เมื่อลมเป็นที่ตั้ง เราพยายามแยกจิตของเรานี้ออกมาจากอารมณ์ จากลมหายใจอีกที เรากำหนดเพ่งดู ลมนี้เป็นธาตุ เรียกว่า ธาตุลม ผู้รู้ลมก็อีกอันหนึ่ง เป็นสอง ที่มารวมกันเข้า ทีนี้เมื่อเราแยกออก #รู้จักสภาพของลม ว่าเป็นธาตุลม คือดินน้ำลมไฟมาประชุมกันเข้าเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลเราขึ้น
#เมื่อเราแยกผู้รู้ออกจากลม #ผู้รู้นี้อันหนึ่ง #ผู้รู้ลม #เมื่อจิตของเรารู้จักลมแล้ว #จิตเราก็ลอยตัวได้ #เพราะลมนั้นไม่ใช่เรา #เรานั้นก็ไม่ใช่ลม
คือ แยกออกจากกัน จิตนี้จะเกิดมีกำลังขึ้น เรียกว่า ขาดจากอารมณ์ คือขาดจากลมหายใจ เรียกว่า รู้เท่าถึงลม เมื่อสติของเราถึงพร้อมจะรู้เท่าถึงลมหายใจเข้าออก ให้แยกออกกันไป เป็นส่วน เป็นส่วนๆกันไป
ตัวนี้ ถ้ากำลังของเราดี สติของเราดี #ก็จะเป็นตัววิปัสสนา จะมีญาณเกิดขึ้น รู้ขึ้นในขณะนั้น ว่าเราวางได้ ถ้าสติยังอ่อน ก็ยังวางไม่ได้ เมื่อสติของเรากล้าขึ้น
#จะมีสติและมีปัญญาขึ้นพร้อมกัน
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)
.......................................................................
…..ชำระจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากความขุ่นมัวทั้งหลายที่มีอยู่ภายใน เพราะลมนี้อาจจะเสียได้ทุกขณะ เมื่อมีลมไม่ดีเข้ามาแทรกแซงภายในจิตใจของเรา ทำใจของเรานี้ให้ได้รับความไม่สบาย ขุ่นมัว เกิดมีอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่านไป ฉะนั้น เมื่อเรากำหนดจิตตั้งอยู่เฉพาะในลมเข้า – ลมออก นึกถึงลมให้ชัดเจน เมื่อเรานึกถึงลมดี ไม่สงสัยแล้ว ลมนี้แหละเป็นฐาน เป็นที่ตั้งของเรา
เมื่อลมเป็นที่ตั้ง เราพยายามแยกจิตของเรานี้ออกมาจากอารมณ์ จากลมหายใจอีกที เรากำหนดเพ่งดู ลมนี้เป็นธาตุ เรียกว่า ธาตุลม ผู้รู้ลมก็อีกอันหนึ่ง เป็นสอง ที่มารวมกันเข้า ทีนี้เมื่อเราแยกออก รู้จักสภาพของลม ว่าเป็นธาตุลม คือดินน้ำลมไฟมาประชุมกันเข้าเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลเราขึ้น
เมื่อเราแยกผู้รู้ออกจากลม ผู้รู้นี้อันหนึ่ง ผู้รู้ลม เมื่อจิตของเรารู้จักลมแล้ว จิตเราก็ลอยตัวได้ เพราะลมนั้นไม่ใช่เรา เรานั้นก็ไม่ใช่ลม คือ แยกออกจากกัน จิตนี้จะเกิดมีกำลังขึ้น เรียกว่า ขาดจากอารมณ์ คือขาดจากลมหายใจ เรียกว่า รู้เท่าถึงลม เมื่อสติของเราถึงพร้อมจะรู้เท่าถึงลมหายใจเข้าออก ให้แยกออกกันไป เป็นส่วน เป็นส่วนๆกันไป
ตัวนี้ ถ้ากำลังของเราดี สติของเราดี ก็จะเป็นตัววิปัสสนา จะมีญาณเกิดขึ้น รู้ขึ้นในขณะนั้น ว่าเราวางได้ ถ้าสติยังอ่อน ก็ยังวางไม่ได้ เมื่อสติของเรากล้าขึ้น จะมีสติและมีปัญญาขึ้นพร้อมกัน
