06 มกราคม 2564

ปริศนาชาติกำเนิด และญาณวิเศษสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

ปริศนาชาติกำเนิด
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร  

ความสับสนในประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เริ่มมาตั้งแต่เรื่องชาติกำเนิดของท่าน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันเป็นที่แน่ชัดได้ว่าโยมบิดา โยมมารดาของท่าน เป็นใครกันแน่ โยมมารดาพอมีชื่อให้เอ่ยถึงกันอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นชื่อโยมมารดาของท่านก็ยังเขียนประวัติกันอย่างน้อยถึง ๒ สำนวนด้วยกัน บางสำนวนเขียนว่าโยมบิดามีนามใดไม่ปรากฏทราบแน่ชัด ส่วนโยมมารดาชื่อ เกตุ เป็นธิดาของนายไชย ชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งต่อมาโยมมารดาได้อพยพจากบ้านท่าอิฐอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด มาอยู่บ้านตำบลไก่จัน (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากดินฟ้าอากาศแห้งแล้งการทำไร่ไถนาไม่ได้พืชผล  

บางท่านกล่าวว่าท่านเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยสันนิษฐานตามความใกล้ชิดสนิทสนมส่วนพระองค์ ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าประคุณฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บางท่านก็ว่าท่านจะต้องเป็นพระราชโอรสในพระมหากษัตริย์รัชกาลใดรัชกาลหนึ่ง เนื่องจากท่านได้รับความนับถือและได้รับการอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์เป็นกรณีพิเศษอยู่เนืองๆ ราวกับเป็นการอภัยโทษให้แก่กันในหมู่พระประยูรญาติ

แต่ข้อมูลประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ค้นพบและเชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด ได้แก่ หนังสือบันทึกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ค้นพบและรวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งนั่นหมายความว่า ท่านมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ท่านได้เขียนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว และท่านอาจมีชีวิตทันได้เคยพบเห็นเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาแล้วก็อาจเป็นไปได้ ดังนั้น ผู้โพสต์จึงเลือกข้อมูลประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ จากหนังสือบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (ปัจจุบันหนังสือดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ) ผนวกรวมกับข้อมูลจากหนังสือประวัติเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) อีกหลายเล่ม จึงอาจไปขัดแย้งกับข้อมูลของท่านผู้อื่นบ้าง

ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
พระยาทิพโกษา (สอน) ท่านมีความเชื่อว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระยาจักรี (ทองด้วง) กับ นางงุด บุตรีนายผล นางลา ชาวเมืองกำแพงเพชร โดยผูกเรื่องไว้ในทำนองนิทาน สรุปดังนี้

“อาเพศครั้งกระนั้นเหนือกรุงศรีอยุธยา อากาศได้เกิดวิปริตแปรปรวนอย่างแปลกประหลาด ผิดฤดูผิดเวลา ฟ้าทะมึนทึนมองดูน่ากลัว สีแดงฉาบฟ้าคล้ายเลือดนองไปทั่วทิศา เหตุอาเพทได้ปรากฏให้รู้ว่าเป็นลาง พระนเรศวร (รูปปั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานในท้องพระโรงแสง...kimleng) ในท้องพระโรง ทรงพิโรธโกรธกริ้ว กระทบพระบาทดังลั่นสนั่นไปทั้งแปดทิศ หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง หลั่งน้ำตาไหลอาบแก้ม พระบรมไตรโลกนาถที่วัดพระศรีสรรเพชรท้องเกิดแตก ดวงตาตกลงมาอยู่ที่ตัก และที่วัดราชบูรณะบนปลายยอดพระเจดีย์ได้มีกาดำตัวหนึ่งบินมาเสียบตายอย่างอัศจรรย์

ครั้นแล้วกรุงศรีอยุธยาราชธานี ก็ถึงกาลขาดสะบั้น ปืนใหญ่คำรามก้องลูกแล้วลูกเล่าตกลงสู่พระนคร ระคนไปด้วยเสียงวิ๊ดว๊ายของสนมนางใน เสียงกระจองอแงของลูกเล็กเด็กแดง เกิดเพลิงไม้ขึ้นทุกหนทุกแห่ง เสียงไขโยโห่ฮิ้วของทหารพม่าดังลั่นสนั่นก้อง และแล้วกรุงก็แตกหลังจากที่ถูกพม่าล้อมอยู่เกือบสามปี”     

พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเข้ามาช่วยรบในกรุงศรีอยุธยา ได้ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าหนีไปตั้งมั่น และยึดตีเมืองจันทบุรีได้ทำการสะสมไพร่พลเกลี้ยกล่อมให้มารวมกันทำงานเตรียมกู้ชาติ แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ เรียกว่า “พระเจ้าตาก” เพื่อให้คนทั้งหลายยำเกรง ซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินสำเร็จได้ง่าย หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน “พระเจ้าตาก” สามารถกรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาคืนมาจากพม่าได้ เดิมที ทรงคิดจะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาซึ่งถูกเพลิงพม่าเผาจนเป็นซากปรักหักพังขึ้นมาใหม่ให้กลับคืนเป็นราชธานีดังเดิม แต่ครั้นเมื่อเสด็จเข้าประทับแรมอยู่ ณ พระที่นั่งทรงปืน คืนวันหนึ่งทรงพระสุบินนิมิตว่า “พระมหากษัตริย์แต่ก่อนมาขับไล่เสีย มิให้อยู่” ครั้นรุ่งเช้าขึ้นได้ตรัสเล่าพระสุบินให้ขุนนางทั้งปวงฟัง แล้วจึงตรัสว่า “เราคิดสังเวช เห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่าช้า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่กันเถิด” แล้วพระองค์พร้อมด้วยท่านทั้งปวงก็มาตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี สืบต่อมาเป็นยุคกรุงธนบุรี
  
หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ซึ่งขณะกรุงแตกได้ปฏิบัติราชการอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม ได้เดินทางพร้อมครอบครัวเข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ช่วยปราบศึกพม่า ลาว เขมร จนในที่สุดได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ทหารคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พระเจ้าอังวะต้องการปราบไทย ให้อะแซหวุ่นกี้ เป็นแม่ทัพใหญ่ เดินทัพจากเมืองเมาะตะมะเข้ามาทางด่านเมืองตากหยุดพักอยู่ที่นั่น ทำทีเหมือนจะไปตีชิงเอาเมืองกำแพงเพชร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ต้องรีบเสด็จกลับกรุงธนบุรีเพื่อเตรียมการป้องกันราชธานี เจ้าพระยาจักรีซึ่งเพิ่งเสร็จการศึกจากเชียงใหม่ จึงกราบบังคมทูลรับอาสารบ และได้ยกกองทัพหนุนขึ้นไปช่วยทหารซึ่งขณะนั้นได้ติดตามตีรุก จนทัพพม่าล่าถอยออกพ้นอาณาเขตประเทศสยาม โดยตัวเจ้าพระยาจักรีตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร

ณ เมืองกำแพงเพชร ในเวลาเช้าวันหนึ่ง เจ้าพระยาจักรีออกลาดตระเวนกองทัพ และชักม้ากลับเพื่อตัดทาง ม้าได้พาท่านเข้าป่าฝ่าพงจำเพาะมายังบ้านปลายนา ใต้เมืองกำแพงเพชร ขณะนั้นเป็นเวลาเย็น เจ้าคุณแม่ทัพจึงได้ชักม้าไปยังโรงนานั้น และได้พบหญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมา ท่านจึงขอน้ำดื่มแก้กระหาย หญิงสาวนั้นได้เข้าไปในโรงนา ตักน้ำใส่ขันล้างหน้าใบหนึ่งแล้วเลยไปหักดอกบัวหลวงในหนองน้ำข้างโรงนานั้น ฉีกกลีบเด็ดเอาแต่เกสรบัวโรยลงไปในขันน้ำนั้นจนเต็มนำไปส่งให้ท่านเจ้าคุณบนหลังม้า เจ้าคุณแม่ทัพรับเอาขันน้ำมาเป่าเกสร แล้วดื่มน้ำจนหมดขันด้วยความกระหาย ครั้นดื่มน้ำหมดแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพจึงถามนางว่า เหตุไฉนเรากระหายน้ำ สู้อุตส่าห์บากหน้ามาขอน้ำเจ้ากิน เจ้าแกล้งเอาเกสรบัวโรยลงส่งให้ นางตอบว่า จะได้คิดแกล้งท่านนั้นก็หาไม่ เห็นว่าท่านตากแดดลมเหนื่อยมา และกระหายน้ำ เพื่อจะป้องกันอันตรายจากการสำลักน้ำ สะอึกน้ำ และกันจุกแน่นแห่งท่าน จึงได้โรยเกสรบัวลงในขันน้ำ

เจ้าคุณแม่ทัพได้ฟังถ้อยคำ เกิดความรักความปรานีขึ้น จึงลงจากหลังม้าและถามนางว่า ตัวของเจ้าก็เป็นสาวเต็มตัว มีใครๆ มาหมั้นหมายผูกสมัครรักใคร่เจ้าบ้างหรือยัง นางบอกว่ายังไม่เห็นมีใครๆ มารักใคร่หมั้นหมาย และนางก็มัวแต่หลบหัวซ่อนตัวอยู่ ด้วยบ้านเมืองเกิดยุ่งตุงนังมานานจนกาลบัดนี้

เจ้าคุณแม่ทัพจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ที่ได้มาเห็นเจ้าเป็นสาวก่อน เจ้าต้องยอมตกลงเป็นคู่รักของเราเราจะต้องเป็นคู่ร่วมรักของเจ้าสืบไป เจ้าจะพร้อมใจยินยอมเป็นคู่รักของเราโดยสุจริตหรือว่าประการใด    

นางตอบว่า การจะมีผัวมีเมียกันตามประเพณีนั้น ท่านต้องเจรจากับผู้ใหญ่จึงจะทราบการ  

เจ้าคุณแม่ทัพถามว่าผู้ใหญ่ของเจ้าไปไหน
 
นางตอบว่า ไปรดน้ำถั่วจวนจะกลับแล้ว

เจ้าคุณแม่ทัพขยับเดินเข้าใกล้ นางนั้นวิ่งปรู๋ออกแอบที่หลังโรงนา และไม่กลับเข้ามา

ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็ต้องนั่งเฝ้าโรงนาคอยท่าบิดามารดาของนาง

ครั้นเมื่อตาผล ยายลา ผู้เป็นบิดามารดาของนางกลับมาถึงโรงนาแล้ว เจ้าคุณแม่ทัพ จึงยกมือขึ้นไหว้บอกว่า ฉันจะสมัครเข้ามาเป็นลูกเขยท่านทั้งสอง แล้วเล่าถึงกาลแรกมาขอน้ำดื่ม นางได้โต้ตอบด้วยถ้อยคำน่าฟังน่านับถือ จึงทำให้เกิดความรักปรานีขึ้น และตั้งใจจะเลี้ยงดูจริง จึงต้องทนอยู่คอยท่านเพื่อจะแสดงความเคารพและจะขอเป็นเขย ขอให้พ่อแม่ได้โปรดยกนางสาวลูกนั้นให้เป็นสิทธิแก่ฉันในวันนี้ แล้วเจ้าคุณแม่ทัพถอดแหวนออกจากนิ้วแล้วบอกว่า แหวนวงนี้มีราคาสูง ถ้าว่าท่านบิดามารดายินยอมยกแม่งุดให้เป็นเมียเป็นสิทธิ์แก่ฉันแล้ว ฉันจะยกแหวนวงนี้ ตั้งราคาทำสัญญาให้ไว้เป็นสินไถ่ ๒๐ ชั่ง คิดเป็นทุนเป็นค่าทองหมั้นขันหมากผ้าไหว้อยู่ใน ๒๐ ชั่ง ทั้งค่าเครื่องเหย้าเครื่องเรือนเบี้ยเลี้ยงค่าเลี้ยงดู ค่าเครื่องเส้นวักตั๊กกระแตนเสร็จในราคา ๒๐ ชั่ง ด้วยแหวนวงนี้

สองตายายได้ฟัง เต็มใจพร้อมใจ ตกลงยกลูกสาวให้ตามปรารถนา ให้ศีลให้พร จัดแจงหุงข้าว ต้มแกง เทียบสำรับตามป่าๆ แล้วเชิญให้อาบน้ำทาดินสอพอง ลูกสาวทาขมิ้น แล้วยายก็ยกสำรับปูเสื่อลำแพน เชิญเจ้าคุณแม่ทัพให้รับประทาน ยายตาก็รับประทานพร้อมกัน นางงุดนั้นให้กินภายหลัง ครั้นเวลา ๔ ทุ่ม จึงพาลูกสาวออกมารดน้ำรดท่า แล้วก็ส่งมอบฝากฝังตามธรรมเนียมของชาวเมืองกำแพงเพชร อันเคยทำพิธีมาแต่ก่อน

ส่วนเจ้าคุณแม่ทัพรับตัวนางงุดแล้ว ก็หลับนอนอยู่ด้วยในกระท่อมโรงนา จนรุ่งสางจึงตื่นขึ้นอาบน้ำรับประทานอาหารแล้วขึ้นหลังม้ามาบัญชาการที่กองทัพ แม่ทัพนายกองทั้งปวงจะได้ล่วงรู้และร่ำลือให้อื้อฉาวก็เป็นอันว่าหามิได้ แต่บุตรชายของเจ้าคุณแม่ทัพซึ่งนอนอยู่ในค่ายมีอายุ ๘ ขวบ ก็เข้าใจว่าเจ้าคุณแม่ทัพผู้เป็นบิดาได้ดูแลตรวจตราบัญชาการ เป็นดังนี้นานประมาณเดือนเศษ ตามสังเกตรู้ว่านางงุดตั้งครรภ์

ครั้นพอมีท้องตราหากองทัพกลับ เจ้าคุณแม่ทัพก็ไปล่ำลาและสั่งสอนกำชับกำชาโดยนานัปการ จนนางงุดเข้าใจ ตลอดรับคำทุกอย่างแล้ว ท่านก็คุมกองทัพกลับกรุง.



