เจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำริจะให้ช่างทางบ้านช่างหล่อ (เดิมเรียกบ้านชาวเหนือ ด้วยเป็นที่อยู่อาศัยของพวกชาวเหนือ ซึ่งเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง) (อมร- ปู่ของสมเด็จโต พระยากำแพงเพชร-นุช ก็เป็นก๊กวังหลัง พ่อของสมเด็จโต พระยาฤทธฺิเดชหรือนายผล ก็มารับราชการอยู่กทม.) ทำแม่พิมพ์ ภายหลังบรรดาผู้ที่เคารพนับถือและพวกสานุศิษย์ที่สามารถทำแม่พิมพ์ได้ ได้ทำถวาย (เพราะเหตุนี้ พระสมเด็จจึงมีรูปลักษณะหลายอย่างต่างชนิดกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) และว่าในตอนแรกใช้หินมีดโกนแกะเป็นแม่พิมพ์ ต่อมาจึงใช้หินอ่อนบ้าง ไม้แก่นบ้าง (เจ้าคุณพระราชธรรมภาณี-ลมูล เจ้าอาวาส วัดระฆังฯ ว่า
คราวหนึ่งเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ได้เล่าให้คนคุ้นเคย ๒-๓คนฟัง ว่าแม่พิมพ์พระสมเด็จได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ ๑ ที่ในวัดระฆังฯ ต่อมาสัก ๓-๔วัน พระเจดีย์องค์นั้นได้ถูกทำลายพังหมด) ส่วนวัตถุที่ใช้สร้างนั้น ว่าใช้วัตถุหลายอย่างต่างกัน คือผงดินสอ (ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์ ตามวิธีโบราณ) ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ เปลือกกล้วยหอม เปลือกกล้วยน้ำ ชานหมาก ใบลานเผา อาหารสำรวม (ตามปรกติเจ้าประคุณสมเด็จฯมักฉันอาหารสำรวม คือในเวลาฉันเช้า
ท่านจะหยิบอาหารคาวหวานทุกชนิดใส่ลงในบาตรคลุกเคล้ากับข้าวสุก แล้วแบ่งออกเป็น ๓ส่วน
ส่วน ๑ให้บุชาพระพุธรูป ณ ที่บูชา-เรียกกันว่าถวายข้าวพระ
ส่วน ๑ให้ทานสัตว์
อีกส่วน ๑ท่านฉัน
ครั้นเวลาเที่ยงแล้วให้เอาอาหารที่บูชาพระพุทธรูปนั้นไปตากแดด เก็บรวบรวมไว้สร้างพระสมเด็จต่อไป กล่าวว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านทำดังนี้เสมอเป็นอาจิณวัตร เว้นแต่ไปฉันในกิจนิมนต์
เจ้าคุณพระราชธรรมภาณี (ลมูล สุตาคโม) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ว่าได้รับคำบอกเล่าจากนางเปลื้อง พุธจำเนียร (คนทำครัวของพระธรรมถาวร บ้านเลขที่ ๗๑๔ หลังวัดระฆังฯ ธนบุรี อายุ ๗๐ปี ในพ.ศ.๒๔๙๕) ซึ่งอ้างว่าเจ้าคุณพระธรรมถาวรเล่าให้ฟังว่า
ลักษณะการสร้างพระสมเด็จนั้น ในตอนแรกเจ้าประคุณสมเด็จฯ ฉันกล้วยแล้วเอาเปลือกใส่ภาชนะเก็บไว้ ท่านมีดินสอเหลืองใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง จึงให้นายน้อยผู้เป็นง่อย ซึ่งอยู่กับท่าน เอาเลื่อยๆดินสอเหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ประสมกับเปลือกกล้วยนั้น เจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยเคี่ยวบ้าง ตำจนละเอียดเข้ากันดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับเจ้าคุณพระธรรมถาวร ซึ่งเวลานั้นเป็นพระสมุห์ถานุกรมของท่าน ช่วยกันพิมพ์พระด้วยแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ เสร็จแล้วให้เก็บเข้าไว้ในกุฏิชั้นใน แล้วให้ทำโดยวิธีนั้นต่อไปอีก จนพอแก่ความต้องการ ท่านได้ทำพิธีปลุกเสกวันละ ๓ครั้ง คือเวลาเช้า กลางวันและเย็น เป็นนิจ มิได้ขาด แล้วเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ต้องการทุกคน
