"พระพุทธเจ้าท่านขาดไปจากอาสวกิเลสได้ ถึงอาสวักขยญาณในภูมิอุปจาระนี้ ถอนจากฐีติจิต ทุกอย่างท่านได้จากฌานนี้ รู้อยู่ในภูมิอุปจาระนี้ รู้ตัวเหตุ ตัวปัจจัย ก็รู้อยู่นี่ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็รู้อยู่ในภูมินี้ นิมิตต่างๆ ก็รู้อยู่ในนี้ ทั้งความดี ความหลง ความรู้แจ้งอยู่ในขั้นนี้ ฉะนั้นท่านจึงให้ตั้งอิทธิบาท ๔ ไว้นี้มันสำคัญ ต้องเข้าใจระหว่างพิจารณา ไม่ได้อาศัยฐีติจิตเลย ถ้าจิตลงถึงฐีติจิตพิจารณาไม่ได้ เราจะพิจารณาได้แต่ตอนอยู่ในขั้นอุปจาระเท่านั้น ซึ่งก็เป็นได้ เมื่อถอนจากฐีติจิตมาอยู่อุปจาระ"
......................................................................
ปุจฉา: ในขณะที่พิจารณาลมอยู่นั้น เราก็เห็นว่าอันนี้มันเป็นลม เป็นธาตุขันธ์ ซึ่งมันก็ลงไตรลักษณ์ มันเทียบเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็พิจารณากายมันเป็นดิน ดินเป็นธาตุ มันไม่หนีธาตุ ๔ ไปได้ ค่อย ๆ พิจารณาไป แต่บางครั้งจิตก็อดแวะโน่นดูนี่นอกเรื่องไปไม่ได้ พิจารณาอย่างไรก็ไม่เข้าถึงฐีติจิตสักที จะทำอย่างไรคะ
วิสัชนา: เดี๋ยวก่อน รู้สึกจะสับสนกันแล้วเรื่อง ฐีติจิต ฟังก่อน จะอธิบายให้ฟัง... การปฏิบัติของแต่ละคนแต่ละท่านที่จะเข้าถึง ฐีติจิต คือจิตดั้งเดิม นั้นเหมือนกันก็มี ไม่เหมือนกันก็มี เพราะเหตุใด... เพราะเป็นไปตามบุพพวาสนาของใครของมัน มันเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านเป็นได้ แต่พระสาวกองค์อื่น บางองค์ก็ไม่ลงถึงฐีติจิต ฐีติจิตนี้คือเป็นแต่ว่าจิตเข้าไปพักอยู่ พ้นวิปัสสนาไปแล้ว รู้เหตุรู้ปัจจัยไม่ได้
ทีนี้ถ้าเราต้องการค้นให้รู้ชัดเห็นจริงฝ่ายธาตุ ฝ่ายขันธ์ จะอยู่ขั้นฐีติจิตไม่ได้ ต้องอยู่แค่ระดับอุปจาระ... ฝ่ายเหตุ ฝ่ายปัจจัย ฝ่ายขันธ์ เห็นรูปธรรม นามธรรมเหมือนพระพุทธเจ้าที่อยู่ในขั้นอุปจาระ รู้ได้ก็เพราะอาศัยปัญญานี้ ให้บริสุทธิ์ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพระสาวกบางองค์ท่านพิจารณาด้วยจิต ท่านลงถึงฐีติจิต ลงพักอยู่ แล้วถอนจากฐีติจิตขึ้นมา ท่านถึงมาพิจารณาที่ผ่านไป สงบไป ในชั้นในภูมิของอุปจารสมาธิ พิจารณาไปเองเลย การรู้วิชาการต่างๆ ความรู้จริงเห็นจริงอยู่ในขั้นอุปจาระ แต่เราจะรู้ว่าฐีติจิตได้ต้องรู้ถึงจิตดั้งเดิมในภูมิธรรมดา
ทีนี้ยกตัวอย่าง อย่างพระอริยสาวกนั่งฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอยู่ สาวกเหล่านั้นตั้งจิตตั้งสติสงบพอดี ๆ อยู่ในอุปจาระ ท่านเทศน์อย่างไรก็รู้เรื่อง จิตของสาวกเหมือนน้ำไหลไปได้ เพราะละเอียดแล้ว ฐีติจิตนั้นละเอียดอยู่แล้ว การพิจารณาต้องอยู่ในขั้นอุปจาระพอดีๆ ด้วยความมีสติปัญญา กำหนดฟังพระธรรมเทสนาจึงจะเข้าใจได้ อย่างเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ เทศน์พร้อมถามพร้อม พระปัญจวัคคีย์ก็ตอบเห็นพร้อม ถ้าจิตลงถึงฐีติจิตแล้วก็อย่าเลย ไม่มีทางพิจารณาหรอก เพราะฉะนั้นท่านพวกปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อเราภาวนาไปปฏิบัติไป ถ้าจิตของเราไม่ลงถึงฐีติจิต อย่าเพิ่งลงความเห็นว่าเราภาวนาไม่เป็น อย่างเพิ่งน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าเป็นผู้น้อยเนื้อต่ำใจก็เป็นผู้หลง หลงแล้วน้อยเนื้อต่ำใจทำให้เกิดทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านขาดไปจากอาสวกิเลสได้ ถึงอาสวักขยญาณในภูมิอุปจาระนี้ ถอนจากฐีติจิต ทุกอย่างท่านได้จากฌานนี้ รู้อยู่ในภูมิอุปจาระนี้
รู้ตัวเหตุ ตัวปัจจัย ก็รู้อยู่นี่ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็รู้อยู่ในภูมินี้ นิมิตต่างๆ ก็รู้อยู่ในนี้ ทั้งความดี ความหลง ความรู้แจ้งอยู่ในขั้นนี้ ฉะนั้นท่านจึงให้ตั้งอิทธิบาท ๔ ไว้นี้มันสำคัญ ต้องเข้าใจระหว่างพิจารณา ไม่ได้อาศัยฐีติจิตเลย ถ้าจิตลงถึงฐีติจิตพิจารณาไม่ได้ เราจะพิจารณาได้แต่ตอนอยู่ในขั้นอุปจาระเท่านั้น ซึ่งก็เป็นได้ เมื่อถอนจากฐีติจิตมาอยู่อุปจาระ
ปุจฉา: การพิจารณาจะรู้อะไรอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้เฉพาะตอนถอนออกจากฐีติจิตก่อน แล้วขึ้นมาอยู่อุปจาระ ถึงแม้จะยังไม่ถึงฐีติจิต แต่สงบอยู่เพียงขั้นอุปจาระ ก็รู้ได้เหมือนกันใช่ไหมค่ะ
วิสัชนา: ได้ อุปจาระนี้มี ๒ ตอน ๒ ระยะ ระยะหนึ่งก่อนจิตรวมลงถึงฐีติจิต อีกระยะหนึ่งรวมถึงฐีติจิตแล้วถอนขึ้นมา... มันเป็นขั้นสำคัญออกรู้เรื่องราวต่างๆ มากเรื่อง ความรู้วิชาต่างๆ ก็ได้มาตอนนี้ แต่รู้แล้วหลงหรือไม่หลงนี่... มันสำคัญตรงนี้ ใครจะเข้ามาแบบไหน เราจับจุดอะไร อารมณ์ไหนก็ตาม โดยมากคนได้นิมิตก็มักเชื่อไปหมด วางใจ พิจารณาสวรรค์ เห็นนรกปรากฏ เห็นในนิมิตรนรกก็พิจารณานรก มันเป็นยังงั้น ฟังสัจจธรรม กำลังพิจารณาทุกข์ ใจสลดสังเวช
พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาทุกข์ เรื่องทุกข์ในอดีต คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นเหตุให้พระหฤทัยในใจสลดว่าเหมือนพระองค์เห็นนรกที่ลุยนรกมาแล้วน้ำพระเนตรของพระองค์ไหลลงเลย สลดสงสารชาติของตนที่ท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายในอดีตไม่มีที่สิ้นสุด แม้พระองค์มีญาณถึงขนาดนี้แล้ว ชวนให้เพลิดเพลิน หลงอย่างไร แต่ก็ไม่มีติดในญาณนี้แล้ว พระองค์ย้อนไปหาอะไรคือตัวเหตุตัวปัจจัย ให้เกิด แก่ เจ็บ ตายไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเป็นอย่างคนที่มีสติปัญญาอ่อน ลองดูซิ ถ้าไปรู้ไปเห็นอย่างนั้น อาตมาว่าตั้งตัวเป็นหมอดูเลย แต่พวกเราสติปัญญามันพอไหว มันยังไม่ถึงฐานที่จะเห็น
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น