วันนี้วันที่ ๒๕ มกราคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพ ของพระธรรมสิงหบุราจารย์หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม พระวิปัสนาจารย์ผู้สอนเรื่องกฏแห่งกรรม แห่งวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี หลวงพ่อจรัญ ท่านมีชื่อเสียงในระดับประเทศจากการเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ แนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนาของท่านเน้นหนักที่การสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม โดยยกเหตุการณ์ที่ท่านประสบและนับเป็นกฎแห่งกรรมขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ และเน้นการพัฒนาจิตใจคนด้วยการฝึกวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ แบบพองหนอ-ยุบหนอ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนหมั่นสวดมนต์ด้วยพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เพื่อเป็นเครื่องเจริญสติอย่างแพร่หลายอีกด้วย
• ชาติภูมิ
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ชื่อเดิมคือ นายจรัญ จรรยารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๗๑ เวลา ๐๗.๑๐ น. ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๑๐ คน มีบิดาชื่อ นายแพ จรรยารักษ์ และมารดาชื่อ นางเจิม สุขประเสริญ มีอาชีพเป็นชาวนา ที่ ต.ม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ได้รับการอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๙๑ รวม ๖๘ พรรษา ส่วนวุฒิการศึกษาสำเร็จ นักธรรมชั้นโท ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๓
• ชีวิตวัยเด็กของ จรัญ จรรยารักษ์
(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)
วัยเด็กของเด็กชายจรัญ ถูกยาย อายุ 80 ปี ขอไปเลี้ยงอยู่เป็นเพื่อนเนื่องจากตาลาบวช โดยได้ไปอยู่ที่บ้านทรงไทยที่มีหลังบ้านติดกับลำน้ำลพบุรี และในเวลา ๐๔.๐๐ น. ของทุกวัน คุณยายจะตื่นขึ้นมาสวดมนต์เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง โดยมีเด็กชายจรัญคอยเตรียมอาหารไว้ให้ยายใส่บาตร จากนั้นสองยายหลานจะพากันไปเก็บผัก ผลไม้ เพื่อหาบไปขายในตลาด ก่อนที่เด็กชายจรัญจะไปโรงเรียน แต่ทว่าเวลานั้นเด็กชายจรัญต้องย้ายโรงเรียนบ่อยเนื่องจากไม่ตั้งใจเรียน มีนิสัยเกเร ชอบเอาเวลาไปยิงนกตกปลาและสร้างวีรกรรมไว้มากมาย จนช่วงมัธยมเด็กชายจรัญถูกโรงเรียนไล่ออกและไม่มีโรงเรียนใดใน จ.สิงห์บุรีรับเข้าเรียน ทั้งที่ยายสอนแต่สิ่งดี ๆ
ทำให้ยายต้องส่งเด็กชายจรัญไปอยู่กับปู่ ซึ่งเป็นคุณหลวงในกรุงเทพฯ และได้ไปเป็นศิษย์ดนตรีไทยของคุณหลวงประดิษฐ์ไพเราะก่อนส่งตัวต่อไปฝากฝังกับ จอมพล ป. จนได้รับการสนับสนุนให้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เมื่อเจอรุ่นพี่วางอำนาจใส่นายจรัญก็ทนไม่ได้จนมีเรื่องกับรุ่นพี่ จึงต้องลาออกจากโรงเรียนและกลับไปตั้งวงดนตรีไทยที่บ้าน
• หลวงพ่อจรัญ อุปสมบท ได้รับฉายาว่า "ฐิตธมฺโม"
