09 มกราคม 2564

กรรมเหนือกรรม

เมื่อไม่ส่งจิตออกไปภายนอกเมื่อไหร่ กรรมในอกุศลทั้งหลายมันก็จะเข้ามาได้ยาก นั้นกรรมที่เป็นอกุศลภายในนั้นแลเราก็ย่อมมองเห็นได้ ดังนั้นสิ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอกุศลหรือกรรมชั่ว ชั่วช้าลามกอะไรก็ตามที แต่เมื่อเราได้มาเจริญพระกรรมฐานแล้ว ให้เรานั้นผ่อนปรนเสีย มีอภัยให้เกิดขึ้น มีเมตตาตนเสียก่อน ยังประโยชน์ให้จิตนั้นมันเกิดขึ้น ให้มันมีกำลังใจ เข้าใจมั้ยจ๊ะ

พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ดับขันธ์ไปแล้ว ล้วนแล้วไม่มีองค์ใดเลยรูปใดเลยที่ไม่เคยทำกรรมชั่ว ใช่มั้ยจ๊ะ เพราะถ้าไม่เคยทำกรรมชั่วทำอกุศลให้เกิด มันก็จะไม่รู้ได้ว่านั่นมันมีโทษอย่างไร แล้วความดีเป็นอย่างไร เข้าใจมั้ยจ๊ะ

นั้นกรรมที่มีเจตนาที่ล่วงรู้แล้วทำเจตนานั้นให้เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้เจตนาที่เป็นความชั่วนั้นเกิดขึ้นมาอีกนั้นแล มันจึงเรียกว่าเหนือกรรมนั้นเอง เช่นว่าโยมนั้น..ทางใดที่ทำไปแล้วทำให้ถึงเกิดนิโรธไปถึงทางแห่งมรรค ถึงทางดับทุกข์ นั่นเรียกว่า"กรรมเหนือกรรม" 

การเจริญสมาทานศีล เจริญภาวนาจิต อบรมอินทรีย์บ่มจิตนี้ให้เกิดขึ้นมีสติด้วยปัญญานั้นแล..เรียกว่าเป็นทางเดินแห่งมรรค หรือทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางว่าด้วยอะไร ก็คือการเจริญทาน อบรมบ่มจิตให้รู้จักการสละรู้จักการให้ ให้เข้าถึงศีลถึงความสงบตั้งมั่นในจิตในใจ ให้เข้าถึงปัญญา คือการมีภาวนาอบรมบ่มจิตพิจารณา ให้แจ้งในวิปัสสนาญาณ 

ญาณที่ยังกำจัดอาสวะกิเลสนั้นให้มันดับสูญไป แต่ถ้าเรายังไม่ถึงในญาณนั้น เราก็ต้องอบรมบ่มจิตให้มาก นั่นคือไปถอดถอนในอารมณ์ของขันธ์ ๕ นี่ให้มากๆ ว่าขันธ์ ๕ นี้มีทุกข์อย่างไร คือการไปเพ่งโทษให้มากๆ การเพ่งโทษในขันธ์ ๕ ทนทุกข์ให้มากๆ คือการละอารมณ์ ละให้ได้มากที่สุด เพราะหัวใจของกรรมฐานคือเพียรละ เมื่อละถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอารมณ์แล้ว จิตมันก็สงบจิตมันก็ว่าง นั่นแลเรียกว่าเราเข้าถึงพุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

แต่เมื่อพุทโธเกิดขึ้นแล้ว..ก็เอาพุทโธนั่นแลไปอบรมบ่มจิต ไปอบรมบ่มจิตไปอบรมที่ไหน..กาย กายานุสตินี้แลเราอบรมเรียนรู้มันให้มากๆ เพราะที่เราไปหลงกายอยู่นี้ไปหลงอะไร..หลงหนัง หนังเมื่อไม่มีห่อหุ้มกายแล้วจะเป็นอย่างไร ใต้ผิวหนังเรามีอะไร มีน้ำเลือดน้ำหนอง ก็เพ่งพิจารณาดูธาตุสีสันวรรณะน้ำเลือดน้ำหนอง ก็ให้พิจารณาอย่างนี้ 

