09 มกราคม 2564

#พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลมาเยี่ยมหลวงปู่ชอบ(เกร็ดประวัติหลวงปู่ชอบ ฐานสโม บูชาคุณ ๒๖ ปี)

...ระหว่างท่าน(หลวงปู่ชอบ ฐานสโม) วิเวกอยู่ในเขตประเทศพม่า พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งที่ บ้านเมืองยางแดง ท่านได้ทำมีดหายไป หาอยู่สามสี่วันก็ไม่พบ ท่านว่าก็มิใช่มีดพิเศษพิสดารอะไร เป็นมีดประเภทธรรมดาที่ชาวบ้านใช้ถางป่านั่นเอง เพราะพระกรรมฐานจะมีของวิเศษเลิศเลออะไร ท่านก็ได้อาศัยมีดถางป่าพื้นๆ นี้เอง เป็นบริขารประจำตัวสารพัดประโยชน์ นั่น...ตัด...ถากถาง...งัดแงะสิ่งใดก็ด้วยมีดประจำตัวนี้ ท่านใช้แล้วไปอาบน้ำ คิดว่า ลืมทิ้งไว้บริเวณที่อาบน้ำ แต่เมื่อออกไปหาดูโดยทั่วหมดบริเวณแถวนั้น ทั้งที่บริเวณอาบน้ำ ที่ในถ้ำ หรือแม้แต่ที่อื่นใดที่คิดว่าอาจจะลืมไว้ ก็ไม่เห็นเลย เวลาผ่านไปสามสี่วันก็ยังไม่พบ ทำให้ท่านออกรู้สึกรำคาญใจ

ตอนกลางคืน ขณะที่ท่านกำลังนั่งเข้าสมาธิภาวนาในเวลาดึกสงัด ปรากฏมีพระอรหันต์ องค์หนึ่งเหาะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนา ท่านเหาะลอยมาทางอากาศมีรัศมีสว่างแพรวพราย น่าเคารพน่าเลื่อมใสอย่างที่สุด หลวงปู่รีบกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทั้งปีติทั้งยินดี อย่างสุดจะพรรณนา พระอรหันต์องค์นั้นพอเหาะลงถึงพื้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ถามทันทีว่า มีดของท่านหายไปใช่ไหม เมื่อท่านเรียนตอบรับคำ พระอรหันต์องค์นั้นก็บอกว่า ไม่ได้หายไปไหน ท่านลืมที่ต่างหาก นั่นไง...ท่านบอกพลางชี้มือ ...มีดของท่านอยู่นั่นไง ไปเอาเสียซี

หลวงปู่เล่าว่า ตอนเช้าท่านก็ไปดูที่พระอรหันต์ท่านชี้บอกไว้ในนิมิต ซึ่งเป็นหลังก้อนหินก็เห็นมีดอยู่ตรงนั้นจริงๆ ประหลาดที่ว่าท่านหาอยู่หลายวันไม่เห็นและความจริงท่านก็ไม่บนบานอธิษฐานให้เทวดาหรือใครช่วยหาให้เลย แต่น่าอัศจรรย์ที่พระอรหันต์ท่านกลับทราบ ทั้งยังเมตตามาช่วยบอกให้ ทำให้ท่านได้มีดคืนโดยไม่คาดฝัน

พระอรหันต์องค์นี้ชื่อ "พระพากุละ" ท่านเล่าว่า พระพากุละนี้เมตตามาเยี่ยมท่านมิได้ขาด จากครั้งแรกที่มาชี้บอกเรื่องบริขารหายที่ถ้ำในพม่าแล้ว ต่อมาก็ยังให้ความเมตตามาแสดงธรรม โปรดท่าน มาเยี่ยมท่านตลอดมาจนปัจจุบันนี้ (กราบเรียนถามท่านครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๒๙ นี้ ท่านรับว่าพระพากุละก็ยังคงมาเยี่ยมท่านอยู่)

เมื่อผู้เขียนเรียนว่า เชื่อว่าท่านและท่านพระพากุละคงจะเคยมีความผูกพันกัน ท่านคงจะเคยเป็นศิษย์ของพระพากุละกระมัง หลวงปู่อธิบายว่า ...ต่างคนต่างเคยเกิดเป็น ศิษย์ซึ่งกันและกัน!