จนกระทั่งครบอายุบวช ยายก็ได้ให้นายจรัญอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ที่วัดพรหมบุรี โดยมีพระพรหมนคราจารย์ เจ้าอาวาสวัดแจ้งพรหมนครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรวิริยคุณ วัดพุทธารามเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า "ฐิตธมฺโม" ทั้งที่ขณะนั้นนายจรัญเกลียดพระสงฆ์เพราะเจอพระทุศีลใช้ผ้าเหลืองหากิน และเมื่อครบกำหนดสึกท่านได้เตรียมตัวสึกแต่ก็เลื่อนสึกถึง ๓ ครั้ง จนสมภารวัดบอกว่าไม่สึกให้แล้ว หากคิดจะสึกก็ให้ไปวัดอื่น ท่านจึงออกเดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราชเพื่อตั้งใจให้พระที่นั่นสึกให้ แต่ระหว่างทางได้เจอโยมที่กำลังเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อเดิม ที่ จ.นครสวรรค์ ท่านจึงได้เดินทางไปด้วย เมื่อไปถึงก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) ซึ่งท่านก็ได้สอนวิชาคชศาสตร์ให้ ซึ่งมีเพียงหลวงพ่อจรัญเพียงคนเดียวที่ได้เรียน รวมถึงวิชาคาถาอื่น ๆ จนท่านไม่ได้สึกอย่างที่ตั้งใจและคิดว่าคงต้องครองสมณเพศไปตลอด
นอกจากนี้หลวงพ่อจรัญยังได้ศึกษาวิชากับอาจารย์ท่านอื่น ๆ อีก เช่น พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร) และพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) จ.ขอนแก่น ต่อมาได้ศึกษาการทำเครื่องรางของขลัง น้ำมันมนต์ กับหลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่าง จ.พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จ.อ่างทอง, หลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และได้ศึกษา สมถกรรมฐาน กับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี และศึกษาและปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน กับพระราชสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ รวมทั้งได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) ที่วัดระฆัง จ.ธนบุรี และศึกษาการพยากรณ์จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับ อาจารย์ พ.อ. ชม สุคันธรัต
ในที่สุดเมื่อท่านมีวิชาความรู้มากพอทางคณะสงฆ์ก็ได้ให้หลวงพ่อจรัญไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดโบราณ ทรุดโทรม มีเพียงพระบวชจำพรรษาเพียง ๒ รูป โดยหลวงพ่อได้เข้าไปพัฒนาและได้สอนกรรมฐานคติธรรมจนเป็นประโยชน์แก่คนมากมาย
• หลวงพ่อจรัญ ค้นพบคาถาพาหุงฯ
หลวงพ่อจรัญ ท่านฝันถึงสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระวันรัตบอกกล่าวว่า ผู้แต่งคาถาพาหุงนี้ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเองและใช้สวดเป็นประจำเวลาออกทำสงครามและมีชัยชนะครั้นสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี
พระพุทธชัยมงคลคาถา หรือมักเรียกว่า พระคาถาพาหุง เป็นพระคาถาที่ใช้สวดสรรเสริญชัยชนะแปดประการที่พระสมณโคดมทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยธรรมานุภาพ พระคาถานี้ปัจจุบันมักใช้สวดต่อจากคาถาทำวัตรเช้า
ตำนานบทสวดพุทธชัยมงคลคาถา หรือพาหุง มหากาฯ ของหลวงพ่อจรัญ ท่านกล่าวว่า ได้ตำราเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นใบลานทองคำจารึกของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ปัจจุบันเรียกว่าวัดใหญ่ชัยมงคลได้รจนาถวายพระพรชัยมงคลคาถาแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช การที่ท่านทราบและได้ตำรานี้ เกิดจากนิมิตที่ท่านกำหนดจิตในพระกรรมฐานอยู่เสมอแม้แต่ในเวลาจำกัด
โดยท่านเล่าว่า มีอยู่คืนหนึ่ง เมื่อจำวัดแล้วฝันไปว่า ได้เดินไปในที่แห่งหนึ่ง พบภิกษุรูปหนึ่งครองจีวรคร่ำคร่า สมณสารูปน่าเลื่อมใส เมื่อเห็นว่าเป็นพระอาวุโสผู้รู้รัตตัญญู หลวงพ่อจรัญจึงน้อมนมัสการท่าน ภิกษุรูปนั้นหยุดยืนอยู่ตรงหน้า แล้วกล่าวกับหลวงพ่อว่า...
“ฉันคือสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยา ฉันต้องการให้เธอได้ไปที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อดูจารึกที่ฉันได้จารึกถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นเจ้าเนื่องในวาระที่สร้างเจดีย์ฉลองชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชแห่งพม่าและประกาศความเป็นอิสระของประเทศไทย จากกรุงหงสาวดีเป็นครั้งแรกเธอไปดูแล้วจดจำมาเผยแพร่ออกไป ถึงเวลาที่เธอจะได้รับรู้แล้ว”
หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ได้เล่าต่อว่า ในฝัน อาตมารับปากท่าน ท่านก็บอกตำแหน่งให้แล้ว ก็ตกใจตื่นนอนใกล้รุ่ง อาตมาก็ทบทวนความฝัน ก็นึกอยู่ในใจว่า เราเองนั้นกำหนดจิตด้วยกรรมฐานมีสติอยู่เสมอ เรื่องฝันฟุ้งซ่านเป็นไม่มี อาตมาก็ได้ข่าวในวันนั้นแหละว่า ทางกรมศิลปากรทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ใหญ่ในวัดชัยมงคล และจะทำการบรรจุบัวยอดเจดีย์ อันเป็นนิมิตหมายการสิ้นสุดการบูรณะ แล้วจะรื้อนั่งร้านทั้งหมดออกเสร็จสิ้น
อาตมาจึงได้ขอร้อง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ให้เลื่อนการปิดยอดบัวไปอีกวันหนึ่ง เพื่อที่อาตมาจะได้นำพระซุ้มเสมาชัย ซุ้มเสมาขอ ที่อาตมาได้สร้างขึ้นตามแบบดั้งเดิมที่พบในเจดีย์ใหญ่ใกล้กับวัดอัมพวัน ซึ่งพังลงน้ำ ที่ก๋งเหล็งเป็นคนรวบรวมเอามาให้อาตมาตั้งแต่เมื่อเริ่มมาพัฒนาวัดใหม่ๆ แต่แตกหักผุพังทั้งนั้นหลายสิบปิ๊ป อาตมาได้ป่นเอามาผสมสร้างเป็นองค์พระใหม่ ไปร่วมบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์บ้าง
วันนั้น อาตมาเดินทางไปถึง ก็ได้เดินขึ้นไปบนเจดีย์ตอนที่สุดบันไดแล้ว มองเห็นโพรงที่ทางเขาทำไว้สำหรับลงไปด้านล่าง มีร้านไม้พอไต่ลงไปภายใน ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่า ลงไปคราวนี้ ถ้าพลาดตกลงไปจากนั่งร้านม้าก็ยอมตาย คนที่ร่วมเดินทางมาด้วย เขามัวแต่ไปบนลานชั้นบน อาตมาก็ดิ่งลงไปชั้นล่าง มีไฟฉายดวงหนึ่ง เวลานั้ประมาณ ๐๙.๐๐ น. อาตมาลงไปภายในแล้ว ก็พบนิมิตดังที่สมเด็จพระพนรัตน์ได้บอกไว้จริงๆ
อาตมาจึงได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ท่านได้จารึกถวายพระพร ก็คือบทสวดที่เรียกว่า "พาหุง มหาการุณิโก"
ท้ายของนิมิตนั้นระบุว่า "เราสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ศรีอโยธยา คือผู้จารึกนิมิตรจนาเอาไว้ ถวายพระพรแด่มหาบพิตรเจ้า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช"
พาหุงมหากา ก็คือบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็พรพาหุงอันเริ่มด้วย พาหุง สะหัส ไปจนถึง ทุคคาหะทิฏฐิ แล้วเรื่อยไปจนถึง มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ และจบลงด้วย ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง สัพพะพุทธา สัพพะธัมมา สัพพะสังฆานุ ภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต อาตมาจึงเรียกรวมกันว่า พาหุงมหากา
