จงอย่าลืมว่าก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณจึงจะเห็นเหตุผลง่าย ๆ ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่านั่งนึกนอนนึก ในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้อะไรเลย
จงจำระเบียบไว้ให้ดีและปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้มข้าวต้มจะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก
1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
2. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
3. ภยตูปัฏฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
4. อาทินวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย
6. มุญจิตุกัมมยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
8. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่าควรวางเฉยในสังขาร
9. สัจจานุโลกมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง 8 เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ
ญาณทั้ง 9 นี้ ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ 1 ถึงญาณที่ 8 เท่านั้น ส่วนญาณที่ 9 นั้นเป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณาครบ 8 ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง 8 นั้นโดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไป ตั้งแต่ญาณที่ 1 ถึงญาณที่ 8 และพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ 8 ย้อนมาหาญาณที่ 1 จนกว่าจะเกิดเป็นเอกัคคตารมณ์ทุก ๆ ญาณ
และจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ คือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนเองหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์ร้อน ก็ไม่มีความทุกข์ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใด ๆ....
▪️1.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ▪️
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่าสังขารหมายถึงสิ่งที่เป็นรูปร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญญาณและวัตถุ ท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลย
พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้ชัด ดูตัวอย่างคนที่เกิดและตาย ของที่มีขึ้นและแตกทำลาย ดูแล้วเกิดคิดทบทวนมาหาตนและคนที่รักและไม่รัก ของที่มีชีวิตและไม่มี คิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้ และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหวในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ
ได้อะไรมาเห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พังไม่ช้ามันก็ทำลาย แม้แต่ร่างกายเราไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาลไม่มี รักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้จนอารมณ์ไม่กำเริบ แล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณที่ 2
▪️2.ภังคานุปัสสนาญาณ▪️
ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิดและความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติทุกวันเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คน สัตว์ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตามความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง
คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และค่อย ๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจากของใหม่ค่อย ๆ เก่าลง เป็นอาการของความสลายตัวทีละน้อย ค่อย ๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณาให้ชัดเจนแจ่มใสจนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์
▪️3. ภยตูปัฏฐานญาณ▪️
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติเป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขารเมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานาชนิดที่คอยเบียดเบียนเสียดแทงจนหาความปกติสุขไม่ได้
โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวนตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีกกินในบ้านก็แล้วกินนอกบ้านก็แล้ว อาหารราคาถูกก็แล้วราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของมัน
ฉะนั้นโรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้นคือโรคหิว โรคภัยต่าง ๆ มีขึ้นได้เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ความทุกข์อันเกิดจากภยันตรายจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ควรจะหาทางหลีกเลี่ยงสังขารต่อไป
▪️4. อาทินวานุปัสสนาญาณ▪️
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นโทษของสังขาร ความจริงญาณนี้น่าจะจัดรวมกับญาณที่ 3 เพราะอาการที่ทำลายนั้นเป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้นข้อนี้จึงไม่ต้องอธิบาย
▪️5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ▪️
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้วดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลาหรือว่าทุกลมหายใจเข้าออกก็ไม่ผิดนี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัยเพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติและทำลายในที่สุดประการหนึ่ง สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง
ฉะนั้นสังขารนี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของที่น่ารักน่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญา ความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติ ธาตุ 4 มาร่วมพิจารณาด้วยจะเห็นผลชัดเจนเกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน
▪️6. มุญจิตุกัมมยตาญาณ▪️
▪️ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้วจากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติ เป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บ จนเกิดความเบื่อหน่ายเพราะหาความเที่ยงความแน่นอนไม่ได้ ท่านให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น
เพราะถ้าไม่มีสังขารและความทุกข์ ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย การที่หาทางเบื่อหนายท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้ 1.ชรา 2.ชาติ 3.ภพ 4.อุปาทาน 5.ตัณหา 6.เวทนา 7.ผัสสะ 8.อายตนะ 9.นามรูป 10 .วิญญาณ 11.สังขาร
รวมความแล้วความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้นจนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชาความโง่เป็นสมุฏฐาน ฉะนั้นการที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออกด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอน จึงจะพ้นสังขารนี้ได้
▪️7.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ▪️
พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัดเพราะมีอาการซ้อน ๆ กันอยู่ ควรเอาปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา
▪️8.สังขารุเปกขาญาณ▪️
ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือร่างกายของตนเอง และสังขารภายนอก คือร่างกายของคนและสัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณ ที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม มีทุกข์มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่าธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิตสบายเป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหวเสียใจ น้อยใจ
▪️9.สัจจานุโลมิกญาณ▪️
พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่าสังขารที่เป็นแดนของความทุกข์เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่าสังขารมีทุกข์ประจำปกติไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกขสัจ จัดเป็นอริยสัจที่ 1
พิจารณาเห็นว่าทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัยตัณหาความทะยานอยาก 3 ประการ คืออยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้นไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยากทั้ง 3 นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา
ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับคือ "นิโรธ" เสียได้ จุดดับนั้นที่ท่านเรียกว่ามรรค 8 ย่อมรรค 8 ลงเหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นญาณปัญญา รู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง
หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และดับอารมณ์พอใจไม่พอใจเสียได้ ตัดอารมณ์พอใจในโลกีย์วิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ 4
ทำอย่างนี้คิดอย่างนี้ให้คล่องจนจิตครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ ชื่อว่าท่านได้วิปัสสนาญาณ 9 และอริยสัจ 4 แต่อย่าเพิ่งพอหรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไปจนตัดสังโยชน์ 10 ประการได้แล้ว...นั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดแล้ว
ที่มา
พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2531),86,131
Facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง
#สมัครสมาชิกนิตยสารธัมมวิโมกข์ได้ที่ ID Line : Thammavimok
(ภาพนี้ ที่สวนสาธารณะ ชื่อ มอตันอบอริตุ้ม กรีนวิลล์ เมืองชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ปี 2526)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น