11 มกราคม 2564

กัมมัฏฐานหัวตอ

#หลวงปู่หลอดเล่าว่า ในครั้งที่ไปพบท่านพระอาจารย์มั่น นั้น ท่านได้รับอุบายธรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้สติปัญญา
สว่างไสวขึ้นมาก  

“อาตมาไม่ได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นมากนัก จะถามนิพพานเราก็ไม่ถึงอีก ท่านพูดมาก็ไม่รู้เรื่องอีก” ท่านบอกว่า “ปฏิบัติให้มากก็แล้วกัน จิตยังไม่สงบ ความสงบเรายังไม่มี พิจารณาอสุภะยังไม่เป็น”  

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเทศน์ทุกคืน เกี่ยวกับกัมมัฏฐาน ๕ ว่า  

#อสุภะเป็นศัตรูกับราคะ.. ”  

บางองค์มีนิสัยเร็ว ภาวนาได้ง่าย บางองค์ก็เล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง เกิดแสงอย่างนั้น เกิดแสงอย่างนี้ อาตมาไม่เป็น  

ท่านพระอาจารย์มั่นถามอาตมา “เป็นไหม? ท่านหลอด”  

หลวงปู่หลอดกราบเรียนถวาย “ยังไม่มีอะไรเลยขอรับ แจ้งก็ไม่แจ้ง สว่างก็ไม่สว่าง เย็นก็ไม่เย็น ร้อนก็ไม่ร้อน”    

ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า “กัมมัฏฐานหัวตอ”

ท่านพระอาจารย์มั่น เทศนาต่อไปว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ ที่เสด็จปรินิพพาน
ผ่านไปแล้ว จนประมาณกาลไม่ได้ก็ดี หรือประมาณกาลได้ก็ดี พระองค์กับสาวกท่านที่เสด็จผ่านไปไม่กี่พันปีก็ดี ล้วนอุบัติขึ้น เป็นพระพุทธเจ้า และเป็นพระอรหันต์ จากกัมมัฏฐานทั้งหลาย มีกัมมัฏฐาน ๕ เป็นต้น ไม่มีแม้พระองค์เดียวที่ผ่านการตรัสรู้ธรรม โดยมิได้ผ่านกัมมัฏฐานเลย ต้องมีกัมมัฏฐานเป็นเครื่องซักฟอก เป็นเครื่องถ่ายถอนความคิด ความเห็น ความเป็นต่างๆ อันเป็นพื้นเพของจิต ที่มีเชื้อวัฏฏะจมอยู่ภายในให้กระจายหายสูญไปโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นกัมมัฏฐานจึงเป็นธรรมพิเศษในวงพระศาสนาตลอดมา และตลอดไป ท่านที่สมัครใจเป็นพระธุดงคกัมมัฏฐาน จำต้องเป็นผู้มีความอดทนต่อสิ่งขัดขวางต้านทานต่างๆ ที่เคย ฝังกาย ฝังใจจนเป็นนิสัยมานาน 

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอถึงเรื่องกัมมัฏฐาน ๕ และธุดงค์ ๑๓ เพราะท่านถือว่ามีความสำคัญมาก จะเรียกว่าเป็นเส้นชีวิตของพระธุดงคกัมมัฏฐานก็ได้ ใครที่เข้าไปรับการฝึกฝนอบรมกับท่าน ท่านจะต้องสอน “กัมมัฏฐาน” และ “ธุดงควัตร” เสมอ ถ้าเป็นหน้าแล้งท่านมักจะสอนให้ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้เสมอ  

“ผู้ปฏิบัติต้องเป็นคนกล้าหาญ อดทนคือ ทนต่อแดด ต่อฝน ทนต่อความหิวโหย ทนต่อความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางกาย วาจา ใจ”  

ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวอบรมเป็นประจำทุกวัน จนถึงเที่ยงคืนจึงเลิก

#หลวงปู่หลอดจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น_ที่วัดป่าบ้านโคกตลอดพรรษา 

ปีพ.ศ. ๒๔๘๗ หลังออกพรรษาแล้วได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่น ออกเดินธุดงค์วิเวกบนเทือกเขาภูพาน พร้อมกับหลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส เพราะธรรมเนียมปฏิบัติกัมมัฏฐาน กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลังจากอยู่อบรมธรรมกับองค์ท่านแล้ว ก็ต้องปลีกวิเวกออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนตนเองในป่าในเขา ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวอบรมก่อนไปว่า 

#ไม่เคยมีใครบรรลุธรรม_ด้วยการอยู่ไปกินไปนอนไปตามใจชอบโดยไม่มีการฝึกจิตทรมานใจ... ”

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...