ในส่วนนี้เราต้องพยายามฝึกหัดพิจารณาใคร่ครวญอยู่เสมอเวลามีโอกาส เวลาทำ พยายามแยกตัวนี้ เมื่อเราแยกตัวนี้ได้แล้ว จิตทั้งหลายจะไม่วุ่นวายหมดภาระกังวล เราก็คอยกำหนดจิตของเราให้ตั้งลงไป ถึงเวลาเราก็ตั้งความรู้สึกเข้าไปสู่หัวใจ ให้ตั้งไว้ตรงนั้น แล้วคอยสังเกตดูลมกับผู้รู้นี้ คอยสังเกตให้มาก มันจะแยกกันอยู่หรอก เมื่อมันแยกกันแล้วเราจะมีโอกาสก็พิจารณาไป เมื่อเราพิจารณาในธาตุนี้ธาตุเดียว ส่วนอื่นก็เหมือนกัน คือมีลักษณะคล้ายกัน
เวลาพิจารณานั้น เมื่อเราพิจารณาลงไป ลมก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เราจะไปยึดอะไร จะไปยึดถือว่าเป็นตัวของเราก็ไม่ได้ เป็นตนของเราก็ไม่ได้ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อพิจารณาไปแล้วมันก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีหัว ไม่มีขา ไม่มีมือ ไม่มีตีน ไม่มีอะไรหรอก เมื่อเรารู้อย่างนี้เราก็วางตามสภาพของเขา เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น
อีกอย่างหนึ่งท่านเรียกว่า จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย คือถอนอาลัยจากตัวของเรานี้ จากลมนั้นแหละ เพราะมันไม่ใช่ของเรา เราก็ถอนอาลัยวางไปสู่ตามสภาวะของเขา ตามเดิมของเขา เรียกว่า คืน นั้นแหละ ของเขามีเท่าไรเราก็คืนให้เขาหมด มีลมเราก็คืนให้เขา มีไฟเราก็คืนลงไป มีน้ำเราก็คืนลงไป ไปสู่ตามสภาพของเขาหมด ดินเราก็คืนให้เขาหมด อากาศธาตุเราก็คืนให้หมด
คืนไปสู่ตามสภาพของเขา คือสภาพเดิม เมื่อเราพิจารณาทั้งหมดทั้งห้านี้ รวมแล้วไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เราก็วางไปสู่ตามสภาพเดิมหมดทุกอย่างๆ จิตของเราไม่มีอะไรแล้ว ส่วนนั้นเมื่อเราแยกออกไปแล้ว มันไม่ใช่ของเราแล้ว
ส่วนจิตผู้รู้ที่รู้จักมหาภูตรูปทั้งห้าทั้งหมด ทีนี้เราก็มานึกถึงผู้รู้นี้ จิตผู้รู้นี้จะอยู่กับอะไร เราก็สังเกตดูอีก ธาตุรู้นี้ เมื่อธาตุรู้นี้มีอยู่ส่วนหนึ่งของเขาที่เป็นเอกเทศอยู่ เป็นส่วนหนึ่งที่มีสภาพเป็นธาตุที่พิเศษอยู่ คือเป็นธาตุที่ไม่มีเศษ ไม่มีเศษเหลือมีอยู่ เราก็มาเพ่งพิจารณาถึงธาตุนี้ให้มากที่สุด ก็จะเกิดสติปัญญาขึ้น พิจารณาว่าอะไรเป็นอะไร เรียกว่า รู้ธาตุรู้ขันธ์ จะมีความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง
คือการที่จะรู้แจ้งเห็นจริง หรือจะวางสู่สภาวธรรมทั้งหลายภายนอกนั้นได้ ก็ต้องอาศัยมีญาณส่วนหนึ่ง ที่มาปรากฏขึ้นในกิริยาที่เราวาง หรือเราปล่อย ถ้าเรายังไม่มีญาณนี้เกิดขึ้นตราบใด ก็ยังเป็นสัญญาธรรมดา ยังเป็นปัญญาธรรมดา ปัญญาของโลกีย์ เมื่อเกิดญาณขึ้น ญาณวิเศษ ในกิริยาที่เราวาง พอวางลงปั๊บ ก็มีผลสะท้อนปรากฏขึ้นมา ให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง รับรองความมีความเป็นของตัวเอง ว่าเรารู้นี่ เราวางได้ แล้วก็รับความบริสุทธิ์ในตัวของตัวเอง หรือความเป็นของตัวเองได้ นั่นเรียกว่าเป็นญาณ เป็นปัญญาญาณ