ต่อมาได้ทำโดยวิธีนั้นอีก แต่วิธีพิมพ์แปลกออกไป คือเมื่อประสมผงได้ที่แล้ว ให้เอาออกมาปั้น แล้วคลึงให้เป็นท่อนยาวคล้ายฟั่นเทียน แล้วตัดเป็นข้อๆ ผ่ากลางเอากดในแม่พิมพ์ เมื่อแกะออกมาจากแม่พิมพ์แล้ว ท่านเอามีดเจียนหัวและท้ายกับข้างๆให้มนเข้า แล้วทำพิธีปลุกเสกเช่นเคย ว่าท่านเอาไปแจกชาววังเมื่อเวลาไปบิณฑบาตเสมอ ท่านทำดังนี้ จนหมดดินสอเหลือง
ต่อมาท่านใช้ ดินสอขาว ที่ทำเป็นแท่งแล้ว ลงอักขระลบเอาผงเก็บประสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงให้ไปแกะกะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆตามกำแพงโบสถ์บ้าง สีมาบ้าง ซึ่งมีตะไคร่น้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก แล้วเอามาตำประสมกับดินสอขาวที่ท่านทำไว้ แล้วจึงพิมพ์ ทีนี้พิมพ์เป็นรูป ๔เหลี่ยมผืนผ้า เป็นพระชนิดพระประธานชนิดทรงเจดีย์ และชนิดอื่นๆ
จึงได้ความว่า พระสมเด็จบางองค์เนื้อเหลือง ก็เพราะท่านประสมดินสอเหลืองนั่นเอง
บางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย เมื่อหักออกดู จะเห็นผงดำๆติดอยู่ประปราย จึงให้ได้ความสันนิษฐานว่า ที่เนื้อติดจะเขียวเล็กน้อยนั้น ก็เพราะกะเทาะปูนขาวที่เอามาตำนั้น
เมื่อส่วนประสมที่เจือด้วยของเหลว ตะไคร่น้ำก็คลายความดำของมันออกประสมกับผงที่ประสมนั้นๆ ที่เนื้อมีผงดำติดอยู่ประปราย ก็เพราะตะไคร่น้ำนั้น ไม่ได้ถูกย่อยจนละเอียดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
ในตอนหลัง เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างและปลุกเสกพระสมเด็จเสร็จแล้ว ท่านให้ใส่บาตร กระบุงและสัด ไปตั้งไว้ที่ในหอสวดมนต์ ตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปไปวงที่พระสมเด็จนั้น บอกกับพระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ในพรรษา ว่าขอให้ช่วยปลุกพระของท่านด้วย นัยว่าที่เจ้าประคุณสมเด็จฯทำดังนั้น ด้วยประสงค์จะแสดงให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายโดยปริยายหนึ่ง ว่าพระของท่านได้ทำพิธีปลุกเสกแล้ว ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี ท่านก็ให้รวบรวมพระสมเด็จของท่านเอาไว้สร้างและปลุกเสกไปตามวาระโอกาศพอแม่พิมพ์ชำรุดท่านก็ให้ช่างแก้ไขเอาใหม่ไม่ก็แกะแม่พิมพ์กันใหม่แต่ยึดรูปแบบเดิมเอาไว้แต่ไม่ได้กะเกณฑ์เรื่องขนาดต้องเท่านั้นเท่านี้พระสมเด็จในยุคต่างๆจึงมีขนาดไม่เท่ากันจะมีขนาดไล่เรียงกันไปแต่ไม่ใหญ่จนเกินไปเพราะจะเปลืองมวลสาร
พระอาทรภัทรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันทน์) บันทึกจากการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ได้ความว่า " แต่เดิมนั้น ชาวบ้านต่างก็แกะแม่พิมพ์ของตนมา ตามลักษณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯกำหนดให้ และมาช่วยกันกดพิมพ์พระ ต่อหน้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในครั้งนั้นมีเจ้าวังหลังพระองค์หนึ่ง ซึ่งจำพระนามไม่ได้เสียแล้ว อยู่ในกรมช่างสิบหมู่ ได้ทรงแก้ไขแบบพิมพ์ให้งดงามขึ้น"
