19 มกราคม 2564

พุทธคุณ๙

"#พุทโธ โดย #พุทธคุณ๙"

ส่วนพระคุณโดยพิสดารนั้นมีอยู่ 9 พระคุณ ตามบทสวดอิติปิ โส ที่เราได้สวดมาแล้วนั้น คือ
          อิติปิ โส แม้เพราะเหตุนี้
          ภะคะวา พระผู้มีพระภาคเจ้า
          อะระหัง เป็นพระอรหันต์ ผู้ไกลจากกิเลส
          สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง
          วิชชาจะระณะสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ถึงพร้อมด้วยวิชาความรู้ จรณะ คือความประพฤติดี ประพฤติชอบ
          สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เสด็จไปที่ไหน ก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่ที่นั่น เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่ ทำให้ผู้ต้อนรับขับสู้มีความยินดี เมื่อพระองค์เสด็จหนีไป ก็มีผู้อาลัยคิดถึงพระองค์ อันนี้เรียกว่า “สุคโต”
          โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก คือรู้แจ้งว่าเบญจขันธ์เป็นกองทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และรู้มนุษยโลก ยมโลก เทวโลก รู้ว่าคนทำกรรมอันใดที่เป็นเหตุให้มาเกิดเป็นมนุษย์ คนทำบาปทำกรรมอันใดที่ทำให้ไปตกในอบายคือยมโลกบ้าง หรือคนทำกรรมอันใดจึงไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เรียกว่าพระองค์รู้แจ้งซึ่งโลก เรียกว่า “โลกวิทู”
          อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ พระองค์เป็นสารถี ผู้ฝึกมนุษย์อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้ฝึกอื่นจะยิ่งไปกว่า
          สัตถา เทวะมนุสสานัง พระองค์เป็นศาสดา คือครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อพระองค์ได้ทรงเสร็จกรณียกิจโดยสมบูรณ์แล้ว
          พุทโธ จึงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความแช่มชื่นเบิกบาน ผู้ใดเข้าถึงพระพุทธธรรมก็คือคำว่า “พุทโธ” ย่อมเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
          ภะคะวาติ เป็นผู้แจกจำแนกคำสั่งสอนให้ผู้ที่ต้องการได้ยินได้ฟัง แล้วประพฤติปฏิบัติตามได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน อย่างน้อยก็ตั้งอยู่ในคุณงามความดี ได้สรณะเป็นที่พึ่ง คือ พุทธสรณะ ธัมมสรณะ สังฆสรณะ

          ทีนี้วิธีการเจริญพุทธคุณหรือพุทธานุสติโดยย่อๆ เท่าที่พวกเราได้ปฏิบัติมาแล้วหลังจากที่ได้พรรณนาคุณอันยืดยาว พากันสำรวมเอาไว้ในใจว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ แล้วก็สำรวมลงที่ใจ กำหนดใจบริกรรมภาวนาพุทโธๆๆ จนกว่าจิตจะมีความสงบเป็นสมาธิ นิ่ง สว่าง ลงไป ผ่านวิตก วิจาร ปีติ สุขและเอกัคคตาไปโดยลำดับ เมื่อผู้รำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คือ พุทโธๆๆ สามารถทำจิตให้สงบนิ่งสว่างลงไปแล้ว จิตจะเข้าสู่ความสงบแน่วแน่ มีสภาวะรู้ ตื่น พระพุทธเจ้ารู้อยู่ในจิตอย่างเดียว มีความสว่างไสวเบิกบานอยู่เช่นนั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า โดยสามารถทำจิตให้ถึงผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตใจของเขาจึงกลายเป็นพระพุทธเจ้า หลังจากที่จิต สงบ นิ่ง สว่างลงไปสู่สมาธิ   

เริ่มต้นแต่ทำอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิเป็นที่สุด เป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า จิตจึงลงไปสู่พระพุทธเจ้า ในขั้นต้น 
 #การน้อมเอาคุณของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต  
 #เป็นการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า  

เรียกว่า “#พุทธานุสติ” มีวิธีการอันย่นย่อดังกล่าวมา

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...