โดย หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร
"อรรถกถาอุทายีสูตรที่ ๙ และอรรถกถาสมาธิสูตร
ที่ ๑"
เราไม่ต้องไปพูดขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นั่นมันเป็นการสมมติส่วนหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริงแล้วเมื่อจิตของเราแน่วแน่ เราอยากจะเข้าจิตเมื่อไรก็เข้าได้ อย่างนั้นใช้ได้แล้ว ไม่ต้องไปสมมติอะไรให้มันยาก เมื่อถึงเวลาทำสมาธิ พอขัดสมาธิเสร็จจิตก็ลงไปเลย ก็ใช้ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเกิดความชำนาญ หรือเรียกว่าเป็นสมาธิเข้าขั้น
จิตที่เป็นสมาธิเข้าขั้นนั้นมีการทดสอบได้ เราจะทดสอบด้วยตนเองเมื่อไรก็ได้ เราทดสอบจิตของเราว่า จิตของเราอยู่ในขั้นที่มีกระแสจิตแล้วหรือยัง ถ้ามีกระแสจิตแล้วหลับตาก็มองเห็น ถ้าไม่มีกระแสจิตหลับตามันก็เท่านั้น กระแสจิตนั้นก็คือกระแสธรรม เป็นกระแสที่ได้รับจากพลังของจิต ก็เหมือนกันกับพลังไฟฟ้า พลังแสงอาทิตย์ ที่มันบังเกิดขึ้นมีแสงสว่างออกไป ถ้าไม่มีกำลัง ไม่มีพลัง แสงเหล่านั้นก็ออกมาไม่ได้
เมื่อจิตของเราเกิดพลังขึ้นมา เราก็จะได้รู้ว่า จิตของเรามีกระแสจิตแล้ว หลับตาทดสอบดูอะไรก็ได้
จะพิจารณาดูกะโหลกศีรษะหรือจะพิจารณาดูกระดูกซี่โครงก็ได้ หรือจะพิจารณาดูหมดทั้งตัวว่ามันตายไปก็ได้ จะเป็นตัวเราก็ได้ตัวคนอื่นก็ได้ หรือเราจะมองดูกระดูกที่ถูกเผาไฟแล้วทั้งหมด ถ้าเรามองไปยังไม่เห็นก็ถือว่า จิตนั้นยังไม่มีกระแสจิต
คำที่ว่าเห็นนั้นมันชัดแจ้ง มันไม่เหมือนกันกับเราลืมตามอง เพราะเราลืมตามองมันเป็นตาหนังหรือเรียกว่า ตาสมมติ มองดูกระดูกก็อย่างนั้น มองดูเนื้อหนังก็อย่างนั้น มันเป็นเพียงสื่อสัมพันธ์เท่านั้นสำหรับตานอกที่เรียกว่า ดวงตาของเรานี้
***** แต่ส่วนกระแสจิตหรือเรียกว่า "ดวงตาใน" นั้นเรามองชัดลงไปด้วยความสามารถแห่งปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นนิมิตที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ เราสร้างขึ้นมาเป็นกะโหลกศีรษะ โครงกระดูก หรืออะไรเราก็สร้างขึ้นมาได้ ถ้าสร้างขึ้นมาได้เช่นนั้นแล้ว เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ผู้นั้นมีกำลังจิตสูงจริงๆ
***** #อันนี้บอกเอาไว้เผื่อใครทำได้คนนั้นก็จะได้ทำให้ก้าวหน้าต่อไป เผื่อว่าใครยังทำไม่ได้ก็ให้รู้ไว้ว่า กระแสจิตเกิดขึ้นจากพลังของจิต และเป็น "ดวงตาทิพย์" ดวงตาทิพย์นี้เป็นดวงตาทิพย์ที่มีประสิทธิภาพ คือ สามารถมองดูเห็นชัด
สำหรับผู้ที่มีสมาธิแก่กล้า เช่น พวกฤาษีต่างๆ จะทำสมาธิเพื่อฤทธิ์เดช เพื่อจะเป็นการแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ เขาทำเพื่อให้มันพิเศษๆไป อย่างนั้นมันเป็นจุดประสงค์ของพวกฤาษี แต่จุดประสงค์ของพระพุทธศาสนานั้น ไม่เหมือนกันกับจุดประสงค์ของฤาษี จุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา ต้องการกำจัดกิเลสให้สิ้นไปจากจิตโดยสิ้นเชิง
***** แต่หากว่าพวกฤาษีเหล่านั้น ต้องการอยากจะทำกิเลสให้หมด ฤาษีก็ทำได้ง่ายกว่าพวกเรา เพราะมีเครื่องมือครบแล้ว ( คือ พลังจิตสูง , ฌาน 4 และอภิญญา 5 ) พร้อมที่จะทำลายกิเลสได้ทุกเมื่อ...