เมื่อปัญญาญาณนั้นปรากฏขึ้นในตัวของเรา รับรองความเห็นของตัวเอง ความเป็นของตัวเองได้ อันนั้นเรียกว่าเป็นปัญญาญาณ ถ้าตัวนี้ยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ยังเป็นปัญญาของโลกีย์ ให้พิจารณาใคร่ครวญไปจนกว่า… ถ้าบารมีของเรายังไม่เต็มเราก็พิจารณาไป เมื่อบารมีของเราเต็มแล้วก็ไม่ต้องแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เพราะปัญญาของโลกุตตระนั้นเกิดปั๊บเดียว นิดเดียวเท่านั้นเอง มันก็แทงตลอดหมด ไม่เหมือนปัญญาของโลกีย์
ฉะนั้น หนทางที่เราจะต้องดำเนินคือการพิจารณาใคร่ครวญ เวลาที่เรานั่ง จะต้องเพ่งพิจารณาใคร่ครวญ จนให้มันถึงที่ของเขา พอถึงที่แล้วเขาก็ปล่อย เขาก็วางของเขาเอง เรียกว่า อิ่มตัวนั่นเองแหละ นั่นธรรมมันอิ่ม พออิ่มตัวแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อยแล้วก็มีผลปรากฏขึ้นมาทันที
ในการที่เราฝึกหัดปฏิบัตินี้ เราไม่ต้องกลัวหรอก ให้อุตส่าห์พยายามตั้งใจปฏิบัติไปเถอะ ผลที่เราจะต้องได้รับ ไม่ต้องสงสัย เราก็ได้รับของเราอยู่เสมอไป ถึงขณะที่เรานั่งขณะนี้เวลานี้ เราก็รู้ว่ามันสบาย นี้คือผล หรือว่าเรายังไม่ได้ถึงที่สุด เราก็ยังรับความสุขความสบาย สุขกายสุขใจ จิตใจสงบอยู่กับลมหายใจเข้าออก นี่แปลว่า ยังแยกกันไม่ได้ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ยังมีการอาศัยกันอยู่ เราต้องอาศัยเขา เขาก็อาศัยเรา เราก็อาศัยเขา อาศัยกันไปอาศัยกันมา ทำความคุ้นเคยกันไปจนกว่าเราจะรู้จัก เมื่อรู้แล้วก็วางอีก ถ้ารู้มันก็วาง ถ้ายังไม่รู้มันก็ยังไม่วาง
อันนี้ก็ต้องอาศัยการเสวนา ค่อยใช้ความส้องเสพ ค่อยเข้าไปพิจารณา ค่อยๆเสพเข้าให้มากเข้าๆ หมั่นเจริญให้มากขึ้นๆ มีความคุ้นเคยเข้าไปมากเข้าๆ เราจะได้คลี่คลายถอนออกจากอุปาทานขันธ์ คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตนสัตว์บุคคลเราเขา สักกายทิฏฐิ คือความยึดถือว่าตัวว่าตนสัตว์บุคคลเราเขา ก็จะหลุดออกไป นี่เป็นหนทางที่เราจะได้คลี่คลายออกไปได้
เมื่อโลกุตตระอันนี้ปรากฏขึ้นในจิตของเรา คือญาณโลกุตตระปรากฏขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง เมื่อนั้นแหละเราจะได้หลุดจะได้เพิกถอนออกเสียที ตามสมมตินิยมของโลกทั้งหลายเขาที่ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวเป็นตน เป็นหญิงเป็นชาย เป็นเขาเป็นเราขึ้นมาได้
เมื่อยังไปไม่ได้ เราก็ยังต้องอาศัยเขาอยู่ ยังเป็นเครื่องอาศัย แต่ไม่ใช่ที่พึ่ง เป็นเครื่องอาศัยกันนะ ค่อยประคองกันไปอยู่อย่างนั้น พอเป็นหนทางอีกทีหนึ่ง แต่เราจะไปทิ้งไม่ได้ คือ การปฏิบัติของเรา ถ้าเราหมั่นเจริญอยู่ การเจริญไม่ขาดสาย ความเสื่อมของเราจะไม่มี ถ้าว่าเราไม่เจริญอยู่เสมอ ไม่เพียรเพ่งพิจารณาอยู่จะเสื่อมแล้ว ค่อยเสื่อมน้อยถอยลงไป เกิดมีความกังขาสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจ ว่าจะถูกไหมหนอ พระธรรมจะผิดหรือถูก