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

เมื่อครรภ์ยังอ่อนๆ อยู่นั้น นางงุดปรึกษาหารือตาผลยายลาผู้เป็นบิดามารดาว่าจะคิดขึ้นล่องค้าขายกรุงธนบุรีและเมืองเหนือ เมื่อคนทั้งสามตกลงเห็นชอบพร้อมใจกันแล้ว จึงได้รวบรวมเงินต้นทุนแล้วละโรงนานั้นเสีย พากันลงอยู่ในเรือใหญ่ จัดการซื้อสินค้าบรรทุกเรือนั้นเต็มระวาง ออกเรือล่องลงมาถึงบ้านบางขุนพรหม ฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรี เข้าจอดเรืออาศัยท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหม ซึ่งเป็นคนเคยอยู่เมืองเหนือมาแต่ก่อน แล้วผ่อนสินค้าขายส่งจนหมดลำ แล้วจัดการซื้อสินค้าบางกอกและสินค้าเมืองปักษ์ใต้บรรทุกเรือเต็มระวาง แจวกลับขึ้นไปปากน้ำโพ จำหน่ายในตลาดเมืองเหนือตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ จนถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วก็กลับบรรทุกสินค้าเมืองเหนือกลับล่องเรือมาจอดท่าหน้าบ้านนายทอง นางเพียน บางขุนพรหมอีก

ค้าขายมาโดยนิยมดังนี้ ล่วงวันและราตรีมาถึงเก้าเดือน ได้กำไรมากพอแก่การปลูกเรือน จึงให้ปลูกเรือนแพสองหลังแฝด มีชานสำหรับผึ่งแดด พร้อมครัวไฟ บันไดเรือน บันไดน้ำ จำนองที่ดินในถิ่นบางขุนพรหมเหนือบ้านนายทอง นางเพียนขึ้นไปสัก ๔ วาเศษ เพื่อเหตุจะได้อาศัยคลอดลูก และใช้ผูกหย่อนสินค้าเห็นเป็นการสะดวกที่สุด

แกนกระดูกเป็นท่อนเดียวกัน
วันพุธ เดือนหก ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ * นางงุดปั่นป่วนครรภ์ เป็นสำคัญรู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตร บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชาย ครั้นบุตรนั้นเจริญวัฒนาการประมาณได้สักเดือนเศษ หมู่ญาติมิตรพากันสังเกตตรวจตราจับต้องประคองทารกน้อยขึ้นเชยชม บางคนคลำถูกกระดูกแขน เห็นเป็นแกนกระดูกเป็นท่อนเดียวกัน ครั้นช้อนทารกขึ้นนอนบนขาเพื่อจะอาบน้ำ ก็เห็นเป็นปานดำที่กลางหลังอยู่หนึ่งดวง ต่างพากันทักท้วงต่างๆ นานา ทำให้นางงุดเกิดความไม่สบายใจ เกรงไปว่าวาสนาตัวน้อยจะไม่สามารถเลี้ยงลูกคนนี้ได้ จึงอ้อนวอนบิดามารดา ให้ช่วยสืบเสาะพระสงฆ์ที่ปฏิบัติเคร่งครัด ขอได้ช่วยพาบุตรไปถวายเป็นลูกท่านองค์นั้นในวัดเถิด

----------------
* ข้อมูลจากหนังสือหลายฉบับระบุวันเดือนเกิดของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คือวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต หรือราว ๐๖.๕๔ น. จึงขัดแย้งกับหนังสือบันทึก ฉบับของพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์)


ลูกหลวงพ่อแก้ว วัดบางลำพูบน
นายทอง นางเพียน นึกถึงหลวงพ่อแก้ว วัดบางลำพูบน จึงบอกแก่นายผลว่า หลวงพ่อแก้ว วัดบางลำพูบน ท่านเป็นพระสำคัญ เคร่งครัดทั้งปริยัติและปฏิบัติ วิชาก็ดี มีอัธยาศัยกว้างขวาง ผู้คนนับถือท่านมาก ถ้าพวกเราออกปากถวายเจ้าหนูแก่ท่าน ท่านเห็นจะไม่ขัดข้อง

เมื่อปรึกษากันแล้ว จึงพากันเอาเจ้าหนูน้อยไปถวายให้เป็นลูกแก่หลวงพ่อแก้ว ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว ตรวจตราพิจารณาชะตาราศีดูแล้ว ท่านก็รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาเฉลียวฉลาดในการร่ำเรียน มีความเพียรและความอดทน จะเป็นบุคคลที่เปรื่องปราชญ์อาจเชี่ยวชาญวิทยาคม จะมีแต่คนนิยม ฤาชาปรากฏ กอปรด้วยอิสริยศบริวารยศมาก เป็นคนประหลาดแปลกกว่าคน จะเจริญชนม์มีอายุยืนนาน ครั้นแล้ว ท่านจึงผูกข้อมือเสกเป่าเข้าปาก นวดนาบด้วยนิ้วของท่าน เพื่อรักษาเหตุการณ์ตาลซาง ละลอก ทรพิษ ไม่ให้มีฤทธิ์มารบกวนแก่กุมารน้อยต่อไป แล้วท่านก็ฝากให้นางงุดช่วยเลี้ยงจนกว่าจะได้สามขวบ ค่าจ้างค่าน้ำนมข้าวป้อนเสร็จปีละ ๑๐๐ บาท เมื่อหนูน้อยมีอายุเจริญขึ้นได้ ๓ เดือน จึงหาฤกษ์โกนผมไฟในเดือน ๙ แล้วจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ออกเรือไปจำหน่ายเมืองเหนือ จำหน่ายหมดก็จัดซื้อสินค้าจากเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เพิ่มพูนมั่งคั่งขึ้นหลายสิบเท่า คนทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นขึ้นเป็นลำดับ  

ตาผล ยายลาและนางงุด จึงได้ละถิ่นฐานมาจับจองที่ดินเหนือเมืองพิจิตร ปลูกคฤหสถานตระหง่านตามวิสัย ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมือง จึงได้ชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่วัดนั้น ทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลัก รักในการทำบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้ามีตาในเมืองพิจิตร

ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นอำนาจ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนไทยในช่วงเวลาสั้นๆ ไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ฝ่าย “หนูโต” บุตรชายของนางงุดเมืองพิจิตรนั้น มีชนมายุได้ ๗ ปี นางงุดได้นำเข้าไปถวายท่านพระครูวัดใหญ่เมืองพิจิตร ให้เรียนหนังสือไทย หนังสือขอม และกิริยามารยาท ขนบธรรมเนียมการวัด การบ้านการเมือง จวบจนหนูโตอายุได้ ๑๓ ปี ก็ได้มีพิธีโกนจุกเลี้ยงพระทำขวัญ ครั้นล่วงมาอีก ๗ วัน นางงุดจึงนำหนูโตไปมอบถวายพระครูวัดใหญ่ในเมืองพิจิตร แล้วให้ท่านสอนสามเณรสิกขาให้รู้ในข้อวัตรทาสสามเณรภูมิต่อไป


มุ่งสู่พระนคร มอบถวายสามเณรโต
แล้วตาผลเป็นผู้นำสามเณรโตพร้อมด้วยคนแจวลงเรือส่งสามเณรไปกรุงเทพฯ ให้เรือออกจากท่าหน้าบ้านแจวออกทางแม่น้ำพิษณุโลก ล่องมาหลายเพลาก็มาถึงวัดพระชินราชในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ จึงนิมนต์สามเณรโตขึ้นไปโบสถ์พระชินราชเข้านมัสการสักการบูชาเสร็จแล้ว ก็กราบลาพาสามเณรโตมาลงเรือแจวล่องลงมา

สองคืนก็ถึงหน้าวัดบางลำพูบน กรุงเทพฯ ตอนเวลาเช้า ๒ โมง วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นสามเณรโตมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี ตาผลผู้เป็นตาได้นำพาสามเณรขึ้นไปมอบถวายพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน พระนคร ตาผลได้เล่าถึงการเรียนของสามเณรโต จนกระทั่งถึงท่านพระครูจังหวัดวัดทางเมืองเหนือทั้ง ๒ อาราม มีความเห็นชอบพร้อมกันที่จะให้ลงมากรุงเทพฯ ฝ่ายพระอาจารย์แก้วทราบพฤติการณ์ตามที่ตาผลเล่าก็เกิดความเชื่อเลื่อมใสในสามเณรโต เห็นสมจริงดังที่เคยพยากรณ์ไว้แต่ยังนอนแบเบาะ และได้รับเป็นลูกไว้ จึงนึกขึ้นได้ถึงเงินที่ลั่นวาจาว่าจะจ้างแม่มันเลี้ยงปีละ ๑๐๐ บาท นาน ๓ ปี จนหย่านม เป็นเงินจ้าง ๓๐๐ บาท  

ตาผลน้อมรับเอาเงิน ๓๐๐ บาทมากำไว้สักครู่ เมื่อจวนจะลากลับ จึงพรรณนาฝากสามเณร แล้วถวายเงิน ๓๐๐ บาทนั้นคืนหลวงพ่อแก้ว และถวายอีก ๑๐๐ บาท เป็นค่าบำรุงเณร จากนั้นก็ลาพระอาจารย์แก้วกลับไป ฝ่ายพระอาจารย์แก้วจึงจัดห้องหับให้สามเณรอยู่บนหมู่บน คณะวัดบางลำภูบนตั้งแต่นั้นมา เวลาเช้าสามเณรก็ลุกออกบิณฑบาต บารมีศีลและธรรมที่สามเณรโตประพฤติดี ก็บันดาลให้มีผู้ขึ้นถวายเช้าและเพล ที่ปวารณาก็กลายเป็นโภชนะสัปปายะของโยคะบุคคลทุกเวลา

เจ็ดโยมอุปถัมภ์
พระอาจารย์แก้ว เมื่อเห็นฤกษ์ดีจึงได้นำสามเณรโตไปฝากพระโหราธิบดี พระวิเชียร กรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรให้มีความรู้ดีในคัมภีร์พระปริยัติธรรมทั้ง ๓ ปิฎก พระโหราธิบดี พระวิเชียรก็รับและสอนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

พระโหราธิบดี พระวิเชียร บ้านอยู่หลังวัดบางลำภูบน เสมียนตราด้วง ท่านขุนพรหมเสนา บ้านบางขุนพรหม ปลัดกรมนุท บ้านบางลำภูบน เสมียนบุญ และพระกระแสร ท่านทั้ง ๗ เป็นคนมั่งมีหลักฐานดี ทั้งมีศรัทธาเชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา เมื่อได้เห็นจรรยาอาการของสามเณรโต และความประพฤติดี มั่นเรียนเพียรมาก ปากคอลิ้นคางคล่องแคล่วไม่ขัดเขิน เคร่งครัดดี รูปกายก็ผึ่งผายองอาจ ดูอาการมิได้น้อมไปทางกามคุณ มารยาทก็ละมุนละม่อม เมื่อร่ำเรียนธรรมะในคัมภีร์ไหนก็เอาใจใส่ไต่ถามให้รู้ลักษณะจะเดินประโยคอะไรที่ถูกต้องตามรูปประโยคแบบอย่าง ถูกใจอาจารย์มากกว่าผิด  

ท่านทั้ง ๗ คนดังออกนามมานี้ พร้อมกันเข้าเป็นโยมอุปัฏฐากช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงสามเณร  




เข้าเฝ้าถวายตัว
พ.ศ. ๒๓๓๗ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขณะนั้นทรงพระชนมายุ ๒๘ พรรษา อายุสามเณรโตก็ได้ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ท่านพระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง พิจารณากิริยาท่าทาง และสติปัญญาอย่างเยี่ยมแปลกกว่าที่เคยได้เห็นมาของสามเณรโต ซึ่งท่านเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสำเร็จหลักสูตรมูลกัจจายน์ตั้งแต่ในพรรษาแรกๆ สามารถแปลภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกได้อย่างเชี่ยวชาญแตกฉานเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป ทั้งมีรัดประคดหนามขนุนที่โยมมารดาให้มาคาดด้วย จะทักถามและพยากรณ์เองก็ใช่เหตุ จึงปรึกษาเห็นตกลงพร้อมกันนำเข้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้ได้ทรงทอดพระเนตร บางทีพ่อเณรมีวาสนาดีก็อาจจะเป็นพระหลวงเณรหลวงก็ได้ ครั้นเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีขาล ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๓๗ พระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง จึงนมัสการลาพระอาจารย์แก้ว แล้วพาสามเณรโตลงเรือแหวด ๔ แจว คนแจวล่องลงมาจอดที่ท่าตำหนักแพหน้าพระราชวังเดิม ณ ฝั่งธนบุรีใต้วัดระฆังนั้น

ฝ่ายพนักงานหน้าท้องพระโรง นำความขึ้นกราบทูล จึงเสด็จออกท้องพระโรง และได้ทรงสดับคำพระโหราธิบดีกราบทูลเสนอคุณสมบัติของสามเณรให้ทรงทราบ ครั้นได้ทอดพระเนตรสามเณรโต ทรงเห็นสามเณรโตเปล่งปลั่งรังสีรัศมีกายออกงามมีราศี เหตุกำลังอำนาจศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ สมกับผ้ากาสาวพัสตร์ และมีรัดประคดหนามขนุนอย่างของขุนนางผู้ใหญ่คาดเป็นบริขารมาด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระเกษมสันต์โสมนัสยิ่งนัก จึงเสด็จตรงเข้าจับมือสามเณรโต แล้วจูงมาให้นั่งพระเก้าอี้เคียงพระองค์ แล้วทรงไต่ถามความเป็นมา บ้านเกิดอยู่ที่ไหนฯ ทูลว่าขอถวายพระพร บ้านเดิมอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร แล้วย้ายลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือเมืองพิจิตร
 
รับสั่งถามว่า โยมผู้ชายชื่ออะไร ทูลว่า ขอถวายพระพร ไม่รู้จัก

รับสั่งถามว่า โยมผู้หญิงชื่ออะไร ทูลว่า ขอถวายพระพร ชื่อแม่งุด โยมผู้หญิงเป็นแต่กระซิบบอกว่า เจ้าของรัดประคดนี้เป็นเจ้าคุณแม่ทัพ คือ โยมผู้ชาย ขอถวายพระพร

ได้ทรงฟัง ตระหนักพระหฤทัยแล้วก็ทรงทราบโยมผู้ชายเป็นใคร จึงทรงพระปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งขึ้น จึงรับสั่งทึกทักว่าพระโหรานำช้างเผือกเข้ามาถวาย พระองค์จะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงสามเณร และย้ายเณรให้มาอยู่วัดนิพพานารามกับสมเด็จพระสังฆราชมี (วัดนิพพานาราม ปัจจุบัน คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์) รับสั่งแล้ว จึงทรงพระราชหัตถเลขามอบสามเณรโตแก่สมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วมอบลายพระราชหัตถเลขานั้นแก่พระโหราธิบดีให้นำไปถวาย

ฝ่ายขุนนางทั้ง ๓ ก็พาสามเณรลงเรือแจวข้ามฟากมาขึ้นท่าวัดนิพพานารามตามรับสั่ง แล้วทูลถวายพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระสังฆราชรู้ความในพระกระแสรับสั่งนั้น จึงรีบสั่งให้พระครูใบฎีกาไปพาตัวพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพู ซึ่งเป็นเจ้าของสามเณรเดิมนั้นขึ้นมาเฝ้า พระอาจารย์แก้วทราบว่าพระยุพราชนิยม ก็มีความชื่นชมอนุญาตถวายเณรให้อยู่วัดนิพพานารามต่อไป ได้รับนิสัยแต่สมเด็จพระสังฆราชด้วยแต่วันนั้นมา ได้เล่าเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรม จนทราบลัทธิวิธีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าจนชำนิชำนาญดี และเรียนกับพระอาจารย์สม วัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย


ภิกษุหลวง
ครั้น เดือน ๖ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๔๐ เป็นปีที่ ๑๖ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระคำนวณปีเกิดของสามเณรโตเป็นกำหนดครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ควรอุปสมบทได้แล้ว จึงรับสั่งให้พระโหราธิบดีกับเสมียนตราด้วงมาเฝ้า แล้วทรงรับสั่งให้เป็นธุระการบวชสามเณรแทนพระองค์ที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก แล้วทรงมอบกิจการทั้งปวงแก่พระโหราธิบดีพร้อมทั้งเงินที่จะใช้สอย ๔๐๐ บาท ทั้งเครื่องบริขารพร้อมและรับสั่งให้ทำขวัญนาคเวียนเทียนแต่งตัวนาคอย่างแบบนาคหลวง การแห่แหนนั้นอนุญาตตามใจญาติโยมและตามคติของชาวพื้นเมือง แล้วรับสั่งให้เสมียนตราด้วง ท้องตราบัวแก้วขึ้นไปวางให้เจ้าเมืองพิษณุโลก ให้เจ้าเมืองเป็นธุระช่วยการบวชนาคสามเณรโตให้เรียบร้อยดีงาม กับทั้งขอแรงเจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิชัย และเจ้าเมืองชัยนาทบุรีให้มาช่วยกันดูแลการงาน รับสั่งให้สังฆการีในพระราชวังบวรวางฎีกาอาราธนาสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังให้ขึ้นไปบวชนาคที่วัดตะไกร งานบวชก็ดำเนินไปตามพระกระแสรับสั่งทุกประการ

สามเณรโตก็สำเร็จเป็นภิกษุภาวะในเพลา ๓๒ ชั้น คือ ๗ นาฬิกาเช้า วันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ ปี ประชุมสงฆ์ ๒๘ รูป เป็นคณะปักกะตัดตะ ในพัทธสีมาวัดตะไกร เมืองพิษณุโลก โดยมีสมเด็จพระวันรัต วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการ วัดตะไกรเมืองพิษณุโลก เป็นอนุสาวะนะ นามฉายาว่า "พฺรหฺมรํสี" แปลว่า รังสีแห่งพรหม งานบวชและงานสมโภชพระภิกษุโตเอิกเกริกใหญ่โตมโหฬาร สมกับเป็นนาคหลวง

แรม ๔ ค่ำศกนั้น พระยาพิษณุโลกได้อาราธนาสมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้ว พระภิกษุโต เข้าไปฉันในจวน เลี้ยงข้าหลวงเสมียนตราพาย พราหมณ์ เสร็จแล้วก็ลงเรือล่องลงมาเป็น ๕ ลำด้วยกัน วันแรม ๖ ค่ำ ก็ถึงวัดนิพพานาราม สมเด็จพระวันรัต พระอาจารย์แก้ว ได้พาพระภิกษุโต พระยาพิษณุโลก พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชพร้อมกัน กราบเรียนให้ทราบพอสมควร สมเด็จพระสังฆราช จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระวันรัตเป็นอาจารย์สอนและบอกคัมภีร์พระปริยัติธรรมต่อไป แล้วรับสั่งให้พระครูฐานาจัดกุฏิให้ภิกษุโตอาศัยต่อไปในคณะตำหนัก วัดนิพพานารามแต่วันนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จออกทรงรับพระราชกุศล ถวายองค์เป็นอุปัฏฐาก ท่านก็รุ่งเรืองในกรุงเทพฯ แต่นั้นมา

godone108:
ละเอียดมาก ขอบคุณครับ

Kimleng:
.

เรือกราบ หรือเรือกระแฉ่ง (เป็นเรือทรงเฉพาะเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าเท่านั้น)

มหาโต
ลุปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับการสถาปนาให้ดำรงพระยศเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราช และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติพระองค์ต่อไป ขณะนั้น พระภิกษุโตมีอายุ ๓๐ ปี พรรษาได้ ๑๐ ท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลในพระราชพิธี จึงได้ทรงโปรดพระราชทานเรือกราบ ถวายแก่พระภิกษุโต โปรดรับสั่งว่า "เอาไว้สำหรับเทศน์โปรดญาติโยม" ทั้งยังทรงตั้งให้เป็น "มหาโต" ด้วย แต่นั้นมาผู้คนทั่วแผ่นดินจึงเรียกท่านว่า "มหาโต"

สองปีล่วงมา สมเด็จพระสังฆราชชราภาพถึงมรณะล่วงไปแล้ว ยังหามีสมเด็จพระสังฆราชครองวัดนิพพานารามไม่  

ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ กรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นเถลิงราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน (พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒)จึงทรงพระกรุณาโปรดยกพระปัญญาวิสารเถระ (พระชินวร) วัดสมอราย ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระราชทานนามวัดนิพพานารามเสียใหม่ว่า "วัดมหาธาตุ" สมเด็จพระสังฆราชได้ลงมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุด้วย พระมหาโตจึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราชมี และสมเด็จพระสังฆราชนาค

ในศกนี้ พระมหาโตมีพรรษา ๑๒ มีความเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ทั้งยังเป็นพระของพระเจ้าแผ่นดิน อันพระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐาก อดิเรกลาภ ลูกศิษย์ลูกหาก็มีทวีคูณมากมาย

ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้สร้างตำหนักใหม่ในวัดมหาธาตุ เพราะทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ (รัชกาลที่ ๔) จะทรงพระผนวชเป็นสามเณร ครั้นทรงผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับอยู่ พระมหาโตได้เป็นพระพี่เลี้ยงและได้เป็นครูสอนอักขระขอมตลอดจนถึงคัมภีร์มูลกิจจายน์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ วันพุธเดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเสด็จขึ้นไปประทับวัดสมอราย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดราชาธิวาส) ภายหลังกลับมาประทับ ณ ตำหนักเติมวัดมหาธาตุ พระมหาโตก็ได้เป็นผู้บอกธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมอีก เป็นเหตุให้ทรงคุ้นเคยกันมาขึ้นเพราะมีอัธยาศัยต้องกัน  

ในศกนี้ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสรรคต พระมหาโตมีอายุได้ ๔๙ พรรษา ๒๘ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติเป็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พ.ศ. ๒๓๖๙ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้นิมนต์ทูลกระหม่อมใหญ่ (ภายหลังเถลิงราชย์เป็นรัชกาลที่๔) ให้ทรงแปลพระปริยัติธรรม ๓ วัน ก็ทรงแปลได้หมด แล้วให้พระมหาโตแปลแก้รำคาญหูเสียบ้าง ท่านเข้าแปลถวายหนึ่งวันแปลได้สักลานกว่า ผู้กำกับการสอบไล่ถือพัดยศเข้ามา ท่านก็เลยม้วนหนังสือถวายกราบลามาข้างนอกพระราชวัง ใครถามว่า "ได้แล้วหรือขอรับคุณมหา" ท่านรับคำว่า "ได้แล้วจ๊ะ"  

พ.ศ. ๒๓๗๒ ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ไม่สำราญพระหฤทัยในวัดมหาธาตุ จึงทรงกลับมาประทับ ณ พระตำหนักเดิม วัดสมอราย.


วิชาเปลี่ยนหน้า

ถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๓ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสรรคต พระมหาโตมีอายุได้ ๖๔ ปี ๔๒ พรรษา พวกข้าราชการได้ทูลอัญเชิญทูลกระหม่อมพระราชาคณะ วัดบวรนิเวศน์วรวิหาร ให้เสด็จนิวัตออกเถลิงราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔

พระมหาโตออกธุดงค์หายไปหลายเดือน ครั้นทรงระลึกถึงได้จึงรับสั่งให้หาตัวมหาโตก็ไม่พบ ทรงกริ้วสังฆการี รับสั่ง "ท่านเหาะก็ไม่ได้ ดำดินก็ไม่ได้ แหกกำแพงจักรวาลหนีก็ยังไปไม่ได้" จึงรับสั่งให้พระญาณโพธิ์ออกติดตามก็ไม่พบ ก็รับสั่งว่า"ฉันตามเอง"

ครั้นถึงเดือนเจ็ดปีนั้น มีกระแสรับสั่งถึงเจ้าเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ทั้งพระราชอาณาจักร จับพระมหาโตส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ ให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ออก ตก ออกค้นตามหา เลยสนุกกันใหญ่ทั้งฝ่ายพุทธจักร อาณาจักร แม้จะมีท้องตรารับสั่งเร่งรัดอย่างไรก็ยังเงียบอยู่ เจ้าเมือง เจ้าหมู่ฝ่ายพระ ร่วมใจกันจับพระอาคันตุกะทุกองค์ส่งยังศาลากลาง คราวนี้พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้า ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ เห็นเป็นพระองค์อื่น ปล่อยท่านไปก็มี (อาคมชนิดนี้ พระอาจารย์เจ้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป) ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่านายด่าน นายตำบล เจ้าเมือง กรรมการจับพระ ไปอดเช้าบ้าง เพลบ้าง ตากแดดตากฝนได้รับความลำบาก ทำทุกข์ยากแก่พระสงฆ์ คงไม่ดีแน่ จึงแสดงตนให้กำนันบ้านไผ่รู้จัก จึงส่งตัวมายังศาลากลาง เจ้าเมืองมีใบบอกมายังกระทรวงธรรมการๆ บอกส่งไปวัดโพธิเชตุพนฯ พระญาณโพธิขึ้นไปดูตัวก็จำได้ แล้วคุมตัวมหาโต ลงมาเฝ้า ณ พระที่นั่งอมรินทร ท่ามกลางขุนนางข้าราชการ

จึงมีพระราชดำรัสว่า "เป็นสมัยของฉันปกครองแแผ่นดิน ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน" แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการวางฎีกาตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม ทรงถวายสัญญาบัตรตาลปัตรแฉกหักทองขวางด้ามงา เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานะนุกรม ๓ องค์ มีนิตยภัตรเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร

เมื่อออกจากพระบรมราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเองถึงบางขุนพรหม และบางลำพูบน บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้า เข้าไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขารไปบอกพระวัดระฆังว่า "เจ้าชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นที่พระธรรมกิตติมาเฝ้าวัดระฆังวันนี้จ๊ะ" ท่านแบกตาลปัตรพัดแฉกสะพายถุงย่ามสัญญาบัตรไปเก้ๆ กังๆ พะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขันจะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็นัดโน่นทำนี้ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง.

เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวดศกนั้น ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ (โต) ขึ้นเป็นพระเทพกวี ราชาคณะผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูง มีนิตยภัตร ๒๘ บาท ค่าข้าว ๑ บาท  

ปี พ.ศ. ๒๔๐๘ จึงทรงสถาปนาพระเทพกวี (โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รับหิรัญบัตรมีถานา ๑๐ มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาทต่อเดือน  

สมเด็จฯ มีพระชนมายุ ๗๘ พรรษา ๕๖ ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีโสกันต์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โสกันต์คราวนี้มีเขาไกรลาศ  

รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านเกิดในรัชกาลที่ ๑ เมื่อท่านยังเป็นสามเณรอยู่ มีชื่อเหลือเกิน เทศน์คนติดใจทีเดียวว่าเทศน์ไพเราะ ความรู้ภาษาบาลี พระปริยัติธรรมก็เปรื่องปราดแตกฉาน รัชกาลที่ ๑ ก็ทรงพระเมตตา แต่ภายหลังอุปสมบทแล้วท่านไม่ยอมเข้าสอบ ไม่ยอมเข้าอยู่ประจำที่ ท่านออกเดินธุดงค์บำเพ็ญกรรมฐานของท่านเรื่อยไป จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ มาถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงขอร้องท่านมหาโตนี้ จะให้เป็นพระราชาคณะสักที ท่านไม่ยอมรับ ท่านทำอะไรของท่านตามใจ ชอบเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ในอาณัติ มาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็อยากให้รับเป็นพระราชาคณะสักหน่อยหนึ่ง ไม่รับอีก  

พอรัชกาลที่ ๔ ขึ้นเสวยราชย์เป็นปีแรกก็ยังยุ่งกับพระราชกิจอยู่ พอถัดมาได้ ๓ ปี คือปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ทรงติดต่อกับท่านมหาโตขอให้ยอมรับเป็นพระราชาคณะสักที ท่านไม่ยอมรับ ๒-๓ รัชกาลมาแล้ว แต่เป็นที่น่าพิศวงว่าเหตุไร พระเถระผู้มีญาณวิเศษ มีอาจารปฏิบัติในทางที่ดีงามรูปนี้ จึงรับสนองพระกรุณาเป็นพระราชาคณะ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะท่านมีอายุถึง ๖๕ ปี ซึ่งเห็นจะเป็นเจ้าคุณที่แก่ที่สุดในประเทศไทย คืออายุ ๖๕ ปี เป็นพระราชาคณะ อีก ๒ ปี เป็นเจ้าคุณเทพกวี แล้วต่อมาอีก ๖-๗ ปี เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)


ย่ำรุ่งถึง
ครั้งหนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆการีฎีกาว่าย่ำรุ่งถึง แล้วถวายพระพรถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์ วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรง ท่านก็มาถึง พระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยา ลั่นอยู่องค์เดียวสามจบ จากนั้นท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ที่พักสงฆ์ แล้วก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้นในพระบรมมหาราชวัง

ครั้นเวลาสามโมงเช้าเสด็จออก จวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุพระราชาคณะประจำที่หมด ยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายและสนมในบอกต่อๆ กันเข้าไปว่า ได้เห็นสมเด็จหายเข้าไปในโรงม้าต้น พวกสังฆการีเข้าไปค้นเอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกันรุนกันดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดพระเนตรเห็นก็กริ้ว แหวรับสั่งว่าถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้เอาแฉกคืนๆ  

เร็วๆ เอาชยันโตทีเดียว ขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสน์สงฆ์แล้วนั่งลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาลี พระบวรวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ก็คีบแลโกนเป็นลำดับไป ครั้นเสร็จแล้วประเคนอังคาสพระสงฆ์แล้วเสด็จเข้าฉากไป ขรัวโตฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา ขรัวโตก็ยถาแต่ไม่ตั้งตาลปัตร เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์โตก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก แปรพักตร์มารับสั่งว่าถวายอติเรกจะรีบ

พระราชาคณะรองๆ ลงมาก็ไม่มีใครกล้า นั่งงันกันไปหมด รับสั่งถามว่า อ้าวสมเด็จหายไปไหน เขาทูลว่า ท่านกลับไปแล้ว อ้าวพัดยังอยู่ ชรอยจะใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็วเอาพัดไปส่งตัว มาถวายอติเรกก่อน

สังฆการีรีบออกเรือตามร้องเรียกเจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อนมาเอาพัดแฉก

ท่านร้องตอบมาว่า พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ

สังฆการีว่า รับสั่งให้หา ท่านก็ข้ามกลับมาเข้าทางประตูต้นสนดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท  

แล้วรับสั่งให้ถวายอติเรกเร็วๆ ทูลว่าขอถวายพระพร ถวายไม่ได้ รับสั่งถามว่า ทำไมถวายไม่ได้

ทูลว่า ขอถวายพระพร เหตุพระราชบัติตราไว้ว่าให้พระราชาคณะถวายอติเรก บัดนี้ อาตมาภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอติเรก ขอถวายพระพร

รับสั่งว่า อ้อจริงๆ เอาสิตั้งกันใหม่ กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกให้เลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกาเอาพระชุดนี้ก็ได้ ทำไม่ทันก็ทำแต่น้อยก็ได้เพียง ๕ องค์

ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้งและพระไตรชยันโต แล้วเสด็จ พวกสังฆการี วางฎีกาพระชุดโสกันต์กำหนดเวลาเลยกลับไม่ได้

ครั้นเวลา ๕ โมง เสด็จออกทรงประเคนพระฉันแล้ว (ประกาศ ตั้งสมเด็จ) ทรงประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร ตาลปัตร ย่าม พระก็ชยันโต  

คราวนี้สมเด็จยกไตรแพรครองกลับเข้ามาอนุโมทนา แล้วถวายอติเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่ง.