นายกนก สัชชุกร บันทึกความที่ได้จากการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ไว้ว่า "ครั้งแรกใครจะเป็นผู้แกะพิมพ์ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯไม่ทราบแน่ แต่เป็นแม่พิมพ์ที่ไม่สู้งดงามนัก และในระหว่างที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯหมกหมุ่นในการแก้ปัญหาเรื่องความร้าวหักของพระ เมื่อตากแห้งแล้วนี้เอง หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงในราชสำนักร.๔ ได้มาเยี่ยมและได้ขอพิจารณาแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จมาแต่เดิม ได้กราบเรียนว่า แม่พิมพ์เหล่านี้ยังไม่งดงาม สำหรับการที่จะใช้สร้างพระเครื่องที่สำคัญเช่นนี้ เพราะขาดคุณค่าทางศิลป์เป็นอันมาก แล้วจึงได้แกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ๒-๓ แบบ ซึ่งงดงามกว่าเก่ามาก และเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ใช้แม่พิมพ์ใหม่ๆนี้ พิมพ์พระสมเด็จตลอดมา แบบแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯมีประมาณ ๕ แบบด้วยกัน คือ แบบ ๓ ชั้น แบบ ๕ ชั้น แบบ ๖ ชั้น แบบ ๗ ชั้น และแบบปรกโพธิ์"
พระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ วัดระฆังฯ ศิษย์ พระธรรมถาวร กล่าวตามคำบอกเล่าของ พระธรรมถาวร ว่า " ครั้งแรกนั้น นายเทด หลานชายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ บ้านอยู่ถนนดินสอ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์แบบทรงสี่เหลี่ยม ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นคนแรก นอกจากนี้คงมีพวกชาวบ้านช่างหล่อมาช่วยแกะพิมพ์ถวายอีก เพราะเคยได้ยินเจ้าพระคุณสมเด็จฯปรารถว่า จะให้พวกชาวบ้านช่างหล่อแกะแม่พิมพ์ถวาย เพราะเป็นพวกที่มีฝีมือในการหล่อพระพุทธรูป นอกจากแบบกรอบสี่เหลี่ยมพิมพ์ต่างๆ ซึ่งได้สร้างในระยะหลังแล้ว ในสมัยเริ่มแรกของการสร้างพระสมเด็จฯนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯยังไม่ได้ดำริว่าจะสร้างพระขึ้นเป็นแบบอย่างของท่านโดยเฉพาะ
พระอาจารย์ขวัญ กล่าวจากการที่ได้ทราบและได้เห็นพระจากพระธรรมถาวรว่า "พระสมเด็จฯมีอยู่มากมายหลายแบบพิมพ์ ถ้าจะกล่าวเฉพาะชนิดพิมพ์สี่เหลี่ยม ก็มากพิมพ์ เช่น พิมพ์ทรงพระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ (พิมพ์ทรงไกเซอร์) พิมพ์ทรงสังฆาฏิ พิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่ สำหรับของวัดไชโย ก็มีพิมพ์ทรง ๕ ชั้น พิมพ์ทรง ๖ ชั้น พิมพ์ทรง ๗ ชั้น (หูบายศรี) และรวมทั้งพิมพ์ทรง ๗ ชั้น (หูธรรมดา) รุ่นแรกของวัดระฆังฯที่เอาไปบรรจุไว้ที่กรุวัดไชโยด้วย