เราจะต้องค่อยพยายามใช้ความสังเกตจิตคือผู้รู้ จิตของเราไม่ใช่ว่าไม่รู้นะ จิตเป็นผู้รู้ สภาพของจิตคือผู้รู้ เราก็กำหนดดูทุกสิ่งทุกอย่างมันก็รู้ รู้แต่ยังไม่ปล่อย ยังไม่วาง ยังไม่ขาดจากสัญญาอารมณ์ จากความสมมตินิยมของเขา เราก็พยายามเพียรเพ่งดูเข้าไป เพ่งไปจนกว่ามันจะขาดออกจากกันได้ ก็ต้องใช้ความพยายามอยู่อย่างนั้นนะ
ถ้าเรามีการพยายามอยู่อย่างนี้ คือความเพียรของเรามีอยู่เสมอไม่ขาดสาย ความสงสัยลังเลของเราจะค่อยเบาบางลงไป เบาบางลงไป เราจะได้เข้าถึงซึ่งที่พึ่งอันประเสริฐอยู่ภายในของเรานั่นแหละ คือผู้รู้ ผู้ที่รู้จริงรู้แจ้ง ที่เรียกว่า พุทธะ คือผู้รู้นั่นแหละ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นภายในนั่นแหละเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐของเรา
ส่วนภายนอกเราจะได้รู้ว่าอะไรเป็นภายนอก อะไรเป็นภายใน อะไรเป็นของที่อาศัย อะไรเป็นที่พึ่ง อะไรที่ไปอาศัย เราจะได้แยกแยะออกไปเป็นส่วนๆ
ส่วนภายนอกเป็นเพียงแต่เครื่องอาศัยเท่านั้น ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เป็นเครื่องอาศัย เมื่อดินน้ำลมไฟมาประชุมกัน เป็นเครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง ส่วนที่พึ่งเราก็รู้แล้ว คือจิตคือผู้รู้นั่นแหละ ผู้รู้จักลมเป็นที่พึ่งในขั้นหนึ่ง
เมื่อเราแยกออกจากลมได้มันก็เป็นที่พึ่งของเราได้อีกขั้นหนึ่ง ที่พึ่งแท้จริงนี้ ที่เรียกว่า พุทธะ เป็นตัวใน เราจะได้รู้ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ เมื่อรู้ลงก็เรียกว่าหมดแล้วทีนี่ มันไม่มีอะไรแล้ว เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด เป็นอธิบดีด้วย เป็นผู้ใหญ่ ผู้รู้ยิ่ง รู้แจ้ง รู้หมด รอบหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง อันนั้นแหละจะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของเราภายใน
ส่วนภายนอกของเราเป็นเพียงแต่เครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว พอได้อาศัยไปเป็นไม้เท้าเท่านั้นแหละ ตราบใดที่ยังอยู่ ยังมีความเป็นอยู่ มีลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ก็อาศัยกันไป อาศัยซึ่งกันแลกันอยู่เรื่อยไป เมื่อหมดลมหายใจแล้วก็ไม่มีอะไร ธาตุทั้งสี่ทั้งหลายก็สลายออกจากกันแล้วแยกกันไปเป็นส่วนเป็นส่วนๆ น้ำก็ไปตามน้ำ ไฟก็ไปตามไฟ ลมก็ไปตามลม ดินก็ไปตามดิน ก็ไม่มีอะไรแยกกันหมดเกลี้ยงไปขาดกันไปตามสภาพของเขา