ปาปมุตตก์
แม้ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จะดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นพิเศษแล้ว แต่ท่านก็ยังคงประพฤติตามความพอใจของท่านอยู่อย่างเดิม ที่ว่าคงทำตามเดิมนั้น เช่นว่า ไปไหนมาไหน ลูกศิษย์แจวเรือ เห็นลูกศิษย์เมื่อย เอ็งพัก ข้าจะแจวบ้างก็เข้าไปแจว อันนี้คงเป็นไปตามเดิม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในอุปนิสัยของท่านเป็นอย่างดี ดังนั้น แม้ว่าบางครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แตกต่างไปจากผู้อื่นบ้างก็ไม่ทรงถือ พระราชทานอภัยให้เสมอมา ถือว่าเป็นปาปมุตตก์ ทรงเข้าถึงกันและกัน เข้าใจกันและกัน ดังเช่นที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ “เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์” ความตอนหนึ่งว่า “ท่าน (สมเด็จพระพุฒาจารย์–โต พฺรหฺมรํสี เข้าไปถวายเทศน์ในงานหลวงครั้ง ๑ พอเสด็จออก ท่านขึ้นธรรมาสน์ถวายศีลบอกศักราช ถวายพระพร ตั้งนะโมว่าอรรถแล้วแปลสักสองสามคำ ท่านก็กล่าวขึ้นว่า จะถวายเทศนาพระธรรมหมวดใดๆ ก็ทรงทราบอยู่หมดแล้ว แล้วลงเอย เอวํ จบเทศนาลงจากธรรมาสน์ ต่อมามีพระราชาคณะองค์อื่นไปเอาอย่างก็ถูกกริ้ว เพราะมิได้พระราชทานอภัยอย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แลยังมีเรื่องราวเล่ากันอีกหลายเรื่องมาก”

Kimleng:
.
ข้อความต่อไปนี้ คัดจาก หนังสือ "ประวัติเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
ค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียง โดย พระมหาสมคิด ปิยวณฺโณ ป.ธ.๙  
วัดระฆังโฆสิตาราม จัดพิมพ์เผยแพร่และสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ (ยกเว้นพิมพ์เพื่อเป็นธรรมทาน)
จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน - www.sookjai.com


ภาพท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ออกว่าอธิกรณ์  
ภาพจาก เว็บไซต์พลังจิต
เจ้าประคุณสมเด็จฯ กับงานปกครอง

๑. งานปกครอง
๑.๑ ฉันฝากตัวด้วย
ครั้งหนึ่ง พระวัดระฆังฯ เต้นด่าท้าทายกันขึ้น อีกครู่หนึ่ง พระเทพกวี (โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้าทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พานรีบเดินเข้าไปในระหว่างพระคู่วิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า พ่อเจ้าประคุณ พ่อจงคุ้มฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่าพ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอใช้ เก่งแท้ๆ พ่อเจ้าประคุณลูกฝากตัวด้วย เลยพระคู่นั้นเลิกทะเลาะกันมาคุกเข่ากราบพระเทพกวี (โต)ๆ ก็คุกเข่ากราบพระ กราบกันอยู่นั้นหมอบกราบกันอยู่นาน


๑.๒ พ่อช่างเก่งเหลือเกิน
เล่ากันว่า สมัยนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุสามเณรที่สนใจศึกษาคันถธุระเข้าไปฟังราชบัณฑิตบอกหนังสือในพระบรมมหาราชวัง และราชบัณฑิตในยุคนั้นได้แก่ พระมหาวิชาธรรม และพระยาพจนสุนทร เป็นต้น ระหว่างที่ภิกษุสามเณรมารอคอยราชบัณฑิตบอกหนังสืออยู่นั้น ได้เอาตะกร้อมาเตะฆ่าเวลาด้วย วันหนึ่งเป็นเวลาที่ราชบัณฑิตยังรอเฝ้าตามตำแหน่งอยู่ภายในท้องพระโรงดุสิตมหาปราสาท ภิกษุสามเณรที่มาเรียนหนังสือกับราชบัณฑิตก็เอาตะกร้อมาเตะเล่นกันตามเคย บังเอิญพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราเชนทรยานผ่านมา มีผู้นำความกราบทูลพระราชปฏิบัติว่า พระภิกษุกำลังเตะตะกร้อกันอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เจ้ากูจะเตะแก้เมื่อยบ้างจะเป็นไรไปเล่า” ตรัสอย่างนั้นแล้วก็ทรงพระราเชนทรยานผ่านไป

เรื่องดังกล่าวนี้ได้เรื้อรังสืบมา จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชย์สืบสันตติวงศ์ ทรงเริ่มให้กวดขันในเรื่องมิให้พระภิกษุสามเณรกัดปลา ชักว่าว ชนไก่ เตะตะกร้อยิ่งขึ้น ได้กำชับไปทุกพระอารามให้เจ้าอาวาสช่วยดูแล ให้ภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติให้สมกับเป็นสมณะศากยบุตรจริง ๆ

สมัยนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ครองวัดระฆังโฆสิตารามแล้ว ภิกษุสามเณรในวัดระฆังฯ มีอยู่พวกหนึ่งที่หัวดื้อ ไม่ฟังสังฆาณัติที่สมเด็จฯ ได้ประกาศไป ยังพากันแอบเตะตะกร้อเล่นอยู่เสมอ จนกระทั่งเรื่องได้เกิดขึ้น ในวันหนึ่งกลุ่มพระภิกษุนักเตะตะกร้อในวัดระฆังโฆสิตาราม สมัยนั้นมีอยู่ ๘ รูปด้วยกัน ล้วนเป็นนักเตะตะกร้อฝีเท้าเอก เพราะไม่ว่าจะเตะลักษณะพลิกแพลงอย่างไหนเป็นเตะได้ทั้งสิ้น เช่น ลูกแปล ลูกแข้ง ลูกไขว้ ลูกหลัง และลูกชนิดกลเม็ด เช่น ลูกหนุมานถวายแหวน ลูกขี่ม้าส่งเมือง ลูกกวางเหลียวหลัง และลูกโหม่งด้วยศีรษะ ลูกศอก ลูกเข่า แต่ละองค์ต่างสามารถเตะได้อย่างแม่นยำ เป็นที่นิยมชมชื่นของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอันมาก

วันนั้นเย็นแล้ว คณะเตะตะกร้อฝีเท้าเอกยังประลองฝีเท้ากันอยู่ ส่งเสียงเฮฮากันสนั่นทุกครั้ง เมื่อสามารถเตะลูกกลเม็ดได้อย่างงดงามที่ลานหน้าวัด ต่างเต็มไปด้วยผู้มาล้อมวงดู กระทั่งศิษย์วัดก็มาและภิกษุในวัดที่สนใจในฝีเท้าที่เตะก็พากันมาดูที่โคนต้นโพธิ์ ขรัวตาผู้เฒ่าองค์หนึ่งก็นั่งดูอยู่ด้วย แต่ใช้ผ้าอาบคลุมศีรษะกันน้ำค้างไว้ ทำให้เห็นหน้ามิถนัดว่าเป็นภิกษุรูปใดกันแน่

ขณะที่ภิกษุเตะตะกร้อกัน อย่างถึงขนาดเล่นลูกกลเม็ดดังกล่าวมา เช่น ลูกขี่ม้าส่งเมือง และลูกหนุมานถวายแหวน คือพอตะกร้อลูกเตะโด่งไปจากภิกษุองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่ง และภิกษุนั้นก็สามารถเตะรับไว้ได้ด้วยลูกกลเม็ดเตะกลับไปยังองค์ที่เตะกลับมาอีก ก็ส่งเสียงกันดังอื้ออึงขึ้นด้วยความพอใจ บางองค์ก็ตะโกนขอลูกพระรามเดินดงบ้าง ลูกกวางเหลียวหลังบ้าง ลูกปะขาวกวาดวัดบ้าง ดูเป็นที่สำราญหนักหนา

โดยที่ไม่มีผู้ใดทันได้คิดฝัน ภิกษุชรารูปที่ใช้ผ้าอาบคลุมศีรษะดูภิกษุชาญเตะตะกร้ออยู่ที่โคนต้นโพธิ์พุทธคยานั้นลุกขึ้น แล้วเดินตรงมาที่วงตะกร้อ เมื่อมาถึงก็เดินเข้าไปกลางวง ขณะนั้นใกล้ค่ำแล้ว ภิกษุนักเตะตะกร้อองค์หนึ่งฉุนจัด ตะโกนเอ็ดตะโรว่า“แล้วกันขรัวตา เดี๋ยวถูกลูกหลงเข้าเท่านั้นเอง” ภิกษุชราไม่ตอบ เอาผ้าอาบที่คลุมศีรษะออกจากศีรษะ ปูลงที่กลางวงตะกร้อแล้วก้มลงกราบพลางกล่าวว่า “พ่อเจ้าประคุณ พ่อช่างเก่งกันเหลือเกิน พ่อไปหัดมาจากไหนกัน นี่แหละเขาเรียกกันว่า บวชเสียผ้าเหลืองละ” “สมเด็จฯ” ภิกษุนักตะกร้อรูปหนึ่งตะโกนขึ้น ทันใดนั้นเอง ประดาภิกษุสามเณรที่ล้อมดูตะกร้อวงสำคัญต่างทยอยกันกลับทีละองค์สององค์จนหมด

ตั้งแต่นั้นมาที่วัดระฆังฯ ก็เป็นอันไม่ต้องออกสังฆาณัติอีก เพราะภิกษุชำนาญตะกร้อต่างพากันเลิกเล่นอย่างเด็ดขาด ด้วยอุบายอันเลิศของสมเด็จฯ เข้าไปปูผ้าชมถึงกลางวงตะกร้อนั่นแล เรื่องนี้แสดงให้รู้ว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านชำนาญการปกครองและชำนาญการฝึกภิกษุดื้อด้วยอุบายอันฉลาด เพราะวิสัยคนดื้อนั้นย่อมห้ามด้วยยากต้องใช้วิธี


๑.๓ คุณตีเขาก่อน
ครั้นกาลเวลาล่วงมา สมเด็จพระวันรัตวัดมหาธาตุฯ ถึงมรณกรรมแล้ว สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณฯ เป็นเจ้าคณะกลาง ครั้งนั้นพระอันดับในวัดระฆังฯ ทะเลาะกันและฝ่ายหนึ่งได้ตีอีกฝ่ายศีรษะแตก ฝ่ายศีรษะแตกได้เข้าฟ้องพระเทพกวี (โต) เจ้าอาวาส ๆ ก็ชี้หน้าว่าคุณตีเขาก่อน พระองค์หัวแตกเถียงว่าผมไม่ได้ทำอะไร องค์นั้นตีผม พระเทพกวี ว่าก็เธอตีเขาก่อนเขาก็ตีเธอบ้าง พระก็เถียงว่าเจ้าคุณเห็นหรือ พระเทพกวี (โต) เถียงว่าถึงฉันไม่ได้เห็นก็จริงแต่ฉันรู้อยู่นานแล้วว่าคุณตีเขาก่อน คุณอย่าเถียงฉันเลย พระองค์ศีรษะแตกเสียใจมาก จึงได้อุตส่าห์เดินลงไปวัดอรุณฯ เข้าอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เจ้าคณะกลาง

ส่วนสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) จึงเรียกตัวพระเทพกวี (โต) ไปชำระตามคำอุทธรณ์ พระเทพกวี (โต) ก็โต้คำอุทธรณ์และตอบสมเด็จพระวันรัตว่า ผมรู้ดีกว่าเจ้าคุณอีก เจ้าคุณได้รู้แต่ว่าเห็นเขาหัวแตกเท่านั้น ไม่รู้ถึงเหตุผลในกาลเดิม มูลกรณีผมรู้ดีว่าคุณองค์นี้ได้ตีคุณองค์นั้นก่อน แต่เขาบ่อห่อนจะรู้สึกตัว เขามามัวแต่ถือหัว หัวเขาจึงแตก สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ฟัง ๆ ก็นึกแปลก แยกวินิจฉัยไม่ออกกลับจะเป็นคนเอาแต่คำบอกหามีความพิจารณาไม่ ได้ย้อนถามว่าเจ้าคุณเห็นอย่างไรจึงรู้ว่าพระองค์นี้ตีพระองค์นั้นก่อน แจ้งให้ฉันฟังสักหน่อยได้แลเห็นบ้างจะได้ช่วยกันระงับอธิกรณ์