หลวงศรีสารบาญ กล่าวว่า ได้รับทราบจาก หลวงศุภศิลป์ พระนัดดาของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ อธิบดีกรมช้าง วังหน้า ในสมัยร. ๕ ต่อมาเป็น สมเด็จฯกรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งทรงดำรัสให้ฟังว่า "เสด็จปู่ของท่าน เป็นผู้หนึ่งที่ทรงออกแบบ พิมพ์พระสมเด็จฯ"
จากตรียัมปวายได้เขียนไว้ว่า พระอาจารย์หิน วัดระฆังฯ กล่าวว่า พระครูธรรมราช (เที่ยง) วัดระฆังฯ ซึ่งมีชีวิตอยู่ทันสมเด็จโตและเป็นศิษย์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พระครูธรรมราช (เที่ยง)มีอายุแก่กว่าพระธรรมถาวร ได้เล่าให้ฟังว่า "การเล่าเรียนผงวิเศษ ๕ ประการ คือ ผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และ ผงตรีนิสิงเห ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้น ท่านได้เล่าเรียนมาจาก พระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ชาวจังหวัดลพบุรี แต่เป็นการเรียนที่จังหวัดอยุธยา จำชื่อวัดไม่ได้เสียแล้ว
และพระอาจารย์แสงองค์นี้ เป็นอาจารย์ดั้งเดิมองค์หนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือตั้งแต่สมัยที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯยังเป็นสามเณร แต่ไม่ปรากฎแน่ชัดว่า ท่านได้เริ่มเรียนผงวิเศษ ๕ นี้ตั้งแต่เมื่อปีใด และจะเรียนจากพระอาจารย์แสงที่อยุธยาแห่งเดียวหรือจากสำนักอื่นๆด้วย แต่จำได้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้อุบายหนีการแต่งตั้งในสมัยร. ๓ โดยมาอยู่กับ พระอาจารย์แสง ที่อยุธยาครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นท่านยังได้สร้าง พระหลวงพ่อโต ที่อยุธยา ต่อจากนั้นก็ยังได้มาสร้างที่วัดระฆังฯอีก ก่อนที่ท่านจะได้สร้างพระสมเด็จ"
พระอาจารย์หิน กล่าวตามที่ทราบจาก พระธรรมถาวร ว่า " บรรดาผู้ที่ช่วยบดผงและพิมพ์พระสมเด็จฯนั้น นอกจากพระธรรมถาวร ศิษย์ผู้ใกล้ชิดยิ่งกว่าผู้อื่นแล้ว ก็ยังมี หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ทัด สมัยที่ยังทรงเป็น หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ พระธรรมธานาจารย์ แนบ พระธรรมานุกูล ภู พระครูเปี่ยม นอกจากนั้น ก็มีพระภิกษุสามเณรในวัดระฆังฯและเจ้าอาวาสในเขตแขวงที่ขึ้นกับเจ้าพระคุณฯแทบทุกวัด ผลัดกันมาช่วย รวมทั้งชาวบ้านและผู้ที่เคารพเลื่อมใสท่านืตลอดจนชาวจีนในสำเพ็ง"
พระอาทรภัทรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันทน์) ได้เป็นผู้หนึ่งที่ได้สัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ที่วัดระฆังฯ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๗ และพระธรรมถาวรได้เล่าให้ฟังถึง เรื่องผงวิเศษ ๕ ประการของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นความตอนหนึ่งว่า " การสร้างพระสมเด็จฯนั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไรเลย เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ใช้ ผงวิเศษ ๕ ประการ ซึ่งท่านได้เล่าเรียนมาแต่ครั้งยังเป็นสามเณร และเก็บรวบรวมไว้ ได้ประมาณ ๗ บาตร และน้ำมันจันทน์ ซึ่งปลุกเสกเอาไว้ รวมทั้งข้าวสุก ที่ได้จากบิณฑบาตและของอี่นๆ