คือต่างคนก็ต่างแยกกันไปเป็นส่วนๆกันหมด เพราะไม่ได้เป็นที่อาศัยกันแล้ว เราก็อยู่ของเรา ทีนี่ ของเราอยู่ที่ไหนล่ะ พุทธะคือผู้รู้อยู่ตรงไหน เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิตใจของเราได้เป็นตัวของตัวเราเอง เป็นที่พึ่งของตัวเองได้แล้ว โสกะปริเวทนาการ รำไพรำพันก็ไม่มี ไม่เกิดขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าพระองค์ก็ให้แสวงหาที่พึ่งอันประเสริฐ บอกกับสาวกทั้งหลายให้เอาตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตนเอง คนอื่นเป็นเพียงแต่ว่าเครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เป็นผู้แนะแนวทางบอกให้ แต่เรื่องจะเอาดีเอาจริงเอาจัง เป็นตัวของเราเอง ตัวของเราเองนี้ตัวสำคัญที่สุด ถ้าเราต้องการอยากจะเอาดีเอาเด่น เอาให้มันถึงนั่นแหละ ก็ต้องตัวเราเองฝึกฝนตนเอง ทรมานตนเอง หัดตัวเอง พึ่งตัวเองทุกอย่าง
ต้องพยายามเอาใจใส่จดจ่อเป็นพิเศษ คือเราทุกข์ก็ตัวของเราเอง สุขก็ตัวของเราเอง เหมือนกับการทานอาหาร ถ้าเราไม่ทาน ความอิ่มก็ไม่มีขึ้นกับเรา เราให้แต่คนอื่นเขาทาน แต่ตัวเองเราไม่ทาน ความอิ่มก็ไม่มีขึ้น เมื่อเราต้องการความอิ่มความเต็มขึ้นมา เราก็ทาน เราก็จะรู้สึก ความอิ่มนั้นแหละจะมาปรากฏขึ้นที่ตัวเรา ฉันใดก็ดี ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน
ฉะนั้นเราจะไปยึดถือในสิ่งทั้งหลายภายนอกไม่ได้ อาศัยของภายนอกเป็นของอนิจจัง ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าตัวเราตัวเขาทั้งหลาย ก็มีอาการเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่จากเป็นก็จากตาย ความพลัดพรากจากกันก็ย่อมมีอยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ทั้งตัวเราและตัวของคนอื่น ไม่ใช่จะเอามาเป็นสาระแก่นสารอะไรได้ แล้วเราก็ไม่จำเป็น
เราถือว่ามันเป็นอย่างนี้ เป็นของเป็นอยู่กับโลกสงสารอย่างนี้เอง มันไม่มีอะไรยั่งยืนหรอก เราไม่อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้มันจะเป็นอย่างนั้น คือมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งหมดละ ไม่ว่าเฉพาะของภายนอกเลย แม้ตัวของเราเองก็เช่นเดียวกัน เราอยากให้มันอยู่ ไม่อยากให้มันตาย มันก็ตาย ไม่อยากให้มันเปลี่ยน มันก็เปลี่ยน มันมีอาการที่เปลี่ยนแปลงเสมอไป
ฉะนั้นก็ต้องให้พยายามปรับปรุงแก้ไขตัวของเราเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเราให้ได้สมบูรณ์ขึ้นตามหลักวิชา แล้วเราไม่ต้องสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ เพราะข้อวัตรปฏิบัตินั้นเป็นของที่มีอยู่ในตัวเราทุกอย่าง ความดีความชั่วทั้งหลายก็มีอยู่ในตัวของเราทั้งนั้นแหละ เราก็รู้แล้วว่าทางไหนเป็นทางที่ดี ทางไหนเป็นทางที่ไม่ดี เราก็พยายามแก้ไขจิตใจของเราตัวเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในอะไรทั้งหมด
เราเข้ามาปรับปรุงแก้ไขจิตใจของตัวเรา ให้ยึดในทางที่ถูกในทางที่ดีที่เราปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ในเวลานี้ เราก็มาพิจารณาว่ามันถูกหรือยัง ผิดหรือยัง ตัวไหนผิด เราก็อย่าไปยึดมันถือมัน ปล่อยมันไป อดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปล่อยมันไปเสีย ให้เหลือเฉพาะปัจจุบันธรรมในขณะนี้ ในเวลานี้ คือต้องการทำใจของเราให้ได้รับความสบายปลอดโปร่งอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาอยู่