ถ้าเราพิจารณาได้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเห็นสภาวะความไม่เที่ยงนั่นแล ก็ให้เราพิจารณาให้เห็นอยู่บ่อยๆ จะทำให้จิตเรานั้นคลายจากความกำหนัดความยึดมั่นถือมั่นในกาย แม้เรายังมีหลงรูปพอใจ..มันก็เป็นธรรมดาในขณะจิตที่เรานั้นออกจากสมาธิ ออกจากฌานเสียแล้ว มันก็จึงเป็นวิสัยของมนุษย์ธรรมดา

แต่เมื่อในขณะที่เราเจริญกรรมฐาน เราต้องน้อมจิตให้เข้าถึง..เพื่ออะไร เพื่ออบรมบ่มจิตเรานั้นแล เมื่อเราเห็นโทษเห็นภัยมันมากเข้าแล้ว มันจะละรูปละความพอใจของมันไปในตัวทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้นไม่ต้องถามว่าการเจริญพระกรรมฐานนี้มันจะสิ้นสุดอย่างไร กิเลสมันจะดับสลายไปตอนไหน..ไม่ต้องไปถามหามัน มันจะทำให้อุปาทานแห่งขันธ์เกิดขึ้น 

แต่เมื่อเราทำอยู่บ่อยๆ ละมันอยู่บ่อยๆในขณะนี้ ทำตอนนี้นั่นแล มันจะเป็นผู้บอกเองว่าเราจะละได้มากเท่าไหร่ การเจริญกรรมฐานจะรู้ได้อย่างไรว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร ดูซิว่าโกรธน่ะมันลดลงมั้ย โลภน่ะมันลดลงมั้ย ไอ้ราคะมันเหลือน้อยมั้ย ถ้า ๓ ตัวนี้พิจารณาแล้ว เพ่งดูแล้วด้วยจิตด้วยญาณแล้วมันน้อยลง..

ถ้ามันน้อยลงสติของเรานั้นจะควบคุมมันได้ แต่ถ้ามันมากเหมือนความเร็วของรถ ถ้ามันเร็วจนเกินไปเราจะควบคุมมันยาก ถ้าเราขับพอประมาณอยู่ในวิถีสติของเรากำลังของเราในความสามารถ เราก็จะบังคับบังเหียนมันได้ เท่าทันมันได้ในสตินั้น คือไม่ประมาท อันนี้ก็เช่นกันว่าสิ่งที่เรามาเจริญกรรมฐาน บุญกุศลที่เรามีอยู่มันพัฒนาอย่างไร..

ถ้าสิ่งไหนลด..คุณธรรม ภูมิธรรมมันก็เพิ่ม ถ้าสิ่งไหนมันเสื่อม..คุณธรรม ภูมิธรรมเราก็ลด ก็ให้พิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องไปถามครูบาอาจารย์ไหนๆว่าฉันนั้นสำเร็จขั้นไหนแล้ว ได้ภูมิธรรมอะไร ไม่ต้องไปถามหาขั้น เพราะบุคคลประพฤติปฏิบัติไปแล้วจะรู้ด้วยจิตตัวเอง 

หากไอ้โมหะ โทสะ โลภะ พญามาร ๓ ตัวนี้โยมสามารถควบคุมและลดมันลงไปได้ เหมือนเราลดน้ำตาลเบาหวานมันก็ลด หากเราสามารถลดมันได้ควบคุมมันได้ ทีนี้แล้วเมื่อเรากำหนดรู้อยู่บ่อยๆมันก็เป็นประโยชน์ เราจะได้รู้ว่าทางเดินที่เราจะออกจากทุกข์น่ะมันอีกไกลแค่ไหน ความเพียรเราต้องมีมากแค่ไหน

