30 สิงหาคม 2563

: การเทียบบารมี :โดยพระราชพรหมยาน

: การเทียบบารมี :
โดยพระราชพรหมยาน
(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
การเทียบบารมี บารมีเขาจัดเป็น ๓ ชั้น 

๑.บารมีต้น ท่านเรียก บารมีเฉยๆ
       
๒.บารมีตอนกลางท่านเรียกอุปบารมี

๓.บารมีสูงสุดท่านเรียก ปรมัตถบารมี

   
.....ถ้าคนที่มีบารมีต้นในขั้นเต็ม ท่านผู้นี่จะเก่งเฉพาะ ทาน กับ ศีล เขาจะทำสะดวกเฉพาะ การให้ทานกับการรักษาศีล แต่การรักษาศีลของบารมีขั้นต้นจะไม่ถึงศีล ๘ อย่างเก่งก็มีกันแค่ศีล ๕ ท่านผู้นี้จะไม่พร้อมในการเจริญพระกรรมฐาน 

.....ถ้าชวนในการเจริญสมาธิทำกรรมฐาน ท่านบอกทำไม่ได้ กำลังใจไม่พอ หรือจะพูดให้ดีอีกนิดท่านบอกว่าไม่ว่างพอ 
เวลาไม่มี นี่สำหรับคนที่มีบุญบารมีขั้นต้นจะอยู่กันแค่นี้

     
.....ถ้ามีบารมีเป็นอุปบารมี เขาเรียกว่าบารมีขั้นกลาง อุปบารมีนี่พร้อมที่จะทรงฌานโลกีย์ บารมีนี้พร้อมเรื่องฌานโลกีย์นี่ทรงได้แน่ ท่านพวกนี้จะพอใจในการเจริญพระกรรมฐานแล้วก็พอใจในการทรงฌาน   แต่ว่าถ้าจะชวนในขั้นบุกบั่นในวิปัสสนาญาณ ท่านบอกว่าไม่ไหว 

.....โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิ วิปัสสนาญาณ อาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่เข้มแข็งนัก เพราะว่าสมถะกับวิปัสสนานี่แยกกันไม่ได้ ต้องอยู่คู่กัน แต่กำลังด้านวิปัสสนาญาณจะต่ำ  จะเข้มแข็งเฉพาะ
สมถภาวนา  แล้วท่านพวกนี้ถึงแม้จะพอใจในการเจริญกรรมฐาน ถ้าเราบอกว่าหวังนิพพานกันเถอะ   ท่านพวกนี้บอกว่าไม่ไหว กำลังใจไม่พอ จะชวนไปนิพพานขนาดไหนก็ตาม เขาไม่พร้อมจะไป และก็ไม่พร้อมจะยินดีเรื่องพระนิพพาน พร้อมอยู่แค่ฌานสมาบัติ อันนี้เป็นอุปบารมีนะ

.....ถ้าเป็นปรมัตถบารมี เราจะเห็นว่าอันดับแรกอาจจะยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนิพพาน พอสัมผัสวิปัสสนาญาณขั้นเล็กน้อยพอสมควร อาศัยบารมีเก่าเพิ่มพูนขึ้นมา  ก็มีความต้องการเรื่องพระนิพพาน พวกที่มีจิตหวังนิพพานนี่จะไปชาตินี้ได้หรือไม่ได้ 
ไม่สำคัญ เพราะการหวังนิพพานกันจริงๆต้องหวังกันหลายชาติจนกว่าบารมีที่เป็นปรมัตถบารมีจะสมบูรณ์แบบ คือต้องหวังหลายๆชาติ ถ้าจิตหวังพระนิพพานจริงๆพวกนี้มีหวัง ที่เรียกว่ามีบารมีเป็นปรมัตถบารมี

.....ฉะนั้นคนที่จะมีบารมีเข้าถึงปรมัตถบารมีก็ดี อุปบารมีก็ดี ท่านพวกนี้จะต้องผ่านความเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหมกันมามาก เพราะว่าบารมีขั้นต้นก็สามารถเป็นเทวดาเป็นนางฟ้าได้ แต่เป็นพรหมไม่ได้ เพราะบารมีขั้นต้นนี่จะไม่มีฌานโลกีย์ พรหมนี่จะทำบุญแบบไหนก็ตาม ถ้าไม่มีฌานโลกีย์ จะไม่สามารถเป็นพรหมได้   สำหรับอุปบารมีนี่เขาพร้อมในการทรงฌาน  แต่เวลาตายไม่ได้เข้าฌานตาย ก็ไปเป็นพรหมไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเวลาจะตายเข้าฌานตายก็ไปเป็นพรหมได้ เขาพร้อมแล้ว