อาตมาจึงเข้าใจในบัดนั้นเองว่า บทพาหุงนี้ คือบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ถวายให้พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้สวดเป็นประจำเวลาอยู่กับพระมหาราชวังและในระหว่างศึกสงคราม จึงปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าทรงรบ ณ ที่ใด ทรงมีชัยชนะอยู่ตลอดมา มิได้ทรงเพลี่ยงพล้ำเลย แม้จะเพียงลำพังสองพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ท่ามกลางกองทัพพม่าจำนวนนับแสนคน ก็ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่า ด้วยการกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ณ ดอนเจดีย์ปูชนียสถาน แม้ข้าศึกจะยิงปืนไฟเข้าใส่พระองค์ในตอนที่เข้ากันพระศพของพระมหาอุปราชาออกไปราวกับห่าฝนก็มิปาน แต่ก็มิได้ต้องพระองค์ ด้วยเดชะพาหุงมหากาที่ทรงเจริญอยู่เป็นประจำนั่นเอง
อาตมาพบนิมิตแล้ว ก็ไต่ขึ้นมาด้วยความสบายใจ ถึงปากปล่องที่ลงไปใช้เวลาเกือบสามชั่วโมง เนื้อตัวมีแต่หยากไย่ เดินลงมาแม่ชีเห็นเข้ายังร้องว่า "หลวงพ่อเข้าไปในโพรงนั่นมาหรือ" แต่อาตมาไม่ตอบ
ตั้งแต่นั้นมา อาตมาจึงสอนการสวดพาหุงมหากาให้แก่ญาติโยมเป็นต้นมา เพราะอะไร เพราะพาหุงมหากานั้นเป็นบทสวดมนต์ที่มีค่าที่สุด มีผลดีที่สุด เพราะเป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดา จากพญาวัสวดีมาร จากอาฬาวกะยักษ์ จากช้างนาฬาคิรี จากองคุลีมาล จากนางจิญจมาณวิกา จากสัจจะกะนิครนธ์ จากพญานันโทปนันทนาคราช และท่านท้าวผกาพรหม เป็นชัยชนะที่พระพุทธองค์ทรงได้มาด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ และด้วยอำนาจแห่งบารมีธรรมโดยแท้ ผู้ใดได้สวดไว้เป็นประจำทุกวัน จะมีชัยชนะ มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาลนาน มีสติ ระลึกได้ จะตายก็ไปสู่สคติภูมิ
ขอให้ญาติโยมสวดพาหุงมหากากันให้ทั่วหน้า นอกจากจะคุ้มตัวแล้ว ยังคุ้มครองครอบครัวได้ สวดมากๆ เข้า สวดกันทั้งประเทศ ก็ทำให้ประเทศมีแต่ความรุ่งเรือง พวกคนพาลสันดานหยาบก็แพ้ภัยไปอย่างถ้วนหน้า
ไม่ใช่แต่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น ที่พบความมหัศจรรย์ของบทพาหุงมหากา แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทรงพบเช่นกัน โดยมีบันทึกโบราณบอกไว้ว่าดังนี้
"เมื่อพระเจ้าตากสินมหราช ตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว ก็ทรงเห็นว่า สงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระยอดธงแบบอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ"
สวดพาหุงมหากากันให้ได้ทุกบ้าน สวดให้ได้มากๆ จะมีแต่ความรุ่งเรือง สวดพาหุงมหากาก่อนแล้วจึงสวดชินบัญชร เพราะชินบัญชรนั้นเจ้าประคุณสมเด็จท่านใช้สวดบูชาพระอรหันต์ของท่าน ต้องสวดพาหุงมหากาก่อน แล้วจึงมาถึงชินบัญชร ให้จดจำกันเอาไว้นั่นแหละ เป็นมงคลในชีวิต
บทสวดมนต์ก่อนนอน ของหลวงพ่อจรัญ พาหุงฯ มหากา การสวดมนต์ตามแนวทางของหลวงพ่อจรัญนั้น คือ การบูชาพระรัตนตรัย แล้วตั้งนะโม ๓ จบ จากนั้นสวดไตรสรณคมน์ สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วตามด้วยบทพาหุง มหากา จบด้วยการสวดอิติปิโส (พุทธคุณ) เท่าอายุ+๑ จบ
