"จิตเพียงแต่รู้ ว่านี่ปีติ นี่สุข แต่ไม่ยึด ไม่ติดในปีติในสุข และให้รู้ว่าปีติสุขก็เป็นสิ่งเกิดดับไปทุกขณะจิต ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน แต่ว่าบังเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกขณะจิต จึงเหมือนอย่างยืดยาว
แต่ความจริงนั้นปีติสุขบังเกิดขึ้นทุกขณะจิต ขณะจิตหนึ่งก็ปีติสุขหนึ่งไปพร้อมกัน แต่ว่าต่อๆ ๆ กันไปโดยรวดเร็ว จึงเหมือนเป็นอันเดียวกัน ให้รู้จักว่าปีติสุขเป็นสิ่งที่เกิดดับ เพื่อไม่ให้ปีติสุขปรุงจิตดังกล่าว ปีติสุขก็จะไม่ปรุงจิต แต่จะเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมดาของปีติสุขเอง ก็ปล่อยให้ปีติสุขเป็นไป ไม่ต้องคิดดับปีติ ไม่ต้องคิดดับสุข ให้ปีติสุขเกิดขึ้นนั่นแหละ ไปตามธรรมดาของปีติสุข"
.......................................................................
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาต่อขึ้นไปอีกว่า ให้ศึกษากำหนดสำเหนียก ว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขาร คือให้รู้ทั่วถึงปีติสุขที่กำลังบังเกิดขึ้นอยู่ ว่าเป็นจิตสังขารเครื่องปรุงจิต หายใจเข้าหายใจออก คือให้รู้จักปีติ ให้รู้จักสุข ว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ให้ติดใจ ให้ยินดี ให้รู้จักตามเป็นจริง เพื่อจะได้ไม่ให้ถูกปรุง ไม่ให้ติดใจ ไม่ให้สยบติด อยู่กับปีติกับสุข ก็เป็นเวทนานุปัสสนาขั้นที่ ๓ คือให้รู้จักจิตตสังขาร และยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดอีกขั้นหนึ่งเป็นขั้นที่ ๔ ว่า
เราจักสงบรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือปีติสุข หายใจเข้าหายใจออก คือในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ปฏิบัติพร้อมกันไปกับตั้งจิตสงบรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือไม่ให้ปีติสุขมาปรุงจิตให้ติดยินดี ให้เพลิดเพลิน ให้ต้องการ ปล่อยให้ปีติสุขนั้นเป็นไปตามธรรมดาของตนเอง ปีติสุขแม้จะบังเกิดขึ้นอยู่ ก็ให้เป็นเรื่องของปีติ ให้เรื่องของสุข
จิตเพียงแต่รู้ ว่านี่ปีติ นี่สุข แต่ไม่ยึด ไม่ติดในปีติในสุข และให้รู้ว่าปีติสุขก็เป็นสิ่งเกิดดับไปทุกขณะจิต ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน แต่ว่าบังเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกขณะจิต จึงเหมือนอย่างยืดยาว แต่ความจริงนั้นปีติสุขบังเกิดขึ้นทุกขณะจิต ขณะจิตหนึ่งก็ปีติสุขหนึ่งไปพร้อมกัน แต่ว่าต่อๆ ๆ กันไปโดยรวดเร็ว จึงเหมือนเป็นอันเดียวกัน ให้รู้จักว่าปีติสุขเป็นสิ่งที่เกิดดับ เพื่อไม่ให้ปีติสุขปรุงจิตดังกล่าว ปีติสุขก็จะไม่ปรุงจิต แต่จะเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมดาของปีติสุขเอง ก็ปล่อยให้ปีติสุขเป็นไป ไม่ต้องคิดดับปีติ ไม่ต้องคิดดับสุข ให้ปีติสุขเกิดขึ้นนั่นแหละ ไปตามธรรมดาของปีติสุข
คุณและโทษของปีติสุข
เพราะว่าถ้าไม่มีปีติสุข จิตก็เป็นสมาธิไม่ได้ เพราะจิตไม่ต้องการอยู่กับความแห้งแล้ง จิตต้องการอยู่กับความชุ่มชื่น หรือความสุข ตัวปีติสุขนี้จึงเป็นฐานของสมาธิด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษ ถ้าปล่อยให้ปีติสุขนี้ปรุงจิตให้ติดใจยินดี ให้อยากได้ ก็จะทำให้หลงใหลติดอยู่กับปีติสุขเท่านั้น ไม่ต้องการจะปฏิบัติให้คืบหน้าไป เหมือนอย่างเข้าหับ เข้านั่งพักในห้องเย็น สบาย ก็เลยนอนหลับสบายไปในห้องเย็นนั้น งานอะไรที่จะต้องทำต่อไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้ทำ
ปฏิบัติสมาธิก็เหมือนกัน จะปล่อยให้จิตสยบติดอยู่กับปีติสุขนั้นไม่ได้ แต่จะไม่มีปีติสุขก็ไม่ได้ จะต้องมีปีติสุข หรือต้องมีสุข สมาธิจึงจะตั้งอยู่กับความสุขคือความสบาย ให้มีปีติสุขนั่นแหละ ตามที่จะมี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ปีติสุขนั้นปรุงจิตใจให้ติดให้ยินดี คอยระงับเสีย ด้วยความรู้ตามเป็นจริง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ และติดเข้าเป็นโทษ ให้รู้ความเป็นจริงด้วย ให้รู้จักโทษด้วย ในการที่ติดปีติสุข ให้ปีติสุขปรุงจิต ก็เป็นขั้นที่ ๔