ผู้เขียนได้ยินแล้วก็อดมิได้ที่จะนึกซาบซึ้งในคุณธรรมของท่านผู้รู้อย่างสุดซึ้งผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างแท้จริง ท่านย่อมครองคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทิตคุณตลอดกาล ภพชาติจะผ่านไปเช่นไร ศิษย์และอาจารย์ย่อมเป็นศิษย์และอาจารย์ต่อกันอย่างมิรู้ลืม เราเคยอ่านพบในพระไตรปิฎกอยู่เสมอว่า เมื่อท่านผู้หนึ่งผ่านภพแห่งโลกนี้ไปเสวยสุขได้สวรรคสมบัติหรือพรหมสมบัติแล้ว เมื่อผู้เคยเป็นศิษย์ของท่าน หรือผู้เคยเป็นอาจารย์ของท่าน ยังครองชีวิตอยู่ในมนุษยโลก หากหลงผิด ท่านก็จะลงมาตักเตือนหรือแนะข้อคิดที่ถูกต้องให้ หากปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ท่านก็จะลงมาเยี่ยมอนุโมทนาสรรเสริญ ในศีลานุจารวัตร แสดงธรรมให้เป็นที่รื่นเริงบันเทิงในจิต และระยะนี้เอง ที่ท่านผู้ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ในโลกมนุษย์ก็อาจจะเรียนถามข้อสงสัยในธรรมวินัยบางประการได้

หลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน ท่านพระพากุละมาเยี่ยมชมเชยและสรรเสริญข้อวัตรปฏิบัติ ของหลวงปู่มาก โดยเฉพาะด้านธุดงควัตรที่ท่านถือเคร่งควรเป็นเนติแบบอย่างของผู้สืบพระศาสนาเป็นอย่างดี ท่านได้แสดงธรรมยืนยันประโยชน์ของธุดงควัตรที่มีต่อผู้หวังผลที่สุด แห่งการปฏิบัติอย่างไพเราะลึกซึ้ง และอนุโมทนาด้วยที่หลวงปู่ได้ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าเคารพเลื่อมใส จนท่านต้องมาเยี่ยมถึงที่อยู่

ท่านเล่าว่า วาระแรกที่ท่านพระพากุละมาเยี่ยมอนุโมทนาและแสดงธรรมนั้นท่านมี ความปีติเปี่ยมในจิต ออกจากสมาธิมาเดินจงกรม รู้สึกตัวเบาราวกับจะเหาะเหินเดินอากาศ ลอยตามพระอรหันต์พากุละไปฉะนั้น ท่านเดินจงกรมจนสว่างโดยมิได้นึกเหน็ดเหนื่อยล้าแต่ประการใด จิตเบา กายอ่อน กายอ่อน จิตอ่อน จิตสงบ กายสงบ ไม่มีอารมณ์ใดมาเกาะเกี่ยว

ท่านว่า ปรากฏการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในธรรมมากขึ้น และมีกำลังใจ ที่จะบำเพ็ญความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ใครจะนึกฝันว่า จะมีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาเยี่ยม บริขารหายท่านก็เมตตา บอกที่ให้ ปฏิบัติทำความเพียรอยู่ ท่านก็มาอนุโมทนาและเมตตาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านเล่าว่า ท่านมิได้นึกเห่อเหิมประการใด ว่าตนมีความดี ความวิเศษเลิศเลอกระทั่งมีพระอรหันต์มาเยี่ยม แต่ท่านกลับยิ่งต้องพิจารณาไตร่ตรองเทียบเคียงข้อวัตรปฏิบัติของท่านกับธรรมคำสั่งสอนที่ได้รับ ระมัดระวังมิให้ผิดพลาดหรือเสื่อมถอยลง

เพียร...ก็ต้องเพียรพยายามให้มากขึ้น

พิจารณา...ปัญญาก็ต้องพิจารณาฟาดฟันกิเลสให้รอบรู้ รู้เท่ายิ่งขึ้น

สติ...ต้องกำกับรักษาจิตพยายามไม่ให้พลั้งเผลอสักขณะจิต รวมความว่ากลับยิ่งต้องระวังรักษาตัวทุกประการให้สมควรกับที่ได้มีวาสนาประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเห็น ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้ยินได้ฟัง

ระหว่างที่พำนักอยู่ในพม่าเช่นกัน ท่านได้เดินธุดงค์ไปหาที่วิเวก พบถ้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชัยภูมิสงัดลี้ลับห่างจากหมู่บ้านมาก การออกบิณฑบาตจากถ้ำที่ปรารภความเพียรไปหมู่บ้าน นั้นต้องใช้เวลาถึงเกือบสองชั่วโมง ไปกลับก็ร่วมสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักได้ฉันอาหาร แต่ท่านก็พอใจที่จะอยู่บำเพ็ญความเพียร ณ ที่นั้น ด้วยเป็นที่สงัด สัปปายะแก่การภาวนา บางวัน เวลาหากการบำเพ็ญเพียรเป็นไปอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ท่านก็พักการออกบิณฑบาตเป็นวันๆ ไป

ท่านเล่าว่า คืนวันหนึ่งพอจิตรวมสงบลงก็ปรากฏ พระมหากัสสปเถระเจ้า เหาะลอยลงมาข้างหน้าท่าน ท่านว่า เป็นภาพที่งดงามมาก ด้วยเห็นท่านเหาะมาแต่ไกลจนกระทั่งใกล้เข้ามาเห็นรัศมีแพรวพรายสว่างเรือนร่างของท่านค่อยเลื่อนลอยลงสู่พื้นแล้วค่อย ๆ นั่งลงตรงหน้าท่านด้วยความสงบเยือกเย็น ใบหน้าของท่านเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา แล้วก็มีปฏิสันถารกับหลวงปู่อย่างอ่อนโยน ท่านถามถึงธาตุขันธ์ของหลวงปู่ว่า พอเป็นไปไหวไหมกับการบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ที่น่าอนุโมทนาเช่นนี้