ภายนอกนั้นยังไม่ใช่ของเราแล้ว นี่ภายในตัวเองอีกก็ยังมีอยู่หลายชั้น ยังมีอยู่หลายชั้น จิตของเรายังไม่ใช่เป็นของเราโดยตรง ยังเป็นอนิจจัง ทุกขัง เดี๋ยวจะเอาอย่างนั้น เดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ มันไม่ใช่ของเราโดยตรง
ฉะนั้นเราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นให้มันมากนัก สังขาร คือความนึกคิดปรุงแต่ง เดี๋ยวก็คิดดี เดี๋ยวก็คิดชั่ว ทั้งๆที่เราก็รู้อยู่ รู้อยู่แท้ๆ มันไม่อยากคิด แต่มันก็ยังคิดขึ้นอีก นอกเหนือเจตนาของเรา ทั้งๆที่เราไม่อยากจะทำ ทั้งๆที่เราไม่อยากจะคิด แต่มันก็ยังคิดขึ้นมาก อันนี้ต้องถือว่ามันยังไม่ใช่ของเรา เราก็พิจารณา มันไม่มีอะไรแน่นอน มันไม่ยั่งยืนหรอก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลหรอก ปล่อยไปตามสภาพของมัน
แล้วอะไรล่ะ ที่เป็นของที่แน่ที่นอนที่แท้ที่จริง เราค่อยพิจารณาเข้าไป ตั้งสติให้มีกำหนด สติของเราให้มันมั่นกับลมนั่นแหละ แล้วเพ่งอธิษฐานจิตขึ้นเฉพาะอันนั้น เราจะได้เข้าใจในความภายในขึ้น เข้าใจแจ่มแจ้งว่าอะไรเป็นอะไรขึ้น เวลาที่เรามีความขัดข้องสงสัยภายในใจของเรา ในการปฏิบัติ เราก็เพ่งนึกถึงลม แล้วก็เพ่งอธิษฐานจิตกับลม สิ่งทั้งหลายจะปรากฏขึ้นทันที เราจะได้คลี่คลายความเห็น หรือความขัดข้องของเราจะได้หายไป
ถึงส่วนนี้ก็ยังเป็นอยู่ในสภาพของอนิจจัง ทุกขัง เช่นเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น พระองค์บอกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าจะเที่ยงตลอดไป เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็ไม่เกิด ฉะนั้นเราก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป พอมันเกิดขึ้นเราก็กำหนดดู กำหนดรู้แล้วก็วางตามความมีความเป็น ให้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นให้มันพอดี อย่าให้มันเลยไป เกินไป ถ้ามันเลย ตัวมันจะยึดเอาจนยึดเป็นยึดตาย นั่นก็ไม่ได้ มันผิดมันเกินไป ลืมตัวอีก
รวมแล้วในการปฏิบัติของเราพยายามให้มีสติมากเท่าไร ก็ยิ่งดี สตินี้จะเป็นตัวญาณ สติของเรา ถ้ามันสมบูรณ์ขึ้นๆๆ จะเป็นญาณพิเศษ เรียกว่า ปัญญาญาณ หรือ อภิญญาญาณ จะเกิดขึ้นด้วยอำนาจของสติ ถ้าสติของเราสมบูรณ์ขึ้นๆๆ
ฉะนั้นต้องพยายามหัดสติของเราให้มากขึ้นๆ จนเป็นมหาสตินั่นแหละ การระลึกของเราพยายามให้มีอยู่เสมอ ใช้ความพยายามเพียรเพ่งระลึกอยู่จนกว่าจะรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวธรรมนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อความเจริญในทางพระพุทธศาสนา
.
