปาจิตตีย์ พาพระไปเล่นการพนัน พระก็ถูกสึก ไมไหว ใช่ไหมคุณ”

(และปัญหาข้อสุดท้ายเรื่อง พระบรมสารีริกธาตุ)

ผู้ถาม :- “หลวงพ่อครับ กระผมมี พระธาตุ อยู่องค์หนึ่ง เราจะมีวิธีดูยังไงครับ จึงจะรู้ว่าเป็นของพระองค์จริง…?”

หลวงพ่อ: “ฉันไม่ดูเลย ฉันคิดว่าจะบูชาอะไรก็ตาม ถ้าใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้าก็ใช้ได้หมด จะมัวไปนั่งติดธาตุอยู่ทำไม เราหาองค์ท่านไม่ดีรึ ใช่ไหม…เรามีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ แต่ไม่นึกถึงท่านเลย จะเกิดประโยชน์อะไร

ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้าเพียงใด นั่นผลจึงจะเกิด ถ้าเรามีอยู่ เราไม่เคารพ ก็ไม่มีความหมาย ดีไม่ดีจะเกิดเป็น การปรามาส เข้าอีก จะซวยใหญ่ ใช่ไหม…ว่าตรงไปตรงมานะ

แต่ว่าถ้าเรามีอยู่จริง เราเคารพจริง ก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ดี เอาอย่างนี้ดีกว่า จริงหรือไม่จริงเราก็ไหว้ เรานึกถึงพระพุทธเจ้าก็หมดเรื่อง ยังไงๆ ก็ถึงพระพุทธเจ้าแน่”

ผู้ถาม :- “ถ้าหากว่าบ้านมี ๒ ชั้น แล้วเอาพระพุทธรูปไว้ข้างล่าง ถ้ามีคนเดินผ่านชั้นบนจะเป็นไรไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราไม่ได้ตั้งใจปรามาส ก่อนขึ้นก็ไหว้ ขอขมาอภัยท่าน”

ผู้ถาม :- “แต่ถ้าหากเป็นพระธาตุนี่เอาไว้ชั้นล่าง ไม่ได้ใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ :- “มันก็ครือกัน แล้วแต่ถ้าหากว่าไม่มีความจำเป็นอะไร ก็เอาไว้ชั้นบนก็ดี ใจจะได้สบาย พระพุทธรูปก็เหมือนกัน แต่ถ้าจำเป็นกรณีพิเศษ เราเดินขึ้นไปโดยไม่มีใจปรามาสก็ไม่เป็นไรนะ”

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ หน้า ๑๑๑-๑๑๕
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม เล่ม ๑

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...