มีพวกฤาษีประมาณห้าร้อยตนออกจากป่าหิมพานต์ มานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งในต้นไม้นั้นมีปราสาทเทวดาอยู่ข้างบน
ฤาษีได้ยินเทวดาเล่าว่า มีพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้ว ก็อยากจะไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า จึงได้ลาเทวดา แล้วก็พากันเหาะจากสถานที่นั้นไปยังวัดพระเชตวัน เมื่อเหาะไปถึงแล้วก็ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
***** พระองค์แนะวิปัสสนาให้นิดเดียวเท่านั้น ให้พิจารณาไตรลักษณ์ คือ ให้พิจารณา อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ พิจารณาเพียงเท่านี้ชั่วโมงเดียวฤาษีทั้งห้าร้อยก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสไปได้
ฤาษีเหล่านั้นแต่ก่อนทำไมถึงไม่สำเร็จ ก็เพราะว่าไม่รู้จักวิปัสสนา จึงไม่เกิดความสำเร็จขึ้น ทำไมฤาษีจึงเหาะได้ ก็เพราะฤาษีมีฌาน แต่เป็นโลกียฌาน แล้วทำไมฤาษีเหล่านั้นจึงแสดงฤทธิ์ได้จนกระทั่งเศรษฐีต่างๆ พากันเลื่อมใส ก็เพราะว่าฤาษีเหล่านั้นได้บำเพ็ญฌานสำเร็จแล้ว แต่ฌานที่ได้สำเร็จแล้วนั้นไม่ใช่ว่ากิเลสจะหมดไปด้วย เพราะพวกฌานต่างๆ นั้นไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสได้ ไม่เหมือนกับวิปัสสนา
***** เพราะฉะนั้นฤาษีทั้งห้าร้อยนั้น เมื่อไปฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงไตรลักษณ์ ฤาษีทั้งห้าร้อยก็สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีพลังจิตอยู่พร้อมแล้ว
พระราชธรรมเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินธโร)
ท่านแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า
1. แต่ส่วนกระแสจิตหรือเรียกว่า ดวงตาใน นั้นเรามองชัดลงไปด้วยความสามารถแห่งปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นนิมิตที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ เราสร้างขึ้นมาเป็นกะโหลกศีรษะ โครงกระดูก หรืออะไรเราก็สร้างขึ้นมาได้ ถ้าสร้างขึ้นมาได้เช่นนั้นแล้ว เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ผู้นั้นมีกำลังจิตสูงจริงๆ
2. อันนี้บอกเอาไว้ เผื่อใครทำได้คนนั้นก็จะได้ทำให้ก้าวหน้าต่อไป เผื่อว่าใครยังทำไม่ได้ก็ให้รู้ไว้ว่า กระแสจิตเกิดขึ้นจากพลังของจิต และเป็น ดวงตาทิพย์ ดวงตาทิพย์นี้เป็นดวงตาทิพย์ที่มีประสิทธิภาพ คือ สามารถมองดูเห็นชัด
3. เมื่อจิตของเราเกิดพลังขึ้นมา เราก็จะได้รู้ว่า จิตของเรามีกระแสจิตแล้ว หลับตาทดสอบดูอะไรก็ได้ จะพิจารณาดูกะโหลกศีรษะหรือจะพิจารณาดูกระดูกซี่โครงก็ได้ หรือจะพิจารณาดูหมดทั้งตัวว่ามันตายไปก็ได้ จะเป็นตัวเราก็ได้ตัวคนอื่นก็ได้ หรือเราจะมองดูกระดูกที่ถูกเผาไฟแล้วทั้งหมด