หลวงปู่เล่าว่า ท่านก้มลงกราบในนิมิตภาวนาด้วยความปีติตื้นตันใจ ดูเหมือนว่า การปฏิบัติการภาวนาของท่านจะอยู่ในสายตาของท่านผู้รู้โดยตลอด

เมื่อท่านกราบเรียนอย่างนอบน้อมถ่อมองค์แล้ว พระมหากัสสปะก็อนุโมทนาในกำลังศรัทธาของท่าน และแสดงธรรมเน้นหนักเรื่องธุดงควัตร เช่นที่พระพากุละได้เทศนาสั่งสอนหลวงปู่มาแล้ว ท่านยืนยันว่า ธุดงควัตรนั้นเองเป็นหลักของพระผู้มุ่งมั่นต่อความหลุดพ้นจากทุกข์ จริงอยู่ที่หลวงปู่ปฏิบัติอยู่นี้ ก็น่าสรรเสริญชมเชยอยู่แล้ว แต่ท่านก็ใคร่จะอธิบายประโยชน์เพิ่มเติมให้ส่งเสริมอุบายธุดงค์ให้ยิ่งขึ้นๆ ไป

ขอให้หลวงปู่ปฏิบัติอย่าย่อท้อ เพื่อเป็นแบบอย่างดำรงอริยมรรค อริยวัตร อริยประเพณี สืบต่อๆ ไป

นอกจากด้านธุดงควัตร ท่านยังเมตตาแสดงธรรมวินัยให้ฟังอย่างวิจิตรพิสดารอีกด้วย รวมทั้งปัญหาธรรมต่างๆ ที่หลวงปู่ติดข้องสงสัยด้วย

ท่านเล่าว่า จิตท่านดำรงอยู่ในสมาธิภาวนาระหว่างท่านพระมหากัสสปะ มาแสดงธรรมและสนทนาสั่งสอน เป็นเวลาเกือบสี่ชั่วโมงจิตจึงถอนออกมา หลังจากที่ท่านพระมหากัสสปะ ได้ลาจากท่านไป โดยเหาะกลับไปทางอากาศเช่นเดียวกับเมื่อเริ่มมา

ออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ก็นำธรรมะที่เพิ่งได้รับฟังสด ๆ ร้อน มาครุ่นคำนึง ทั้งปีติ ทั้งอาลัยระคนกัน

ปีติ...ด้วยได้มีโอกาสกราบไหว้พระขีณาสวเจ้าองค์สำคัญ ผู้เป็นบรมครูทางธุดงค์แห่งพุทธกาล สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญยิ่งนักว่า ท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เป็น เลิศในทางธุดงค์

_อาลัย...ด้วยนึกเสียดายไม่อยากจะให้ภาพพระอรหันตเจ้าผู้ยิ่งด้วยมหาการุณจะเลือนหายไปเลย

อย่างไรก็ดี ท่านได้ภาวนาต่อไปจนสว่าง มีความรู้สึกเอิบอิ่มปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก ธรรมทุกข้อที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงตักเตือนดูราวกับจะปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะข้อที่ท่านได้พยากรณ์เป็นเชิงให้กำลังใจแก่หลวงปู่นั้นท่านว่า ท่านรู้สึกดื่มด่ำชื่น มีกำลังใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติทำความเพียรโดยไม่ลดละเพราะมรรคผลนิพพานที่เคยรู้สึกว่าอยู่สูงลิบเหลือกำลังสอยนั้น ดูราวจะลอยล่ออยู่แค่เอื้อมนี่เอง...!!

นอกจากพระมหากัสสปะและพระพากุละ จะเมตตามาเยี่ยม กล่าวสัมโมทนียกถา เทศนาให้กำลังใจเสมอแล้ว ท่านเล่าว่ายังมีพระอรหันต์สมัยพุทธกาลอีกองค์หนึ่ง คือ พระอนุรุทธะมหาเถระเจ้า ก็ได้มาปรากฏองค์เยี่ยมท่านอยู่เป็นปกติ

•••••••••••
#อ้างอิงบรรณานุกรม : คัดลอกจากหนังสือฐานสโมบูชาฉบับสมบูรณ์ธรรมะประวัติ ธรรมเทศนา ปฏิปทา พระเดชพระคุณ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ; ผู้เขียนและเรียบเรียง คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ; พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ ; เมื่อ ๘ มกราคม ๒๕๕๙ ; หน้า ๑๔๓-๑๔๗


ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...