พระเทพกวี (โต) ว่า พระเดชพระคุณจะมีวิจารณ์ยกขึ้นพิจารณาแล้วกระผมก็เต็มใจอ้างอิงพยานถวาย สมเด็จพระวันรัตว่า เอาเถอะผมจะตั้งใจฟัง เจ้าคุณชี้พยานอ้างอิงมา พระเทพกวี (โต) จึงว่าผมทราบตามพุทธฎีกาบอกให้ผมทราบว่า “น หิ เวรานิ วูปสมฺมนฺติ ว่า เวรต่อเวรกันร่ำไป ถ้าระงับเวรเสียด้วยไม่ตอบ เวรย่อมระงับ” นี่แหละพระพุทธเจ้าบอกผมเป็นพยาน กระผมว่าเวรต่อเวรมันจึงทำกันได้ ผมเห็นตามคำพระพุทธเจ้าบอกผมเท่านี้ ผมจึงพิจารณากล้ากล่าวได้ว่า คุณตีเขาก่อน สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ชักงงใหญ่ จะเถียงก็ไม่ขึ้นเพราะท่านอ้างพุทธภาษิตจึงล้มเข้าหาพระเทพกวี (โต) ว่า ถ้ากระนั้นเจ้าคุณต้องตัดสินระงับอธิกรณ์เรื่องนี้ว่าใครเป็นผู้ผิด ผู้ถูก โทษจะตกกับผู้ใดแล้วแต่เจ้าคุณจะตัดสินเถิด พระเทพกวี (โต) มัดคำสมเด็จพระวันรัตว่า พระเดชพระคุณอนุญาตผมตามใจผม ผมจะชี้โทษชี้คุณให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ความทั้งผู้พิพากษาให้อธิกรณ์ระงับได้ ให้เวรระงับด้วย สมเด็จพระวันรัตก็อนุญาต

พระเทพกวี (โต) ก็ประเล้าประโลมโน้มน้าวกล่าวธัมมิกถา พรรณนาอานิสงค์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้ต่อเวรให้โจทก์จำเลยสลดจิตคิดเห็นบาปบุญคุณโทษเกิดปราโมทย์เข้าหากัน ท่านจึงแก้ห่อผ้าไตรออกกับเงินอีกสามตำลึงทำขวัญองค์ที่ศีรษะแตก แยกบทชี้เป็นสามสถาน ผู้ตีตอบเอาเป็นหมดเวรจักไม่ตีใครต่อไป ถ้าขืนไปตีใครอีกจะลงโทษว่า เป็นผู้ก่อเวรฝืนต่อพระบวรพุทธศาสนามีโทษหนักฐานละเมิด ผู้ที่ถูกตีก็ระงับใจไม่อาฆาตไม่มุ่งร้ายต่อก่อเวรอีก ถ้าขืนคดในใจทำหน้าไว้หลังหลอก ฉันซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือขืนฟ้องร้องกันต่อไป ว่าฉันเอนเอียงไม่เที่ยงธรรมแล้ว จะต้องโทษฐานบังอาจหาโทษผู้ใหญ่โดยหาความผิดมิได้ ทั้งจะเป็นเสี้ยนหนามต่อพระบวรพุทธศาสนาเป็นโทษใหญ่ร้อนถึงรัฐบาลจะต้องลงอาญาระบิลเมือง

ฝ่ายฉันเป็นคนผิดเพราะเอาแต่ธุระอื่น ไม่สอดส่องดูแลลูกวัดไม่คอยชี้แจงสั่งสอนอันเตวาสิก สัทธิวหาริกให้รู้ธรรมรู้วินัย จึงลงโทษตามพระวินัยว่าไม่ควรย่อมเป็นโทษแท้ ขอคดีเรื่องนี้จงเลิกระงับไปตามวินัยนี้ พระฐานาที่นั่งฟังทั้งมหาบาเรียนและพระอันดับ พระคู่ความก็สาธุการเห็นดีพร้อมกันอย่างเต็มใจ สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ก็เห็นดีสงบเรื่องลงเท่านี้


๒. คุณธรรม
๒.๑ ช่วยโจร ช่วยขโมย
คุณธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็นับเป็นยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งคือ มักน้อยสันโดษ ปรากฏว่าท่านมีอัธยาศัยยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ได้ลาภสักการะมาในทางใดๆ ก็เอาไปใช้จ่ายในการกุศลต่าง ๆ มีสร้างวัดเป็นต้น และช่วยเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่คนทุกชั้นไม่เลือกหน้า แม้ที่สุดโจรมาลักของท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่โจรดังมีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง ท่านนอนอยู่ มีโจรขึ้นล้วงหยิบตะเกียงลานไม่ถึง จึงใช้เท้าช่วยเขี่ยส่งให้โจร ท่านว่ามันอยากได้

ครั้งหนึ่ง ท่านไปเทศน์ในต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศหลายอย่างมีเสื่อหมอนเป็นต้น ขากลับมาพักแรมคืนกลางทาง ตกเวลาดึกมีโจรพายเรือเข้าเทียบเรือของท่าน พอโจรล้วงหยิบเสื่อได้แล้ว เผอิญท่านตื่นจึงร้องบอกว่า เอาหมอนไปด้วยซีจ๊ะ โจรได้ยินตกใจกลัวรีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจรนั้น โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนนั้นไป

ครั้งหนึ่ง เวลาจำวัดอยู่ในกุฏิของท่านที่วัดระฆังฯ นั้น ขโมยเจาะพื้นกุฏิล้วงเอาข้าวของที่วางเกลื่อนไว้ขโมยเอื้อมไม่ถึง ท่านก็ช่วยเอาไม้เขี่ยของนั้นๆ เข้าไปให้ใกล้มือขโมย

ครั้งหนึ่ง ขโมยลักเข็นเรือใต้ถุนกุฏิ ท่านก็เปิดหน้าต่างสอนขโมยว่า “เข็นเบาๆ หน่อยจ๊ะ ถ้าดังไปพระท่านได้ยินเข้าท่านจะตีเอาเจ็บเปล่าจ๊ะ เข็นเรือบนที่แห้ง เขาต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อนจ๊ะถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วจ๊ะ” ขโมยเกรงใจเลยเลิกไม่เข็นต่อไป


๒.๒ ของแก-ของข้า
ครั้งหนึ่ง ท่านไปเทศน์ที่บ้านทางฝั่งพระนคร (ว่าแถววัดสามปลื้ม) โดยเรือพาย ท่านนั่งกลาง ศิษย์ ๒ คนพายท้าย ขากลับมาตามทาง ศิษย์ ๒ คน จัดแบ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์กัน คนหนึ่งว่า “กองนี้ของเอ็ง กองโน้นของข้า” อีกคนหนึ่งว่า “กองนี้ข้าเอา เอ็งเอากองโน้น” ท่านเอ่ยถามขึ้นว่า “ของฉันกองไหนละจ๊ะ” ว่าเมื่อถึงวัดศิษย์ ๒ คน ได้ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์กันไปหมด ท่านก็มิได้บ่นว่ากระไร


๒.๓ หลบก่อนชก
คุณธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จฯ อย่างหนึ่งคือขันติ ท่านเป็นพระหนักแน่นมั่นคง สงบจิตระงับใจไม่ยินร้ายเมื่อประสบอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ดังจะนำเรื่องมาสาธกเป็นอุทาหรณ์ว่า ครั้งหนึ่งมีบ่าวของท่านพระยาคนหนึ่ง บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น จังหวัดธนบุรี เสพสุรามึนเมาเข้าไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถามว่า “นี่หรือคือสมเด็จฯ ที่เขาเลื่องลือกันว่ามีวิชาอาคมขลัง อยากจะลองดีนัก” พอพูดขาดคำก็ตรงเข้าชก แต่ท่านหลบเสียก่อน หาทันถูกชกไม่ แล้วท่านบอกบ่าวคนนั้นรีบหนีไปเสีย ด้วยเกรงว่ามีผู้พบเห็นจะถูกจับกุมมีโทษ ความนั้นได้ทราบถึงท่านเจ้าพระยาผู้เป็นนายจ้าง จึงจัดการลงโทษบ่าวคนนั้นโดยเอาโซ่ล่ามไว้กับขอนไม้ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ท่านทราบเรื่องได้ไปเยี่ยม เอาเงิน ๑ สลึงกับอาหารคาวหวานไปให้บ่าวคนนั้นทุกวัน ฝ่ายท่านเจ้าพระยาคิดเห็นว่าการที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทำดังนั้น ชะรอยท่านจะมาขอให้ยกโทษโดยทางอ้อม จึงให้แก้บ่าวนั้นปล่อยให้เป็นอิสรเสรีต่อไป  


๒.๔ โคลนเปื้อนจีวร
ครั้งหนึ่ง มีคนนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปในงานพิธีมงคลโกนจุก ณ ที่บ้านตำบลบางพลัด จังหวัดธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในสวนมีคลองเข้าไป ขณะที่ศิษย์พายเรือเข้าไปในคลองนั้น คนพายท้ายได้เห็นปลาตีนตัว ๑ จึงเอาพายตีแต่ตีหาถูกไม่ ปลานั้นได้วิ่งไปทางหัวเรือ ศิษย์คนหัวเรือจึงเอาพายตีแต่ก็ตีไม่ถูกอีก โคลนได้กระเด็นเปื้อนจีวรของเจ้าประคุณสมเด็จฯ หมด ท่านนิ่งเฉยไม่พูดว่ากระไร เมื่อไปถึงบ้านงาน เจ้าภาพและคนอื่นๆ ต่างมารุมกันถาม ท่านตอบว่า “โยม ๒ คนนี้เขาตีปลาตีนกันจ๊ะ”


๒.๕ นั่งคอย
ครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่นั้น ลูกศิษย์ได้หลบไปเที่ยวเล่นในที่อื่นจนสวดมนต์จบแล้วลูกศิษย์นั้นก็ยังมิได้กลับมา ท่านจึงถือพัดกับย่ามออกมาจากวังมานั่งคอยอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ที่ท่าช้างวังหลวง สักครู่หนึ่งลูกศิษย์ก็กลับมา ท่านจึงให้ศิษย์นั้นแก้โซ่ลงเรือพายกลับวัดระฆัง


๒.๖ คนอื่นเขาก็มีแรง
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะไปในกิจนิมนต์ด้วยเรือเก๋ง พอท่านก้าวลงเรือยังไม่ทันจะนั่งเรียบร้อยดี ศิษย์ก็ถอยเรือรีบแจวด้วยกำลังแรง ก้นท่านจึงกระแทกกับพื้นเรือ แทนที่ท่านจะขัดเคืองท่านกลับพูดว่า “พ่อจะอวดว่าพอแรงแต่คนเดียวนะ คนอื่นเขาก็แรงกว่าพ่อยังมีอีกถมไป”


๒.๗ อ่อนน้อม
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านมีคารวะอ่อนน้อม กล่าวกันว่าท่านไปพบพระพุทธรูปท่านจะหลีกห่างราว ๔ ศอก แล้วนั่งลงกราบ ที่สุดไปพบหุ่นพระพุทธรูปท่านก็ทำดังนั้น เคยมีผู้ถามท่านตอบว่า ดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่นก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่เดิม ที่จะทำพระพุทธรูป ในหนังสือ “บุญญวัตร” นายชุ่ม จันทนบุบผา เปรียญ เรียบเรียง (พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพอุบาสิกาเผื่อน จันทนบุบผา ณ เมรุวัดระฆังฯ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๙๕) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องเจ้าประคุณสมเด็จฯ เคารพหุ่นพระพุทธเจ้า ดังคัดมาลงไว้ดังต่อไปนี้...“ข้าพเจ้าได้รับบอกล่าวจาก ท่านพระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ (ชม จันทนบุบผา) ฐานานุกรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) วัดระฆังฯ ผู้เป็นลุงมาอีกต่อหนึ่ง ท่านเล่าว่าเมื่อครั้งท่านยังเด็กอายุราว ๑๕ ปี ได้เป็นศิษย์ของปลัดฤกษ์ คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านชาวเหนือ (คือบ้านช่างหล่อปัจจุบันนี้) ไปพร้อมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่บ้านนั้นเขาเอาหุ่นพระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ห่างทางเดินราว ๒ ศอก เมื่อสมเด็จฯ เดินผ่านมาในระยะนี้ ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศีรษะกระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วยก็กระทำตาม เมื่อขึ้นบ้านงานและนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้เรียนถามว่า “กระผมสงสัยเพราะไม่เคยเห็นเจ้าประคุณสมเด็จฯ กระทำดังนี้ ท่านจึงตอบว่า “แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ๊ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ๊ะ เพราะฉันเดินผ่านในเขตอุปจารของท่านไม่เกิน ๔ ศอก จึงต้องทำดังนี้” นายเทศจึงเรียนว่า “ยังไม่ยกขึ้นตั้งและยังไม่เบิกพระเนตรจะเป็นพระหรือขอรับ” ท่านตอบว่า “เป็นจ๊ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางลงบนกระดานแล้วจ๊ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียก อุทเทสิกเจดีย์ ยังไงล่ะจ๊ะ" เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาก็กระทำอย่างนั้นอีก รุ่งขึ้นไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว ๖ ศอก ต่อจากทางที่ไปเมื่อวาน ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระ แล้วประนมมือพร้อมกับพระที่ไปด้วยประมาณสัก ๑ นาที แล้วจึงขึ้นไปบนเรือน เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จ เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะและท่านยถาสัพพีเสร็จแล้วก็นำธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายสักการะบูชาพระที่ขึ้นหุ่นไว้นั้น พร้อมกับพระสงฆ์ที่ตามมาด้วยกันแล้วจึงกลับวัด


๒.๘ ช่วยแจวเรือ
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระเถระที่ไม่ถือยศถือศักดิ์ (เจ้ายศเจ้าอย่าง) ชอบประพฤติเป็นอย่างพระธรรมดาสามัญ (พระลูกวัด) (ว่าท่านเคยพูดกับคนอื่นว่ายศช้างขุนนางพระจะดีอย่างไร) ท่านจะทำอะไร ท่านก็ทำตามอัธยาศัยของท่าน ไม่ถือความนิยมของผู้อื่นเป็นสำคัญ เป็นต้นว่า ท่านเห็นศิษย์แจวเรือเหนื่อยท่านก็แจวแทนเสีย

ยังมีเรื่องเล่ากันอีกว่า คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานที่บ้านแขวงจังหวัดนนทบุรี ขากลับเจ้าภาพได้ให้บ่าว ๒ คนผัวเมียแจวเรือมาส่ง ขณะที่มาตามทางจะเนื่องด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ บ่าว ๒ คนนั้นเกิดเป็นปากเสียงเถียงกัน ถึงกล่าวถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ ท่านได้ขอร้องหญิงชาย ๒ คนให้เลิกทะเลาะวิวาทกัน และให้เข้ามานั่งในประทุนแล้วท่านได้แจวเรือมาเองจนถึงวัดระฆังฯ