*********
จากทั้ง 3 ข้อความที่คัดมานี้ แสดงอย่างชัดเจนที่สุดว่า พระครูบาอาจารย์ท่านก็ใช้ ฤทธิ์คือ ดวงตาทิพย์ในการเจริญมหาสติปัฏฐานและวิปัสสนา
**********
การฝึกเจริญมหาสติปัฏฐานและวิปัสสนามีหลายวิธี สามารถทำได้ทั้ง นอกฌานหรืออยู่ในฌาน ดังนั้นวิธีของแต่ละท่านก็อาจแตกต่างกันไป
- ผู้ที่มีอัธยาศัยแบบสุกขวิปัสสโก หลายท่านก็จะฝึกนอกฌาน (จิตยังมีนิวรณ์ 5 อยู่)
***** ผู้ที่มีอัธยาศัยแบบวิชชา 3 หรือ อภิญญา 6 หลายท่านก็จะฝึก ในฌาน หรือ ใช้ฤทธิ์ (เช่น ดวงตาทิพย์ เป็นต้น) เพราะท่านเห็นว่า การฝึกในฌาน หรือ ใช้ฤทธิ์ นั้นเป็นการฝึกในขณะที่จิตปราศจากนิวรณ์ 5 อย่างแท้จริง ดังนั้นการที่จะตัดกิเลสและบรรลุธรรมย่อมเป็นไปได้ง่ายมากๆอย่างยิ่ง
สมดังข้อความ (2 บรรทัดสุดท้าย) ที่ว่า เพราะฉะนั้นฤาษีทั้งห้าร้อยนั้น เมื่อไปฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงไตรลักษณ์ ฤาษีทั้งห้าร้อยก็สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีพลังจิตอยู่พร้อมแล้ว
ขอท่านสมาชิกทั้งหลายพึงพิจารณาเนื้อความเหล่านี้ ด้วยจิตอันบริสุทธิ์เป็นกลางอย่างแท้จริง แล้วท่านจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่จากคำสอนของพระครูบาอาจารย์ เพื่อจะได้นำไปใช้เจริญวิปัสสนาได้อย่างถูกทางและถูกต้อง ต่อไปด้วยเทอญ
{ คัดลอกมาจาก : หนังสือ คุณค่าของชีวิต : ธรรมเทศนาแนวทางการปฏิบัติธรรม(หัวข้อ : สมาธิวิสุทธิ) โดย พระราชธรรมเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินธโร) หน้าที่ 91 92 พิมพ์ครั้งที่ 2 /2543 ของ วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ }
โดย...พระราชธรรมเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินธโร)
............................................................................
อรรถกถาอุทายีสูตรที่ ๙
พึงทราบวินิจฉัยในอุทายีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อุทายี ได้แก่ พระโลฬุทายีเถระ.
บทว่า สุณามหํ อาวุโส ความว่า ดูก่อนอาวุโส เราไม่ใช่คนใบ้ เราได้ยินพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เรายังใคร่ครวญปัญหาอยู่.
บทว่า อธิจิตฺตํ ได้แก่ สมาธิจิตและวิปัสสนาจิต.
บทว่า อิทํ ภนฺเต อนุสฺสติฏฺฐานํ ความว่า เหตุแห่งอนุสติ กล่าวคือฌานทั้ง ๓ นี้.
บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาราย สํวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การอยู่เป็นสุข ในอัตภาพนี้เท่านั้น.
บทว่า อาโลกสญฺญํ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นในอาโลกนิมิต.