ในเมื่อถึงขั้นที่ ๔ นี้ ปีติสุขก็จะปรุงจิตไม่ได้ จิตก็จะเป็นจิตที่ได้สมาธิ ได้สติ ได้ลมหายใจเข้าออก ได้ปีติได้สุขประกอบกันอยู่อย่างถูกต้อง ก็เป็นอันว่าเป็นเวทนานุปัสสนาในขั้นที่ ๔ (เริ่ม ๑๖๙/๒) ก็รวมความว่า จิตเลื่อนจากขั้นกายานุปัสสนา ขึ้นมาเป็นขั้นเวทนานุปัสสนา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๑ ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๒ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือสุข คือปีติสุข ว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ปรุงให้ยินดีติดอยู่เมื่อเป็นสุขเวทนา ให้ยินร้ายเมื่อเป็นทุกขเวทนา นี่เป็นขั้นที่ ๓ และเมื่อขั้นที่ ๔ ก็ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักหายใจเข้าหายใจออก พร้อมทั้งรู้ทั่วถึงการสงบระงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต
ข้อที่เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เมื่อสงบรำงับจิตตสังขารได้ สมาธิ สติ ลมหายใจเข้าออก ปีติ สุข ก็ประกอบกันอยู่อย่างถูกส่วน โดยไม่ปรุงกัน แต่ว่าสนับสนุนในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ปฏิบัติสมาธินี้ ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
การมนสิการในลมหายใจเข้าออกในขั้นนี้ก็แนบแน่นยิ่งขึ้น และพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การมนสิการลมหายใจเข้าออกอย่างดี คือการใส่ใจลมหายใจเข้าออกไว้เป็นอย่างดี นี่แหละเป็นตัวเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใน ๔ ขั้นนี้ จึงรวมเป็นกายานุปัสสนา ๔ ขั้น เวทนานุปัสสนา ๔ ขั้น เป็น ๘ ขั้นต่อกันขึ้นไปเอง
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คลิกเพื่ออ่านทั้งหมด
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-252.htm
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออกลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล
ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ"
อานาปานสติสูตร
เวทนา สัญญา และวิญญาณ
[๔๕๐] “ท่านผู้มีอายุ สภาวะที่เรียกว่า ‘เวทนา เวทนา’ เพราะเหตุไรหนอแล จึงเรียกว่า ‘เวทนา”
“ท่านผู้มีอายุ สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์ เหตุนั้น จึงเรียกว่า‘เวทนา’ สภาวะเสวยอารมณ์อะไร คือ เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้างเสวยอารมณ์อทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์จึงเรียกว่า ‘เวทนา”
“สภาวะที่เรียกว่า ‘สัญญา สัญญา’ เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า ‘สัญญา”
“สภาวะกำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘สัญญา’
สภาวะกำหนดหมายอะไร คือ กำหนดหมายสีเขียวบ้าง กำหนดหมายสีเหลืองบ้าง กำหนดหมายสีแดงบ้าง กำหนดหมายสีขาวบ้าง เหตุนั้น สภาวะ
กำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย จึงเรียกว่า ‘สัญญา”
“เวทนา สัญญา และวิญญาณ ๓ ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และสามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่”
“เวทนา สัญญา และวิญญาณ ๓ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะเวทนาเสวยอารมณ์สิ่งใด สัญญาก็กำหนดหมายสิ่งนั้น สัญญากำหนดหมายสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น เหตุนั้นธรรม ๓ ประการนี้ จึงรวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้”
[๔๕๑] “ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณ๑- อันบริสุทธิ์ สละแล้ว จากอินทรีย์ ๕ จะพึงรู้อะไร”
@๑ มโนวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงจิตในฌานที่ ๔ อันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๓)
“ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณอันบริสุทธิ์สละแล้วจากอินทรีย์ ๕พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า ‘ไม่มีอะไร”
“พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยอะไร”
“พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ”
“ปัญญามีไว้เพื่ออะไร”
“ปัญญามีไว้เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการกำหนดรู้ และเพื่อการละ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น