๒.๙ เคารพพระธรรม
เล่ากันว่า จรรยาอาการของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พระองค์นี้ ประพฤติอ่อนน้อมยำเกรงผู้ใหญ่และพระสงฆ์ ว่ากันว่า พระภิกษุจะมีอายุพรรษามากหรือน้อยก็ตาม เมื่อไปกราบท่าน ท่านก็กราบ (ว่ากราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบตอบเท่านั้นครั้ง) พระอุปัชฌาย์เดช วัดกลางธนรินทร์ จังหวัดสิงห์บุรีว่า “ครั้งหนึ่งไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดระฆังฯ เมื่อกราบท่านๆ ก็กราบตอบ พระอุปัชฌาย์เดชนึกประหลาดใจ จึงกราบเรียนถามว่า ทำไมท่านจึงต้องทำดังนั้น ท่านตอบว่าท่านทำตามบาลีพุทธฎีกาที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ (กราบ) ย่อมได้รับไหว้ตอบ (กราบ) ตอบ ดังนี้ และเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องประนมมือหรือก้มกายแสดงคารวะพระธรรม ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณาสำคัญว่าท่านก้มเคารพตนและก้มตอบเคารพตอบท่าน ทีนั้นเถอะไม่ต้องไปกัน ต่างหมอบกันแต้อยู่นั่นเอง”

แม้ใครจะฉายรูปฉายาลักษณ์ของท่านในอิริยาบถใดก็ตาม ถ้าในนั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือประหนึ่งเทศน์เสมอ อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังแสดงธรรม (เทศน์) อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบแล้วจึงไปในที่อื่น ว่าที่ท่านทำดังนั้นด้วยประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าทรงสดับธรรมที่พระอนุรุทธ์แสดงความว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพระอนุรุทธ์กำลังแสดงธรรมอยู่ พระองค์ได้ประทับยืนฟังอยู่จนจบ เมื่อพระอนุรุทธ์ทราบจึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ตรัสว่า แม้จะนานกว่านั้นสักเท่าไรก็จะประทับยืนเพราะพระองค์ทรงเคารพในพระธรรม


๒.๑๐ สุนัขไม่เห่า-ไม่แฮ่
ท่านเข้าบ้านแขกบ้านจีน ส่วนใหญ่เดินได้สบาย ไม่ต้องเกรงสุนัขที่เขาเลี้ยงนอนขวางทาง ท่านต้องก้มให้สุนัขแล้วยกมือขอทางเจ้าสุนัขว่า “ขอดิฉันไปสักทีเถิดจ๊ะ” แล้วก้มหลีกไปไม่ข้าม สุนัขจะดุอย่างไรจะเป็นสุนัขฝรั่งหรือสุนัขไหหลำก็ไม่แห้ไม่เห่าหอน นอนดูท่านทำแต่ตาปริบๆ มองๆ เท่านั้น โดยที่สุดแม้สุนัขจูที่ปากเปราะๆ ก็ไม่เห่าไม่ห้ามท่าน


๒.๑๑ สมเด็จฯ เข็นเรือ
คราวหนึ่งมีผู้อาราธนาท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านในสวน ตำบลราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี บ้านของเขาอยู่ในคลองลึกเข้าไป ท่านไปด้วยเรือสำปั้นกับศิษย์ เวลานั้นน้ำแห้งเข้าคลองไม่ได้ ท่านก็ลงไปเข็นเรือกับศิษย์ของท่าน ชาวบ้านเห็นก็ร้องบอกกันว่า “สมเด็จฯ เข็นเรือ ๆ “ ท่านบอกว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จดอกจ๊ะ ฉันชื่อว่าขรัวโต สมเด็จท่านอยู่ที่วัดระฆังฯ จ๊ะ (หมายถึงว่า พัดยศสมเด็จอยู่ที่วัดระฆังฯ) แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันเข็นเรือไปจนถึงบ้านงาน


๒.๒ กึ่งแจว-กึ่งพาย
คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับพระที่นั่งชลังคพิมาน พระที่นั่งริมน้ำ วันนั้นท่านมีกิจจำเป็นจะต้องแจวเรือผ่านหน้าพระที่นั่งนั้น พอเรือจะผ่านหน้าพระที่นั่ง ท่านก็นั่งลงเอาแจวพุ้ยน้ำในลักษณะกึ่งแจวกึ่งพาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นก็ทรงพระสรวล รับสั่งว่า “ขรัวโตนี่ฉลาด” มีผู้ถามถึงเหตุที่ท่านทำดังนั้น ท่านตอบว่า เพราะมีหมายรับสั่งฉบับหนึ่ง ประกาศห้ามไม่ให้พระสงฆ์แจวเรือ พายเรือเวลาเสด็จทางชลมารคและเสด็จประทับพระที่นั่งริมน้ำ


๒.๑๓ จ๊ะจ๋า
ตามปกติเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านพูดจาจ๊ะจ๋ากับคนทุกคน แม้สัตว์ดิรัจฉานท่านก็พูดอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ดังคราวหนึ่งท่านเดินไปพบสุนัขนอนขวางทางอยู่ ท่านพูดกับสุนัขนั้นว่า “โยมจ๋า ขอฉันไปทีจ๊ะ” แล้วท่านก็ก้มกายเดินหลีกทางไป มีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงทำดังนั้น ท่านว่า ฉันรู้ไม่ได้ว่าสุนัขนี้เคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดกกล่าวว่า ในกาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข


๒.๑๔ ติดแร้วแทนนก
นอกจากนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังแผ่เมตตาไปให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ เมื่อพบสัตว์ประสบทุกข์ต้องภัย ท่านก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการุณยจิต ดังเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปต่างจังหวัด ระหว่างทางไปพบนกตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ ท่านจึงรีบแก้บ่วงปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านก็ใช้เท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วง นั่งทำเป็นติดแร้ว มีคนมาพบจะช่วยแก้บ่วง ท่านไม่ยอมให้แก้ บอกให้ไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน เมื่อเจ้าของแร้วมาบอกอนุญาตให้ท่านปล่อยนกนั้นได้ ท่านจึงแก้บ่วงออกจากเท้าแล้วบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ ท่านยะถาสัพพี เสร็จแล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไป

ข้อที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ แก้บ่วงปล่อยนกไปนั้น ว่าตามทางพระวินัยท่านมีความผิดปรับเป็นภัณฑ์ไทย เพราะนกนั้นเป็นทรัพย์มีเจ้าของ ดังนั้น ท่านจึงต้องคอยให้เจ้าของแร้วอนุญาตก่อน อนึ่ง การปล่อยนกในฐานะอย่างนั้นนับเป็นทานอย่างหนึ่ง เรียกอภัยทาน การที่เจ้าของแร้วอนุญาตให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปล่อยนกได้นั้น ชื่อว่าได้บำเพ็ญกุศลส่วนอภัยทานโดยปริยายหนึ่ง ท่านจึงบอกให้กรวดน้ำและท่านก็กล่าวคำอนุโมทนา


๒.๑๕ หลักดี
ครั้งหนึ่งเข้าบิณฑบาตเวรในพระบรมมหาราชวัง พอถึงตรงขันทรง เสื่อกระจูดลื่นแทบคะมำ แต่หลักท่านดี มีสติปัญญามาก ท่านผสมก้มลงจับมุมเสื่อ เต้นตามเสื่อตุ๊บตั๊บไป สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำพระสุรเสียง โอ่ะ โห่ะๆ เจ้าคุณหลักดี เจ้าคุณหลักดี ทรงชม


๒.๑๖ ซื้อแตงโมแล้วคืน
ครั้งหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ข้ามฟากไปฝั่งพระนครด้วยกิจธุระอย่างหนึ่ง พบชายหญิง ๒ คนผัวเมียนั่งอยู่ในเรือซึ่งบรรทุกแตงโมเต็มลำจอดอยู่ที่ท่าช้างวังหลวง ทั้ง ๒ คนนั้นมีอาการส่อว่ามีความทุกข์ใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ถามได้ความว่า บรรทุกแตงโมมาขายหลายวันแล้วก็ยังขายไม่ได้ เป็นทุกข์กลัวขาดทุน ท่านจึงรับซื้อแตงโมนั้นทั้งหมด เมื่อให้ศิษย์ชำระเงินแล้ว ท่านได้บอกคืนแตงโมให้เป็นสิทธิ์แก่ชายหญิงนั้นแล้วหลีกไป ข่าวเรื่องเจ้าประคุณสมเด็จฯ ซื้อแตงโมได้แพร่สะพัดไปโดยรวดเร็วราวกับไฟไหม้ป่า ว่าพวกนักเลงหวยถือเอาแตงโมเป็นนิมิตแทงตัว ม. หันหุน ก็ถูก


๒.๑) พัดของขรัวโตอยู่ไหน
ต้นเหตุที่พัดยศเกิดอื้อฉาว เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง สมเด็จฯ ได้รับนิมนต์เข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่นั่งเรือจ้างข้ามฟาก เจ้าของได้ปรารภถึงความทุกข์อันเกิดขึ้นจากความยากจนให้ฟังเพราะมีหนี้สินรุงรัง เกิดจากตนนำเงินที่สะสมได้ไม่ถึงตำลึงไปแทงหวยเสียหมด มาบัดนี้เรือที่อาศัยเลี้ยงชีพก็รั่ว ชันกระทะหมันที่ตอกไว้ก็คลายหมด ต้องเอาเรือขึ้นคานจ้างเขาหมันและพอนใหม่ก็หมดหนทางที่จะทำได้ เพราะเงินค่าจ้างไม่มีให้ เขาคิดค่าทำทั้งหมดแปดสลึง ไม่เห็นใครจะช่วยได้ นอกจากสมเด็จฯ องค์เดียวเท่านั้น

สมเด็จฯ นั่งฟังคนแจวเรือจ้างบรรยายความทุกข์ด้วยอาการดุษณีภาพ ขณะนั้นเรือจ้างก็ถึงท่าช้างวังหลวงพอดี ขึ้นจากเรือแล้วสมเด็จฯ ได้เรียกคนแจวเรือจ้างขึ้นมาและเรียกศิษย์เข้ามาใกล้ ๆ เอื้อมมือไปหยิบพัดยศจากศิษย์มาถือไว้ พลางกล่าวกับเจ้าของเรือว่า “วันนี้ข้าไม่มีเงิน ถ้ามีข้าจะให้เจ้าเป็นค่าพอนเรือ เอ้า! เอานี่ไว้ก่อน พัดเล่มนี้จะทำให้เจ้าได้เงินค่าขึ้นคานพอนเรือ” คนแจวเรือจ้าง รับพัดยศของสมเด็จฯ มาถือไว้อย่างงุนงงสงสัย ลางถามสมเด็จฯ ว่า “คุณพ่อจะให้พัดผมไว้ทำไมขอรับ?” ครั้นได้ยิน สมเด็จฯ ตอบว่า “เจ้าถือไว้ก่อนเถอะ พัดเล่มนี้จะทำให้เจ้าได้เงินค่าตอกหมันยาชันเรือใหม่” คนแจวเรือจ้างตกใจสุดกำลัง เข้าใจเลยไปว่า สมเด็จฯ คงจะให้พัดยศแก่เขาเพื่อเอาไปจำนำเอาเงินเป็นค่าพอนเรือตามที่เขาปรารภให้สมเด็จฯ ฟังระหว่าแจวอยู่กลางน้ำ เมื่อคิดอย่างนั้นยิ่งตกใจจนตัวสั่นลำล่ำละลักพูดกับสมเด็จฯ ว่า “ไม่เอาขอรับคุณพ่อ นรกจะกินกบาลผม พัดยศของหลวงเสียด้วย ดีไม่ดีหวายจะมาลงหลัง คุณพ่อเอาคืนไปเถอะขอรับ”

สมเด็จฯ ไม่ยอมรับพัดยศคืน บังคับให้คนแจวเรือจ้างรับพัดไว้ แล้วท่านกับศิษย์ก็เดินไปเข้าประตูพระบรมมหาราชวัง ปล่อยให้คนแจวเรือจ้างต้องแบกพัดยศของสมเด็จฯ ลงไปรอคอยอยู่ในเรือด้วยความวุ่นวายใจ เมื่อสมเด็จฯ กับศิษย์เข้าไปถึงในวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กำลังประทับอยู่บนพระราชอาสน์ พระสงฆ์ราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สูงกำลังนั่งรอสมเด็จฯ อยู่ตามลำดับอาวุโสและมีพัดยศมาด้วย โดยเฉพาะวันนั้นท่านเป็นผู้อาวุโสสูงทั้งพรรษาและสมณศักดิ์ สมเด็จฯ นั่งลงเหนืออาสน์ที่จัดไว้อย่างสงบเสงี่ยมทั้งที่ไม่มีพัดยศติดมา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทราบโดยพระญาณทันทีว่า ต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแก่สมเด็จฯ แล้วทรงผินพระพักตร์มาทางเจ้ากรมสังฆการี ขณะนั้นพระธรรมการเจ้ากรมสังฆการีหมอบเฝ้าอยู่ไม่ห่างนัก พอสบกับพระเนตรก็แทบจะละลายไปเหมือนถูกฟ้าผ่า เพราะได้ยินกระแสพระราชดำรัสว่า “พัดของขรัวโตอยู่ไหน?” พระธรรมการกราบถวายบังคมแล้วกระมิดกระเมี้ยนเข้าไปหาสมเด็จฯ แล้วกระซิบถามเบาๆ ว่า “เย็นวันนี้เทศน์จบแล้วจึงสวดมนต์และถวายอดิเรกถวายอนุโมทนา และถวายพระพรลา พระคุณเจ้าไยไม่เอาพัดมาด้วยขอรับ?”

สมเด็จฯ กระซิบตอบเบาๆ แล้วเล่าเรื่องให้พระธรรมการฟังอย่างละเอียด สุดท้ายว่า “ขณะนี้พัดอยู่ในเรือจ้าง คุณพระจะไปเอาต้องเอาเงินไปให้มันกึ่งตำลึง ให้ศิษย์อาตมาพาไป”
พระธรรมการเหงื่อแตกและแทบจะเหาะไปเดี๋ยวนั้น แต่เป็นหน้าพระที่นั่ง จำต้องคลานถอยออกมาอย่างสุภาพ แล้วมากราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะไปเอาพัดเดี๋ยวนี้พุทธเจ้าข้า” ไม่ทันฟังดำรัสตอบ พระธรรมการกราบถวายบังคม แล้วถอยออกมาและได้ยินเสียงทรงพระสรวลไม่ทรงโกรธ เพราะประทานอภัยสำหรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อยู่แล้ว

ภายหลังที่พระธรรมการเจ้ากรมสังฆการีนำศิษย์ของสมเด็จฯ หายออกไปพักหนึ่ง ก็กลับเข้ามาพร้อมด้วยพัดยศที่สมเด็จฯ ให้คนแจวเรือจ้างถือไว้ พระธรรมการนำเข้าไปถวาย ต่อจากนั้น พระราชพิธีจึงได้เริ่ม สมเด็จก็ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์เพื่อเตรียมถวายพระธรรมเทศนา เมื่อเสร็จพระราชพิธี สมเด็จพระพุฒาจารย์ ถวายอดิเรกแล้วถวายพระพรลา

ขณะที่นั่งเรือจ้างลำเก่ากลับวัดระฆังฯ สมเด็จฯ ถามคนเรือว่า “เจ้าได้เงินค่าขึ้นคานพอนเรือหรือยังฯ” เจ้าคนแจวเรือจ้างปล่อยแจว นั่งลงพนมมือยิ้มแก้มแทบแตก ตอบคำถามของสมเด็จฯ ว่า “ได้แปดสลึงขอรับคุณพ่อ พรุ่งนี้ผมเอามันขึ้นคานเสียที” ตอบแล้วก็ยืนขึ้นออกแรงโหนแจวจนตัวโค้งทำให้เรือจ้างแล่นเหมือนจับพุ่ง.