นายกนก สัชชุกร ได้บันทึกตามคำกล่าวของพระธรรมถาวรว่า " เนื้อที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯนั้นแต่เดิมใช้ ผงวิเศษ ๕ ประการ ผงเกสรดอกไม้ ปูนขาว และข้าวสุก เท่านั้น ซึ่งเมื่อถอดพิมพ์และตากแห้งแล้ว ปรากฎว่า เนื้อพระมักจะร้าวและแตกหักเสียเป็นส่วนมาก เพราะความเปราะ ต่อมาเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ทดลองใช้ กล้วยหอมจันทน์ และ กล้วยน้ำ ทั้งเนื้อและเปลือกผสมโขลกลงไปด้วย เมื่อเนื้อพระแห้งแล้ว มีสีเหลืองนวลฯขึ้น
และการแตกร้าวลดน้อยลง แต่ก็ยังไม่ได้ผลทีเดียวนัก ในระหว่างที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯหมกมุ่นในการแก้ปัญหาเรื่องการแตกร้าวของเนื้อพระ เมื่อตากแห้งแล้วนี้เอง หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่าทองในราชสำนักร.๔ได้มาเยี่ยมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านจึงหารือขอความเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ หลวงวิจารณ์จึงได้แนะนำท่าน ให้ทดลองใช้นำ้มันตังอิว ผสมลงไปในเนื้อด้วย คุณภาพของนำ้มันจะช่วยประสานเนื้อได้ดี เมื่อเนื้อพระแห้งแล้ว อาจจะไม่แตกชำรุดอีก เจ้าพระคุณสมเด็จฯจึงได้ทดลองตามคำแนะนำนั้น และได้ผลเป็นที่พอใจ เนื้อพระที่ผสมด้วยน้ำมันตังอิว เมื่อตากแห้งแล้วไม่ปรากฎว่าปริหักเช่นแต่ก่อน ฉะนั้น การสร้างพระต่อๆมาอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้น้ำมันตังอิวผสมด้วยตลอดมา"
หลวงศรีสารบาญ กล่าวว่า ได้รับทราบจากหลวงศุภศิลป์ พระนัดดาของเจ้าฟ้าอิศราพงษ์ อธิบดีกรมช้างวังหน้า ในสมัยร. ๕ (ต่อมาเป็น สมเด็จฯกรมพระบำราบปรปักษ์) ซึ่งทรงดำรัสให้ฟังว่า "มวลสารที่ใช้เป็นเนื้อวัสดุ ในการสร้างพระสมเด็จฯนั้น ส่วนใหญ่เป็นปูนขาว นอกจากนั้นได้ ข้าวสุกและกล้วย ส่วนน้ำมันตังอิว นั้นใช้ผสมเนื้อให้ทนทาน ไม่แตกร้าว นอกจากนั้นก็เป็นเพียงส่วนประกอบ การโขลกเนื้อสำหรับผสม และการกดพิมพ์นั้น กระทำต่อหน้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนท่านฉันเพล ชาวบ้านที่ปรารถนาในการสร้างกุศล ต่างก็มาช่วยท่านโขลกเนื้อ ซึ่งใช้ครกหินขนาดเขื่องหลายครก เจ้าพระคุณสมเด็จฯจะหยิบผงวิเศษในบาตรของท่าน โรยลงไปในครกใบหนึ่ง ภายในครกใบนั้นมีมวลสารวัสดุต่างๆอยู่แล้ว คนที่ประจำครกใบนั้น ก็จะตั้งหน้าโขลกอยู่พักหนึ่ง พอให้ผงวิเศษกับมวลสารต่างๆเข้ากันสนิทดีแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็จะควักเอาขึ้นมาแบ่งเป็นส่วนๆเท่าๆกัน แล้วเอาไปหยอดลงในครกใบอื่นๆ ซึ่งมีมวลสารวัสดุต่างๆอยู่แล้วเช่นกัน แล้วคนโขลกก็จะโขลกจนเนื้อเข้ากันดี จึงควักเอาออกมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วกดประทับกับแม่พิมพ์"
