วันนี้วันที่ ๓๑ มกราคมเป็น “วันพระบูรพาจารย์ ภูริทัตตเถรานุสรณ์” คือวันคล้ายวันประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน ครบ ๖๙ ปี ทุก ๆ วันที่ ๓๑ มกราคมนี้คณะพระกัมมัฏฐานจะมารวมรำลึกอาจาริยบูชาคุณท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งเป็นปัจฉิมสถานที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. ขณะมีอายุ ๘๐ ปี พรรษา ๕๖ ภายหลังจึงได้มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตรงบริเวณกุฏิที่องค์ท่านมรณภาพ และเมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ ได้มีพิธีประชุมเพลิงสรีระสังขารท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งภายหลังได้มีการก่อสร้างพระอุโบสถ ในบริเวณที่ประชุมเพลิงนั่นเอง คณะสงฆ์ศิษยานุศิษย์ จึงได้กำหนดวันที่ ๓๑ มกราคมของทุก ๆ ปี เป็น “วันบูรพาจารย์”
ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ยังไม่มีพระมหาเถระรูปใดจะยิ่งใหญ่ด้วยวัตรปฏิบัติปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยศีลธรรม มีอำนาจจิตยิ่งใหญ่ครอบโลกธาตุ เป็นที่เคารพบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้มากมายถึงเพียงนี้ พระอรหันต์ในประเทศไทย ล้วนเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แทบทั้งนั้น
เดิมท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปรารถนาพุทธภูมิ แต่ด้วยเห็นว่าจะเป็นการเนิ่นช้า จึงถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นเป็นพระอรหันต์ในปัจจุบันชาติ ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ถ้ำดอกคำ ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว เชียงใหม่ จากนั้นธุดงค์ไปยังดอยนะโม ท่านได้พูดกับหลวงปู่ขาวว่า "ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตะกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น"
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถือธุดงค์ ทรงผ้าบังสกุลตลอดชีวิต ออกธุดงค์ไปทางภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ ข้ามไปลาว เขมร พม่า ได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ชอบอยู่รุกขมูลตามถ้ำ ตามราวป่าลึก ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง อาศัยบิณฑบาตกับชาวป่าชาวเขา
ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต "ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ คือ
๑. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบจนกระทั่งถึง วัยชรา จึงได้พักผ่อน ให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาตกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาต มาฉัน เป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียว เป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ
ปัจฉิมวัย
ในวัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมาท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถ ไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง ( ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ ) บ้าง ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"
ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน
"..พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการ ให้ท่องในใจอยู่เสมอว่าเรามีความ แก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน.." โอวาทธรรมคำสอนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาล ไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราวแต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทยอยกันเข้ามา ปรนนิบัติ พยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ
วาระนิพพาน ณ วัดป่าสุทธาวาส
หลังจากที่ท่านพักอาพาธที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ๑๑ วันแล้ว คณะศิษย์นุศิษย์ได้อาราธนาองค์หลวงปู่มั่นนอนในเปลพยาบาลแล้วนำท่านขึ้นรถเพื่อมาพัก ณ วัดป่าสุทธาวาส ออกเดินทางแต่เช้าจากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ ๑๒ นาฬิกา เพราะทางหินลูกรังกลัวจะกระเทือนมาก ท่านฯ ก็หลับมาตลอด นำท่านฯ ขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มีท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่านฯ ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอนท่านฯ จะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางศรีษะของท่านฯ
เวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. เศษ ท่านฯ รู้สึกตัวตื่นตื่นขึ้นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือ ๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านฯ ประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ
เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า ( พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อย ๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่านฯ ก็เลยหยุด ท่านฯ ก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไปไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉย ๆ ด้วยอาการอันสงบ
ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้นไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต" ไว้ว่า "... องค์ท่าน เบื้องต้นนอนสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยเลยค่อย ๆ ดึงหมอนที่หนุนอยู่ ข้างหลัง ท่านออกนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านรู้สึกก็พยายามขยับตัวกลับคืนท่าเดิม แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะหมดกำลัง พระอาจารย์ใหญ่ก็ช่วยขยับหมอนที่หนุนหลังท่านเข้าไป แต่ดูอาการท่านรู้สึกเหนื่อยมาก เลยต้องหยุด กลัวจะกระเทือน ท่านมากไป ดังนั้น การนอนท่านในวาระสุดท้ายจึงเป็นท่าหงายก็ไม่ใช่ ท่าตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นเพียงท่าเอียงๆ อยู่เท่านั้น เพราะสุดวิสัย ที่จะแก้ไขได้อีก
อาการท่านกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บรรดาศิษย์ซึ่งโดยมากมีแต่พระกับเณร ฆราวาสมีน้อย ที่นั่งอาลัยอาวรณ์ ด้วยความหมดหวังอยู่ขณะนั้น ประหนึ่งลืมหายใจไปตาม ๆ กัน เพราะจิตพะว้าพะวังอยู่กับอาการท่าน ซึ่งกำลังแสดง อย่างเต็มที่ เพื่อถึงวาระสุดท้ายของท่านอยู่แล้ว ลมหายใจท่านปรากฏว่า ค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตาม ๆ กัน ผู้นั่งดู ลืมกระพริบตา เพราะอาการท่านเต็มไปด้วยความหมดหวังอยู่แล้ว ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อย ๆ หายเงียบไป อย่างละเอียดสุขุม จนไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ท่านได้สิ้นไปแล้วแต่วินาทีใด เพราะอวัยวะทุกส่วน มิได้แสดงอาการผิดปกติ เหมือนสามัญชนทั่ว ๆ ไปเคยเป็นกัน ต่างคนต่างสังเกตจ้องมองจนตาไม่กระพริบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องพอให้สะดุดใจเลยว่า "ขณะท่านลาขันธ์ ลาโลกที่เต็มไปด้วยความกังวลหม่นหมองคือขณะนั้น "
พอเห็นท่าไม่ได้การ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พูดเป็นเชิงไม่แน่ใจขึ้นมาว่า "ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ " พร้อมกับยก นาฬิกาขึ้นดูเวลา ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๒ นาฬิกา ๒๓ นาที จึงได้ถือเวลามรณภาพของท่าน พอทราบว่าท่านสิ้นไปแล้วเท่านั้น มองดูพระเณรที่นั่งรุมล้อมท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแต่ความโศกเศร้าเหงาหงอย และน้ำตาบนใบหน้าที่ไหลซึมออกมา ทั้งไอทั้งจาม ทั้งเสียงบ่นพึมพำ ไม่ได้ถ้อยได้ความใครอยู่ที่ไหน ก็ได้ยินเสียงอุบอิบพึมพำ ทั่วบริเวณนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเศร้าใจ อย่างบอกไม่ถูก เราก็เหลือทน ท่านผู้อื่นก็เหลือทน ปรากฏว่าเหลือแต่ร่างครอบตัวอยู่เวลานั้น ต่างองค์ต่างนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ราวกับโลกธาตุได้ดับลง ในขณะเดียวกับขณะที่ท่านอาจารย์ลาสมมติคือขันธ์ก้าวเข้าสู่แดนเกษม ไม่มีสมมติความกังวลใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายอีก ผู้เขียนแทบหัวอกจะแตกตายไปกับท่านจริงๆ เวลานั้นทำให้รำพึงรำพัน และอัดอั้นตันใจไปเสียทุกอย่าง ไม่มีทางคิดพอขยับขยายจิตที่กำลังว้าวุ่น ขุ่นเป็นตม เป็นโคลนไปกับการจากไปของท่าน พอให้เบาบางลงบ้าง จากความแสนรัก แสนอาลัยอาวรณ์ที่สุดจะกล่าว ที่ท่านว่าตายทั้งเป็นเห็นจะได้แก่คนไม่เป็นท่าคนนั้นแล
ดวงประทีปที่เคยที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย มันสุด มันมุด มันด้าน มันตีบตันอั้นตู้ไปเสียหมดภายในใจ ราวกับโลกธาตุนี้ ไม่มีอะไรเป็นสาระ พอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจ แม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพอาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมา แต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนา จึงเห็นโลกธาตุ เป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียว เป็นชีวิตจิตใจ เพื่อฝากอรรถ ฝากธรรม และฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย ..."
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. สิริอายุ ๘๐ ปี ๕๖ พรรษา และได้ประชุมเพลิงเมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งภายหลังได้ก่อสร้างพระอุโบสถ ในบริเวณที่ประชุมเพลิง และพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตรงบริเวณกุฏิที่องค์ท่านมรณภาพ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้อัญเชิญพระอัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ประดิษฐานไว้ให้ประชาชนได้กราบสักการบูชากัน อีกทั้งอัฐบริขารข้าวของเครื่องใช้ขององค์หลวงปู่มั่น ที่แสดงถึงความสมถะเรียบง่ายแบบพระป่า
“..ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตนเพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดแห่งสมบัติทั้งปวง..” โอวาทธรรมคำสอนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ชมภาพบรรยากาศ “ปัจฉิมสถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่สายพระกัมมัฏฐาน” ได้ที่ลิงค์
https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.400429016674312.113366.100001216522700&type=3
ชมอัลบั้มภาพ “พระอัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ได้ที่ลิงค์ http://www.facebook.com/media/set/?set=a.161078213942728.52514.100001216522700&type=3&l=d623471ffc
_/\_ _/\_ _/\_
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น