บทว่า ทิวา สญฺญํ อธิฏฺฐาติ ได้แก่ ตั้งสัญญาไว้ว่า กลางวัน.
บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า ในเวลากลางวัน เธอมนสิการอาโลกสัญญาโดยประการใด แม้ในเวลากลางคืน ก็มนสิการอาโลกสัญญานั้น อย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า ยถา รตฺตึ ตถา ทิวา ความว่า ในเวลากลางคืน เธอมนสิการอาโลกสัญญาอย่างใด แม้ในเวลากลางวัน ก็มนสิการอาโลกสัญญานั้นอย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า วิวเฏน ได้แก่ ปรากฏแล้ว. บทว่า อปริโยนทฺเธน ความว่า จะถูกนิวรณ์รึงรัดไว้ก็หาไม่.
บทว่า สปฺปภาสํ จิตฺตํ ภาเวติ ความว่า เพิ่มพูนจิตพร้อมด้วยแสงสว่าง คือยังจิตนั้นให้เจริญ เพื่อประโยชน์แก่ทิพยจักษุญาณ.
ก็คำใดที่พระอานนทเถระเจ้ากราบทูลว่า อาโลกสญฺญํ มนสิ กโรติ คำนั้นพึงเข้าใจว่า ท่านกล่าวหมายเอาอาโลกสัญญาที่กำจัดถีนมิทธะออกไป ไม่ควรเข้าใจว่า หมายเอาอาโลกสัญญา คือทิพยจักณุญาณ.
บทว่า ญาณทสฺสนปฺปฏิลาภาย ความว่า เพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ กล่าวคือทิพยจักษุ.
บรรดาคำมีอาทิว่า อิมเมว กายํ คำใดที่จะพึงกล่าว คำนั้นทั้งหมดข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วโดยพิสดาร โดยอาการทุกอย่าง ในตอนว่าด้วยกายคตาสติกัมมัฏฐาน ในวิสุทธิมรรค.
บทว่า กามราคสฺส ปหานาย ความว่า เพื่อต้องการละราคะที่เกิดขึ้นจากเบญจกามคุณ.
บทว่า เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย ความว่า พึงเห็นฉันใด.
บทว่า สรีรํ ได้แก่ สรีระของผู้ที่ตายแล้ว.
บทว่า สีวถิกาย ฉทฺฑิตํ ได้แก่ ร่างกายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า.
ซากศพชื่อว่า เอกาหมตํ เพราะเป็นซากของสัตว์ที่ตายแล้ววันเดียว.
ชื่อว่า ทฺวีหมตํ เพราะเป็นซากของสัตว์ที่ตายแล้ว ๒ วัน.
ชื่อว่า ตีหมตํ เพราะเป็นซากของสัตว์ที่ตายแล้ว ๓ วัน.
ร่างสัตว์ชื่อว่า อุทธุมาตะ เพราะหลังจากสิ้นชีวิตแล้วจะพองขึ้นพองขึ้น โดยอืดขึ้นไปตามลำดับเหมือนเป่าด้วยลม. อุทธุมาตกะก็คืออุทธุมาตะนั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ซากศพที่พองขึ้นๆ อย่างน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอุทธุมาตกะ.
ซากศพที่มีสีเปลี่ยนแปลงไป ท่านเรียกว่า วินีละ. วินีละก็คือวินีละ นั่นเอง.
อีกอย่างหนึ่ง ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำจนน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวินีลกะ
คำว่า วินีลกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่มีสีแดงในที่ที่มีเนื้อนูนขึ้น มีสีขาวในที่ที่กลัดหนอง และโดยมากก็มีสีเขียว เหมือนห่อด้วยผ้าสีเขียวในที่ที่เขียว.
ซากศพที่มีหนองไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ แห่งซึ่งเป็นที่ปะทุออก ชื่อว่าวิปุพพะบ้าง. วิปุพพกะก็คือวิปุพพะ นั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ซากศพที่มีหนองไหลออกอย่างน่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิปุพพกะ. ซากศพที่กลายเป็นศพมีหนองไหลคือถึงความเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิปุพพกชาตะ.