พระเทพญาณเวทีหรือพระราชธรรมภาณี (ลมูล สุตาคโม) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ เล่าว่า พระธรรมถาวร เคยกล่าวกับท่านว่า "ครั้งแรกทีเดียวนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สร้างพระสมเด็จแบบหลังเบี้ยขึ้นก่อนเป็นปฐม ต่อมาจึงเป็นแบบกรอบสี่เหลี่ยม เนื้อผง เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้นท่านดัดแปลงสร้างเป็น เนื้อดินเผา กรอบสี่เหลี่ยม แล้วเอาไปถวายเจ้านายในวังต่างๆและบรรดาพระราชวงศ์ ได้แนะนำท่านว่า พระเหล่านั้นทั้งแบบและเนื้อไม่งดงาม สู้เนื้อผงแบบกรอบสี่เหลี่ยมไม่ได้ ดังนั้น ต่อมาท่านจึงไม่สร้างแบบสี่เหลี่ยมเนื้อดินเผาอีก นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างแบบสี่เหลี่ยม เนื้อตะกั่วถ้ำชา อีก แต่ชาวบ้านไม่นิยมเหมือนเนื้อผง จึงเป็นเหตุให้ท่านเลิกสร้างพระเนื้อแปลกทั้งสองชนิดนี้อีกต่อไป"
พระธรรมธร กัน กันทโม เจ้าอาวาสวัดหอมทอง ราษฎร์บำรุง ตำบลบางบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ปัจุบันอายุ ๘๐ ปี ในพ.ศ. ๒๕๐๘ พรรษา ๓๗ พรรษา ได้เล่าให้นายผวน จ้อยชรัด ฟัง ถึงเรื่องโยมผู้ชายของท่านชื่อนายทิม ดาวเรือง ว่าได้บวชเป็นพระอยู่ในวัดระฆังฯ ในสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เรื่องส่วนผสมของเนื้อพระสมเด็จฯนั้นว่า " เมื่อโยมบวชอยู่วัดระฆังฯได้อยู่ที่กุฏิหลวงปู่พลาย ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับกุฏิเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โยมจึงถูกท่านเรียกให้ไปช่วยตำผงสร้างพระสมเด็จฯ ผงที่ตำเป็นใบลานเผา แต่เจือปนด้วยผงขาวบ้าง และสิ่งที่เหลือฉัน และผลไม้ต่างๆบรรดาที่ชาวบ้านเขาถวายมาในการบิณฑบาตบ้าง นอกจากนั้นก็มีชานหมาก"
นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯยังขยันจารหนังสือ หนังสือที่ท่านจารคืออักขระเลขยันต์ทางพุทธาคม พอมากๆเข้า ท่านก็หอบเอาใบลานที่จารเหล่านั้นมากองสุมไฟเสียคราวหนึ่ง แล้วเก็บเอา ขี้เถ้าใบลานเผา นั้นไว้ ในตอนนั้นใครๆเขาพากันว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯบ้าเสียแล้ว แต่ท่านเก็บผงใบลานเผานั้นไว้บดผสมกับสิ่งอื่นๆสร้างเป็น พระสมเด็จฯดำ ขึ้น และเจือผสมเนื้อขาวสร้าง พระสมเด็จฯเนื้อขาว ขึ้นมากมาย
แต่สมัยนั้นไม่ใคร่มีใครสนใจพระสมเด็จฯกันนัก เด็กที่มาช่วยตำผง ท่านก็แจกให้คนละองค์ พรัอมกับบอกว่า "เอ้า อ้ายหนู เอาพระไว้กันหมามันกัด" และโยมทิมก็ได้รับแจก ในคราวช่วยท่านตำผงมาองค์หนึ่งเป็น สมเด็จฯเนื้อผงใบลานเผา สีดำ และได้เก็บไว้จนโยมมีครอบครัว และได้ให้บุตรชายคนหัวปี คือ พี่ชายของอาตมาต่อไป พระสมเด็จฯเนื้อผงใบลานเผาสีดำ ที่ท่านสร้างขึ้นนั้น โยมเล่าว่า พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์หินมีดโกน พิมพ์ได้ครั้งละองค์ พิมพ์แล้วท่านก็ตากไว้ในกระด้ง พอแห้งดีแล้วท่านก็เก็บใส่ย่ามละว้าใหญ่ของท่าน แล้วเอาไว้แจกชาวบ้าน และที่เหลือไม่ทราบว่าท่านเอาไปไว้ที่ไหนหมด
ที่มา ตำนาน แห่งพระสมเด็จ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น