   
.....สำหรับท่านที่มีบารมีเป็นปรมัตถบารมี บางทีจะเห็นว่าเรายังบกพร่องในความดีอยู่มาก ศีลก็บกพร่อง สมาธิก็ไม่ทรงตัว ปัญญาก็ไม่แน่นอนนัก ไอ้อย่างนี้มันก็ไม่แน่นอน เพราะคนที่จะไปนิพพานจริงๆ  มันอยู่แค่หัวเลี้ยวหัวต่อ  อาศัยความเคยชิน อาศัยการฝึกไปบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง ทำผิดบ้าง ทำถูกบ้าง 

.....แต่ว่าอารมณ์ชินของอารมณ์ดีอยู่อย่างหนึ่ง นั้นคือไม่ต้องการเกิด มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าการเกิดขึ้นมามันเต็มไปด้วยความทุกข์   ความเกิดอย่างนี้จะไม่มีกับเราอีก  เราจะมีความเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย วันหนึ่งถ้าคิดอย่างนี้สัก ๒ นาที คิดทุกวัน อารมณ์นี้มันจะชิน ความว่าชินคือฌานฌานก็คือชิน

       
.....ในเมื่ออารมณ์ความคิดจนชินเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่มากนัก เห็นทุกข์วันละ ๒-๓ นาที  นอกจากนั้นก็เผลอเห็นสุข  หรือเมื่อมีการงานเข้ามาคั่น เขาไม่ได้นึกถึงตัวทุกข์ ก็จะหาว่าเขาเลวไม่ได้ 
ต่อเมื่อเวลาที่ใกล้จะตายขึ้นมาจริงๆ มันป่วยไข้ไม่สบาย การป่วยไข้ไม่สบายมันบังคับจิตให้เห็นว่าร่างการมันเป็นทุกข์ ว่าคนป่วยไม่มีส่วนไหนของร่างการเป็นสุข แม้แต่ลมก็มีการขัดข้องอยู่เสมอ 

.....ก็เห็นว่าการเกิดมันไม่ดีแบบนี้  ร่างกายก็ป่วย  อารมณ์ก็ขัดข้อง อาศัยที่จิตคิดจนชินว่า ร่างกายเกิดเป็นของไม่ดี เป็นทุกข์อย่างนี้เราไม่ต้องการมัน อารมณ์นี้ก็จะเกิด ถ้าเป็นฆราวาสอารมณ์นี้จะหนักแน่นในวันนั้นแล้วก็ตายวันนั้น มันอาจจะมาตอนก่อนๆ มันอาจจะอ่อนไปหน่อย

.....ถ้าจิตคิดจริงๆ ว่าการเกิดเป็นของไม่ดี    มันเป็นทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการมันอีก  จิตวางเฉย เข้าขั้น สังขารุเปกขาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย   สังขารุเปกขาญาณนี่ญาติโยมฟังแล้วเข้าใจด้วยนะ สังขารุเปกขาญาณ หมายความว่าวางเฉยในร่างกาย ร่างกายคนอื่นไม่สำคัญ สำคัญร่างกายเรา 

.....เรามีความรู้สึกว่าร่างกายเรานี่มันไม่ดีจริงๆ เวลานี้เราปวดที่โน่นบ้าง เสียดที่นี่บ้าง ขัดที่โน่นบ้าง ยอกที่นี่บ้าง มันมีความหิวโหยบ้าง หมดแรงบ้าง จิตใจเพลียไปบ้าง   สรุปแล้วร่างกายทั้งร่างกายไม่มีอะไรดี 

.....ถ้าความรู้สึกว่าร่างกายไม่ดีเกิดขึ้นในวันนั้น แล้วความจริงใจก็เกิดขึ้นว่า  เราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก  จิตก็จะเข้าถึงการวางเฉย ไม่ต้องการอีก มันจะตายก็เชิญตาย   เราจะเชิญมันตายหรือไม่เชิญมันตายมันก็ตาย ใช่ไหม  ในเมื่อมันจะตายแต่เราไม่หนักใจในความตาย เราถือว่ามันตายเมื่อไร  เราก็ไปนิพพานเมื่อนั้น 

.....แต่ว่าเวลานั้นจะนึกถึงหรือไม่นึกถึงนิพพานก็ไม่สำคัญ ถ้านึกว่าเราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก  อารมณ์พระอรหันต์มีแค่นี้นะ วันนั้นท่านจะเป็นพระอรหันต์  จิตใจจะวางเฉยในร่างกายเห็นร่างกายของเรา  เราก็เฉย ไม่ต้องการมันอีก เห็นร่างกายคนอื่นเราก็เฉย อย่างนี้เขาเรียก สังขารุเปกขาญาณ   ถ้าตายเมื่อไรก็ไปนิพพานทันที นี่ว่าถึงพวกปรมัตถบารมีนะ

จาก...หนังสือ บารมี ๑๐ 
หน้า ๑๐๓-๑๐๗ 
โดยพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี)

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...