ดังนั้นทุกข์เวทนาเค้าไม่ให้มาเป็นทุกข์ แต่เค้าให้รู้ทุกข์ ทีนี้โยมรู้ถึงที่สุดหรือยัง บางคนยังไม่รู้ถึงที่สุด..ว่าเจ็บนิดก็ทนไม่ได้ เมื่อเรายังไม่มีการข่มเวทนาหรือข่มอารมณ์ นี่เรียกว่าการสะกดวิญญาณ ถ้าเราไม่รู้จักการสะกดวิญญาณ..วิญญาณมันก็จะเฮี้ยนอยู่อย่างนั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ เพราะอารมณ์มันจะพลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา 

ดังนั้นเวทนาเกิดขึ้นก็ดี ความไม่พอใจนิดๆหน่อยๆก็ดี เราต้องรู้จักข่มจิตคือข่มอารมณ์ ต้องทำใจให้ได้ก่อนว่าเราทำไปเพื่ออะไร เรากำลังทำอะไรอยู่ มันต้องรู้ใจตัวเองก่อนถึงจะไปรู้อารมณ์ แล้วถึงจะไปรู้สภาวะจิตได้ ถ้าเราไม่รู้จักข่มจิตข่มใจเสียเลย หิริโอตัปปะมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันไม่สามารถหนีออกจากเราไปได้แน่นอน มันก็จะเกาะบุญเกาะกุศล ทำให้เราหลงฤทธิ์หลงเดช หลงตัวหลงตน เข้าใจมั้ยจ๊ะ 

นั้นเราต้องเปลี่ยนเทวดาที่อยู่กับเราเสีย..ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็เปลี่ยนอะไรเล่าถึงจะเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนจากตัวเรา เปลี่ยนจากต้นกำเนิดตัวเรา ให้เรามีศีล ให้เรามีหิริโอตัปปะ ให้เรามีความเกรงกลัวต่อบาป สิ่งไหนที่เรามีโอกาสที่จะทำชั่วได้โดยที่ไม่มีใครเห็นก็ตาม..แต่เราไม่ทำ นั่นแลเค้าเรียกว่าบารมี มีขันติธรรม นั้นก็ค่อยๆฝึกไปทีละเล็กทีละน้อยมันจะมากไปเอง 

ต้องอย่าลืมว่าทีละเล็กทีละน้อย..บุญที่ทำแล้ว กรรมชั่วก็ดีที่ทำแล้วแม้เพียงเล็กน้อย..ไม่มีทางหายไปเลย ยังคงอยู่เป็นรอย เข้าใจมั้ยจ๊ะ เมื่อขีดไปแล้วจะว่าไม่มีรอยเป็นไปไม่มี บุญก็เช่นเดียวกัน เมื่อกระทำขึ้นมาแล้วจะว่าเป็นผลเล็กน้อยแล้วว่าไม่เป็นผล..ก็เป็นไปไม่มี แต่เมื่อเราทำมากๆมันจะสะสม ก็เหมือนกรรมในอดีตเราไม่รู้ได้ว่าเราทำมามากเพียงใด เข้าใจมั้ยจ๊ะ

หากเราไม่ทำบุญกุศลเลยในปัจจุบันนั้นเพื่อผดุงไว้ กรรมในอดีตมันก็อาจจะตามมาให้ผลตอนไหนก็ได้ แต่ถ้าเราทำกรรมในปัจจุบันนั้นเป็นกรรมดีอยู่บ่อยๆมีกำลังมาก แม้กรรมในอดีตมันจะตามมาให้ผลก็ดี แต่กรรมในปัจจุบันมันยังสามารถพยุงไว้ได้ คือไม่ให้ตกไม่ให้ต่ำไปกว่านี้ เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...