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ
..............
พระครูญาณวิศิษฏ์
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
วัดธรรมสถิต อ.เมือง จ.ระยอง
ให้ดูธาตุ การดูธาตุเมื่อรู้จักธาตุทั้ง ๖
ให้ประสานธาตุทั้ง ๖ นี้ ให้รวมเข้ามาเป็นอันเดียวกัน
แล้วพยายามเพ่งให้มีพลัง ให้เหนียวแน่น
จะเกิดพลังรวมขึ้นจนจิตอิ่ม กายอิ่ม
เมื่อธาตุสามัคคีแล้วจะมีความอิ่ม ความเต็มของธาตุ
เมื่ออิ่มแล้ว เขาจะวางตัวของเขาเองเป็นหนึ่ง
ธาุตุก็เป็นหนึ่ง จิตก็เป็นหนึ่ง
แล้วให้กลับเข้ามาดูจิต นึกอยู่ที่จิตนั้น
เรียกจิต เพ่งจิต จนเกิดความรู้ขึ้น
แล้วปล่อยทั้งความรู้และทั้งความเห็นพร้อมกัน
ไม่ให้มีอะไรเหลือ
แม้แต่ตัวปัจจุบันที่รู้อยู่ก็ให้ปล่อยวางเท่านั้น
ก็จะเกิดปัญญาญาณขึ้นมาเอง
เรื่องวิธีการนั่งสมาธิก็จบ
คัดลอกจาก "จดหมายถึงลูกศิษย์"
ที่ฮ่องกง ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๑
...............
"ธาตุกัมมัฏฐาน"
ธาตุกัมมัฏฐาน
ธาตุกัมมัฏฐานนี้มาแล้วอย่างนี้. ก็แลกัมมัฏฐานนี้นั้น ในที่มาโดยย่อ ควรกล่าวทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร แต่ในที่มาโดยพิสดาร จะกล่าวโดยย่อไม่ควร ควรกล่าวแต่โดยพิสดารอย่างเดียว. ส่วนในติตถายตนสูตรนี้ กัมมัฏฐานนี้มาแล้วด้วยอำนาจธาตุ ๖ โดยย่อ. จะกล่าวกัมมัฏฐานนั้นทั้งสองอย่าง (ทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร) ก็ควร.
กำหนดโดยย่อ
#พระโยคาวจรแม้เมื่อกำหนดกัมมัฏฐานด้วยอำนาจธาตุ๖ โดยย่อก็ย่อมกำหนดอย่างนี้. รูป ๔ เหล่านี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ จัดเป็นมหาภูตรูป. อากาสธาตุจัดเป็นอุปาทารูป และเมื่อเห็นอุปาทารูปประเภทเดียว อุปาทารูป ๒๓ ที่เหลือ #พึงกำหนดว่าถูกเห็นด้วยเหมือนกัน.
บทว่า วิญฺญาณธาตุ ได้แก่ จิต.
#จิตนั้นได้แก่วิญญาณขันธ์. #เวทนาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าเวทนาขันธ์. #สัญญาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าสัญญาขันธ์. #ผัสสะและเจตนาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าสังขารขันธ์. #ขันธ์ทั้ง ๔ ดังว่ามานี้ #ชื่อว่าอรูปขันธ์.
อนึ่ง มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่ารูปขันธ์.
บรรดารูปขันธ์และอรูปขันธ์นั้น อรูปขันธ์ ๔ เป็นนาม รูปขันธ์เป็นรูป. มีธรรมอยู่ ๒ อย่างเท่านั้นคือ #นาม ๑ #รูป ๑. #ไม่มีสัตว์หรือชีวะนอกจากธรรม ๒ อย่างนั้น.
พึงทราบกัมมัฏฐานที่ทำให้บรรลุอรหัตผลด้วยอำนาจธาตุ ๖ โดยย่อของภิกษุรูปหนึ่ง ดังว่ามานี้.
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=501