Kimleng:
.
ข้อความต่อไปนี้ คัดจาก หนังสือ "ประวัติเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)"
ค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียง โดย พระมหาสมคิด ปิยวณฺโณ ป.ธ.๙ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และครูใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม (พฺรหฺมรํสี)
วัดระฆังโฆสิตาราม จัดพิมพ์เผยแพร่และสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ (ยกเว้นพิมพ์เพื่อเป็นธรรมทาน)
จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน - www.sookjai.com


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะยังทรงพระเยาว์
และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
ภาพและคำบรรยายภาพ จาก หนังสือ"ประวัติเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)"
วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์เผยแพร่

เจ้าประคุณสมเด็จฯ กับงานปกครอง

๓. เทศนา
๓.๑ ใจขุ่นมัวเทศน์ยาว
เมื่อพระธรรมการ เจ้ากรมสังฆการีกับศิษย์ของสมเด็จฯ นำเงินกึ่งตำลึงออกไปแล้วก็กลับเข้ามาพร้อมด้วยพัดยศที่สมเด็จฯ ให้คนแจวเรือถือไว้ หลังจากนั้นจึงอาราธนาศีลและพระปริตร เสร็จแล้ว สมเด็จฯ (โต) ก็เริ่มขึ้นนั่งบนธรรมาสน์เริ่มแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยทศพิธราชธรรมข้อ “อกฺโกธํ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงยิ้มแย้มแจ่มใส สดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จฯ พอประทับทรงสดับไปได้สักครู่หนึ่งก็มีมหาดเล็กผู้หนึ่งคลานเข้ามากราบถวายบังคมทูลข้อความบางประการ สังเกตเห็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีสีพระพักตร์วิตกกังวลพระราชหฤทัย เมื่อมหาดเล็กกราบถวายบังคมทูลถอยออกไปแล้ว สมเด็จฯ ก็ยังคงถวายเทศน์สืบไป แต่การถวายเทศนาครั้งนี้ สังเกตเห็นสมเด็จฯ ถวายอย่างยืดยาวผิดกว่าปกติคือไม่พยายามจบ แม้จะเห็นพระอากัปกิริยาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แสดงว่าทรงกังวลพระราชหฤทัยใคร่จะให้จบการถวายพระธรรมเทศนาเร็ว ๆ ก็ยังไม่ยุติ คงแสดงพระธรรมว่าด้วยทศพิธราชธรรม การฆ่าความโกรธอย่างพิสดาร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ถวายเทศนานานถึง ๑ นาฬิกาเศษจึงได้จบการถวายเทศนา ทั้ง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ประทับกระวนกระวายพระราชหฤทัยอยู่อย่างนั้น เมื่อจบการแสดงธรรมแล้วจึงได้สวดพระปริตร ขณะที่สวดพระปริตรอยู่นั้น ได้ยินเสียงประโคมพิณพาทย์และดุริยางค์มาทางหมู่พระที่นั่งด้านใต้ บัดเดี๋ยวก็แลเห็นมหาดเล็กคนเก่านั่นเองเข้ามากราบถวายบังคมทูลอีกครั้งหนึ่ง

สมเด็จพระราชาคณะทั้งหมดในราชพิธีเย็นวันนั้นทราบโดยไม่ต้องไต่ถามว่าการประโคมพิณพาทย์ดุริยางค์นั้น หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้พระเจ้าลูกเธอราชธิดาอีก ๑ องค์ ที่ทราบว่าพระราชธิดาก็จากการประโคมพิณพาทย์ดุริยางค์ เพราะถ้าเป็นพระเจ้าลูกยาเธอราชโอรสจะต้องได้ยินเสียงอื่นแทน


๓.๒ ใจขาวเทศน์สั้น
แต่พระราชพิธีนั้น รุ่งขึ้นยังมีถวายภัตตาหารและมีเทศน์ถวายอานิสงส์อีกหนึ่งกัณฑ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ต้องเข้ามาในพระบรมมหาราชวังอีกครั้งหนึ่ง

รุ่งขึ้นก่อนเพล ณ พระบรมมหาราชวัง บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ประทับบนพระราชอาสน์ เพื่อจะทรงสดับพระธรรมเทศนาถวายอานิสงส์ และมีพระประสงค์จะฟังให้ชื่นพระทัยก่อนถวายภัตตาหารเพล แต่ตรงกันข้าม พอสมเด็จพระพุฒาจารย์ตั้งนโมเดินจุณณียบทแล้วก็ถวายพระธรรมเทศนาว่า “ธรรมะใด ๆ ที่ได้รับพระราชทานถวายวิสัชนามา มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ก็ทรงทราบจนหมดสิ้นแล้ว เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร”

สมเด็จฯ ยุติการถวายเทศน์สั้น ๆ เพียงแค่นั้น แล้วก็ลงจากธรรมาสน์มานั่งยังอาสน์ที่สังฆการีจัดไว้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงตรัสว่า "เมื่อวานมีกิจไม่สบายใจไม่อยากฟังเทศน์นาน ขรัวโตก็เทศน์เสียหนึ่งนาฬิกาเศษ วันนี้สบายใจ ตั้งใจจะฟังเทศน์ให้เต็มที่ ขรัวโตกลับจบเร็ว” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร เมื่อวานนี้อาตมภาพเห็นมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าไม่ทรงสบายพระราชหฤทัย จึงต้องถวายพระธรรมเทศนาให้นานเพื่อจะได้กล่อมพระหฤทัยให้ทรงเกษมสำราญ แต่วันนี้ถวายเทศนาเพียงแค่นี้ อาตมภาพเห็นว่ามหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงเกษมสำราญพระราชหฤทัยแล้ว หาจำเป็นต้องถวายพระธรรมเทศนาให้ยาวไม่ ขอถวายพระพร"

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดและทรงพอพระทัยในคำถวายพระพรของสมเด็จพระพุฒจารย์เป็นอย่างยิ่ง


๓.๓ ฉศก
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) ท่านมีชื่อเสียงในทางเทศน์ตัดทอนธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองสำนวน เพราะเทศน์อย่างคำไทยตรง ๆ จะเอาข้อธรรมะอะไรแสดงก็ง่ายต่อผู้ฟังดังประสงค์ อย่างที่ถวายในวังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ผู้ฟังชมว่าดีเกิดโอชะในธรรมสวนะได้ง่าย โลกนิยมเทศน์อย่างนี้มาก พระธรรมกิติแสดงธรรมตามภาษาชาวบ้าน ถือเอาความเข้าใจของผู้ฟังเป็นเกณฑ์ไม่ต้องร้อยกรอง

ปีชวด ฉศก พ.ศ. ๒๔๐๗ (จ.ศ. ๑๒๒๖) ได้ถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่ง พอเข้าไปถึงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออก จึงปราศรัยสัพยอกว่า “ว่าไงเจ้าคุณ เขาพากันชมว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องลองดู” พระธรรมกิติ (โต) ถวายพระพรว่า “ผู้ที่ไม่มีความรู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้ เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพร”

พระองค์ทรงพระสรวลแล้วทรงถามว่า “ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกันจริงหรือ” ทูลว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพจะขอแถลงแจ้งคำให้การ แก้พระราชกระทู้โดยสัจจ์ว่า ตั้งแต่อาตมภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหมงตรงๆ เหมือนดังบอก ด กวางเหมง แต่สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่ได้เคยบอกแก่ใครเลย”

ได้สดับแล้วก็ทรงพระสรวลอีก แล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิติจับตาลปัตรแฉกขึ้นธรรมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้วก็ถวายศีล เสร็จแล้วถวายศักราช พอถึงปีชวดท่านก็ย้ำว่า “ฉศก ฉศก ฉศก”

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ได้ทรงฟัง ปีชวด ฉศก ย้ำๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักตร์ขึ้น พนมหัตถ์รับว่า “ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ”

แต่กาลก่อนที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อ ๆ มาว่า “ฉ้อศก” นั้นไม่ถูก แล้วรับสั่งกรมราชเลขาให้ตราพระราชบัญญัติออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกันทั่วพระราชอาณาจักรว่า “ตั้งแต่ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษท้ายไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียง ไม่ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉย ๆ ก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่าฉ้อศกอีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน” กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศให้ทราบทั่วกัน และนิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป

พระธรรมกิติก็ตั้งคัมภีร์บอกศักราชต่อจนจบถวายพระพรแล้วเดินคาถาจุณณียบทอันมีมาในพราหมณสังยุตตนิกายปาฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า “สมณํ โคตมํ อุปสงฺกมิตฺวา อิมํ ปญฺหํ ปุจฺฉามิ อหํ กูจะเข้าไปหาพระสมณะโคดมแล้วจะถามปัญหากับเจ้าสมณะโคดมดูสักหน่อย สีสํ นหาตฺวา ปารุปนํ นิวาเสตฺวา คามโต นิกฺขมิตฺวา เชตวเน มหาวิหาราภิมุโข อคมาสิ แปลว่าโสพฺราหฺมโณ พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้ว แกจึงลงอาบน้ำดำเกล้า โสพฺเภ ในห้วย แล้วแกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไปพระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้วแกจึงตั้งคำถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า "โภ โคตม นี่แนะพระโคดม”

ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า “นี่แนะพระโคดม” เท่านี้แล้วก็กล่าวว่า คำถามของพราหมณ์และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชนามาก็สมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ ขอถวายพระพร

พอยถาสัพพีแล้วก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ว่า “เทศน์เก่งจริง พวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มากเขาแก่มาก เขาไม่ใคร่ยอมคำรพพระพุทธเจ้านัก เขามาคุย ๆ ถามพอแก้รำคาญ ต่อนาน ๆ เขาก็เชื่อในธรรม เขาก็สำเร็จเป็นพระโสดา ที่ความดำริของพราหมณ์ผู้เจ้าลัทธิทั้งหลายเขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ ว่ากู นั้น ชอบแท้ทางความดีจริง ๆ จึงได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒๐ บาท รวมเป็น ๓๖ บาท (การถวายเทศน์เรื่อง ฉศก อย่างที่เรียงมานี้ พระปรีชาเฉลิม (แก้ว) และพระธรรมถาวร รับว่าจริง แต่เทศน์อย่างไรนั้นลืมไป ท่านเจ้าคุณธรรมถาวรบอกต่อว่า วันที่ถวายเทศน์ถวายฉศกนี้ และถวาย ด กวางเหมงไว้ก่อนขึ้นเทศน์ วันนั้นจำเพาะออก ด กวางเหมงจริง อย่างที่ท่านแก้พระราชกระทู้ ว่าไม่เคยบอกตัวตรง ๆ กับใคร ๆ เหมือนดังบอกสมเด็จบรมบพิตรวันนี้)  


๓.๔ หัวล้าน - หัวเหลือง
อนึ่ง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี เคยเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ เสมอ เป็นคู่เทศน์ที่เผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้ง ๒ เข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงติดเงินพระราชทานให้สลึงเฟื้อง พระเทพกวีไหวทัน หันมาบอกกับพระพิมลธรรมว่า เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้ตัวหรือยัง พระพิมลธรรมถามว่าจะให้รู้อะไรหนาฯ อ้าวท่านเจ้าถึงยังไม่รู้ตัว โง่จริงๆ แฮะฯ ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า จะให้รู้อะไรอีก นอกคอกเปล่า ๆ พระเทพกวีว่า จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ในวังมิใช่หรือฯ รับว่าในวังนั่นสิฯ ก็ในวังในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำ รู้ไหมหล่ะฯ รู้อะไรนะฯ จงรู้เถิดจะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึกนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จบรมบพิตรจึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหมฯ พอหมดคำก็ฮาครืนแร่นคึกบนพระที่นั่ง เลยให้รางวังองค์ละ ๑๐ บาท พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ ได้อีกฮา ได้องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคึกคักกันแซ่คนเฒ่าคนแก่ยิงเหงือกยิงฟัน อ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระสรวล แล้วถวายพระธรรมเทศนาปุจฉาวิสัชนาสืบไปจนจบ


๓.๕ เทศน์เมืองเขมร
ครั้นคราวหนึ่งนักองค์ด้วง เจ้าแผ่นดินเขมร กลุ้มพระทัยมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดให้เผดียงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ออกไปแสดงธรรมโปรดนักองค์ด้วง ณ เมืองเขมร คราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึงกับบ่นที่วัดระฆังฯ ว่า สมเด็จพระนั่งกล้าฯ ก็ไม่ใช่โง่ แต่ว่าใช้ขรัวโตไม่ได้ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ฉลาดว่องไวกลับมาได้ใช้ขรัวโต  

ครั้นถึงวันกำหนด ท่านก็พาพระฐานา ๔ รูป ไปลงเรือสยามูปถัมภ์ เจ้าพนักงานไปส่งถึงเมืองจันบุรีแล้วขึ้นเกวียนไปทางเมืองตราด ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งแขวงเมืองตราดนั้น เป็นตำบลที่มีเสือชุมมาก มันเผ่นเข้าขวางหน้าเกวียน เวลารอนๆ จวนค่ำ คนนำทางหน้าเกวียนจดพลองเล่นตีกับเสือจนเสือแยกเขี้ยวหื้อใส่ขนาบ คนถือพลองถอยหลังทุกที จนถึงหน้าเกวียนสมเด็จฯ คนหน้าเกวียนยกเท้ายันคนถือพลองไว้ไม่ให้ถอย

สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านเห็นเสือมีอำนาจดุมากจึงบอกว่าเสือเขาจะธุระกับฉันคนเดียวดอกจ๊ะ ฉันจะพูดจาขอทุเลาเสือสักคืนในที่นี้ ครั้นแล้วท่านก็ลง ส่งเกวียนส่งคนให้ไปคอยอยู่ข้างหน้า ท่านก็นอนขวางทางเสือเสีย เสือก็นอนเฝ้าท่านคืนหนึ่ง เสือก็ไปไหนไม่ได้ จะไปไล่คนอื่นก็ไปไม่ได้ ต้องเฝ้ายามสมเด็จฯ ยันรุ่ง