• ผลกรรมของหลวงพ่อจรัญ ที่ยกมาสอนในหนังสือกฎแห่งกรรม
เรียกได้ว่าสมัยเด็กของหลวงพ่อจรัญได้สร้างกรรมไว้มากมาย โดยไม่สนใจเรื่องบาปบุญคุณโทษซึ่งมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยยกตัวอย่างดังนี้
• แอบกินอาหารถวายพระ
เมื่อครั้งหลวงพ่อจรัญยังเป็นเด็กชายจรัญ ท่านกับเพื่อนเคยร่วมกันกินอาหารของยายที่จะนำไปถวายพระ ๒ ครั้ง จนสุดท้ายยายจับได้จึงถูกตีอย่างหนัก ซึ่งยายสอนว่า อย่าทำแบบนี้ไม่เช่นนั้นจะเกิดเป็นเปรต ปากเท่ารูเข็ม
• รับจ้างต้มเต่า-ขโมยปลา
นอกจากนี้เด็กชายจรัญยังรับค่าจ้างจากวงเหล้าให้นำเต่าไปต้มจำนวน ๗ ตัว แต่เต่าพากันดิ้นด้วยความทุรนทุรายจนหม้อแตกและพยายามหนีเข้ากอไผ่ เด็กชายจรัญเห็นดังนั้นจึงวิ่งไปจับตัวมาต้มอีกแต่เกิดเปลี่ยนใจเพราะเห็นเต่าร้องไห้ ดังคำที่ว่า “ร้องไห้เป็นเผาเต่า” จนสุดท้ายต้องขโมยปลาตากแห้งของป้ามาให้วงเหล้าแทน
• ยิงนก-หักคอหักขานก
ในช่วงปิดเทอมตอนนั้นยังไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ได้นำปืนไปตามทุ่งนาแล้วยิงนกเป็ด นกกระสา พอยิงได้ก็จะจับหักคอใส่ตะข้อง แต่พอถูกนกจิกใส่ก็โกรธจึงจับหักคอแล้วถลกหนังเลย บ้างก็จับหักขา
• โกงเงินค่าเรือข้ามฟาก-เงินค่าก๋วยเตี๋ยว
สมัยนั้นเด็กชายจรัญต้องนั่งเรือจ้างข้ามฟากเดือนละ ๒๕ สตางค์ แต่ก็โกงไม่ให้ค่าเรือ นอกจากนี้ยังเคยโกงเงินแม่ค้าไม่ให้ค่าก๋วยเตี๋ยวด้วย
หลังจากที่เด็กชายจรัญได้เข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ และได้กลับมาอุปสมบทจนกระทั่งมารักษาการเจ้าอาวาสที่วัดอัมพวัน เมื่อปี ๒๔๙๙ ก็เริ่มรู้ชดใช้กรรมที่เคยทำไว้ตามลำดับจากการนั่งสมาธิ โดยเริ่มจากชดใช้ค่าก๋วยเตี๋ยวด้วยการที่นางกลุ่มและสามีชื่อตากิ๊ม ที่เคยโกงเงินค่าก๋วยเตี๋ยวไว้ แต่พวกเขาไม่รู้ได้นำลูกชายมาฝากบวชที่วัดอัมพวัน เนื่องจากทั้งคู่ฝันพร้อมกันว่าหากอยากให้ลูกชายหายเกเรให้พามาบวชที่วัดนี้ ได้ฟังดังนั้นหลวงพ่อจรัญจึงได้รับไว้และโกนผมให้ ก่อนจะซื้อผ้าไตร ซื้อรองเท้า ซื้อเสื่ออ่อน ซื้อบาตร ซื้อร่ม ทั้งหมด ๒๐๐ บาท ก็ถือว่าหายกันกับค่าก๋วยเตี๋ยว
ต่อมาจากการที่หลวงพ่อจรัญนั่งเจริญภาวนาและอโหสิกรรม แผ่เมตตาเป็นประจำก็รู้ได้ว่าต้องชดใช้หนี้กรรมจากการต้มเต่า ซึ่งกรรมเหล่านี้ได้ลืมไปหมดแล้วแต่มีสติได้บอกว่า ให้ระวังพรุ่งนี้อย่าพาใครขึ้นรถไปด้วย เพราะจะทำให้ตายกันหมดเพราะรถคว่ำ ซึ่งผลสุดท้ายก็ไม่เอาใครไปเลยและได้ขับรถปิกอัพไปคนเดียวด้วยความเร็วขนาด ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบกับช่วงเวลานั้นฝนตก พอมาถึงอ่างทองฝนก็หยุด แต่ถนนมันลื่น จนมาถึงตรงโค้งวัดคูรถที่มาด้วยความเร็วก็หมุนเลยและเสียหลักคว่ำ ๘ รอบศีรษะ ทำให้จีวรขาด รถพังยับเยินต้องทนปวดแสบปวดร้อนอยู่นานเป็นเดือน ถือเป็นการใช้หนี้เต่าแต่ยังไม่หมดเสียทีเดียว