บทว่า โส อิมเมว กายํ ความว่า ภิกษุนั้นน้อมนำกายของตนนี้เข้าไปเปรียบเทียบกับกายนั้นด้วยญาณ.
เปรียบเทียบอย่างไร?
เปรียบเทียบว่า ถึงแม้กายนี้แหละก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา จะเป็นอย่างนี้ ล่วงอย่างนี้ไปไม่ได้. มีคำอธิบายว่า เพราะธรรมทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ คืออายุ ไออุ่นและวิญญาณมีอยู่. กายนี้จึงควรแก่อิริยาบถมีการยืนได้ เดินได้เป็นต้น แต่เพราะปราศจากธรรมทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ แม้ร่างกายนี้จะมีสภาพอย่างนี้เป็นธรรมดา คือมีสภาพเปื่อยเน่าอย่างนี้หมือนกัน.
บทว่า เอวํ ภาวี ความว่า จักมีความแตกต่างโดยเป็นซากศพที่ขึ้นพองเป็นต้น อย่างนี้เหมือนกัน.
บทว่า เอวํ อนตีโต ความว่า จะไม่ล่วงความเป็นศพขึ้นพองอย่างนี้ไปได้.
บทว่า ขชฺชมานํ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมีกาเป็นต้น เกาะที่ท้องเป็นต้น แล้วจิกกินเนื้อท้อง ริมฝีปาก ลูกตาเป็นต้น.
บทว่า สมํสโลหิตํ ได้แก่ ซากศพที่ประกอบด้วยเนื้อและเลือดที่ยังเหลือติดอยู่.
บทว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ ความว่า ถึงเนื้อจะหมดไปแล้ว โลหิตก็ยังไม่เหือดแห้ง.
คำว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ นี้ ท่านกล่าวไว้หมายถึง ซากศพที่หมดเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือดนั้น.
บทว่า อญฺเญน ความว่า โดยทิศทางอื่น.
บทว่า หตฺถฏฺฐิกํ ความว่า กระดูกมือถึงแยกออกเป็น ๖๔ ชิ้น ก็กระจัดกระจายแยกกันไป.
แม้ในกระดูกเท้าเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า เตโรวสฺสิกานิ ความว่า กระดูกทั้งหลายที่ทิ้งไว้เกิน ๑ ปี.
บทว่า ปูตีนิ ความว่า กระดูกที่ตั้งอยู่กลางแจ้งเกิน ๑ ปีนั่นแหละจะผุเพราะถูกลม แดดและฝนชะ แต่กระดูกที่ฝังอยู่ในแผ่นดิน จะอยู่ได้นาน.
บทว่า จุณฺณกชาตานิ ได้แก่ กระจัดกระจายเป็นผุยผงไป.
ในทุกๆ บทต้องทำการประกอบความด้วยสามารถแห่งสัตว์ทั้งหลายมีสัตว์จิกกินเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วว่า โส อิมเมว ดังนี้.
บทว่า อสฺมิมานสมุคฺฆาตาย ความว่า เพื่อต้องการถอนมานะ ๙ อย่างอันเป็นไปแล้วว่าเรามีดังนี้.
บทว่า อเนกธาตุปฏิเวธาย ความว่า เพื่อต้องการแทงตลอดธาตุ มีอย่างมิใช่น้อย.
บทว่า สโตว อภิกฺกมติ ความว่า เมื่อจะเดินก็เป็นผู้ประกอบไปด้วยสติสัญญาเดินไป.
บทว่า สโตว ปฏิกฺกมติ ความว่า เมื่อจะถอยกลับก็ประกอบไปด้วยสติปัญญา ถอยกลับ.
แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สติสมฺปชญฺญาย ความว่า ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความระลึกได้และความรู้.
ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติและญาณคละกันไป ด้วยประการฉะนี้แล.
จบอรรถกถาอุทายีสูตรที่ ๙
............................................................................