ครั้นเวลาเช้าท่านเชิญเสือให้กลับไปแล้วท่านลาเสือว่า ฉันลาก่อนจ๊ะเพราะมีราชกิจใช้ให้ไปจ๊ะ ว่าแล้วก็เดินตามเกวียนไปทันกัน ท่านเล่าให้พระครูปลัด (พระครูปลัดคือพระธรรมถาวร) พวกครัวก็หุงต้มเลี้ยงท่าน เลี้ยงกันเสร็จแล้วก็นิมนต์สมเด็จฯ ขึ้นเกวียนคนลาก ท่านไม่ชอบวัวควายเทียมเกวียน

ครั้นไปถึงเมืองพระตะบอง ข้าหลวงฝ่ายสยามการเข้าไปถึงกรมเมืองเขมร กรมเมืองทราบแล้วนำความทูลนักองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมร ๆ ทรงทราบแล้ว สั่งคนนำแคร่ออกไปรับสมเด็จฯ เข้าไปถึงวังใน กระทำความเคารพปฏิสันถารปรนนิบัติแก่สมเด็จฯ เป็นอันดีแล้วสั่งให้จัดการเลี้ยงดูข้าหลวงและผู้คนที่เชิญสมเด็จฯ มานั้น และให้จัดที่พักที่อยู่ตามสมควร ครั้นเวลาเช้าจัดแจงตั้งธรรมาสน์ บอกกล่าวพระยาพระเขมร ตลอดพ่อค้าคฤหบดีเขมรให้มาฟังธรรมของสมเด็จฯ จอมปราชญ์สยาม สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามรับสั่งโปรดให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาโปรดเขมร เขมรทั้งหลายต่างก็ยินดีเต็มใจพร้อมใจกันมาฟังสมเด็จฯ ทุกคน

ครั้นเพลแล้วก็อาราธนาให้ขึ้นเทศน์ สมเด็จฯ ก็เลือกเฟ้นหาธรรมะนำมายกขึ้นแสดงชี้แจงและแปลแก้ไขเป็นภาษาเขมร ให้พวกเขมรเข้าใจต่อตลอดมา ถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามด้วย เชื่อมสาสนปสาสน์และพระรัฏฐะปสาสน์ให้กลมเกลียวกลืนกัน เทศน์ให้ยึดโยงหยั่งถึงกัน ชักเอาเหตุผลตามชกดกต่างๆ พระสูตรต่าง ๆ ทางพระวินัยต่างๆ อานิสงส์สันติภาพ และอานิสงส์สามัคคีธรรม นำมาปรุงเป็นเทศนากัณฑ์หนึ่ง ครั้นจบลงแล้ว นักองค์จันทร์มารดานักองค์ด้วง ได้สละราชบุตรราชธิดาบูชาธรรมและสักการะด้วยแก้วแหวนเงินทอง ผ้าผ่อน และชัชชะโภชนาหารตระการต่างๆ เขมรนอกนั้นก็เลื่อมใสเห็นจริงตามเทศนาของสมเด็จฯ ทุกคน และต่างก็เกิดความเลื่อมใสในองค์เจ้าประคุณสมเด็จฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ฝากนางธิดากุมารีไว้กับมารดาเจ้านักองค์ด้วง รับมาแต่เจ้ากุมารชายคนเดียว นักองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมรจึงจัดการส่งเสด็จ มีเกวียนส่งเข้ามาจนถึงเมืองตราด เจ้าเมืองตราดจัดเกวียนส่งมาถึงเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีจัดเรือใบเรือเสาธงเข้ามาถึงกรุงเทพพระมหานคร จอดหน้าวัดระฆังฯ ทีเดียว

ครั้นรุ่งเข้า สมเด็จพระพุฒาจารย์จึงเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เสด็จออกรับและทรงสดับรายงานการไปและไปถึงแล้ว เจ้าเขมรยินดีรับรองเลื่อมใสได้เทศน์โปรดด้วยข้อนั้น นำข้อนั้นเทียบข้อนั้นให้เจ้าเขมรเข้าใจด้วยนัยอย่างนั้น ลงมติอย่างนั้นตลอดเสนาเขมรทั่วถึงกัน เขมรบูชาธรรมเป็นธรรมพลี บรรณาการมาอย่างนั้นเท่านั้น ของเท่านั้นๆ ให้ทรงถวายโดยละเอียดทุกประการ

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบรายงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บรรยายถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงนิยมชมเชยความสามารถของสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงทรงปวารณาว่าเจ้าคุณประสงค์สิ่งอะไร พอที่โยมจะอนุญาตได้โยมก็จะถวายแล้วก็เสด็จขึ้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็กลับวัดระฆัง


๓.๖ นักษัตร-อริยสัจ
ท่านพระยาผู้หนึ่งเคยนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังอยู่เนืองๆ ที่บ้านของท่าน วันหนึ่งท่านคิดอยากฟังเทศน์จตุราริยสัจ จึงใช้บ่าวคนหนึ่งว่า เจ้าจงไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดระฆังฯ มาเทศน์จตุราริยสัจสักกัณฑ์หนึ่งในค่ำวันนี้ ท่านหาได้เขียนฎีกาบอกชื่ออริยสัจให้บ่าวไปไม่ บ่าวก็รับคำสั่งไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดว่า เจ้าคุณที่บ้านให้มาอาราธนาเจ้าประคุณไปแสดงพระธรรมที่บ้านค่ำวันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงถามว่า ท่านจะให้เทศน์เรื่องอะไร บ่าวลืมชื่ออริยสัจเสียจำไม่ได้ จึงคะเนได้แต่ว่า ๑๒ นักษัตร จึงกราบเรียนว่า ๑๒ นักษัตรขอรับกระผม แล้วก็กราบลาลงมา

ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็คิดว่า เห็นท่านพระยาจะให้เทศน์อริยสัจแต่บ่าวลืมชื่อไปจึงมาบอกว่า ๑๒ นักษัตรดังนี้ พอถึงเวลาค่ำท่านก็มีลูกศิษย์ตามไป เข้าไปแสดงธรรมเทศนาที่บ้านท่านพระยาผู้นั้น มีพวกอุบาสกอุบาสิกามาคอยฟังอยู่ด้วยกันมาก เจ้าประคุณสมเด็จจึงขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกศักราช แลตั้งนะโม ๓ หน จบแล้วจึงว่าจุณณียบทสิบสองนักษัตรว่ามุสิโก อุสโภ พยคฺโฆ สโส นาโค สปฺโป อสฺโส เอฬโก มกฺกโฏ กุกฺกุโฏ สุนโข สุกโร แปลเป็นภาษาไทยว่า มุสิโก หนู, อุสโภ วัวผู้, พยคฺโฆ เสือ, สโส กระต่าย, นาโค งูใหญ่, สปฺโป งูเล็ก อสฺโส ม้า, เอฬโก แพะ, กฺกโฏ ลิง, กุกฺกุโฏ ไก่, สุนโข สุนัข, และ สุกโร สุกร

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับพวกสัปบุรุษทายกทายิกา ก็มีความสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมาเทศน์ ๑๒ นักษัตรดังนี้เล่า แลสงสัยว่าบ่าวจะไปนิมนต์ท่าน เรียกชื่ออริยสัจผิดไปดอกกระมัง ท่านเจ้าพระยาจึงเรียกบ่าวคนนั้นเข้ามาถามว่า เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเทศน์เรื่องอะไร บ่าวก็กราบเรียนว่า นิมนต์เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรขอรับผม ท่านเจ้าพระยาจึงว่านั่นประไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจไปเสียแล้วไปคว้าเอา ๑๒ นักษัตรเข้า ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั่นซิ

ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็เป็นผู้ฉลาดเทศน์ ท่านจึงอธิบาย บรรยายหน้าธรรมาสน์ว่า อาตมภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไปนิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าท่านให้นิมนต์เทศน์ ๑๒ นักษัตร อาตมภาพก็เห็นว่า ๑๒ นักษัตรนี้คือเป็นต้นทางของอริยสัจแท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหน ๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์ ๑๒ นักษัตรสักครั้งสักหน ไม่มีใครจะเทศน์ ๑๒ นักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของท่านเจ้าพระยาเป็นมหัศจรรย์ เทพเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนา จึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไปให้บอกว่าเทศน์ ๑๒ นักษัตรดังนี้ อาตมาก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์เพื่อจะให้สาธุชนและท่านเจ้าพระยาเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรอันเป็นต้นทางของอริยสัจทั้ง ๔ จะได้ธรรมสวนานิสงส์อันล้ำเลิศซึ่งจะพาให้ก่อเกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจทั้ง ๔

แท้จริงธรรมเนียมนับปี เดือน วัน คืนนี้ นักปราชญ์ผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณ ต้นปฐมกาลในชมพูทวีปบัญญัติตั้งแต่งไว้ คือกำหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหาตั้งเป็นชื่อปี เดือน วัน ดังนี้
      (๑) หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดวง มาตั้งชื่อวันทั้ง ๗ วัน และให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี
      (๒) หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์และดาวรูปสิ่งอื่น ๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือนทั้งสิบสองเดือน มีดังนี้คือ
            เดือนเมษายน ดาวรูปแพะ
            เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้
            เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง
            เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล
            เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์
            เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่
            เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง
            เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมลงป่อง
            เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู
            เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร
            เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ (จะเข้)
            เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา (ตะเพียน)
            รวมเป็น ๑๒ ดาว หมายเป็นชื่อ ๑๒ เดือน
       (๓) หมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดาวที่ประทับอยู่ในท้องฟ้าอากาศเป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ดังนี้คือ
            ปีชวด ดาวรูปหนู
            ปีฉลู ดาวรูปวัวตัวผู้
            ปีขาล ดาวรูปเสือ
            ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย
            ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ คือ นาค
            ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก คือ งูธรรมดา
            ปีมะเมีย ดาวรูปม้า
            ปีมะแม ดาวรูปแพะ
            ปีวอก ดาวรูปลิง
            ปีระกา ดาวรูปไก่
            ปีจอ ดาวรูปสุนัข
            ปีกุน ดาวรูปสุกร
รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งชื่อเป็นปี ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับปีเดือนวันนี้คืนนี้ เป็นวิธีกำหนดนับอายุกาลแห่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับเป็นของใหญ่ ๆ ก็คือนับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัลป์ มหากัลป์ ภัทรกัลป์ เป็นต้น แลนับอายุชนเป็นรอบ ๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง แล ๑๒ รอบ เป็น ๑๔๔ ปี แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคนี้ กำหนดอายุขัยเพียง ๑๐๐ ปี แลในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงน้อยกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๕๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี ก็มีบ้างในบางประเทศตามจดหมายเหตุของประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวมา แต่มีเป็นพิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คน หรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ลงมานั้น มีทั่วกันไปทุกประเทศ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่าคำเรียกว่ากลียุคนี้เป็นภาษาพราหมณ์ชาวชมพูทวีป แปลว่าคราวชั่วร้าย คือสัตว์เกิดมาภายหลังอันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ย่อมทำบาปอกุศลมากจนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมาก

ด้วยสัตว์ที่เกิดในโลกต้นกัลป์นั้นเห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกันชักชวนกันทำบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายพันหลายหมื่นปี แต่ยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางทีสัตว์จะทำบาปอกุศลยิ่งกว่านี้ อายุสัตว์บางทีก็จะเรียวน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปีเป็นขัย แลสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงานเป็นสามีภรรยาต่อกันก็อาจจะเป็นไปได้ แลในสมัยเช่นนั้น อาจจะเกิดมิคสัญญี ขาดเมตตาต่อกันและกันอย่างประหนึ่งว่านายพรานสำคัญในเนื้อ จะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาด ดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้นจะกลับบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างการกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุยืนยิ่งๆ ขึ้นไป จนอายุตลอดอสงไขย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้ นับไม่ถ้วน ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาทก่อสร้างบาปอกุศลครุ่นๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็กลับลดน้อยถอยลงมาอีก ตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้

สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นพระสัพพัญญูตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งคือ (๑) ความทุกข์มีจริง (๒) สิ่งที่ให้เกิดทุกข์มีจริง (๓) ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง (๔) ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง นี่แลเรียกว่าอริสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยะเข้าอีกคำหนึ่งนั้น คือ อริยะ แปลว่า พระผู้รู้ประเสริฐอย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริยะและสัจจะสองคำเป็นคำเดียวกัน เรียกว่า อริยสัจ แลเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคำหนึ่ง แลแปลงตัว สระอะ เป็นตัว สระอา เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่า ความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้เป็นของพระอริยะนั้น อธิบายว่า ต่อเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้าเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลำบากอยู่ในวัฏสงสารเป็นความทุกข์จริง ตัณหา คือ ความอยาก ความดิ้นรน ของสัตว์นั้น ให้เกิดความทุกข์จริง พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นที่ดับทุกข์จริงและสุขจริง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีจริง

พระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประจักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริงเพื่อจะให้ละทุกข์เข้าหาความสุขที่แท้จริง แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเคยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตายๆ แล้วเกิดก็ดี ไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทำไม บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยามหาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้วก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น บ้างก็ว่าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ได้เสวยทิพยสมบัติมีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวารเป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร บ้างก็ว่าถ้าไปอมตมหานิพพาน ไปนอนเป็นสุขอยู่นมนานแต่ผู้เดียวไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกียชนย่อมเห็นไปดังนี้

นี่แลการฟังเทศน์อริยสัจให้รู้ความจริงและเห็นธรรมที่ดับทุกข์เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น แต่ก็ควรฟังเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่า วัน คืน เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเรา ย่อมล่วงไปทุกวันทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิด ประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์ อยู่ด้วยความลำบาก ๔ อย่างนี้แลไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็ควรรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศลจนกว่าจะได้มีบารมีแก่กล้าจะได้ความสุขในสวรรค์แลความสุขในอมตมหานิพพานในภายหน้าซึ่งไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขเที่ยงแท้ถาวรอย่างเดียวไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย แลเรื่อง ๑๒ นักษัตร คือ ดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว และดาวชื่อปี ๑๒ ปี และดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้ประมาทแลให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเราไว้ให้รูตามนั้นทีเดียว สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเป็นเหตุดังนี้แล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรเล่า ควรจะโมทนาสาธุการ อวยพรแก่ผู้ไปนิมนต์จงมาก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับสัปบุรุษทายกทั้งปวงได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจ ๔ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ แล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไม่ใคร่จะวายยิ้มเลยแทบทุกคน ท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์จึงว่าข้าขอบใจเจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมากๆ ด้วยกันเถิดฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...