23 สิงหาคม 2563

ความรู้....ความคิด....ความเห็น

.
…. “ สังคมใดมีจุดหมายทางปัญญา ก็จะก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ จนกระทั่งทำชีวิตนี้ให้หลุดพ้นจากปัญหา หลุดพ้นจากความทุกข์ การแก้ปัญหาทั้งหมดก็แก้ได้ด้วยปัญญานี้เอง
…. เครื่องหมายนำหน้าที่สื่อไปถึงปัญญา ก็คือ การรู้จักคิด หรือ ความคิดแยบคาย ที่เรียกทางธรรมว่า “โยนิโสมนสิการ” ความคิดนั้นเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่าง “ข้อมูล ความรู้” กับ “ความเห็น ความเข้าใจ” ความคิดแยบคายทำให้รู้จักหาความรู้ และทำให้สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์
…. ความคิดสำคัญที่เป็นหลัก คือ การคิดหาความรู้ กับ การคิดเพื่อเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ หรือ คิดให้ได้ความรู้ กับ คิดใช้ความรู้ คนมีความรู้ แต่ไม่รู้จักคิด ก็ไม่สามารถทำความรู้ให้เป็นประโยชน์ แต่คนที่คิดโดยไม่มีความรู้และไม่หาความรู้ ก็จะเป็นเพียงความคิดที่เพ้อฝันเลื่อนลอย เมื่อคิดเพ้อฝันเลื่อนลอยแล้วมาแสดงความเห็น ก็จะเป็นความเห็นที่เหลวไหล ไร้สาระ ว่าไปแค่ตามชอบใจ-ไม่ชอบใจของตัว
…. โดยนัยนี้ “กระบวนการพัฒนาปัญญา” จึงมีการใฝ่แสวงหาความรู้เป็นเบื้องต้น มีการฝึกคิดเป็นท่ามกลาง และมีการรู้จักแสดงความเห็นเป็นปริโยสาน (ในหลายกรณีที่สำคัญ ต้องมีการปฏิบัติ ทดสอบ หรือทดลองมาเป็นเครื่องยืนยัน) ดังนั้น ความใฝ่รู้ และ การรู้จักแสวงหาความรู้ จึงเป็นบุพนิมิตแห่ง… “พัฒนาการทางปัญญา”
.
…. ในสังคมใด คนขาดความใฝ่รู้ ไม่รักการสืบค้นหาความรู้ จะหาความเจริญงอกงามทางปัญญาได้ยาก จะเต็มไปด้วยความคิดเพ้อฝันเลื่อนลอย และการแสดงความเห็นเพียงแค่สนองความชอบใจ-ไม่ชอบใจของตนเอง เพื่อให้มีการพัฒนาปัญญา จึงต้องมีคติว่า การแสดงความเห็น ต้องคู่กับการหาความรู้ และเมื่อมีความรู้ ต้องฝึกความคิดให้แยบคาย"

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ”

หมายเหตุ : ( ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ ))
“ปริโยสาน” คือ การจบอย่างสมบูรณ์ หรือ ที่สุดลงโดยรอบ
------------------------------
.
“ต้องเน้นการหา “ความรู้”
มากกว่าการให้ “ความเห็น”
ต้องให้การแสดงความเห็นนั้น
ตั้งอยู่บนฐานของ “ความรู้ที่มั่นคงที่สุด”
.
เวลานี้ มีปัญหามากเหลือเกิน
คนชอบแสดง “ความเห็น”
โดยไม่หา “ความรู้”เลย”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

##  ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม. ##

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...