จากนั้นหลวงพ่อจรัญก็เกิดนิมิตล่วงหน้าว่า ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม อีก ๖ เดือนข้างหน้า ตนเองต้องคอหักตายอยู่โรงพยาบาลสิงห์บุรีแน่นอน จึงได้เตรียมการล่วงหน้าทั้งการบริจาคเงิน จัดแจงหน้าที่ภายในวัด เมื่อถึงวันจริงหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเจ้าคณะหลวงพ่อจรัญก็ได้เดินทางกลับ เมื่อรถออกจากวัดเลี้ยวขวาเข้าลพบุรี บริเวณหลังตลาดปากบาง ได้มีรถยนต์ที่ขับตามหลังมา ๓ คัน แซงซ้ายรถทัวร์วิ่งเข้าชน ทำให้นาวาตรีที่นั่งมาด้วยกระเด็นตัวลอยไปอยู่บนรถทัวร์
ส่วนตัวหลวงพ่อจรัญ ไหล่ไปชนกับเหล็กจนหัก และถูกกระจกครูดเอาหนังหัวไปอยู่ตรงท้ายทอยจนหมด คอพับไปที่หน้าอก หมุนได้เลย เลือดเต็มจมูก แต่ยังโชคดีที่ยังมีมือที่ยังใช้การได้พยายามจับดูว่าคอหักหรือเปล่าเหมือนตายหมดแล้วทั้งตัว แต่ยังมีสติดีและรู้ว่าหายใจได้ทางท้องตรงสะดือ ก็พยายามยุบหนอ พองหนอ ตลอดทางที่ถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลก็เหมือนได้ยินและเห็นเต่ามาซ้ำเติม และถูกน้ำจากฝาหม้อน้ำหลุดออกมาลวกตัวจนร้อนไปหมด
เมื่อถึงโรงพยาบาลหลวงพ่อจรัญก็ได้อธิษฐานว่าขอให้ข้าพเจ้าไปสบาย รู้แล้วเข้าใจแล้ว ขออโหสิกรรมทุกอย่างกับโลกมนุษย์ รวมทั้งพยายามตั้งจิตยุบหนอพองหน้า เป็นจังหวะเดียวกันกับที่บุรุษพยาบาลเข็นรถตกร่องประตูเหล็กทำให้กระดูกที่คอเข้าที่ แต่ก็ต้องมาชดใช้หนี้กรรมที่กินข้าวถวายพระเพราะต้องใส่เฝือกจนอ้าปากไม่ขึ้น กินอะไรไม่ได้ต้องใช้หลอดกาแฟหยอดอาหารแทน
• อาการอาพาธและกาลมรณภาพ
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบ โดยคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและออกซิเจน นั้น
ต่อมาโรครุนแรงขึ้น แพทย์ได้ถวายการช่วยหายใจและถวายการรักษาประคับประคองระบบการหายใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ถวายการรักษาทดแทนไต ระยะหลังอาการทรุดลง เริ่มมีเลือดออกผิดปกติจนต้องมีการถวายเลือดและเกล็ดเลือด จนในที่สุดการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ไม่สามารถถวายการรักษาประคับประคองได้ต่อไป พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม) ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๗ น.
• ๑๐ คำสอนของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
๑. "..ความดีเป็นศัตรูของชีวิต ความดีต้องมีอุปสรรค เขามาร้าย อย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมา จงใช้ความดีเข้าไปแก้ไข คนตระหนี่ ให้ของที่ต้องใจ คนพูดเหลวไหล เอาความจริงใจ ไปสนทนา.."
๒. "..จงอย่าหวั่นไหว จงทำใจให้ได้เมื่อมีทุกข์ คนที่ทำใจได้เพราะมีสติควบคุมใจได้ ถ้าผู้ใดเจริญสติวิปัสสนากรรมฐาน จิตมั่นคง ต้องช่วยตัวเองได้ ทำใจได้ จะไม่เสียใจ ไม่น้อยใจต่อบุคคลใด คนทำใจได้นั่นแหละ จะได้รับผลดี มีสติเป็นอาวุธของตนตลอดไป.."
๓. "..คนโบราณท่านมีคติดี เวลาไปไหนมาไหนต้อง ๑.นิ่งได้ ๒.ทนได้ ๓.รอได้ ๔.ช้าได้ ๕.ดีได้ คนสมัยนี้นิ่งไม่ได้ ปากไม่ดี ทนไม่ได้ อยู่ไม่ได้อีก รอก็ไม่ได้ ช้าก็ไม่ได้ จึงเอาดีกันไม่ค่อยจะได้ ในยุคสมัยใหม่ปัจจุบันนี้ สิ่งเหล่านี้มีความหมายมาก แต่ทุกคนไม่เคยคิด.."