อาโลกสัญญา ทิพยจักษุญาณ
"ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดวัตถุ ย่อมกำหนดอารมณ์ เพราะภิกษุนั้นกำหนดวัตถุและอารมณ์แล้ว เวทนาที่รู้อย่างนี้ว่าเวทนาเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าตั้งอยู่ ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป. แม้ในสัญญาและวิตกก็นัยนี้เหมือนกัน"
บทว่า ญาณทสฺสนปฏิลาภาย ความว่า เพื่อได้ญาณทัสนะคือทิพยจักษุ.
บทว่า ทิวา สญฺญํ อธิฏฺฐาติ ความว่า ย่อมตั้งความกำหนดหมายอย่างนี้ว่ากลางวัน ดังนี้.
บทว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า ทำในใจถึงอาโลกสัญญาความกำหนดหมายว่าแสงสว่างในเวลากลางวันฉันใด ย่อมทำในใจถึงอาโลกสัญญานั้น แม้ในกลางคืนก็ฉันนั้นนั่นแหละ.
แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า สปฺปภาสํ ได้แก่ มีแสงสว่างคือทิพยจักษุญาณ แม้ทำจิตให้เป็นเสมือนแสงสว่างได้แล้วก็จริง ถึงกระนั้น บัณฑิตก็พึงกำหนดเนื้อความอย่างนี้. แต่ในที่นี้ท่านประสงค์แสงสว่างคือทิพยจักษุญาณ.
บทว่า วิทิตา ได้แก่ ปรากฏแล้ว.
ถามว่า อย่างไร เวทนาที่รู้แล้ว ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป.
ตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกำหนดวัตถุ ย่อมกำหนดอารมณ์ เพราะภิกษุนั้นกำหนดวัตถุและอารมณ์แล้ว เวทนาที่รู้อย่างนี้ว่าเวทนาเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้ว ชื่อว่าตั้งอยู่ ที่รู้แล้ว ชื่อว่าดับไป. แม้ในสัญญาและวิตกก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อุทยพฺพยานุปสฺสี แปลว่า พิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อม.
บทว่า อิติ รูปํ ความว่า รูปเป็นอย่างนี้ รูปมีเท่านี้ รูปอื่นนอกนี้ไม่มี.
บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ความว่า ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้.
ส่วนบทว่า อตฺถงฺคโม ท่านหมายถึงความแตกดับ.
แม้ในเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อิทญฺจ ปน เม ตํ ภิกฺขเว สนฺธาย ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำเป็นต้นว่า สงฺขาย โลกสฺมิ ใด เรากล่าวแล้ว ในปุณณกปัญหา (โสฬสปัญหา). คำนั้นเรากล่าวหมายถึงผลสมาบัตินี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขาย ได้แก่ รู้ด้วยญาณ.
บทว่า โลกสฺมิ ได้แก่ ในโลกคือหมู่สัตว์.
บทว่า ปโรปรานิ ได้แก่ ความยิ่งและหย่อน คือสูงและต่ำ.
บทว่า อิญฺชิตํ ได้แก่ ความหวั่นไหว.
บทว่า นตฺถิ กุหิญฺจิ โลเก ความว่า ความหวั่นไหวของผู้ใด ในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะในขันธ์หนึ่งก็ดี อายตนะหนึ่งก็ดี ธาตุหนึ่งก็ดี อารมณ์หนึ่งก็ดี ย่อมไม่มีในโลก.
บทว่า สนฺโต ความว่า ผู้นั้นเป็นคนสงบ เพราะสงบกิเลสที่เป็นข้าศึก.
บทว่า วิธูโม ความว่า เป็นผู้ปราศจากกิเลสดุจควัน เพราะควันคือความโกรธ.
ในพระสูตรนี้ ตรัสถึงเอกัคคตาในมรรค ในคาถาตรัสผลสมาบัติอย่างเดียวด้วยประการฉะนี้แล.
จบอรรถกถาสมาธิสูตรที่ ๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น