เคล็ดลับในการปฏิบัติอย่างง่ายที่สุด ถ้าท่านไปเปิดในขันธวรรค พระไตรปิฏก ที่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายได้รวบรวมไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาว่า พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มีมากมาย ชอบใจแบบไหน ก็ปฏิบัติแบบที่ถูกนิสัยของท่าน
มีคนถามปัญหาพระพุทธเจ้าว่า กิเลสร้อยแปดพันเก้าทั้งหลายนั้น จะตัดกิเลสทั้งหมดออกจากจิตใจ ตัดด้วยอะไร
พระพุทธองค์ตอบว่า ตัดจุดเดียว คือ ขันธ์ ๕ รูปร่างกาย ตัดความอยากเกิดมามีรูปร่างกาย ตัดอาลัยในขันธ์ ๕ ให้พิจารณาว่า
๑. รูปร่างกาย คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
๒. เวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ หนาว ร้อน
๓. สัญญา คือ ความจำได้ หมายรู้
๔. สังขาร คือ ความคิดดีคิดชั่ว คิดเฉย ๆ
๕. วิญญาณ ระบบประสาททั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความเจ็บปวดทางประสาท สมอง ไขสันหลัง
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเขา ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เราคือ จิตที่มาอาศัยขันธ์ ๕ ชั่วคราว ถ้าจิตไม่ผูกพันในขันธ์ ๕ อารมณ์นั้นเมื่อไร จิตก็จะพ้นจากกิเลสสังโยชน์ ๑๐ เป็นพระอริยเจ้าทันที
ท่านกล่าวว่า ไม่มีอะไรยาก พระอรหันต์ทุกพระองค์ ท่านมีจุดตัดอย่างเดียว คือ ขันธ์ ๕ เท่านั้น
เครื่องวัดอารมณ์ของนักปฏิบัติ
นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ ว่าเราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่าเราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัต ตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง
สังโยชน์ ๑๐
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่าง คือ
๑.สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
๒.วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่าจะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
๓.สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตามๆเขาไปอย่างนั้นเอง
(สามข้อนี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดากับพระสกิทาคามี)
๔.กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และอาการถูกต้องสัมผัส
๕.ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ
(ข้อ ๑ ถึง ๕ นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี)
๖.รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือรูปฌาน
๗.อรูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือในอรูปฌาน
๘.อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
๙.มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
๑๐.อวิชชา ความโง่ คือ หลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ที่ท่านเรียกว่าอุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทรามที่ท่านเรียกว่า อวิชชา
สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่างโดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผล
โอวาทธรรม : #หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ
(หลวงพ่อฤาษีฯวัดท่าซุง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น