๔. "..ใครตั้งใจ “ทำดี” อย่าไปกังวลเรื่อง “ปากคน” เพราะต่อให้เรา “ดี” ขนาดไหน หากไม่ถูก “กิเลส” เขา เขาก็ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ เขาก็ตำหนิ ดังนั้น ดี-ชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เขาว่าเรา แต่อยู่ที่เราเองทั้งหมด เรารู้เราเองก็เพียงพอแล้ว.."
๕. "..ชาวพุทธแท้ๆ ควรจะได้ดีมีสุขจากการนับถือศาสนาพุทธ โดยแก้ปัญหาที่เกิดด้วยอริยสัจ 4 ทุกข์เกิดแล้วหาสาเหตุของทุกข์ด้วยการกำหนดทุกข์หนอ มันทุกข์ตรงไหนหนอ บำเพ็ญจิตภาวนา สมาธิ ปัญญาจะบอกทุกข์เกิดขึ้นตรงนั้น ต้องแก้ตรงนั้น อย่าไปแก้ผิดจุด อย่าไปให้ผีให้เจ้ามาแก้ หรือเอาหมอดูมาแก้ มันไม่ถูกเรื่อง.."
๖. "..ความอดทนเป็นสมบัติของนักต่อสู้ ความรู้เป็นสมบัติของนักปราชญ์ ความสามารถเป็นของนักประกอบกิจ ความสามารถทุกชนิดเป็นสมบัติของผู้ดี.."
๗. "..วันไหนโยมถูกด่ามากวันนั้นเป็นมงคล วันไหนโดยถูกป้อยอเขาจะล้วงไส้เราโดยไม่รู้ตัว หลงเชื่อเราจะประมาท จะเสียท่าเสียทีต่อมารร้าย และที่เขามาป้อยอกับเรา ระวังให้ดี เขาไม่ได้รักเราจริง.."
๘. "..สร้างบุญใช้สติ ไม่ต้องใช้สตางค์ พวกเราหาแต่สตางค์ ไม่หาสติกันเลย.."
๙. "..คนเราจะทำอะไรได้ก็ช่วงมีชีวิตอยู่เท่านั้นเมื่อตายแล้วไม่สามารถจะทำความดีหรือความชั่วได้เลยฉะนั้นในช่วงที่มีชีวิตอยู่ควรที่จะทำความดีใช้ชีวิตให้เป็นสาระ จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา.."
๑๐. "..จงพอใจในชีวิตของตัวเอง โดยมิต้องไปเปรียบเทียบชีวิตของผู้อื่น.." (ข้อความสุดท้ายใน ส.ค.ส.๒๕๕๙ ที่หลวงพ่อจรัญ เขียนไว้ก่อนละสังขาร)
แม้วันนี้หลวงพ่อจรัญจะละสังขารไปแล้วแต่ทุกคำสอนของท่านยังมีคุณค่าและเป็นจริงเสมอ
• ขอเชิญร่วมบุญสร้างพระเจดีย์ธรรมสิงหบุราจารย์
ที่มาของการสร้างเจดีย์นั้น ได้มาจากการปรารภของพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคยพูดคุยกับพระครูวินัยธรวรพงษ์ (เลขาฯ) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ และได้มีการร่างแบบและกำหนดสถานที่ก่อสร้างเจดีย์ โดยผ่านความเห็นชอบจากหลวงพ่อมาแล้ว ลักษณะของพระเจดีย์ฯ ได้แรงบันดาลใจจากเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล
ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้างใหญ่ที่พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัทสามารถใช้ปฎิบัติศาสนกิจต่างๆ ชั้นที่ ๒ เพื่อบรรจุพระสรีระสังขารรวมทั้งอัฐบริขารต่างๆของหลวงพ่อ ส่วนชั้น ๓ หรือชั้นบนสุด เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นที่ฐานโดยรอบชั้นล่างของพระเจดีย์ยังสามารถใช้เพื่อการเวียนเทียนประทักษิณ
_/\_ _/\_ _/\_
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น